เหมา เจ๋อตง
เหมา เจ๋อตง 毛泽东 | |
---|---|
![]() | |
เหมา เจ๋อตงในปี 2502 | |
ประธานพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2488 – พ.ศ. 2519 | |
ก่อนหน้า | เฉิน ตู๋สิ้ว |
ถัดไป | หั้ว กั๋วเฟิง |
ประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน | |
ดำรงตำแหน่ง 27 กันยายน พ.ศ. 2497 – 27 เมษายน พ.ศ. 2502 | |
ถัดไป | หลิว เซ่าฉี |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 26 ธันวาคม พ.ศ. 2436 เฉาชาน มณฑลหูหนาน จักรวรรดิชิง |
เสียชีวิต | 9 กันยายน พ.ศ. 2519 (82 ปี) ปักกิ่ง สาธารรัฐประชาชนจีน |
พรรค | พรรคคอมมิวนิสต์จีน |
คู่สมรส | หลัว อีซิ่ว (1907–1910) หยาง ไคฮุ่ย (1920–1930) เฮ่อ จื่อเจิน (1930–1937) เจียง ชิง (1939–1976) |
ศาสนา | ไม่นับถือศาสนา |
ลายมือชื่อ | ![]() |
เหมา เจ๋อตง หรือ เหมา เจ๋อตุง (จีนตัวย่อ: 毛泽东; จีนตัวเต็ม: 毛澤東; พินอิน: Máo Zédōng; เวด-ไจลส์: Mao Tse-tung; 26 ธันวาคม พ.ศ. 2436 – 9 กันยายน พ.ศ. 2519) หรือที่นิยมเรียกอีกอย่างว่า ท่านประธานเหมา เป็นนักปฏิวัติลัทธิคอมมิวนิสต์ชาวจีนที่กลายเป็นบิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน(PRC) ซึ่งเขามีบทบาทเป็นประธานแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตั้งแต่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1949 จนกระทั่งเขาถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1976 ด้วยอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนิน ทฤษฎีของเขา ยุทธศาสตร์การทหาร และนโยบายทางการเมืองของเขามักเป็นที่รู้จักกันโดยรวมคือ ลัทธิเหมา
เหมาเป็นลูกชายของชาวนาเจ้าของที่ดินในเฉาชาน มณฑลหูหนาน เขาเป็นฝ่ายชาตินิยมจีนและมีทัศนคติต่อต้านจักรวรรดินิยมในช่วงชีวิตแรกของเขา และได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ของการปฏิวัติซินไฮ่ในปี ค.ศ. 1911 และขบวนการ 4 พฤษภาคมในปี ค.ศ. 1919 หลังจากนั้นเขาได้นำลัทธิมากซ์-เลนินมาใช้ ในขณะที่ทำงานในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และกลายเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ได้นำการก่อการกำเริบเก็บเกี่ยวฤดูใบไม้ร่วงในปี ค.ศ. 1927 ในช่วงสงครามกลางเมืองจีนระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหมาได้ช่วยในการก่อตั้งกองทัพกรรมากรและชาวนาจีนหรือก็คือกองทัพจีนแดงในปัจจุบัน ภายใต้การนำโดยนโยบายที่ดินที่หัวรุนแรงของเจียงซี-โซเวียต และท้ายที่สุดก็กลายเป็นหัวหน้าของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงการเดินทัพทางไกล แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเป็นพันธมิตรชั่วคราวกับพรรคก๊กมินตั๋งภายใต้แนวร่วมที่สองในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง(ค.ศ. 1937-1945) สงครามกลางเมืองจีนก็ได้กลับมาอีกครั้งหลังจากญี่ปุ่นได้ยอมจำนน และในปี ค.ศ. 1949 กองทัพของเหมาเอาชนะรัฐบาลฝ่ายชาตินิยมมาได้ ซึ่งก็ได้หลบหนีไปยังเกาะไต้หวัน
วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 เหมาได้ประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นรัฐที่มีพรรคเดียวที่ถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปีต่อมา เขาได้รับการส่งเสริมควบคุมผ่านทางการปฏิรูปที่ดินของจีนเพื่อต่อต้านเจ้าของที่ดิน การปราบปราม "ผู้ที่ต่อต้านการปฏิวัติ" และรณรงค์สามต่อต้านและห้าต่อต้าน และได้รับชัยชนะทางจิตวิทยาในสงครามเกาหลี ซึ่งแม้ว่าจะมีชาวจีนหลายล้านคนได้เสียชีวิตลงก็ตาม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 ถึง ค.ศ. 1958 เหมาก็ได้มีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้เศรษฐกิจที่ได้วางแผนเอาไว้ในประเทศจีน สร้างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดตัวโครงการอุตสาหกรรม และริเริ่มโครงการ"ระเบิดสองลูก หนึ่งดาวเทียม" ในอีกทางหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1955-1957 เหมาได้เปิดตัวขบวนการซูฟานและรณรงค์ต่อต้านฝ่ายขวา ซึ่งมีผู้คนอย่าง 550,000 คนที่ถูกข่มเหงรังแกในช่วงหลัง ส่วนใหญ่ล้วนเป็นพวกปัญญาชนและผู้คัดค้าน ในปี ค.ศ. 1958 เขาได้เปิดนโยบายการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า ที่มุ่งเป้าหมายไปที่เศรษฐกิจของจีนอย่างรวดเร็วจากภาคเกษตรกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่ภาวะทุพภิกขภัยที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และมีประชาชนเสียชีวิตถึง 20-46 ล้านคนในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1958 และ ค.ศ. 1962 ในปี ค.ศ. 1963 เหมาเปิดตัวขบวนการนักศึกษาลัทธิสังคมนิยม และในปี ค.ศ. 1966 เขาได้ริเริ่มการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นโครงการที่จะลบส่วนหนึ่งของ"การต่อต้านการปฏิวัติ" ในสังคมจีนซึ่งกินเวลานานถึง 10 ปี และที่ดูโดดเด่นที่สุดด้วยการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างรุนแรง การทำลายศิลปวัตถุทางวัฒนธรรม และยกย่องบูชาต่อเหมาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มีประชาชนสิบล้านคนถูกรังแกข่มเหงในช่วงการปฏิวัติ ในขณะที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนโดยประมาณตั้งแต่หลายแสนถึงล้านคนรวมไปถึงหลิว เส้าฉี ประธานคนที่สองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายหลังจากล้มป่วยมาหลายปี เหมาได้เกิดอาการหัวใจวายในปี ค.ศ. 1976 และถึงแก่อสัญกรรมเมื่ออายุ 82 ปี ในช่วงยุคสมัยเหมา ประชากรชาวจีนได้เติบโตเพิ่มขึ้นจากประมาณ 550 ล้านคนเป็นมากกว่า 900 ล้านคน ในขณะที่รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้นโยบายการวางแผนครอบครัวอย่างเคร่งครัด จึงได้บังคับให้ผู้สืบทอดต่อจากเหมาอย่างนาย เติ้ง เสี่ยวผิง ต้องใช้นโยบายที่เข้มงวดเพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นมากเกินไป
