ครอบครัวของพระโคตมพุทธเจ้า
พระโคตมพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธ ประสูติในครอบครัวชั้นปกครองของแคว้นสักกะ เมื่อ 543 ปีก่อนคริสต์ศักราช (ตามประวัติศาสตร์) หรือ 624 ปีก่อนคริสต์ศักราช (ตามเอกสารพุทธ) มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า สิทธัตถะ โคตมะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ เจ้าผู้ครองแคว้นสักกะ กับพระนางสิริมหามายา ธิดาของเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ พระราชบิดาและพระราชชนนีเป็นเครือญาติกัน สืบมาแต่พระเจ้าโอกกากราช (Okkākarāj)[1] ดอนัลด์ เอส. โลเปซ (Donald S. Lopez) ศาสตราจารย์ด้านพุทธศาสนาและทิเบตศึกษา และริชาร์ด เอฟ. กอมบริช (Richard F. Gombrich) นักภารตวิทยาและนักวิชาการด้านภาษาบาลี-สันสกฤตและพุทธศึกษา อธิบายว่าช่วงเวลานั้นอิทธิพลของพระเวทไม่น่าจะเข้าถึงแคว้นทั้งสอง รวมทั้งการเสกสมรสในหมู่เครือญาตินั้นเป็นเรื่องต้องห้ามของสังคมอารยัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าตระกูลทั้งสองนี้อาจมิได้สืบเชื้อสายชาวอารยัน[2]
สิริมหามายาสิ้นชีพหลังให้กำเนิดสิทธัตถะเพียงเจ็ดวัน ตามความเชื่อของศาสนาพุทธ ระบุว่าสิทธัตถะได้รับการทำนายจากพราหมณ์หลวงว่าเป็นมหาบุรุษ หากได้ปกครองก็จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หากออกบวชก็จักได้เป็นศาสดาเอก เพื่อให้สมดั่งคำทำนาย พระเจ้าสุทโธทนะจึงให้สิทธัตถะอยู่แต่ในรั้วในวัง ด้วยมุ่งหวังให้สิทธัตถะเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ โดยได้รับการดูแลจากพระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระมาตุจฉา ภายหลังได้เป็นมเหสีในพระเจ้าสุทโธทนะ และมีพระราชบุตรด้วยกันสองพระองค์
สิทธัตถะอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธรา ธิดาของเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับสิทธัตถะ ทั้งสองมีพระโอรสด้วยกัน คือ พระราหุล
พุทธบิดาและพุทธมารดา
[แก้]สุทโธทนะ
[แก้]สุทโธทนะเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสีหหนุ กับพระนางกัญจนา โดยสุทโธทนะดำรงตำแหน่งเป็น ราชา หรือเจ้าผู้ครองแบบคณาธิปไตยของแคว้นสักกะซึ่งมาจากการคัดเลือกโดยชนชั้นสูง[4][5][6][7] สุทโธทนะไม่มีอำนาจการปกครองแบบเผด็จการ และอาจใช้ฉันทามติในสภาสำหรับการตัดสินใจ[8] สอดคล้องกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายไว้ว่า "...เมื่อกิจเกิดขึ้นเช่นการสงครามเป็นต้น เจ้าเหล่านั้นก็ประชุมกันปรึกษาแล้ว ช่วยกันจัดตามควร..."[9] ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูตินั้น สักกะเป็นรัฐขนาดน้อยที่ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรโกศลซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า[10][11]
สุทโธทนะอภิเษกสมรสครั้งแรกกับพระนางสิริมหามายา ธิดาเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ เมื่อมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา หลังอภิเษกสมรสมา 20 ปี มีพระราชโอรส คือ สิทธัตถะ หรือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระนางสิริมหามายาเสวยทิวงคตไป ก็ได้อภิเษกสมรสอีกครั้งกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระขนิษฐาร่วมพระชนกชนนีของพระนางสิริมหามายา[12] มีพระราชบุตรด้วยกันสองพระองค์ คือ พระนันทะ และพระรูปนันทา ซึ่งออกบวชเป็นสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์[13]
สิริมหามายา
[แก้]สิริมหามายา หรือมายา[14] เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ กับพระนางยโสธรา ในครอบครัวของเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ มายาอภิเษกสมรสกับสุทโธทนะซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องตามพระราชประเพณี[1] หลังการอภิเษกสมรสมา 20 ปี จึงให้ประสูติกาลสิทธัตถะ และเสวยทิวงคตหลังประสูติเพียงเจ็ดวันเท่านั้น อรรถกถาอัปปายุกาสูตร ระบุว่าแต่เดิมพระนางสิริมหามายาเป็นเทพบุตรอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ได้อธิษฐานขอเป็นพุทธมารดา ชาตินี้จึงประสูติมาเป็นสตรี ทั้งได้ขอมีพระชนม์เพียงเจ็ดวันหลังประสูติกาล เพราะสงวนพระครรภ์ไว้แก่พระโพธิสัตว์เพียงพระองค์เดียว[15] และเพื่ออยู่เชยชมพระโฉมพระโพธิสัตว์ ก่อนเสด็จสวรรคตกลับไปจุติบนสวรรค์ชั้นดุสิต[16]
มหาปชาบดี
