ซุน ยัตเซ็น
ซุน ยัตเซ็น | |
---|---|
孫中山 / 孫逸仙 / 孫文 | |
ซุน ยัตเซ็นในปี ค.ศ. 1911 | |
ประธานาธิบดีเฉพาะกาลแห่งสาธารณรัฐจีน | |
ดำรงตำแหน่ง 1 มกราคม ค.ศ. 1912 – 10 มีนาคม ค.ศ. 1922 | |
รองประธานาธิบดี | หลี หยวนหง |
ก่อนหน้า | สถาปนาตำแหน่ง ผู่อี๋ (ในฐานะจักรพรรดิจีน) |
ถัดไป | ยฺเหวียน ชื่อไข่ |
หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง | |
ดำรงตำแหน่ง 10 ตุลาคม ค.ศ. 1919 – 12 มีนาคม ค.ศ. 1925 | |
ก่อนหน้า | จัดตั้งตำแหน่ง |
ถัดไป | จาง เหรินจี๋ (ฐานะผู้บริหารพรรค) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ซุน เต๋อหมิง (孫德明) 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1866 จงชาน มณฑลกวางตุ้ง จักรวรรดิชิง |
เสียชีวิต | 12 มีนาคม ค.ศ. 1925 กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐจีน | (58 ปี)
ที่ไว้ศพ | สุสานซุน ยัตเซ็น |
ศาสนา | คริสต์ |
พรรคการเมือง | ก๊กมินตั๋ง |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น | พรรคจีนปฏิวัติ |
คู่อาศัย | เฉิน ซุ่ยเฟิน (อนุภรรยา) (1892–1925) ฮารุ อาซาดะ (อนุภรรยา) (1897–1902) |
คู่สมรส | หลู มู่เจิน (สมรส 1885; หย่า 1915) คาโอรุ โอตสึกิ (สมรส 1903–1906) ซ่ง ชิ่งหลิง (สมรส 1915–1925) |
บุตร | ซุน โฝ ซุน หย่วน ซุน หว่าน ฟูมิโกะ มิยากาวะ |
บุพการี |
|
รางวัล | เครื่องมหาอิสริยาภรณ์ (ได้รับบำเหน็จจากประธานาธิบดี ยฺเหวียน ชื่อไข่ แต่ซุนได้ปฏิเสธโดยตัวเขาเอง) |
ลายมือชื่อ (ภาษาจีน) | |
ลายมือชื่อ | |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | สาธารณรัฐจีน |
สังกัด | กองทัพสาธารณรัฐจีน |
ประจำการ | 1917–1925 |
ยศ | จอมพลสูงสุด |
ผ่านศึก | |
ซุน ยัตเซ็น (จีนตัวเต็ม: 孫中山; จีนตัวย่อ: 孙中山; พินอิน: Sūn Zhōngshān; 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1866 - 12 มีนาคม ค.ศ. 1925) เป็นนักประชาธิปไตยและนักปฏิวัติ ผู้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "บิดาของชาติ" ในสาธารณรัฐจีน และ "ผู้บุกเบิกการปฏิวัติประชาธิปไตย" ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความเป็นผู้ริเริ่มจีนชาตินิยมคนสำคัญ ซุนมีบทบาทสำคัญในจุดประกายการโค่นล้มราชวงศ์ชิงที่ปกครองแผ่นดินจีนเป็นราชวงศ์สุดท้ายและเกือบนำประเทศไปสู่ความหายนะ ซุนได้ปลุกกระแสให้ชาวจีนหันมาตระหนักถึงความล้มเหลวของราชวงศ์ชิง กระทั่งกลายเป็นกระแสต่อต้านราชวงศ์และนำไปสู่การปฏิวัติซินไฮ่ ซึ่งเปลี่ยนประเทศจีนเป็นประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ซุนเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลคนแรกเมื่อสาธารณรัฐจีนก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1912 และภายหลังร่วมก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเขาเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก[1]
แม้ซุนถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนสมัยใหม่ ชีวิตการเมืองของเขากลับต้องต่อสู้ไม่หยุดหย่อนและต้องลี้ภัยบ่อยครั้ง หลังประสบความสำเร็จในการปฏิวัติ เขากลับสูญเสียอำนาจอย่างรวดเร็วในสาธารณรัฐจีนที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น และนำรัฐบาลปฏิวัติสืบต่อมาเป็นการท้าทายขุนศึกที่ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ซุนมิได้มีชีวิตอยู่เห็นพรรคของเขารวบรวมอำนาจเหนือประเทศระหว่างการกรีฑาทัพขึ้นเหนือ (Northern Expedition) พรรคของเขา ซึ่งสร้างพันธมิตรอันละเอียดอ่อนกับพวกคอมมิวนิสต์ แตกเป็นสองฝ่ายหลังเขาเสียชีวิต มรดกสำคัญของซุนอยู่ในการพัฒนาปรัชญาการเมืองของเขา ซึ่งรู้จักกันในชื่อ หลัก 3 ประการแห่งประชาชน อันได้แก่ ชาตินิยม ประชาธิปไตย และความเป็นอยู่ของประชาชน[2]
ในปัจจุบันนั้นซุน ยัตเซ็นถือเป็นบุคคลผู้สร้างความสามัคคีในจีนหลังยุคจักรวรรดิและยังคงเป็นนักการเมืองจีนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวางจากประชาชนทั้งสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวันซึ่งได้แก่ ในสาธารณรัฐจีนที่ตั้งอยู่บนเกาะไต้หวันและในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่อยู่บนจีนแผ่นดินใหญ่
ประวัติช่วงต้น
[แก้]ชื่อ
[แก้]ชื่อเกิดของท่านมีว่า ซุน เหวิน (จีน: 孫文) และชื่อทางการของเขาคือ ซุน เต๋อหมิง (จีน: 孫德明) ต่อมาเรียกว่า ซุน อี้เซียน (จีน: 孫逸仙) ซึ่งออกเสียงเป็น ซุน ยัตเซ็น ในภาษาจีนกวางตุ้ง มีความหมายว่า เทพเจ้าอิสระ โดยชื่อ ซุน ยัตเซ็น นั้นท่านได้เริ่มใช้เมื่อมีอายุ 33 ปี ส่วนภาษาจีนกลางเรียกเขาว่า ซุน จงซาน (จีน: 孫中山) นอกจากนี้เขาก็ใช้นามแฝงในวรรณกรรมว่า รื่อซิน (จีน: 日新) อีกด้วย [3]
วัยเด็ก และการศึกษา
[แก้]ซุน ยัตเซ็น หรือ ดร. ซุน ยัตเซ็น เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1866 ที่อำเภอจงซาน มณฑลกวางตุ้งของจีน ในครอบครัวชาวนาที่ยากจน ซึ่งมีเชื้อสายของพื้นหลังครอบครัวเป็นชาวจีนฮากกา[4] ครอบครัวของซุนต้องอาศัยอยู่ในกระต๊อบหลังเล็กที่ชายหมู่บ้านอาศัยมันเทศเป็นอาหารหลักแทนข้าว[5] ซุนมีลักษณะนิสัยเหมือนกับมารดา คือเป็นคนที่ค่อนข้างเงียบ ไม่ค่อยชอบพูดจา พอซุนอายุ 7 ปีท่านก็ได้เรียนหนังสือ ต่อมาก็ได้มีบาทหลวงมาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ท่านจึงได้คลุกคลีกับบาทหลวงเพื่อขอดูแผนที่และเกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ซุนฉายแววเป็นคนฉลาดมาตั้งแต่เด็ก อ่านหนังสือเป็นพิเศษ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ปรัชญา แล้วยังชอบที่จะอ่านแผนที่อีกด้วย ตั้งแต่ตัวท่านไม่ค่อยพูดเกี่ยวกับความสนใจเท่าใดนัก และไม่ชอบฟังเพลง ทางด้านการทานอาหาร ท่านชอบทานผักเนื้อปลา ไม่ชอบทานเผ็ด ผลไม้ที่ท่านชอบที่สุดคือส้มและสับปะรด
