ข้ามไปเนื้อหา

คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน

中华人民共和国全国人民代表大会
常务委员会
คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ ชุดที่ 14
ประเภท
ประเภท
ผู้บริหาร
หลิว ฉี, CCP
ตั้งแต่ 10 มีนาคม 2023
โครงสร้าง
สมาชิก175
กลุ่มการเมือง
พรรครัฐบาล
  •   CCP (116)

พรรคประชาธิปไตยและพรรคอิสระ

ว่าง

  •   ว่าง (4)
การเลือกตั้ง
การลงคะแนนแบบอนุมัติรวมกลุ่มแก้ไขทางอ้อม[1][2][3][4]
การเลือกตั้งครั้งล่าสุด
มีนาคม 2023
การเลือกตั้งครั้งหน้า
มีนาคม 2028
ที่ประชุม
มหาศาลาประชาชน เขตซีเฉิง ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
เว็บไซต์
en.npc.gov.cn.cdurl.cn แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ
ข้อบังคับ
ระเบียบข้อบังคับคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ (ภาษาอังกฤษ)
ห้องประชุมคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ มหาศาลาประชาชน ชั้น 2
อาคารสำนักงานสภาประชาชนแห่งชาติในปักกิ่ง

คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ (จีน: 全国人民代表大会常务委员会; อังกฤษ: Standing Committee of the National People's Congress; NPCSC) เป็นองค์กรถาวรของสภาประชาชนแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีหน้าที่ใช้อำนาจของสภาประชาชนแห่งชาติในช่วงที่ไม่อยู่ในสมัยประชุม

NPCSC ประกอบด้วยประธาน รองประธาน เลขาธิการ และสมาชิกประจำ ทั้งหมดได้รับการเลือกตั้งโดยการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติเป็นประจำ การดำเนินงานประจำวันของคณะกรรมาธิการสามัญถูกจัดการโดยคณะประธาน (Council of Chairpersons) ซึ่งประกอบด้วยประธาน รองประธาน และเลขาธิการ แม้โดยหลักการแล้วสภาประชาชนแห่งชาติจะมีอำนาจเหนือกว่าคณะกรรมาธิการสามัญ และอำนาจบางอย่างไม่ได้ถูกมอบหมายให้คณะกรรมาธิการสามัญ แต่โดยทั่วไปแล้วคณะกรรมาธิการสามัญถูกมองว่ามีอำนาจในทางพฤตินัยมากกว่า เนื่องจากสภาประชาชนแห่งชาติจะประชุมเพียงปีละครั้งเป็นเวลาสองสัปดาห์ ทำให้คณะกรรมาธิการสามัญเป็นองค์กรเดียวที่ร่างและอนุมัติการตัดสินใจและกฎหมายอย่างสม่ำเสมอ

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ใน ค.ศ. 1954 สภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 1 ถูกจัดตั้งขึ้นในปักกิ่ง กลายเป็นรัฐสภาตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะกรรมาธิการสามัญถูกจัดตั้งขึ้นในฐานะองค์กรถาวรของมัน รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1954 กำหนดว่า "สภาประชาชนแห่งชาติเป็นองค์กรเดียวที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐ" และคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติมีอำนาจเพียง "ตีความกฎหมาย" และ "ออกรัฐกฤษฎีกา" อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนผู้แทนในสภาประชาชนแห่งชาติมีจำนวนหลายพันคนและไม่ได้ปฏิบัติงานเต็มเวลา จึงมีการจัดประชุมเพียงปีละครั้ง และระยะเวลาการประชุมไม่สามารถยาวนานเกินไป สภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 2 มอบอำนาจให้คณะกรรมาธิการสามัญใช้อำนาจนิติบัญญัติเมื่อสภาฯ ไม่ได้อยู่ในสมัยประชุม[5]

