ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร[1][2] หรือเขียนอย่างภาษามคธว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (ฟัง เก็บถาวร 2015-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) เป็นปฐมเทศนา เทศนากัณฑ์แรก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์[3] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ก็ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะ นับเป็นพระสงฆ์สาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา วันนั้นเป็นวันเพ็ญกลางเดือนอาสาฬหะหรือเดือน 8 เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ บังเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก คือมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ครบบริบูรณ์

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร มีเนื้อหาแสดงถึงการปฏิเสธส่วนที่สุดสองอย่าง และเสนอแนวทางดำเนินชีวิตโดยสายกลางอันเป็นแนวทางใหม่ให้มนุษย์ มีเนื้อหาแสดงถึงขั้นตอนและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงอริยสัจทั้ง 4 คือ อริยมรรคมีองค์ 8 โดยเริ่มจากทำความเห็นให้ถูกทางสายกลางก่อน เพื่อดำเนินตามขั้นตอนการปฏิบัติรู้เพื่อละทุกข์ทั้งปวง เพื่อความดับทุกข์ อันได้แก่นิพพาน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

ที่มา[แก้]

ธัมมจักกัปปวัตนสูตรมิได้เป็นพระสูตรเฉพาะที่ปรากฏอย่างโดดๆ ในพระไตรปิฎก แต่เป็นพระสูตรที่มีเนื้อหาปรากฏอยู่ในพระสูตร และกถาที่แตกต่างกัน 2 แห่ง กล่าวคือ ปรากฏเนื้อความใน ปญฺจวคฺคิยกถา ตอนปฐมเทศนา มหาขนฺธก มหาวคฺค ในพระวินัยปิฎก ซึ่งในกถานี้ในบางครั้งมีการระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แต่บางกรณีก็มิได้ระบุชื่อพระสูตร และยังปรากฏในตถาคตสุตฺตํ หรือตถาคตสูตร สมาธิวโคฺค สจฺจสํยุตฺตํ สํยุตฺตนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก เรียกว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเช่นกัน

เนื้อหาจากปญฺจวคฺคิยกถา ตอนปฐมเทศนา มหาขนฺธก มหาวคฺค ในพระวินัยปิฎกอันเป็นที่มาของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น มิได้ปรากฏอารัมภกถาว่า "เอวัมเม สุตังฯ เอกัง สะมะยัง ภะคะวา พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย ตัตระ โข ภะคะวา ปัญจะวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิ ฯ" มีความหมายว่า "ข้าพเจ้าได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ในสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสีฯ ในกาลครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเตือนสติ เหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์ให้ตั้งใจฟังและพิจารณาตามพระดำรัสของพระองค์อย่างนี้ว่า ฯ" อันเป็นอารัมภกถาที่กล่าวโดยพระอานนท์ เพื่อแสดงต่อที่ประชุมสังคายนาครั้งแรก เพื่อชี้แจงว่าพระสูตรนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ณ สถานที่แห่งใด และทรงตรัสแก่ผู้ใด

ส่วนเนื้อหาจากตถาคตสุตฺตํ หรือตถาคตสูตร สมาธิวโคฺค สจฺจสํยุตฺตํ สํยุตฺตนิกาย ปรากฏอารัมภกถาว่า "เอกัง สมยัง ภควา พาราณสิยัง วิหรติ อิสิปตเน มิคทาเยฯ ตัตระ โข ภควา ปัญจวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิ ฯ" มีความหมายว่า "ในสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสีฯ ในกาลครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเตือนสติ เหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์ให้ตั้งใจฟังและพิจารณาตามพระดำรัสของพระองค์อย่างนี้ว่า ฯ" จากนั้นจึงเริ่มเนื้อหาของพระสูตร ซึ่งตรงกันกับในมหาวคฺคทุกประการ

เนื้อหาในพระสูตร[แก้]