ปู่ของซุน ซุนจิ้งเสียนเป็นชาวนายากจนที่ต้องเช่านาเขาทำเพื่อความอยู่รอด บิดาของเขาซุนต๋าเฉิงต้องไปประกอบอาชีพเป็นช่างปะรองเท้าที่มาเก๊าในวัยหนุ่ม ต่อมาได้กลับบ้านเช่านาเขาทำ และเป็นยามในหมู่บ้านพร้อมกันไปด้วย ส่วนพี่ชายของเขาซุนเหมยเป็นคนงานในบ้านเจ้าของที่ดินในหมู่บ้านติดกัน
เมื่อซุนอายุได้ 10 ปี จึงได้เริ่มย้ายไปเรียนหนังสือที่ตลาด ในช่วงนั้นท่านมุมานะเรียนหนังสืออย่างตั้งใจ แม้แต่บิดาของซุนผู้ยากจนในอาชีพเกษตรกรรมจะมัธยัสถ์ ด้วยการประหยัดค่าน้ำมันที่ใช้จุดไฟในตอนกลางคืนที่มีแสงจันทร์ก็ตาม แต่ซุนก็ไม่ย่นย่อที่อ่านหนังสือตำราต่าง ๆ ภายใต้แสงสว่างของดวงจันทร์
ริเริ่มแนวความคิดต่อต้านราชวงศ์ชิง
[แก้]ประเทศจีนในขณะนั้นปกครองโดยราชวงศ์ชิงที่เป็นชนต่างชาติชาวแมนจูเข้ามาปกครองประเทศจีนยาวนานนับทศวรรษ อีกทั้งช่วงนั้นถือหัวเลี้ยวหัวต่อที่สังคมศักดินาของจีนแปรเปลี่ยน เป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งศักดินา ความพ่ายแพ้และการยอมจำนนอันอัปยศในสงครามฝิ่นของรัฐบาลราชวงศ์ชิงสองครั้ง สองครา ทำให้ประเทศจีนสูญเสียเอกราชทางการเมืองและตกเป็นทาสทางเศรษฐกิจของทุนนิยมต่างชาติ ขณะเดียวกันการต่อสู้ของประชาชนจีนต่ออิทธิพลรุกรานของต่างชาติและอิทธิพลของศักดินาจีน ซุนยัดเซ็นต้องทำนาตั้งแต่อายุได้เพียง 6 ขวบ เริ่มเรียนหนังสือกับครูที่สอนในบ้านเมื่ออายุได้ 10 ขวบ
ในเวลานั้นมีนักรบผู้เฒ่าคนหนึ่งชื่อ ฝงส่วงกวาน ซึ่งเคยร่วมการปฏิวัติไท่ผิงเทียนกว๋อ มักจะเล่านิทานการโค่นบัลลังก์ราชวงศ์ชิงของหงซิ่วฉวน และหยางซิ่วซิงให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านฟังเสมอ พอเล่าถึงตอนก่อการที่จินเถียน ตั้งเมืองหลวงที่นานกิง และตีค่ายใหญ่ของทหารราชวงศ์ชิงฝั่งเหนือ และใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียงแตก จนเจิงกว๋อฟานต้องกระโดดน้ำตาย เด็ก ๆ ก็ดีใจลิงโลด ซุนยัดเซ็นมีความสนใจเรื่องราวเกี่ยวการจับอาวุธลุกขึ้นสู้ของชาวนา อาทิ หงซิ่งฉวนและหยางซิ่วซิงเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่เยาว์วัย เวลานั้นซุนยัดเซ็นก็เริ่มรู้สึกว่า สังคมประเทศจีนในขณะนั้นมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ยุติธรรม เขาเห็นเจ้าหน้าที่เกณฑ์เสบียงอาหารกับชาวบ้านบังคับเก็บภาษี หรือไม่ก็จับกุม ถูกรีดภาษีอากรเพิ่มทุกปี โดยชนชั้นปกครองราชวงศ์ไม่เคยทำประโยชน์ให้แก่ราษฎรแม้แต่น้อย การฉ้อราษฎร์บังหลวงข่มประชาชนและขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นศักดินาของประเทศจีนในอดีตนั้น ซุนยัดเซ็นในเยาว์วัยได้ประสบพบเห็นมาด้วยตัวเอง จึงทำให้เขาเริ่มเกิดความสงสัยและไม่พอใจมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
อยู่มาวันหนึ่งมีกรรมการอำเภอและตำรวจในราชสำนักชิงได้มาจับกุมผู้คนในหมู่บ้านไป 3 คน คนหนึ่งถูกลงโทษประหารตัดหัวกลางตลาด ส่วนอีก 2 คน ถูกจองจำไว้ ชาวบ้านต่างโกรธไม่พอใจในการที่ต่างไม่รู้ข้อหา และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากทางบ้านเมืองของการจับผู้ต้องหา 3 คนนั้น ซุนจึงเดินนำออกไปคัดค้านและสอบถามข้อมูลของสาเหตุที่ผู้ต้องหาทั้ง 3 ถูกลงโทษแต่ทำให้เจ้าหน้าที่กรรมการอำเภอในราชวงศ์ชิงโกรธมากถึงกับด่าทอและทุบตีทำร้ายท่าน อีกทั้งยังใช้มีดพยายามที่จะแทงท่าน แต่ถือเป็นโชคของท่านที่สามารถหลบปลายมีดได้ทันและหนีออกมาได้ จึงเป็นวีรกรรมที่ท่านก่อขึ้นในขณะที่อายุยังน้อย
หลังจากก่อวีรกรรมดังกล่าวแล้วท่านได้พบกับเพื่อนสนิทคือ ลู่ เฮาตง ต่อมาในปี ค.ศ. 1871 ท่านก็ได้เดินทางไปเรียนที่เมืองโฮโนลูลู ฮาวาย และอยู่ทำงานกับ ซุนเหมย พี่ชายของเขาและกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่ได้อพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนไปประกอบชีพการค้าหรือไม่ก็เป็นแรงงานกุลีรับจ้างที่นั่น[6][7][8][9] ในปี ค.ศ. 1871 ซุนได้พลัดพรากจากบ้านเกิดไปหาเลี้ยงชีพยังหมู่เกาะฮาวายอันไกลโพ้น โดยแรก เริ่มทำงานในสวนผัก ไม่นานก็ไปเป็นคนงานในไร่ปศุสัตว์ จากนั้นได้หักร้างถางพงดำเนินกิจการคอกปศุสัตว์จนได้รับความสำเร็จกลายเป็น นายทุนชาวจีนโพ้นทะเลปีที่ซุนยัดเซ็นเกิดนั้น เป็นปีที่ 6 หลังจากทหารพันธมิตรอังกฤษ ฝรั่งเศสบุกเข้านครปักกิ่ง และเป็นปีที่ 2 หลังจากนครนานกิงซึ่งเป็นเมืองหลวงของไท่ผิงเทียนกว๋อ (ขบวนการเมืองแมนแดนสันติ) ถูกยึดครอง
การศึกษาที่ฮาวาย
[แก้]ซุน ยัดเซ็นเริ่มต้นชีวิตการศึกษาเมื่ออายุ 12 ปี โดยเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษา 2 แห่ง ที่เกาะฮาวาย ตอนที่เขาอายุได้ 12 ขวบ ซุนยัดเซ็นก็เดินทางไปฮาวายพร้อมกับมารดาเพื่อไปอาศัยอยู่กับพี่ชายของเขาที่นั่น การเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก ทำให้เขาได้เปิดหูเปิดตาสู่โลกภายนอกเขาเริ่มงานโดยเป็นลูกจ้างอยู่ในร้าน ขายของของพี่ชายที่คาฮูลูอิในเกาะมาอูอิ เขาได้เรียนรู้การทำบัญชีและดีดลูกคิด ทั้งหัดพูดภาษาท้องถิ่น ไม่นานซุนได้เข้าเรียนในโรงเรียนเปาโล
ปีถัดมาค.ศ. 1879 เขาก็ได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนมัธยมชายอิโอลันนี ซึ่งเป็นโรงเรียนของคริสต์จักรอังกฤษในฮอนโนลูลู จบการศึกษาปี ค.ศ. 1882[10]