ในช่วงเวลาหนึ่งหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน อำนาจของคณะกรรมาธิการสามัญถูกจำกัดไว้เพียงการตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติมีบทบาทสำคัญในการออกกฎหมายและมีอำนาจในการประกาศใช้และแก้ไขกฎหมายและรัฐกฤษฎีกาส่วนใหญ่ ร่างกฎหมายที่ได้รับลงมติโดยสภาประชาชนแห่งชาติมักถูกเสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญหลังการอ่านครั้งที่สาม

ในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองของการปฏิวัติวัฒนธรรม สภาประชาชนแห่งชาติแทบไม่ได้จัดการประชุมและคณะกรรมาธิการสามัญแทบจะหยุดการทำงาน ในช่วงเวลานี้ ประธานจู เต๋อและรองประธานคนที่หนึ่งตง ปี้อู่เสียชีวิต ทำให้รองประธานซ่ง ชิ่งหลิง สมาชิกคณะกรรมาธิการปฏิวัติก๊กมินตั๋ง สามารถใช้อำนาจและหน้าที่ของประธานคณะกรรมาธิการสามัญได้ในระดับหนึ่ง เมื่อมีการยกเลิกตำแหน่งประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1975 เธอจึงกลายเป็นประมุขแห่งรัฐหญิงคนแรกของจีนโดยถูกต้องตามกฎหมาย

ใน ค.ศ. 1980 หลังมติของสภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 5 "คณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน" ได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีเย่ เจี้ยนอิง, ซ่ง ชิ่งหลิง และเผิง เจินเป็นประธาน และรวมถึงผู้นำหลักของพรรคประชาธิปไตย องค์กรทางสังคม และนักกฎหมาย มีหน้าที่รับผิดชอบการแก้ไขและจัดตั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระหว่างการอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หู เฉียวมู่ เลขาธิการคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอให้ลดจำนวนผู้แทนสภาประชาชนแห่งชาติลงเหลือ 1,000 คนและจัดตั้งสภาสองสภาภายใต้สภาประชาชนแห่งชาติ แต่ละสภามีสมาชิก 500 คน เพื่อให้สภาประชาชนแห่งชาติเป็นองค์กรถาวรและมีระบบสองสภา เพื่อพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสภาจาก "ตรายาง" สมาชิกคณะกรรมาธิการอีกคนหนึ่งเสนอให้เลียนแบบระบบที่ใช้โดยสภาโซเวียตสูงสุดของสหภาพโซเวียต โดยมีสภาหนึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภูมิภาคต่าง ๆ และอีกสภาหนึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาควิชาชีพต่าง ๆ ฝ่ายตรงข้าม นำโดยเติ้ง เสี่ยวผิงและเย่ เจี้ยนอิง แย้งว่า "หากสองสภามีความเห็นไม่ตรงกัน การประสานงานจะยุ่งยาก และการดำเนินงานจะลำบาก" ท้ายที่สุดก็มีการประนีประนอมที่ขยายอำนาจของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติอย่างมาก โดยทำให้เป็นฝ่ายนิติบัญญัติถาวรที่มีอำนาจออกกฎหมายส่วนใหญ่และตรวจสอบกฎหมายเหล่านั้นเพื่อขออนุมัติจากสภาประชาชนแห่งชาติ[6][แหล่งอ้างอิงอาจไม่น่าเชื่อถือ]

องค์ประกอบ

[แก้]

คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติปัจจุบันมีสมาชิก 175 คน ประกอบด้วยประธาน รองประธาน เลขาธิการ และสมาชิกประจำ[7] ประธานเป็นประธานและควบคุมการทำงานของสภาฯ โดยทั่วไปแล้วประธานจะเป็นหนึ่งในสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยมีตำแหน่งเป็นสมาชิกอันดับสองหรือสามของคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองตั้งแต่ ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา[8] ประธาน รองประธาน และเลขาธิการโดยรวมกันแล้วประกอบเป็นคณะประธาน ซึ่งทำหน้าที่จัดการกิจการประจำวันของคณะกรรมาธิการสามัญ[9] สมาชิกของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติต้องไม่ดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร ตุลาการ หรือกำกับดูแลในเวลาเดียวกัน สมาชิกสภาฯ อื่น ๆ ไม่มีข้อจำกัดนี้[9] กลุ่มสมาชิกพรรคแกนนำ (Leading Party Members Group) ประกอบด้วยประธานและรองประธานที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินตามนโยบายของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน[10]