ในฐานะที่เป็นคนที่ได้มีการถกเถียงกันว่า เหมาเป็นบุคคลที่สำคัญและมีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ เขายังเป็นที่รู้จักกันคือ นักปัญญาชนทางการเมือง นักทฤษฎี นักยุทธศาสตร์การทหาร กวี และผู้มีวิสัยทัศน์ ในยุคสมัยเหมา จีนได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามเกาหลี ความขัดแย้งของจีน-โซเวียต สงครามเวียดนาม และการเถลิงอำนาจของเขมรแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ. 1972 เหมาได้ต้อนรับประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ ริชาร์ด นิกสัน ในกรุงปักกิ่ง เป็นการส่งสัญญาณการเริ่มต้นนโยบายการเปิดประเทศจีนสู่โลก ผู้สนับสนุนต่างยกย่องเขาว่าเป็นผู้ขับไล่ลัทธิจักรวรรดินิยมออกไปจากประเทศจีน ปรับปรุงประเทศให้มีความทันสมัย และสร้างให้กลายเป็นมหาอำนาจของโลก ส่งเสริมสถานะสตรี ปรับปรุงเรื่องการศึกษาและสุขภาพ เช่นเดียวกับการเพิ่มอายุขัยโดยเฉลี่ยของชาวจีน ในทางกลับกัน ระบอบการปกครองของเขาก็ถูกเรียกว่าเป็นเผด็จการและระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ และถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการกดขี่ข่มเหงมวลชนและทำลายศิลปวัตถุทางศาสนาและวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเหยื่อจำนวนมากโดยมีการประมาณตั้งแต่ 30 ถึง 80 ล้านคนผ่านทางความอดอยาก กดขี่ข่มเหง นักโทษแรงงาน และการประหารชีวิตหมู่
ประวัติ[แก้]
[1]เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2436 มณฑลหูหนาน ประเทศจีน ในตระกูลชาวนาเจ้าของที่ดิน [2]ในปี 1910 เหมา เริ่มเข้าเรียนในโรงเรียน แต่ไม่นานก็ต้องออกเนื่อง จากการปฏิวัติของซุนยัดเซน ปี 1913 ได้เข้าเรียนวิทยาลัยครูที่หูหนาน ท่านมีความสนใจในงานเขียนของคาร์ล มาร์กซ์ซึ่งมีแนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์
อดีตประธานาธิบดี ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง เกิดวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2436 ในครอบครัวชาวนา อาศัยอยู่ในเขตชนบทชานเมืองเฉาชาน มณฑลหูหนานอายุ 8 ขวบ เข้าโรงเรียนประถมในหมู่บ้าน ร่ำเรียนคำสอนหลักลัทธิขงจื้อ ปลูกฝังความคิดตามจารีตโบราณ ต่อมาถูกคลุมถุงชนให้แต่งงานกับหญิงสาวที่อายุมากกว่า ด้วยวัยเยาว์ทำให้ไม่ประสากับชีวิตครอบครัว อีกทั้งต้องการก้าวสู่โลกกว้างมากกว่ามีชีวิตปลูกพืช เลี้ยงสัตว์อยู่กับบ้านไปวันๆ ตัดสินใจขัดใจพ่อแล้วเดินทางออกจากบ้านเกิดเข้าตัวอำเภอฉางชา เรียนหนังสือในโรงเรียนตามหลักสูตรรัฐบาล เป็นนักเรียนโข่งร่วมชั้นกับเด็กเล็กๆ ต่อมาสอบเข้าเรียนต่อวิทยาลัยครูหูหนาน จากนั้นมุ่งหน้าเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่ง เรียนไปทำงานหน้าที่ผู้ช่วยบรรณารักษ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัยไปด้วย และห้องสมุดนั่นเองที่เป็นคลังความรู้ให้สะสมภูมิปัญญา ทั้งแตกฉานทางอักษรศาสตร์ยอดเยี่ยม ว่ากันว่าความรู้ที่ได้จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยปักกิ่งคือต้นทุนที่ทำให้เขาปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนได้สำเร็จ
เหมาทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนหนังสืออย่างจริงจัง เวลาว่างเขาเขียนบทความลงหนังสือของวิทยาลัยครู ใช้นามแฝง "เอ้อสือปาวาเซิง" หรือ "นายยี่สิบแปดขีด" ตามชื่อของเขาที่เมื่อเขียนเป็นภาษาจีนแบบตัวเต็มรุ่นเก่า จะมีทั้งหมด 28 ขีด งานเขียนส่วนใหญ่ของเหมาแสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของราชสำนักชิงซึ่งเป็นชาวแมนจู