ต่อจากนั้นได้เข้าเรียนต่อที่โออาร์โฮไฮสกูล ซึ่งเป็นของคริสต์จักรอเมริกา ในการสอนของโรงเรียนดังกล่าวข้างต้นใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด ซุนพากเพียรเรียนหนังสือวิชาต่าง ๆ จนได้เป็นนักเรียนที่มีคะแนนนิยมดีเด่น ในเวลาว่างนอกจากเรียนภาษาจีนด้วยตนเองยังชอบอ่านชีวประวัติของนักปฏิวัติชนชั้นนายทุน อาทิ ชีวประวัติของวอชิงตัน,ลินคอล์น ในเวลานั้นประชาชนฮาวายได้เกิดการรณรงค์ต่อสู้คัดค้านอเมริกา โดยเสนอคำขวัญว่า ฮาวายเป็นของชาวฮาวาย การโจมตีและขับไล่ศัตรูผู้รุกรานเกิดขึ้นทั่วไป การต่อสู้คัดค้านชาวอเมริกันผู้รุกรานอย่างห้าวหาญของประชาชนฮาวายที่ซุนได้ เห็นกับตา ทำให้เขาคิดถึงประเทศจีนที่ถูกจักรวรรดินิยมรุกราน และเกิดอุดมการณ์ในอันที่จะคัดค้านลัทธิอาณานิคมและเรียกร้องความเป็นเอกราชของประเทศจีน
เมื่อได้ศึกษาในต่างประเทศ เปิดโลกทัศน์ได้ซุนยัดเซ็นเห็นถึงการคัดค้านต่อสู้ทางการเมืองในหลายรูปแบบ จึงทำให้เกิดความคิดและแรงบันดาลใจที่จะกอบกู้ประเทศชาติ ในระหว่างที่อยู่ที่ฮาวายนี้ศึกษาซุนได้ศึกษาวิทยาศาสตร์ และศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างลึกซึ้ง ทำให้ซุนเกิดความคิดที่จะเปลี่ยนศาสนาขึ้นมา ความใกล้ชิดต่อคริสต์ศาสนา และห่างไกลจากลัทธิขงจื๊อซึ่งครอบครัวท่านยึดถือ ทำให้พี่ชายกังวลจนถึงขั้นแจ้งข่าวให้ทางบ้านทราบ และส่งตัวน้องชายกลับบ้าน
ซุนกลับประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ. 1883 การที่ได้พำนักและศึกษาในต่างประเทศเป็นเวลา 5 ปี ทำให้ซุนได้เห็นความเจริญต่าง ๆ ทำให้เขามีความรู้สึกว่า ความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ในสังคมจีนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และทำให้ซุนเกิดความปรารถนาที่จะพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตน เมื่อกลับสู่มาตุภูมิแล้ว ซุนพยายามปลุกระดมชาวบ้านให้เกิดความสำนึกที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมโดยการโจมตีความเน่าเฟะของบ้านเมือง และขนบธรรมเนียมประเพณีอันล้าหลังของประเทศจีน อีกด้านหนึ่งเขาได้เริ่มลงมือพัฒนาการบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น ติดตั้งไฟส่องถนนหนทาง การวางเวรยามป้องกันโจรผู้ร้าย จากบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงในระยะแรกของเขาก็คือ เขาเห็นว่าความเชื่อโบราณของจีนเป็นเรื่องงมงาย ถึงขั้นทำลายเทวรูปในหมู่บ้าน และกล่าวว่าเป็นเพียงวัตถุไร้สาระที่ชาวบ้านงมงายอย่างไม่ลืมหูลืมตา เมื่อเกิดเป็นเรื่องวุ่นวาย เนื่องจากชาวบ้านโกรธแค้นอย่างมาก บิดาของซุนยัดเซ็นจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการส่งตัวลูกชายไปศึกษาต่อที่ฮ่องกง[11] ขณะที่ท่านศึกษาที่ฮ่องกงขณะนั้นฮ่องกงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ท่านได้จบการศึกษาจากวิทยาลัยการแพทย์ตะวันตกในฮ่องกง ด้วยคะแนนจากการสอบไล่เป็นอันดับหนึ่ง ทำให้ท่านถูกขนานนามว่า ดร.ซุนยัตเซ็น
ในฐานะนักปฏิวัติ
[แก้]สี่สหาย
[แก้]ในระหว่างที่ ซุนยัดเซ็น พำนักอยู่ในฮ่องกงก็ได้พบปะกับเหล่านักศึกษาที่มีแนวความคิดเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งซุนได้เริ่มตั้งกลุ่มขึ้นโดยใช้ ชื่อเล่นว่า "สี่สหาย" ที่วิทยาลัยการแพทย์ฮ่องกง[12] การตั้งกลุ่มสี่สหายได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดกันและโต้เถียงปัญหาการเมือง ซึ่งทำให้ซุนเริ่มมีแนวความคิดต่อต้านการปกครองของราชวงศ์ชิงขึ้น
การงาน และการต่อต้านราชวงศ์ชิง
[แก้]นายแพทย์ซุน ยัตเซ็น ได้เป็นแพทย์ที่มาเก๊าและกวางโจว ในขณะที่ทำงานเป็นแพทย์ ซุนมีลักษณะนิสัยที่ชอบช่วยเหลือผู้คน บางครั้งท่านก็รักษาคนไข้ฟรีด้วย[13] การรักษาคนไข้ของซุนทำให้ซุนได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากของผู้คนที่มาให้ท่านรักษาที่ต่างล้วนแต่ยากจนและอับจนหนทางในชีวิตจนต้องอยู่ไปวัน ๆ แบบไร้อนาคต ซุนได้ตระหนักว่าสาเหตุเหล่านี้ล้วนเกิดจากสังคมที่สิ้นหวังทุกหย่อมหญ้า อันเนื่องมาจากระบบสังคมและการปกครองที่ต่างหยุดนิ่งโดยไม่พัฒนาไปด้านไหนมาเป็นเวลายาวนานตลอดช่วงการปกครองของราชวงศ์ชิงทำให้ประเทศจีนไม่สามารถตามโลกได้ทัน ซึ่งสาเหตุหลักนั้นก็มาจากการปกครองภายใต้ราชวงศ์ที่สวนกระแสโลกในขณะนั้น จนทำให้จีนไม่ทันความเจริญและการเปลี่ยนแปลงของโลก ซุนยังตระหนักอีกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างให้ประเทศจีนและชาวจีนหลุดพ้นจากวงจรที่เลวร้ายเหล่านี้ ทำให้ท่านคิดว่าไม่ใช่เพียงร่างกายคนเท่านั้นที่ต้องการการรักษายังต้องรักษาความคิดและจิตใจของคนอีกด้วย ซึ่งประเทศจีนตอนนั้นก็เปรียบเสมือนคนป่วยคนหนึ่ง ดังนั้นท่านจึงพยายามที่จะรักษาประเทศของท่านเองด้วยวัยเพียง 18 ปี ท่านได้เขียนร่างจดหมายถึงรัฐบาลจีน เพื่อขอร้องให้มีการปฏิรูป
เขียนฎีกาขอร้องการปฏิรูปประเทศ
[แก้]ซุน ยัดเซ็นเวลานั้นมีความคิดอ่านปฏิวัติบ้างแล้ว ยังไม่ถึงขั้นเป็นนักปฏิวัติประชาธิปไตย เขาได้รับแรงดลใจจากแนวความคิดลัทธิปฏิรูปที่แพร่หลายอยู่ในประเทศจีนชั่วขณะหนึ่ง โดยฝากความหวังไว้กับขุนนางผู้ใหญ่บางคนของชนชั้นปกครอง ก้าวไปตามวิถีทางของลัทธิปฏิรูปด้วยคิดว่าความคิดอ่านของตนอาจได้รับความเห็นขอบจากขุนนางผู้ใหญ่บางคน
ครั้นแล้ว ฤดูร้อนปี ค.ศ. 1894 ซุนขอเข้าพบขุนนางผู้ใหญ่ หลี่ หงจาง (จีน: 李鸿章) ขุนนางคนสำคัญของราชสำนักชิงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งกุมอำนาจทางการทหาร การบริหารและการทูตของราชสำนักชิงอยู่ในเวลานั้น โดยการเสนอให้ปฏิรูปการปกครอง แต่ซุนก็ไม่เคยมีแม้กระทั่งโอกาสที่จะได้เข้าพบหลี่หงจาง ซ้ำความคิดเห็นของเขาก็มิได้รับความสนใจเอาเลย ขุนนางผู้ใหญ่ศักดินาที่เป็นขี้ข้าและนายหน้าค้าต่างของจักรวรรดินิยมหรือ จะสามารถรับข้อเสนอที่มีลักษณะก้าวหน้าในยุคนั้นได้