การเลือกตั้ง

[แก้]

คณะกรรมาธิการสามัญถูกเลือกโดยและจากผู้แทนสภาประชาชนแห่งชาติระหว่างการประชุมเต็มคณะของสภาประชาชนแห่งชาติ[11] ผู้สมัครสำหรับตำแหน่งประธาน รองประธาน เลขาธิการ และสมาชิกประจำของคณะกรรมาธิการสามัญสภาประชาชนแห่งชาติได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการโดยคณะผู้บริหารสูงสุดสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC Presidium) แต่กระบวนการเสนอชื่อถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน[11] การเลือกตั้งสมาชิกไม่ประจำของคณะกรรมาธิการสามัญ รวมถึงการเลือกตั้งสภาประชาชนแห่งชาติอื่น ๆ ทั้งหมดไม่มีการแข่งขัน โดยมีการเสนอชื่อผู้สมัครเพียงคนเดียวโดยคณะผู้บริหารสูงสุด ตรงกันข้าม การเลือกตั้งสมาชิกประจำของคณะกรรมาธิการสามัญโดยทั่วไปเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1988 เพราะมีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่าจำนวนที่นั่งที่มีอยู่[11]

หน่วยงานบริหาร

[แก้]

หน่วยงานบริหารจำนวนหนึ่งถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานประจำวันของสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งประกอบไปด้วย[12]

อำนาจหน้าที่

[แก้]

นิติบัญญัติ

[แก้]

สภาประชาชนแห่งชาติและคณะกรรมาธิการสามัญร่วมกันใช้อำนาจในการตรากฎหมายในประเทศจีน ตามรัฐธรรมนูญ หน้าที่ทางนิติบัญญัติของคณะกรรมาธิการสามัญประกอบด้วย การร่างและแก้ไขกฎหมาย ยกเว้นกฎหมายที่ต้องตราขึ้นโดยการประชุมเต็มสภาของสภาประชาชนแห่งชาติเท่านั้น การเพิ่มเติมและแก้ไขบางส่วนของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยสภาประชาชนแห่งชาติ เมื่อสภาประชาชนแห่งชาติไม่ได้อยู่ในสมัยประชุม โดยมีเงื่อนไขว่าหลักพื้นฐานของกฎหมายเหล่านั้นต้องไม่ถูกขัดแย้ง[13] ด้วยเหตุนี้ งานนิติบัญญัติประจำวันจึงดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการสามัญ[14] แม้สภาประชาชนแห่งชาติจะมีอำนาจเพิกถอน "การตัดสินใจที่ไม่เหมาะสม" ที่คณะกรรมาธิการสามัญได้กระทำไป แต่จนถึงปัจจุบัน อำนาจนี้ไม่เคยถูกใช้เลย ผลลัพธ์คือ คณะกรรมาธิการสามัญจึงมักมีอำนาจตัดสินใจในการพิจารณากฎหมายมากกว่า

คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติมีอำนาจในการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายในสาธารณรัฐประชาชนจีน[9] รวมถึงกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกงและมาเก๊า ตรงกันข้ามกับเขตอำนาจศาลกฎหมายจารีตประเพณีซึ่งหลักการว่าด้วยการยืนตามคำวินิจฉัย (stare decisis) มอบอำนาจทั้งการตีความขั้นสุดท้ายและการตัดสินคดีให้แก่ศาลสูงสุด ในจีนแผ่นดินใหญ่ การตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมายถือเป็นกิจกรรมทางนิติบัญญัติมากกว่าตุลาการ และหน้าที่ต่าง ๆ ถูกแบ่งแยกออกไปโดยที่คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติให้การตีความทางกฎหมายขณะที่ศาลประชาชนสูงสุดเป็นผู้ตัดสินคดีจริง เนื่องจากการตีความของคณะกรรมาธิการสามัญมีลักษณะเป็นการออกกฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณาคดีทางศาล ดังนั้นจึงไม่มีผลต่อคดีที่ตัดสินไปแล้ว