นักศึกษาหนุ่มหัวก้าวหน้าจึงเป็นที่จับตาของสายลับรัฐบาล นั่นไม่เป็นผลอะไร เพราะที่สุดเหมารวมพลคนใจเดียวกัน ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในพ.ศ. 2464 และปีเดียวกัน เขาเป็นแกนนำหยุดงานประท้วงของคนงานเหมืองแร่ที่อันหยวน เขียนหนังสือ "พลังปฏิวัติเบ่งบานออกมาจากปากกระบอกปืน" แล้วก่อตั้งกองทัพแดงกรรมกรและชาวนา ตามด้วยกองทัพปลดแอกประชาชน ปฏิบัติการ "ป่าล้อมเมือง" จนมีชัยเหนือเจียง ไค เช็ก เหมา เจ๋อ ตุง กุมอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เขาสถาปนา "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ดำรงตำแหน่งประธานสาธารณรัฐจนถึงพ.ศ. 2512
เหมา เจ๋อตง กับ เจียง ไคเชก[แก้]
เหมา เจ๋อตง กับ เจียง ไคเชก นั้นแต่เดิมเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน แต่เนื่องจาก เจียง เป็นมือขวาคนสำคัญของ ซุน ยัตเซน และมีความใกล้ชิดกันมาก เจียง จึงมีแนวคิดคล้ายกับ ซุน นั่นคือต้องการให้จีนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ส่วน เหมา มีแนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์ จึงต้องการให้ประเทศจีนต้องปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ เพราะเหตุนี้จึงทำให้ทั้งคู่กลายมาเป็นเป็นศัตรูกันจนถึงวันเสียชีวิตของทั้งคู่ สุดท้ายทำให้ เจียง ไคเชก ต้องไปอยู่ไต้หวัน
การปฏิวัติ[แก้]
เหมา มี ประชาชนสนับสนุนเขามากโดยเฉพาะ ชาวนา ชาวไร่ และ คนจน จึงได้จัดเป็นกองกำลังขึ้น โดยมีโซเวียต สนับสนุนอยู่ เพื่อปฏิวัติจีนให้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่เจียงไคเช็กซึ่งกองทัพอยู่ในมือ จึงสามารถเล่นงาน เหมา ได้ง่าย แต่ปัญหาหลักคือ กองทัพญี่ปุ่น ที่รุกคืบมายึดจีน โดยเฉพาะในยุทธการนานกิงมีชาวจีนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่เจียงไคเช็ก เห็นว่า คอมมิวนิสต์มีอันตรายกว่านั้นจึงส่งทัพหวังโจมตี กองทัพของเหมา ต่อมาในปี 1937-1945 กองทัพเหมาสามารถ ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ด้วย ยุทธวิธี “สงครามยืดเยื้อ” จนได้ชัย(ซึ่งในยุคนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี จึงทำให้ญี่ปุ่นต้องล่าถอย ไปช่วยกองทัพต่อกรกับ อเมริกาที่จะรุกคืบเข้า ญี่ปุ่น) ในปี 1943 เหมาได้เป็นประธานคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์
ปี 1946 เจียงส่งทัพมาโจมตี กองทัพเหมา แต่เหมาก็สามารถนำประชาชน ชนะทหารของเจียงได้ ถึง 3 ครั้งใหญ่ๆ และนำทัพประชาชน เข้า คุมอำนาจรัฐบาล เจียง จึงจำเป็นต้องลี้ภัยพร้อมกับคนในรัฐบาลหลายๆคนไป เกาะแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของ จีน ที่เรียกว่า "ไต้หวัน" เจียงจึงถือเป็นผู้ก่อตั้ง ไต้หวัน ทำให้ การปกครองระหว่างคอมมิวนิสต์ กับประชาธิปไตย แบ่งเป็น 2 ฝั่ง นั่นคือ จีนแผ่นดินใหญ่ กับ ไต้หวัน
ผู้นำสูงสุดของจีน[แก้]