เนื้อหาที่เป็นประเด็นหลักในพระพุทธพจน์ที่ปรากฏในธัมมจักกัปปวัตนสูตรโดยสรุป มีดังนี้ (ฟัง เนื้อหาหัวใจธัมมจักกัปปวัตนสูตรบาลี)

...ภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจ คือ ความจริงที่ช่วยมนุษย์ให้เป็นผู้ประเสริฐเกี่ยวกับการพิจารณาเห็นทุกข์ เป็นอย่างนี้ คือ การเข้าใจว่า "เกิด แก่ เจ็บ ตาย" ล้วนแต่ เป็นทุกข์ แม้แต่ความโศรกเศร้าเสียใจ ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กายทุกข์ใจ ทั้งความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ การยึดมั่นในเบญจขันธ์ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ว่าเป็น อัตตา เป็นตัวเรา เป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์แท้จริง

ภิกษุทั้งหลาย เหตุทำให้เกิดความทุกข์ (สมุทัย) มีอย่างนี้ คือ ความอยากเกินควร ที่เรียกว่า ทะยานอยาก ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นไปด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มัวเพลิดเพลินอย่างหลงระเริงในสิ่งที่ก่อให้เกิดความกำหนัดรักใคร่ ได้แก่

  1. ความทะยานอยากในสิ่งที่ก่อให้เกิดความใคร่
  2. ความทะยานอยากในความอยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่
  3. ความทะยานอยากในความที่จะพ้นจากภาวะที่ไม่อยากเป็น

ภิกษุทั้งหลาย นิโรธ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ ดับความกำหนัดอย่างสิ้นเชิง มิให้ตัณหาเหลืออยู่ สละตัณหา ปล่อยวางตัณหา ข้ามพ้นจากตัณหา ไม่มีเยื่อใยในตัณหา

ภิกษุทั้งหลาย ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ (1) ความเห็นชอบ (2) ความดำริชอบ (3) เจรจาชอบ (4) การงานชอบ (5) เลี้ยงชีวิตชอบ (6) ความเพียรชอบ (7) ความระลึกชอบ (8) ความตั้งจิตมั่นชอบ...

— ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

กล่าวโดยสรุป ธัมมจักกัปปวัตนสูตร แสดงถึง

  • ส่วนที่สุดสองอย่าง ที่พระพุทธศาสนาปฏิเสธ อันได้แก่ "กามสุขัลลิกานุโยค" คือการหมกมุ่นอยู่ในกามสุข และ "อัตตกิลมถานุโยค" คือการทรมานตนให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์หรือทุกรกิริยา "คือการกระทำกิจที่ทำได้โดยยาก" คือ การอดอาหาร
  • มัชฌิมาปฏิปทา คือปฏิปทาทางสายกลางที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ ได้แก่ มรรคมีองค์แปด
  • อริยสัจสี่ คือธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐสี่ประการ

ส่วนที่สุดสองอย่าง[แก้]

ส่วนที่สุดสองอย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ

  • การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
  • การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน (เช่น บำเพ็ญทุกรกิริยา) เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

ปฏิปทาทางสายกลาง[แก้]

ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 คือ

อริยสัจสี่[แก้]

อริยสัจสี่ ธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐสี่ประการ คือ

  • ทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์
  • ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ ตัณหา ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
  • ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหาดับโดยไม่เหลือด้วยมรรค คือ วิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน
  • ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์แปด
อริยสัจสี่นี้
  • ทุกขอริยสัจ ควรกำหนดรู้
  • ทุกขสมุทัยอริยสัจ ควรละเสีย
  • ทุกขนิโรธอริยสัจ ควรทำให้แจ้ง
  • ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์แปด ควรเจริญ

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน. (2553). กฎหมายตราสามดวง : พระทำนูน ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. ISBN 9786167073118. หน้า 144.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. (ม.ป.ป.). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2554. (หาคำ "ธรรมจักร")
  3. พระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 ธัมมจักกัปปวัตนสูตร. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52

ดูเพิ่ม[แก้]