กำกับดูแล

[แก้]

คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติมีอำนาจในการกำกับดูแลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มันกำกับดูแลการทำงานของคณะมนตรีรัฐกิจ คณะกรรมการการทหารส่วนกลางสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะกรรมการกำกับดูแลแห่งชาติ ศาลประชาชนสูงสุด และสำนักงานอัยการประชาชนสูงสุด มีอำนาจยกเลิกระเบียบการปกครอง การตัดสินใจ และคำสั่งของคณะมนตรีรัฐกิจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ของสภาประชาชนแห่งชาติและตัวมันเอง และยกเลิกระเบียบการปกครองท้องถิ่นหรือการตัดสินใจของหน่วยงานอำนาจรัฐของมณฑล เขตปกครองตนเอง และเทศบาลขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่น ๆ หรือระเบียบการบริหารของรัฐบาลทุกระดับ โดยเฉพาะระดับชาติ

อำนาจในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของรัฐ

[แก้]

เมื่อสภาประชาชนแห่งชาติไม่ได้อยู่ในสมัยประชุม คณะกรรมาธิการสามัญจะตรวจสอบและอนุมัติการปรับปรุงบางส่วนของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือของงบประมาณรัฐที่พิสูจน์แล้วว่าจำเป็นในระหว่างการดำเนินการ คณะกรรมาธิการสามัญตัดสินใจว่าจะให้สัตยาบันหรือยกเลิกสนธิสัญญาและความตกลงสำคัญที่ทำกับประเทศอื่น ๆ สถาปนาระบบบรรดาศักดิ์และยศสำหรับบุคลากรทางทหารและทางการทูต ตลอดจนบรรดาศักดิ์และยศเฉพาะอื่น ๆ เหรียญรางวัลและบรรดาศักดิ์ของรัฐ ตลอดจนการอภัยโทษพิเศษ

คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการระดมพลทั่วไปหรือบางส่วน และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศจีนหรือในมณฑล เขตปกครองตนเอง หรือเทศบาลขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางเป็นการเฉพาะ ในกรณีที่สภาประชาชนแห่งชาติไม่ได้อยู่ในสมัยประชุม คณะกรรมาธิการสามัญจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะประกาศสถานะสงครามหรือไม่ในกรณีที่มีการโจมตีด้วยอาวุธต่อจีนหรือเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันร่วมกันจากการรุกราน[13]

การประชุมและขั้นตอน

[แก้]

วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติเท่ากับวาระของสภาประชาชนแห่งชาติชุดปัจจุบัน และโดยทั่วไปคือห้าปี มันยังคงมีอำนาจอยู่กระทั่งสภาประชาชนแห่งชาติชุดถัดไปเลือกตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำของตน[15] มันเรียกประชุมสภาประชาชนแห่งชาติปีละครั้ง และอาจเรียกประชุมเมื่อเห็นว่าจำเป็นหรือเมื่อมีข้อเสนอจากสมาชิกสภาฯ หนึ่งในห้า