เมื่อถูกปฏิเสธครั้งแรก ซุนได้ร่างฎีกาเป็นหนังสือเรียกร้องขอให้มีการปฏิรูปประเทศ หนังสือที่เขาเขียนถึงหลี่นั้น มีความยาวถึงแปดพันคำ กล่าวโดยสรุปสาระสำคัญของบันทึกฉบับนี้คือ ฝากความหวังไว้กับคนชั้นสูงของชนชั้นปกครองให้ดำเนินมาตรการปฏิรูปของชนชั้นนายทุนบางประการและเรียกร้องให้มีการนำหลักประชาธิปไตยมาใช้ และในปีเดียวกันซุนได้พยายามถือฎีกาเดินทางขึ้นไปยังปักกิ่งเมืองหลวง เพื่อส่งจดหมายถึง หลี่ หงจาง โดยซุนต้องการเสนอแนวทางการพัฒนาจีนให้กับเขา แต่กลับถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย หลี่ หงจางได้ฉีกฎีกาจดหมายนั้นลงถังขยะ พร้อมทั้งกล่าวเหยียดหยันซุนว่าเป็นคนไม่มีสัมมาคารวะ
สมาคมซิงจงฮุ่ย
[แก้]เมื่อถูกปฏิเสธ ซุนจึงตระหนักดีว่า การเปลี่ยนแปลงจีนให้หลุดจากการปกครองของราชวงศ์ชิง นั้นไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่จำเป็นต้องกระทำการแบบ "พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" อันหมายถึง "การใช้กำลังปฏิวัติ" ดังนั้น ในฤดูหนาวปีเดียวกัน ซุนจึงเดินทางกลับไปยังฮาวาย โดยมีแนวความคิดที่จะรวบรวมชาวจีนโพ้นทะเลผู้รักชาติขึ้น ดังนั้นในปีเดียวกันท่านและลู่ เฮาตง สหายของท่านได้ก่อตั้งองค์การจัดตั้งการปฏิรูปขึ้นมาหรือที่เรียกว่า "สมาคมซิงจงฮุ่ย" (จีน: 兴中会) ที่มีความหมายว่า "ฟื้นฟูประเทศจีน" ขึ้น ทั้งนี้เงินทุนสนับสนุนสมาคมดังกล่าวก็มาจาก ซุนเหมย พี่ชายของท่าน และตั้งแต่นั้นมาซุนยัตเซ็นก็ได้เริ่มชีวิตที่เปลี่ยนไป ท่านได้ทำการต่อสู้กับราชสำนักชิง โดยหวังว่าประเทศจีนจะสามารถกลายเป็นประเทศที่เป็นอิสระ เสมอภาค และมั่นคง เขาค่อย ๆ รู้สึกว่า วิถีทางปฏิรูปโดยสันตินั้นจะมีประโยชน์อันใด จำเป็นต้องใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานแทนวิธีการปฏิรูปเพียงส่วนหนึ่ง
ในปีเดียวกันสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง ได้ระเบิดขึ้น สงครามครั้งนี้เหล่าทหารหาญจีนได้ต่อสู้อย่างทรหดและห้าวหาญ แต่รัฐบาลราชวงศ์ชิงที่เหลวแหลก และไร้สมรรถภาพมิกล้าทำสงครามอย่างเด็ดเดี่ยวทำให้ฝ่ายจีนต้องได้รับความเสียหายอย่างหนัก สร้างความสะเทือนใจ และเคียดแค้นให้แก่มวลชนทั่วประเทศ บัดนั้นเอง ซุนยัดเซ็นรู้สึกอีกครั้งหนึ่งว่า ประเทศจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตของประชาชาติอย่างหนัก ยิ่งกว่านั้นเขาได้สำนึกว่า สันติวิธีนั้นใช้การไม่ได้เลยจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการรุนแรงโดยการปฏิวัติเท่านั้น ที่เป็นวิถีทางเดียวที่จะแก้วิกฤติของประเทศจีนได้ ซุนยัดเซ็นได้เดินทางไป อเมริกาด้วยอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เขาได้ติดต่อและปลุกระดมชาวจีน ในตอนแรกคนที่สนับสนุนความคิดอ่านของเขานั้นมีอยู่เพียงไม่กี่คนจัดตั้ง สมาคมเพื่อการปฏิวัติครั้งแรกจึงเป็นชนชั้นที่เป็นกลุ่มของชนชั้นนายทุนที่มีความรู้
ด้วยความมานะในการเคลื่อนไหวซึ่งในที่สุดเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากคนจำนวนหนึ่งทำการก่อตั้งสมาคมซิงจงฮุ่ย (ฟื้นฟูจีน) ซึ่งเป็นสมาคมปฏิวัติขนาดเล็กของชนชั้นนายทุนช่วงแรก ๆ ของจีน และเปิดการประชุมที่ฮอนโนลูลู ที่ประชุมได้มีมติผ่านร่างระเบียบการของสมาคมที่ซุนเป็นผู้ร่าง ในระเบียบการระบุว่า
"ประเทศจีนตกอยู่ภาวะคับขัน ปัจจุบันมีศัตรูล้อมรอบคอยจ้องตะครุบทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของจีน โดยเหล่าศัตรูพากันรุมเข้ามารุกรานและยึดครองจีน แล้วดำเนินการแบ่งสันปันส่วนอันเป็นสิ่งน่าวิตกอย่างยิ่ง พร้อมกันนั้นก็ประนามชนชั้นปกครองราชวงศ์ชิงที่โง่เขลาและไร้สมรรถภาพว่า ฝ่ายราชสำนักก็โอนอ่อนผ่อนตาม ส่วนขุนนางหรือก็โง่เขลาเบาปัญญา ไม่สามารถมองการณ์ไกล ทำให้ประเทศชาติต้องเสียทหาร ได้รับความอัปยศอดสูพวกขี้ข้าพาให้บ้านเมืองสู่ความหายนะ มวลชนต้องได้รับเคราะห์กรรมทนทุกข์ทรมานไม่มีวันโงหัว การก่อตั้งสมาคมนี้ขึ้นก็เพื่อกอบกู้ชาติบ้านเมือง ผดุงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี เพื่อรวบรวมประชาชนจีนทั้งใน และนอกประเทศ เผยแพร่อุดมการณ์กู้ชาติ"
ในคำปฏิญาณของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนั้น ยังได้ย้ำอีกว่า จะต้องขับไล่พวกแมนจู ที่ป่าเถื่อนออกไป ฟื้นฟูประเทศจีนจัดตั้งสาธารณรัฐ อันเป็นความคิดที่มีลักษณะปฏิวัติ ได้เสนออุดมการณ์ให้โค่นล้มราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นทาสรับใช้ของจักรวรรดินิยม และสถาปนาสาธารณรัฐ ปกครองโดยประชาธิปไตย มีชนชั้นนายทุนสนับสนุนแบบตะวันตกต่อประชาชนจีนเป็นครั้งแรก ซึ่งได้กลายเป็นหลักนโยบายอันแรกของการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนประเทศจีน
การปฏิวัติที่กว่างโจว
[แก้]ด้วยความรวดเร็ว สมาคมซิงจงฮุ่ย วางแผนการปฏิวัติในทันที และกำหนดเอาวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1895 เป็นวันลงมือ โดยแผนการดังกล่าวนั้น ใช้กำลังคน 3,000 คน เพื่อยึดเมืองกว่างโจว เมืองหลวงของมณฑลกวางตุ้ง เพื่อใช้เป็นฐานในการขยายการปฏิวัติต่อไป โดยในการปฏิวัติดังกล่าว ลู่เฮ่าตง เพื่อนสนิทตั้งแต่ยังเด็กผู้เชื่อมั่นในอุดมการณ์ปฏิวัติของซุน ได้ออกแบบ "ธงฟ้าสีน้ำเงินกับดวงตะวันสีขาว" ไว้ใช้ด้วย (ในเวลาต่อมาธงดังกล่าวได้กลายเป็นธงชาติของสาธารณรัฐจีน) อย่างไรก็ตาม การลงมือปฏิวัติครั้งแรกของซุน กลับล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า เนื่องจากมีคนทรยศ นำข่าวไปบอกกับเจ้าหน้าที่ของราชสำนักชิงก่อน ซึ่งก็ทำให้ผู้ร่วมปฏิวัติถูกประหารชีวิตตัดหัวไป 47 คน รวมถึง ลู่เฮ่าตง ส่วนดร.ซุนซึ่งไหวตัวทันก่อนจึงได้รอดชีวิตและหลบหนีได้สำเร็จ หลังจากการปฏิวัติในกว่างโจวประสบความล้มเหลว ซุนได้สลายผู้ที่มาร่วมก่อการอย่างสุขุม จากนั้นเขาก็เดินทางโดยทางเรือออกจากกว่างโจว ผ่านฮ่องกงไปลี้ภัยที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วก็ก่อตั้งสาขาสมาคมซิงจงฮุ่ยขึ้นที่โยโกฮามา ซุนก็ตัดผมหางเปียแบบแมนจูทิ้ง เปลี่ยนเครื่องแต่งกายมาใส่สูทแบบชาวตะวันตกเพื่อแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวในการปฏิวัติ และเดินทางไปประเทศต่าง ๆ เพื่อปลุกระดมชาวจีนให้เข้าร่วมการปฏิวัติ