ประธานเหมา ประกาศสถาปนา สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง ใช้สัญลักษณ์ค้อนเคียวเป็นสัญลักษณ์พรรค ก็อยู่ในภาวะสงบหลังจากที่ผ่านพ้น ภาวะสงครามและการต่อต้านจากภายใน ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตง ที่มีระเบียบวินัยเคร่งครัด ในปีแรกของการบริหารประเทศ เหมาเน้นการเพิ่มความชำนาญและประสิทธิภาพในการปฏิรูปทางสังคมและเศรษฐกิจ และได้ให้ประชาชนทุกชนชั้นเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจนี้ ผลตอบรับจึงเป็นที่ประทับใจและได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง
ปี 1950 นานาชาติเริ่มให้การยอมรับต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์มากขึ้นตามลำดับ แต่สิ่งที่ทำให้การยอมรับจากนานาชาติต้องสะดุดคือเหตุการณ์ สงครามเกาหลี เนื่องจากในปี 1950 กองกำลังสหประชาชาติได้ส่งเข้าไปเกาหลีเหนือ จีนเกรงว่าจะคุกคามต่อดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นหัวใจทางด้านอุตสาหกรรม จีนจึงส่งกองทัพปลดแอกประชาชน แต่เรียกตนเองว่าอาสาสมัครประชาชนจีนเข้าไปเกาหลีเหนือตามคำเรียกร้อง ในสงครามครั้งนั้น มีประเทศที่เป็น คอมมิวนิสต์ใหญ่ๆ 2 ประเทศนั่นคือ จีนแผ่นดินใหญ่ กับ สหภาพโซเวียตเข้าช่วยเหลือเกาหลีเหนือ โดนเหมาเจ๋อตงเป็นผู้ สนับสนุน เกาหลีเหนือ
จอมพล ดักลาส แมคอาเธอร์แห่งกองทัพเรือสหรัฐ มีความคิดที่จะร่วมมือกับ เจียง ไค เช็กแห่งไต้หวัน ว่าจะส่งกองทหารจีนคณะชาติเข้าช่วยทำสงครามในเกาหลีเพื่อปราบปรามจีนแดง แต่วงการเมืองอังกฤษขอให้อเมริกางดความเห็นนี้เพราะเกรงจะเกิดสงครามใหญ่ หลังจากนั้น เขาก็ออกสื่อ ให้ทุกๆอย่างจบลง ด้วยการโจมตีจีนแดง จึงทำให้จอมพลผู้นี้ต้องออกจากตำแหน่งตามคำสั่ง ทรูแมน
ในเวลา 17.00 นาฬิกา เหมา เกิดอาการหัวใจวาย และได้อสัญกรรมลงวันที่ 9 กันยายน 1976 เหมาถึงแก่กรรมที่กรุงปักกิ่ง รวมอายุ 83 ปี มีบุตร 5 คน ชาย 3 หญิง 2
ชีวิตส่วนตัว[แก้]
ชีวิตครอบครัวเขามีภรรยา 4 คน
- นางหลัว อีซิ่ว เป็นการแต่งแบบคลุมถุงชน ซึ่งเหมาไม่ได้ยินดีนักจึงได้เลิกรากันไป
- นางหยาง ไคฮุย เสียชีวิตในการทำสงครามเพื่อชาติ พ.ศ. 2464
- นางเฮ่อ จื่อเจิน นายพลหญิงแห่งกองทัพแดง (เลิกรากันไป) และ
- นางเจียง ชิง ผู้นำการปฏิวัติกองทัพแดง หรือเรด การ์ดอันนองเลือดลือลั่นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนใหม่ นางฆ่าตัวตายปี 2534
ภาพรวม ของ เหมา เจ๋อตง[แก้]

พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทำการประเมินผลงานและความผิดพลาดของเหมาอย่างรอบด้าน ได้ข้อสรุปว่า แม้ในบั้นปลายชีวิต เหมาจะได้ทำความผิดพลาดที่ร้ายแรง ในเหตุการณ์เคลื่อนไหวปฏิวัติวัฒนธรรมที่มีประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับผลงานอันใหญ่หลวง และยาวนานที่ท่านสร้างให้แก่แผ่นดินและประชาชนจีน คุณความดีของท่านมีมากกว่าความผิดพลาด ประธานเหมาเจ๋อตงยังคงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่เคารพรักของประชาชนจีน
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-02-16.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-29. สืบค้นเมื่อ 2012-02-16.
ก่อนหน้า | เหมา เจ๋อตง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สถาปนาตำแหน่ง | ![]() |
ประธานาธิบดีจีน (27 กันยายน พ.ศ. 2497 – 27 เมษายน พ.ศ. 2502) |
![]() |
หลิว เส้าฉี |