คณะกรรมาธิการประจำสภาประชาชนแห่งชาติโดยปกติจะจัดการประชุมคณะกรรมาธิการหนึ่งครั้งทุกสองเดือน มักอยู่ในช่วงปลายเดือนคู่ โดยการประชุมแต่ละครั้งจะกินเวลาหนึ่งสัปดาห์[16] อาจมีการจัดประชุมสมัยวิสามัญได้หากมีความจำเป็นพิเศษ ประธานเป็นผู้เรียกประชุมและเป็นประธานการประชุม ประธานอาจมอบหมายให้รองประธานเป็นประธานการประชุมแทนตน การประชุมไม่สามารถจัดขึ้นได้เว้นแต่มีองค์ประชุมครบตามจำนวน คือมีสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญเข้าร่วมมากกว่ากึ่งหนึ่ง คณะประธานจะร่างวาระการประชุมของคณะกรรมธิการสามัญสำหรับช่วงเวลาที่เกี่ยวข้องและส่งให้ที่ประชุมเต็มคณะของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อพิจารณาตัดสินใจ[15]

ตามกฎหมาย ร่างกฎหมายอาจถูกเสนอโดยคณะประธาน หรือส่งไปยังคณะกรรมาธิการโดยคณะมนตรีรัฐกิจ คณะกรรมการการทหารส่วนกลาง ศาลประชาชนสูงสุด สำนักงานอัยการประชาชนสูงสุด และผู้แทนคณะกรรมาธิการพิเศษประจำสภาประชาชนแห่งชาติ (หรือประธานคณะกรรมาธิการเหล่านั้น) สมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญสิบคนขึ้นไปสามารถร่วมลงนามและเสนอร่างกฎหมายได้ หลังมีการเสนอร่างกฎหมายแล้ว คณะประธานจะตัดสินใจเกี่ยวกับวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการสามัญในสมัยประชุมปัจจุบัน คณะประธานอาจส่งร่างกฎหมายไปยังคณะกรรมาธิการพิเศษที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาและยื่นรายงานก่อนตัดสินใจว่าจะนำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการสามัญในการประชุมครั้งปัจจุบันหรือครั้งต่อ ๆ ไป นอกจากนี้ยังมีสิทธิลงคะแนนเสียงปฏิเสธร่างกฎหมายที่เสนอโดยองค์กรดังกล่าวข้างต้น เมื่อคณะประธานปฏิเสธร่างกฎหมาย จะต้องอธิบายเหตุผลให้คณะกรรมาธิการสามัญและผู้เสนอร่างกฎหมายทราบ[ต้องการอ้างอิง]

ร่างกฎหมายที่ถูกบรรจุในวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการสามัญจะต้องผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการสามัญสภาสามครั้งก่อนถูกนำเสนอให้ผู้แทนลงมติ ในการอ่านครั้งแรก จะมีการรับฟังคำอธิบายเกี่ยวกับร่างกฎหมายจากผู้เสนอในที่ประชุมเต็มคณะของคณะกรรมาธิการสามัญ และจากนั้นจะมีการพิจารณาเบื้องต้นในการประชุมกลุ่มโดยผู้แทนในช่วงระหว่างสมัยประชุม ในการอ่านครั้งที่สอง คณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญและกฎหมายจะเสนอรายงานเกี่ยวกับการแก้ไขร่างกฎหมายและปัญหาหลักที่เกี่ยวข้องในการประชุมเต็มคณะ และจากนั้นร่างกฎหมายจะได้รับการพิจารณาเพิ่มเติมในการประชุมกลุ่ม ในการอ่านครั้งที่สาม รายงานของคณะกรรมาธิการดังกล่าวว่าด้วยผลการพิจารณาร่างกฎหมายจะถูกรับฟังในการประชุมเต็มคณะอีกครั้ง และจากนั้นร่างกฎหมายที่แก้ไขแล้วจะถูกพิจารณาในการประชุมกลุ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นสุดท้าย หลังร่างกฎหมายฉบับแก้ไขได้รับการพิจารณาในการประชุมของคณะกรรมาธิการสามัญ คณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญและกฎหมายจะแก้ไขร่างกฎหมายนั้นตามความเห็นจากการพิจารณาของสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญและจัดทำฉบับสุดท้ายเพื่อลงมติ จากนั้นคณะประธานจะส่งร่างกฎหมายไปยังคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อลงมติ หากคณะกรรมาธิการสามัญไม่สามารถบรรลุความตกลงในร่างกฎหมายระหว่างการอ่านครั้งที่สามได้ จะต้องจัดการประชุมกลุ่มร่วมและการประชุมเต็มคณะเพิ่มเติมเพื่อหารือต่อไป หรือเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการมาจัดการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการทั้งหมดหรือภายในกลุ่ม หลังบรรลุความตกลงแล้ว จะถูกส่งไปลงมติในที่ประชุมเต็มคณะ[17][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]