หลังจากตั้ง สาขาซิงจงฮุ่ย ขึ้นที่ญี่ปุ่น เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1896 ซุนก็เดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เพื่อศึกษาแนวคิดทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ ในสหรัฐฯ และ ยุโรป โดยได้รับความช่วยเหลือจาก ดร.เจมส์ แคนต์ลี (Dr. James Cantlie) อาจารย์ชาวอังกฤษที่เคยสอนเขา ณ วิทยาลัยการแพทย์ในฮ่องกง และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากพี่ชายคนเดิม
การถูกจับลักพาตัวที่อังกฤษ ประชาชาติเคลื่อนไหว
[แก้]วันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1896 ระหว่างการเดินไปตามท้องถนนในกรุงลอนดอน ซุนก็ถูกลักพาตัวเข้าไปยังสถานทูตจีนประจำกรุงลอนดอน เพื่อส่งตัวลงเรือจากลอนดอนกลับไปยังจีนเพื่อ 'ตัดหัว' ตามคำบัญชาขององค์ชายไจ้เฟิง ราชสำนักชิงนั้นตั้งค่าหัวของเขาไว้ 7,000 ปอนด์ ในฐานะกบฏต่อราชสำนัก หรือไม่ถ้าการลอบพาตัวซุน กลับไปจีนไม่สำเร็จก็จะสังหารเสียที่สถานทูตจีนที่ลอนดอน[14]
อย่างไรก็ตามด้วยความช่วยเหลือจาก พนักงาน ชาวอังกฤษในสถานทูต ที่ส่งข่าวไปให้ ดร.แคนต์ลี อาจารย์แพทย์ผู้ชิดเชื้อกับ ซุน ยัตเซ็น ดร.แคนต์ลีก็ทำการช่วยเหลือศิษย์ทุกวิถีทาง โดยทางหนึ่งติดต่อไปยัง สก๊อตแลนด์ยาร์ด เมื่อไม่ได้ผลจึงประโคมข่าวผ่านทางหนังสือพิมพ์เดอะ โกลบ และ เดอะไทมส์ ที่ลงพาดหัวว่า "นักปฏิวัติจีนถูกลักพาตัวในลอนดอน"[15][16] ข่าวดังกล่าวเป็นกระแสในหมู่คนอังกฤษ และกดดันให้รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษต้องติดต่อไปยังสถานทูตจีนเพื่อเจรจา จนสุดท้ายสถานทูตจีนในลอนดอนต้องปล่อยตัวซุน ออกมาหลังจากกักตัวไว้นาน 12 วัน ซึ่งในตอนหลังซุนได้นำเหตุการณ์ตอนนี้มาเขียนโดยละเอียดโดยใช้ชื่อว่า Kidnapped in London
หลังจากรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ที่เกือบถึงแก่ชีวิตซุน ก็ขลุกตัวอยู่ในห้องสมุดของบริติชมิวเซียมเป็นเวลาถึง 9 เดือนเศษ จากนั้นถึงเดินทางมายังแผ่นดินยุโรป เพื่อศึกษาถึงแนวทางการเมืองของสังคมโลกในขณะนั้น โดยเฉพาะแนวโน้มในการปฏิรูป ปฏิวัติ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่าง ๆ จนในที่สุด ปี ค.ศ.1897 เขาจึงพัฒนาแนวคิดที่ว่าด้วยการปฏิวัติสังคม อันต่อเนื่องกันกับการปฏิวัติชาติกับประชาธิปไตยที่คิดไว้ก่อน
หลักแนวคิดลัทธิไตรราษฎร์
[แก้]หลักการประชาธิปไตยของดร.ซุน ยัดเซ็นซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดก็คือ หลักสามประการแห่งประชาชน หรือ ลัทธิไตรราษฎร์ ซานหมินจู่อี้ (จีน: 三民主义) (The Three Principles of the people) อันได้แก่เอกราชแห่งชาติ (หมินจู่) อำนาจอธิปไตยของประชาชน (หมินฉวน) และหลักในการครองชีพ (หมินเซิง) ภาษาอังกฤษนิยมแปลเป็นหรือ socialism ซึ่งสามารถสรุปได้โดยย่อคือ
- 1) ชาตินิยม (หมินจู่) หรือหลักการถือความเป็นเอกราชของชาติ เนื่องมหาอำนาจจักรวรรดินิยมยังคงคุกคามตามหัวเมืองต่าง ๆ ผืนแผ่นดินของจีน ซุนได้ใช้หลักการต่อต้านจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมมาสอดแทรกเป็นข้อย่อยของหลักการข้อแรก ส่วนข้อย่อยข้อสองคือหลักการปกครองตนเองที่ควรจะได้แก่ชนกลุ่มน้อยภายในประเทศจีน ซุนถือว่าทุกชนชาติในจีนทุกชนชาติควรมีความเสมอภาคเท่าทียมกันและล้วนเป็นชาวจีนด้วยกัน
(ประเทศจีนประกอบด้วยเชื้อชาติกลุ่มใหญ่ 5 เผ่า คือ ชาวฮั่น ชาวแมนจู ชาวมองโกล ชาวทิเบต ชาวอุยกูร์ ซุนถือว่าราชวงศ์ชิงในขณะนั้นปกครองโดยอภิสิทธิ์ชนชาวแมนจูจึงขัดกับหลักการจึงต้องทำการโค่นล้มราชวงศ์ชิงและให้ชาวแมนจูลงมามีฐานะเท่ากับเชื้อชาติอื่น ๆ
- 2) ประชาธิปไตย (หมินฉวน) หรือหลักการถืออำนาจอธิปไตยของปวงชน รัฐบาลในอุดมการณ์ของซุน จะต้องเป็นรัฐที่แบ่งแยกองค์การที่ใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 สาขา คือนอกจากมีอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตามหลักของมองเตสกิเออ (Montesquieu) ซุนยังมีเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในขณะเดียวกันต้องถือว่าประชาชนจะเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุด การเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประชาชนอาจแสดงออกได้ 4 ทาง อำนาจการออกเสียงเลือกตั้ง (Election) อำนาจถอดถอน (Recall) และอำนาจการลงประชามติ (Referendum)
- 3) ความเป็นอยู่ของประชาชน (หมิงเซิง) หรือหลักการในการครองชีพ เป็นหลักการที่ซุนได้ยืมเอาลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์มาใช้ มีการแบ่งสรรปันส่วนที่ดินใช้สอย
แนวคิดทั้งสามดังกล่าวต่อมาได้กลายเป็นหลักการพื้นฐานที่ยึดถือในการปฏิวัติของจีนตลอดระยะเวลาหลายสิบปี
ถงเหมิงฮุ่ย
[แก้]ระหว่างที่ซุนเคลื่อนไหวเพื่อสร้างกระแสการปฏิวัติจีนนั้น ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศจีนก็มีความเคลื่อนไหวจากคนกลุ่มต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เพียงแต่กลุ่มอื่นนั้นเป็นเป็นเพียงกลุ่มที่กระจุกแต่เพียงในพื้นที่นั้น ๆ มิได้มีการคิดการใหญ่ซึ่งครอบคลุมไปทั่วประเทศ และที่สำคัญไม่มีหลักการพื้นฐานของการปฏิวัติที่แน่ชัด ดังเช่น ลัทธิไตรราษฎร์ ของ ซุน ยัตเซ็น