สำหรับร่างกฎหมายที่ถูกบรรจุในวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการสามัญ หลังจากคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาทบทวนในแต่ละครั้ง ร่างกฎหมายและคำชี้แจงเกี่ยวกับการร่างและการแก้ไขจะถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือเครือข่ายข้อมูลกฎหมายของรัฐบาลจีนเพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชน[ต้องการอ้างอิง]

ในการลงมติ การประชุมคณะกรรมาธิการประจำสภาประชาชนแห่งชาติใช้ระบบเสียงข้างมากเด็ดขาด กล่าวคือ เมื่อมีสมาชิกคณะกรรมาธิการเข้าร่วมประชุมเกินกึ่งหนึ่งจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม และเมื่อมีสมาชิกคณะกรรมาธิการลงคะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งแล้ว ร่างกฎหมายจึงจะผ่านได้ เมื่อคะแนนเสียงเห็นด้วยและงดออกเสียงเท่ากัน ประธานไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนตัดสิน และร่างกฎหมายจะถูกยับยั้ง[ต้องการอ้างอิง]

ในความเป็นจริง แม้ร่างกฎหมายส่วนใหญ่ที่ได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติจะได้รับความเห็นชอบในการอ่านครั้งที่สาม แต่ก็ยังมีร่างกฎหมายบางฉบับที่ถูกปฏิเสธในขั้นตอนการลงมติในประวัติศาสตร์ของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ ตัวอย่างเช่น ใน ค.ศ. 1989 คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติยับยั้ง (ร่าง) กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมาธิการผู้อาศัยในเขตเมืองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากมีความเห็นที่ต่างกันเกี่ยวกับถ้อยคำในบทบัญญัติของร่างกฎหมาย ใน ค.ศ. 1999 คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติปฏิเสธ (ร่างแก้ไข) กฎหมายทางหลวงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีมติเห็นด้วย 77 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง งดออกเสียง 42 เสียง และผู้ไม่เข้าร่วมลงคะแนน 29 คน คิดเป็นเพียงร้อยละ 50 ของคะแนนเสียงทั้งหมด[17][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]

กรณี

[แก้]

ฮ่องกง

[แก้]

การใช้อำนาจตีความรัฐธรรมนูญที่โดดเด่นครั้งหนึ่งเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1999 ในประเด็นสิทธิ์การพำนักในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงในคดีหลิว กั่งหรงกับผู้อำนวยการตรวจคนเข้าเมือง[18] คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติตีความกฎหมายพื้นฐานฮ่องกงตามจุดยืนที่รัฐบาลฮ่องกงแสดงออกเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์พำนักถาวรในฮ่องกง

ใน ค.ศ. 2014 คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับการเลือกตั้งนายกองค์การของฮ่องกง ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ได้รับการต่อต้านอย่างกว้างขวางจากฝ่ายประชาธิปไตยและนำไปสู่การปฏิวัติร่ม[19]

ใน ค.ศ. 2016 คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติตัดสินว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่กล่าวคำปฏิญาณอย่างไม่เหมาะสมอาจถูกตัดสิทธิ์ทันที[20]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2020 คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติจัดทำและผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกง กฎหมายที่ถูกเก็บเป็นความลับกระทั่งก่อนมีผลบังคับใช้ไม่นาน[21] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 แคร์รี หลั่มขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติเพื่อมอบอำนาจให้รัฐบาลฮ่องกงตัดสิทธิ์สมาชิกสภานิติบัญญัติที่สนับสนุนประชาธิปไตย 4 คน[22]

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 มีรายงานว่าคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติจะดำเนินการลดทอนการต่อต้านจากสมาชิกสภาเขต โดยการถอดถอนผู้ที่ "ละเมิดเส้นแดง" และโดยการถอดถอน 117 ที่นั่งของสมาชิกสภาเขตในคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งนายกองค์การ[23] ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 แคร์รี หลั่มกล่าวว่าสมาชิกสภาเขตฝ่ายค้านจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับสมาชิกจากฝ่ายสนับสนุนปักกิ่ง และว่า "ไม่มีข้อสงสัยในความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะเคารพบทบาทและหน้าที่ของสภาเขตต่อไป"[23]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติอนุมัติการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งของฮ่องกง โดยอนุญาตให้เฉพาะ "ผู้รักชาติ" เท่านั้นที่สามารถดำรงตำแหน่งในรัฐบาล และยังลดการเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยลงด้วย[24]

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 หลังจอห์น ลีสอบถามคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติว่าจิมมี ไหล่สามารถจ้างทนายความต่างชาติได้หรือไม่ คณะกรรมาธิการสามัญตัดสินว่าทนายความต่างชาติจะสามารถถูกจ้างในคดีความมั่นคงแห่งชาติได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากนายกองค์การหรือจากคณะกรรมาธิการคุ้มครองความมั่นคงแห่งชาติเท่านั้น[25]

คณะกรรมาธิการชุดปัจจุบัน

[แก้]

ได้รับเลือกโดยสภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 14 ในการประชุมครั้งแรก

ประธาน
จ้าว เล่อจี้ (ก. มีนาคม ค.ศ. 1957): สมาชิกอันดับที่ 3 ของคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน
รองประธาน (14)
  1. หลี่ หงจง (ก. สิงหาคม ค.ศ. 1956): สมาชิกกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน
  2. หวัง ตงหมิง (ก. กรกฎาคม ค.ศ. 1956)
  3. เซี่ยว เจี๋ย (ก. มิถุนายน ค.ศ. 1957)
  4. เจิ้ง เจี้ยนปัง (ก. มกราคม ค.ศ. 1957): ประธานคณะกรรมาธิการปฏิวัติก๊กมินตั๋งแห่งประเทศจีน
  5. ติง จ้งหลี่ (ก. มกราคม ค.ศ. 1957): ประธานสันนิบาตประชาธิปไตยแห่งประเทศจีน
  6. ห่าว หมิงจิน (ก. ธันวาคม ค.ศ. 1956): ประธานสมาคมสร้างชาติประชาธิปไตยแห่งประเทศจีน
  7. ไช่ ต๋าเฟิง (ก. มิถุนายน ค.ศ. 1960): ประธานสมาคมส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งประเทศจีน
  8. เหอ เหวย์ (ก. ธันวาคม ค.ศ. 1955): ประธานพรรคประชาธิปไตย เกษตรกร และกรรมกรแห่งประเทศจีน
  9. อู่ เหวย์หฺวา (ก. กันยายน ค.ศ. 1956): ประธานสมาคมจิ่วซาน
  10. เถี่ย หนิง (ก. กันยายน ค.ศ. 1957): ประธานสหพันธ์วงการวรรณกรรมและศิลปะแห่งจีน และสมาคมนักเขียนจีน
  11. เผิง ชิงหฺวา (ก. เมษายน ค.ศ. 1957)
  12. จาง ชิ่งเหว่ย์ (ก. พฤศจิกายน ค.ศ. 1961)
  13. โลซัง จามจัน (ก. กรกฎาคม ค.ศ. 1957): สมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 18 อดีตประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนเขตปกครองตนเองทิเบต และประธานเขตปกครองตนเองทิเบต
  14. โชห์รัต ซากีร์  (ก. สิงหาคม ค.ศ. 1953): อดีตประธานเขตปกครองตนเองทิเบต