จนในเดือน สิงหาคม ปี ค.ศ. 1905 ก็มีการประกาศรวมกลุ่มผู้สนับสนุนการปฏิวัติจีนที่ชื่อ สมาคมพันธมิตรปฏิวัติจีน (จงกั๋วถงเหมิงฮุ่ย:中国同盟会) ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย "ถงเหมิงฮุ่ย" นี้มีจุดมุ่งหมายในการปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิง โดยยึดหลักการของลัทธิไตรราษฎร์ โดยศูนย์กลางของถงเหมิงฮุ่ยนั้น อยู่ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น[17]
ช่วงก่อนหน้าที่ "ถงเหมิงฮุ่ย" จะเกิดขึ้นนั้น ทางฝั่งราชสำนักจีนที่ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น-ชาติตะวันตก และปล่อยให้กบฏนักมวยออกมาสร้างความวุ่นวายในปักกิ่ง กำลังตกอยู่ในสถานะแพ้สงครามให้กับกองทัพมหาอำนาจพันธมิตร 8 ประเทศ จนต้องมีการลงนามในสนธิสัญญาที่เรียกว่า Boxer Protocol (จีน: 辛丑条约 ลงนามในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1901) เพื่อยืนยันว่า จีนยินยอมชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล จักรพรรดิกวังซฺวี่ก็กำลังพยายามทำการปฏิรูปทางการปกครองประเทศ การทหาร อยู่เช่นกัน โดยมีการส่งคนไปศึกษายังต่างประเทศเพื่อเตรียมประกาศรัฐธรรมนูญ (ระบบการสอบจอหงวนก็สิ้นสุดลงในช่วงนี้ และ การสะสมกำลังทหารเพื่อสร้างเป็นกองทัพของหยวนซื่อไข่ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน) แต่ทั้งหมดก็สิ้นสุดลงเพราะการขัดขวางของพระนางซูสีไทเฮา
อย่างไรก็ตาม ดังเช่น ที่ ซุนกล่าวไว้ถึง ความสิ้นหวังต่อระบอบจักรพรรดิ การปฏิรูปที่ราชสำนักชิงพยายามทำนั้น ในสายตาของประชาชนกลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และยิ่งเป็นการเหยียบย่ำซ้ำเติมให้ทุกข์ยากยิ่งขึ้นไปอีก จากกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อราชสำนักชิงที่พุ่งขึ้นสูง ส่งผลให้ภายในระยะเวลาแค่หนึ่งปี ถงเหมิงฮุ่ย รวบรวมสมาชิกได้มากกว่าหมื่นคน มีการเปิดหนังสือพิมพ์เพื่อ ปลุกระดม และเผยแพร่ ลัทธิไตรราษฎร์ และที่สำคัญพยายามลงมือกระทำการปฏิวัติต่อเนื่อง
การเยี่ยมชาวจีนโพ้นทะเล
[แก้]การปฏิบัติของเยี่ยมชาวจีนโพ้นทะเลของ ซุน ยัตเซ็น ได้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1910 ซุนได้มาเยี่ยมชาวจีนโพ้นทะเลในเอเชียอาคเนย์ อาทิเช่น เวียดนาม ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศส มาเลเซีย สิงค์โปร์ และ สยาม
มลายาและสิงค์โปร์
[แก้]ความโดดเด่นและความนิยมของซุนได้ขยายไปทั่วประเทศจีน รวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ซึ่งมีชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมากอาศัยอยู่ที่มลายา (มาเลเซียและสิงคโปร์) เป็นจำนวนมาก ที่สิงคโปร์เขาได้พบกับพ่อค้าท้องถิ่นชาวจีน เช่น เตียว เอ็ง ฮก ตัน ชอ นัม และ ลิม นีซูน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนโดยตรงจากกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล สมาคมถงเหมิงฮุ่ย สาขาสิงค์โปร์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1906[18] บ้านพักที่ซุนพักในสิงค์โปร์ที่รู้จักกันในชื่อ วาน ชิงหยวน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของสมาคม[19]
ไทย (สยาม)
[แก้]ซุนได้เข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1903 ซึ่งท่านได้ทางสลับไปมาระหว่างไทย มลายาและสิงค์โปร์ เมื่อซุนมาถึงกรุงเทพฯ ท่านได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร) เพื่อขอพระราชทานพระราชานุญาตพบปะกับชาวจีนในประเทศไทย พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ท่านสามารถพบปะกับชาวจีนในประเทศไทยให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศ ต่อมาท่านได้จึงมาปราศรัยที่ถนนเยาวราช[20] เพื่อปลุกระดมชาวจีนโพ้นทะเล (หัวเฉียว) ในสยามให้สนับสนุนการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง ซุนได้พบกับหัวหน้าของชาวจีนในกรุงเทพฯ ในขณะนั้น คือ เซียวฮุดเสง (ต้นตระกูล สีบุญเรือง) ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ซึ่งได้ช่วยตีพิมพ์แนวความคิดของซุนลงในหนังสือพิมพ์จีน และช่วยส่งเงินในการสนับสนุนสมาคมถงเหมิงฮุ่ยด้วย[21]
การปฏิวัติซินไฮ่
[แก้]นับแต่ปี ค.ศ. 1907 ถงเหมิงฮุ่ยทำการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิวัติในพื้นที่ภาคใต้ของจีนสิบกว่าครั้ง ก่อนจะสำเร็จที่สุดในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ที่ อู่ชาง มณฑลหูเป่ย การปฏิวัติครั้งประวัติศาสตร์ เริ่มกระทำการอย่างเร่งด่วนในคืนวันที่ 10 ตุลาคม โดย ทหารสมาชิกพรรคปฏิวัติในกองทัพใหม่ที่ประจำการอยู่ภายในเมืองอู่ชางซึ่งนำโดยผู้บังคับการที่ชื่อว่า หลีหยวนหง (黎元洪) แต่ปราศจากผู้นำของถงเหมิงฮุ่ย คอยสั่งการแม้แต่คนเดียว เนื่องจากแผนปฏิวัติรั่วไหลไปเข้าหูทางการเข้า
เหตุการณ์ในครั้งนั้นเรียกกันว่า การก่อการกำเริบอู่ชาง (武昌起义) หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า สองสิบ (双十) เนื่องจากเกิดขึ้นในวันที่ 10 เดือน 10 (ปัจจุบันชาวไต้หวันยังถือเอาวันนี้เป็นวันชาติอยู่ ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ถือเอาวันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันชาติ) ส่วนชื่อทางการของการปฏิวัตินั้นเรียกว่า การปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) เนื่องจากตามปฏิทินจันทรคตินั้นเป็น ปี ค.ศ. 1911 ชาวจีนเรียกว่าปีซินไฮ่
ประกายไฟแห่งความสำเร็จของการก่อการที่อู่ชาง ปลุกให้เกิดการปฏิวัติทั่วประเทศจีน โดยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1911 มีถึง 14 มณฑล จากทั้งหมด 24 มณฑลของจีนที่ประกาศปลดปล่อยตัวเองออกจากการปกครองของรัฐบาลชิงที่ปักกิ่ง
เดินทางกลับประเทศ
[แก้]เมื่อฝ่ายปฏิวัติได้ชัยชนะในการก่อการที่อู่ชางทำให้สามารถตั้งหลักในการสู้กับราชสำนักชิงได้ ขณะนั้นซุน ยัตเซ็นกำลังลี้ภัยที่สหรัฐอเมริกาได้รับข่าวทำให้ท่านบรรลุความใฝ่ฝันและยินดีเป็นอย่างมาก ท่านจึงได้ตัดสินใจนั่งเรือเดินทางผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกกลับประเทศจีน เพื่อติดตามสถานการณ์การรบอย่างใกล้ชิดและเพื่อขวัญกำลังใจของกองทัพปฏิวัติ
ในวันคริสต์มาสของปี ค.ศ. 1911 ซุน ยัตเซ็นก็กลับจากต่างประเทศมาถึงเซี่ยงไฮ้ เมื่อเรือกลไฟแล่นถึงเซี่ยงไฮ้ ที่ท่าเรือมีฝูงชนมาต้อนรับอย่างเนืองแน่น ทั้งสมาชิกพันธมิตรคณะปฏิวัติ ผู้สื่อข่าว กรรมกร พ่อค้าและชาวเมืองจำนวนมาก เมื่อซุน ยัตเซ็นลงจากเรือก็ยิ้มและชูหมวกขึ้นโบกทักทายมวลชนที่มาต้อนรับ และขณะเดินออกจากท่าเรือผู้สื่อข่าวจำนวนมากก็ห้อมล้อมไว้ แต่ละคนมีกล่องถ่ายรูปในมือและแย่งกันถ่ายรูป ซุนยัตเซ็นได้จับมือและพูดทักทายกับทุกคน ณ ที่นั้น มีนักข่าวคนหนึ่งได้ถามซุนว่า "ได้ข่าวว่าท่านได้นำเงินก้อนใหญ่และเรือรบมาจากต่างประเทศ" ซุนตอบว่า "ผมกลับมาครั้งนี้ ไม่มีเงินติดตัว แต่ที่นำติดตัวมาคือจิตใจปฏิวัติ" พลางแหวกกระเป๋ากางเกงให้นักข่าวดู นักข่าวยังได้ถามคำถามทิ้งท้ายอีกว่า "ท่านคิดอย่างไรกับชัยชนะครั้งนี้" ซุนยัตเซ็นตอบอย่างเฉียบขาดว่า "ชัยชนะครั้งนี้คือชัยชนะของพวกเราทุกคนซึ่งเป็นประชาชน"
สถาปนาสาธารณรัฐ
[แก้]ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว
[แก้]รัฐบาลเฉพาะกาลแห่งสาธารณรัฐจีน (1912)
[แก้]การปฏิวัติซินไฮ่ยังคงดำเนินต่อไปฝ่ายราชวงศ์ชิงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และถอยร่นไปเรื่อยๆ ฝ่ายราชวงศ์ยังคงควบคุมพื้นที่ในภาคเหนือรอบนครหลวงปักกิ่งไว้ได้อย่างเข้มแข็งโดยที่ฝ่ายปฏิวัติยังไม่สามารถบุกเข้าไปได้ มีเพียงยฺเหวียน ชื่อไข่แม่ทัพเพียงคนเดียวที่ค้ำบัลลังก์ราชวงศ์ชิงไว้เท่านั้น ซุนยัตเซ็นพยายามเกลี้ยกล่อมให้ยฺเหวียนชื่อไข่แปรพักตร์จากราชสำนักชิงมาเข้าร่วมการปฏิวัติกับฝ่ายปฏิวัติ โดยยื่นเงื่อนไขว่าจะมอบตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐให้ หากบังคับให้จักรพรรดิราชวงศ์ชิงสละราชสมบัติได้ ทั้งนี้เป็นเพราะซุนต้องการหลีกเลี่ยงการสูญเสียเลือดเนื้อ ยุติสงครามโดยเร็ว และรีบสถาปนาสาธารณรัฐ
ขณะที่ซุนยัตเซ็นพำนักในเซี่ยงไฮ้ บรรดาคณะปฏิวัติจากมณฑลต่างๆได้เสนอให้ท่านดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเลย แต่ในใจจริงของซุนยัตเซ็นไม่อยากรับตำแหน่ง ท่านได้เสนอให้ย้ายเมืองหลวงไปที่กรุงหนานจิง เนื่องจากนครปักกิ่งนั้นเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ชิงเต็มไปด้วยพระราชวังสะท้อนซึ่งสัญลักษณ์แห่งระบอบศักดินาเสียดแทงจิตใจของประชาชน ขอให้ย้ายเมืองหลวงไปเมืองหนานจิงแทนและขอให้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบประชาธิปไตยที่เมืองดังกล่าวพร้อมเตรียมการสถาปนาประเทศแบบสาธารณรัฐ ระหว่างนี้ให้ใช้ธงชาติห้าสีไปพลางๆก่อน
ต่อมาคณะตัวแทนจากมณฑลต่างๆได้เปิดประชุมที่หนานจิงเพื่อจัดรัฐบาล มีตัวแทน 40 คน จาก 17 มณฑลเข้าร่วมประชุม มีการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีจากการคำนวณคะแนนที่มีผล 17 คะแนนเสียง เมื่อทำการเปิดหีบ เสียงส่วนใหญ่เลือกซุนยัตเซ็น 16 คะแนนเสียงทำให้ซุนยัตเซ็นได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี แต่อย่างไรซุนยังคงไม่อยากรับตำแหน่งเพราะเกรงจะเป็นที่ครรหา ซุนรับผิดชอบต่อสายตาสาธารณชนมากจึงขอให้เรียก "ประธานาธิบดีชั่วคราว" และ "รัฐบาลเฉพาะกาล" แทน
วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 วันขึ้นปีใหม่ ซุนยัตเซ็นเดินทางจากเซี่ยงไฮ้ไปเมืองหนานจิงเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว เมื่อซุนถึงทำเนียบประธานาธิบดีชั่วคราว พิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวได้เริ่มชึ้น ซุนกล่าวปาฐกถาเรื่องลัทธิไตรราษฎร์ (สามหลักการแห่งประชาชน) เมื่อจบการปาฐกถา ซุน ยัตเซ็นหันหน้าเข้าหาธงชาติห้าสีพร้อมชูมือขวาอย่างเคร่งขรึม กล่าวคำสาบานต่อประชาชนทั่วประเทศ หลังจากนั้นมีคำแถลงการณ์กำหนดชื่อประเทศ โดยมีการใช้คำว่า "หมินกั๋ว" (民國) ที่แปลว่า "ประเทศของประชาชน" รวมกับคำว่า "จงฮวา" (中華) ที่แปลว่า ประเทศจีน เป็น จงฮวาหมินกั๋ว "中華民國" หรือ "สาธารณรัฐจีน"
-
คณะรัฐบาลของซุนยัตเซ็น
-
การประชุมคณะรัฐบาลเฉพาะกาลที่หนานจิง (ซุน ยัตเซ็นนั่งที่หัวโต๊ะ)
-
ซุนยัตเซ็นเดินนำหน้าเจ้าหน้าที่ทหาร
เมตตาธรรมต่อราชวงศ์ชิง
[แก้]การประชุมวุฒิสภาของรัฐบาลเฉพาะกาลหนานจิงได้หารือต่อการดำเนินการต่อราชวงศ์ชิง ที่ประชุมส่วนใหญ่เสนอให้นำบรรดาเชื้อพระวงศ์มาขึ้นศาลและพิจารณาตัดสินโทษ แต่ดร.ซุนไม่เห็นด้วยกับการนำเชื้อพระวงศ์มาขึ้นศาลและได้แย้งต่อข้อเสนอของที่ประชุมว่า "การปฏิวัติไม่จำเป็นต้องมีการนองเลือด" ซุนยังเสนอให้สมาชิกในที่ประชุมคำนึงต่อความเมตตาซึ่งจะเป็น คุณธรรมของสาธารณรัฐ (民國道德) เชื้อพระวงศ์ชิงจึงไม่ถูกสำเร็จโทษในที่สุด
คณะรัฐบาลของดร.ซุน ได้มีนโยบายให้บรรดาเชื้อพระวงศ์และขุนนางของราชวงศ์ชิงมีสิทธิและฐานะเท่าเทียมพลเมืองธรรมดาและอนุญาตให้ประทับอยู่ในพระราชวังต้องห้ามต่อไปได้ รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจะให้การคุ้มครองและถวายเงินเพื่อรักษาพระเกียรติปีละ 4 ล้านตำลึง แต่ต้องเคารพต่อกฎหมายของสาธารณรัฐอย่างเคร่งครัด
การลาออกจากตำแหน่งและการถูกทรยศ
[แก้]รัฐบาลเป่ย์หยาง
[แก้]วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1912 ยฺเหวียน ชื่อไข่บีบบังคับให้จักรพรรดิผู่อี๋สละราชสมบัติได้สำเร็จ ราชวงศ์ชิงที่ปกครองประเทศจีนมาหลายร้อยปีต้องล่มสลาย ยฺเหวียน ชื่อไข่ได้เริ่มเรียกร้องให้ซุนยัตเซ็นลาออกและมอบตำแหน่งประธานาธิบดีตามสัญญา ซุนยัตเซ็นจึงได้เตรียมการลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเพื่อให้คำสัตย์แก่สัญญา