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. National People's Congress of the PRC. 中华人民共和国全国人民代表大会和地方各级人民代表大会选举法 [Election Law of the National People's Congress and Local People's Congress of the People 's Republic of China]. www.npc.gov.cn (ภาษาChinese (China)). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 June 2017. สืบค้นเมื่อ 18 June 2017.
  2. "Electoral Law of the National People's Congress and Local People's Congresses of the People's Republic of China". National People's Congress. 29 August 2015. สืบค้นเมื่อ 12 July 2021.
  3. "China's Electoral System". State Council of the People's Republic of China. 2014-08-25. สืบค้นเมื่อ 2021-07-12.
  4. "IX. The Election System". China.org.cn. China Internet Information Center. สืบค้นเมื่อ 12 July 2021.
  5. "全国人民代表大会为什么要设立常委会?". 中国人大网 (ภาษาChinese (China)). 2000-11-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-14. สืบค้นเมื่อ 2021-04-15.
  6. Tencent News (2011). "共和国辞典第44期:八二宪法". Tencent Net History (ภาษาChinese (China)). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-16. สืบค้นเมื่อ 2021-04-15.
  7. "National People's Congress Organizational System". China Internet Information Center. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2014. สืบค้นเมื่อ 26 April 2014.
  8. Truex 2016, p. 53.
  9. 9.0 9.1 9.2 "Constitution of the People's Republic of China". National People's Congress. สืบค้นเมื่อ 4 November 2023.
  10. 徐高峰,中国共产党在人大设立党组的前前后后,红广角2014(9):38-41
  11. 11.0 11.1 11.2 Liao, Zewei (2023-03-04). "NPC 2023: How China Selects Its State Leaders for the Next Five Years". NPC Observer (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2023-11-03.
  12. Wei, Changhao (2018-03-15). "Bilingual NPC Organizational Chart". NPC Observer (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-04-04.
  13. 13.0 13.1 "Functions and Powers of the Standing Commitee [ตามต้นฉบับ]". www.npc.gov.cn. สืบค้นเมื่อ 2021-04-15.
  14. Truex 2016, p. 51.
  15. 15.0 15.1 "FAQs: National People's Congress and Its Standing Committee". NPC Observer (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 4 May 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 November 2023. สืบค้นเมื่อ 2023-11-03.
  16. Li, Cheng (2016-10-18). Chinese Politics in the Xi Jinping Era: Reassessing Collective Leadership (ภาษาอังกฤษ). Brookings Institution Press. p. 69. ISBN 978-0-8157-2694-4.
  17. 17.0 17.1 "全国人大常委会关于实行宪法宣誓制度的决定". People's Daily. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-22. สืบค้นเมื่อ 2015-07-01.
  18. "FACV Nos 10 and 11 of 1999". Judiciary of Hong Kong. 3 December 1999. สืบค้นเมื่อ 11 March 2016.
  19. "Hong Kong's self-styled 'voice of reason' says Beijing-imposed electoral shake-up is 'the worst' things will get for the city". Hong Kong Free Press (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-04-05. สืบค้นเมื่อ 2021-04-07.
  20. Wong, Brian; Lam, Jeffie; Cheng, Lilian (2022-11-28). "Hong Kong to ask Beijing to interpret national security law after Jimmy Lai victory". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-11-28.
  21. "Hong Kong leader demands international respect for the national security law". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 2020-06-30. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
  22. Lau, Stuart (2020-11-12). "EU accuses China of dealing 'severe blow' to Hong Kong political freedoms". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
  23. 23.0 23.1 "Beijing planning crackdown on Hong Kong's district councillors, a year after pro-democracy landslide - report". Hong Kong Free Press (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-12-23. สืบค้นเมื่อ 2021-02-21.
  24. Ho, Kelly (2021-03-30). "Beijing unanimously approves Hong Kong election overhaul, reducing democratic representation". Hong Kong Free Press (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-03-30.
  25. "'Get approval for foreign lawyers in NSL cases'". RTHK (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-12-31.