แต่ต่อมายฺเหวียน ชื่อไข่สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์เสียเอง ซึ่งหยวนก็ได้ตาย แต่ประเทศจีนนั้นก็แตกแยกสาแหรกขาดมีสงครามและขุนศึกตลอดเวลา ต่อมานายแพทย์ ซุน ยัตเซน ได้พบกับเจียงไคเช็ค แล้วตั้งโรงเรียนทหารหวางผู่ขึ้นมาเพื่อสร้างกองทัพพรรคก๊กมินตั๋งของตนเองด้วยความช่วยเหลือทั้งด้านการฝึกทหารและการเงินจากโซเวียต รวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่นแต่ว่าหลังตั้งโรงเรียนหวางผู่ได้แค่ 11 เดือน ท่านก็เสียชีวิตด้วยวัย 59 ปี ด้วยโรคมะเร็งตับ เมื่อ 12 มีนาคม ค.ศ. 1925
วัฒนธรรมสมัยนิยม
[แก้]- ดร.ซุน ยัตเซ็นได้ถูกสร้างเป็นตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง ใหญ่ผ่าใหญ่ ซึ่งเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ในช่วงการปฏิวัติซินไฮ่
บทความที่เกี่ยวข้อง
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Derek Benjamin Heater. [1987] (1987). Our world this century. Oxford University Press. ISBN 0199133247, 9780199133246.
- ↑ Schoppa, Keith R. [2000] (2000). The Columbia guide to modern Chinese history. Columbia university press. ISBN 0231112769, 9780231112765. p 282.
- ↑ "Sun Yat-sen". Encyclopedia Britannica.
- ↑ 门杰丹 (4 December 2003). 浓浓乡情系中原—访孙中山先生孙女孙穗芳博士 [Interview with Dr. Sun Yat-granddaughter of Dr. Sun Suifang]. www.chinanews.com (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 30 July 2012.แม่แบบ:Google translation
- ↑ "浓浓乡情系中原—访孙中山先生孙女孙穗芳博士" [ชีวประวัติ ดร.ซุน ยัตเซน Interview with Dr. Sun Yat-sen's granddaughter, Dr. Sun Suifang]. Chinanews.com (ภาษาจีน). 4 December 2003. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2017.
- ↑ Kubota, Gary (20 August 2017). "Students from China study Sun Yat-sen on Maui". Star-Advertiser. Honolulu. สืบค้นเมื่อ 21 August 2017.
- ↑ KHON web staff (3 มิถุนายน 2013). "Chinese government officials attend Sun Mei statue unveiling on Maui". KHON-TV. Honolulu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 สิงหาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2017.
- ↑ "Sun Yat-sen Memorial Park". Hawaii Guide. สืบค้นเมื่อ 21 August 2017.
- ↑ "Sun Yet Sen Park". County of Maui. สืบค้นเมื่อ 18 October 2019.
- ↑ "Dr. Sun Yat-Sen (class of 1882)". ʻIolani School website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 July 2011.
- ↑ "ชีวประวัติ ดร.ซุน ยัตเซน ในภาษาจีน". Big5.chinanews.com:89. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 October 2011. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2017.
- ↑ Bard, Solomon. Voices from the past: Hong Kong, 1842–1918. [2002] (2002). HK university press. ISBN 962-209-574-7, ISBN 978-962-209-574-8. pg 183.
- ↑ วิกรม กรมดิษฐ์, มองซีอีโอโลก, โพสต์ พับลิชชิง, 2550
- ↑ "Sun Yat-sen | Chinese leader". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-03-31.
- ↑ Wong, J.Y. (1986). The Origins of a Heroic Image: SunYat Sen in London, 1896–1987. Hong Kong: Oxford University Press.
as summarized in
Clark, David J.; Gerald McCoy (2000). The Most Fundamental Legal Right: Habeas Corpus in the Commonwealth. Oxford: Oxford University Press. p. 162. - ↑ Cantlie, James (1913). Sun Yat Sen and the Awakening of China. London: Jarrold & Sons.
- ↑ "Internal Threats – The Manchu Qing Dynasty (1644–1911) – Imperial China – History – China – Asia". Countriesquest.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-04. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2017.
- ↑ Yan, Qinghuang. [2008] (2008). The Chinese in Southeast Asia and beyond: socioeconomic and political dimensions. World Scientific publishing. ISBN 981-279-047-0, ISBN 978-981-279-047-7. pg 182–187.
- ↑ "Sun Yat Sen Nanyang Memorial Hall". Wanqingyuan.org.sg. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2017.
- ↑ Eric Lim. "Soi Sun Yat Sen the legacy of a revolutionary". Tour Bangkok Legacies. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2017.
- ↑ Eiji Murashima. "The Origins of Chinese Nationalism in Thailand" (PDF). Journal of Asia-Pacific Studies (Waseda University). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-03-30. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2017.
- หนังสือ ประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้และยุคปัจจุบัน (中国近现代历史概要) โดย ตู้จื้อจุน ของมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง บทที่ 9-11
- หนังสือประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ. 2542 บทที่ 20 หน้าที่ 739-771
- หนังสือที่สุดของเมืองจีน โดย สุขสันต์ วิเวกเมธากร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543 หน้าที่ 83-87
- หนังสือ 孙中山在说 (2004) โดย ซุนจงซาน สำนักพิมพ์ตงฟัง
- แปลจากหนังสือแบบเรียนภาษาจีน ออกโดยมหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน
- Lonely Planet Taiwan, 6th edition (พฤศจิกายน 2547)