[แก้]มหาปชาบดีโคตมี เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ กับพระนางยโสธรา ในครอบครัวของเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ เป็นพระขนิษฐาร่วมพระชนกชนนีของสิริมหามายา หลังการทิวงคตของสิริมหามายา มหาปชาบดีโคตมีผู้มีศักดิ์เป็นพระมาตุจฉา (น้า) จึงถวายการอภิบาลสิทธัตถะมาโดยตลอด[17] กระทั่งสุทโธทนะจัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับมหาปชาบดีโคตมี ท่านจึงมีศักดิ์เป็นพระวิมาดาหรือแม่เลี้ยงของพระพุทธเจ้าอีกตำแหน่งหนึ่ง[18] พระมหาปชาบดีโคตมีมีพระราชบุตรด้วยกันสองพระองค์ คือ พระนันทะ และพระรูปนันทา ซึ่งทั้งสองถือเป็นพระอนุชาและพระขนิษฐาต่างพระชนนีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[19] ในเวลาต่อมามหาปชาบดีโคตมีได้ออกบวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา[18][20] ในเอกสารพุทธให้ข้อมูลว่ามหาปชาบดีโคตมีมีอายุยืนนานถึง 120 ปี[21]
ครอบครัว
[แก้]ยโสธรา
[แก้]ยโสธรา บางแห่งเรียก ภัททา กัจจานา[22] หรือ พิมพา[23] เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ กับพระนางอมิตา ในครอบครัวของเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ[24][25] มีพระเชษฐาคือพระเทวทัต[26][27] ยโสธรามีศักดิ์เป็นพระภาติยะของสิริมหามายาและมหาปชาบดีโคตมี อีกทั้งยังประสูติในวันและเวลาเดียวกันกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นหนึ่งในสหชาติ 7[28][29] กล่าวกันว่ายโสธรามีพระสิริโฉมงดงาม มีสรีระและผิวพรรณงามดุจทองคำชั้นดีที่สุด แม้เจ้าหญิงรูปนันทาซึ่งเป็นพระญาติจะทรงงามจนได้สมญาว่าชนบทกัลยาณี ก็ยังงามไม่เทียมเท่า[30] ยโสธราเสกสมรสกับสิทธัตถะเมื่อพระชันษา 16 ปี ประทับร่วมพระสวามีในปราสาทสามหลังที่ได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม เพื่อเป็นที่ประทับในสามฤดู ห้อมล้อมบำเรอด้วยหญิงงามประโคมดนตรี เสวยสุขทั้งกลางวันและกลางคืน[23] ยโสธราประสูติกาลพระโอรสเพียงพระองค์เดียว คือ ราหุล เมื่อมีพระชันษา 29 ปี[23] หลังประสูติกาลเพียงเจ็ดวัน สิทธัตถะก็ออกไปผนวช เมื่อยโสธราทราบว่าสิทธัตถะออกผนวชแล้ว ก็เปลี่ยนไปใช้ชีวิตอย่างสมถะตามอย่างพุทธองค์[31]
ครั้นเมื่อสุทโธทนะสวรรคตล่วงไปแล้ว พระมหาปชาบดีจึงออกผนวช ยโสธราก็เห็นดีด้วยจึงออกผนวชเป็นภิกษุณี พร้อมกับบริจาคทรัพย์สินที่มีทั้งหมด[32] ยโสธราเคยทูลพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับการบำเพ็ญเพียรของพระองค์ก่อนนิพพานไว้ว่า "...ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันยอมรับทุกข์ทรมาน มากมายหลายอย่างจนนับไม่ถ้วน ในสงสารเป็นอเนก ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์..." และ "...ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันได้รับสุขก็อนุโมทนา และคราวที่ได้รับทุกข์ก็ไม่เสียใจ เป็นผู้ยินดีแล้วทุกอย่าง เพื่อประโยชน์แก่พระองค์..."[32]
ยโสธรานิพพานราวสองปีก่อนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน[32][30]
ราหุล
[แก้]ราหุล เป็นพระโอรสเพียงคนเดียวของสิทธัตถะ (ต่อมาคือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) กับยโสธรา พระนามปรากฏในเอกสารพุทธยุคต้น[33][34] ราหุลถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่สิทธัตถะตัดสินใจที่จะออกผนวช จึงให้นามว่า ราหุล แปลว่า "บ่วง" ที่ร้อยรัดมิให้พุทธองค์ตรัสรู้[35][36] เมื่อราหุลมีอายุได้ 7 ปี[36] หรือ 15 ปี[37] ก็ได้พบกับพระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ ราหุลได้ออกบวชเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา[35] พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนในเรื่อง ความจริงแท้ การสะท้อนตนเอง[36] และอนัตตา[38] จนราหุลบรรลุธรรม[39][40]
เอกสารพุทธยุคต้นระบุว่าราหุลนิพพานก่อนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน[35] บางเอกสารก็ว่าราหุลมีชีวิตอยู่และคอยดูแลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน[41] ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามักกล่าวยกย่องราหุลเรื่องการใฝ่รู้ จึงได้รับเกียรติจากภิกษุและภิกษุณีมาโดยตลอด[42] เรื่องราวของราหุลทำให้ทราบได้ว่า ศาสนาพุทธเล็งเห็นศักยภาพของเยาวชนว่าสามารถบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่[43]
พระอนุชาและพระขนิษฐา
[แก้]นันทะ
[แก้]นันทะ เป็นพระราชโอรสของสุทโธทนะกับมหาปชาบดีโคตมี มีพระขนิษฐาร่วมพระชนกชนนีคือ นันทา หรือ รูปนันทา และเป็นพระอนุชาต่างพระชนนีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ นันทะก็ออกผนวชด้วย ในเวลาต่อมานันทะหลงใหลนันทาสากิยานี น้องสาวของตนเอง ผู้ได้รับสมญานามว่า ชนบทกัลยาณี จึงทูลขอลาสิกขาบทกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงดึงแขนแล้วสั่งสอนจนนันทะรู้แจ้งและบรรลุอรหันตผล[44]
นันทา
[แก้]นันทา บ้างเรียก รูปนันทา หรือ สุนทรีนันทา เป็นพระราชธิดาของสุทโธทนะกับปชาบดีโคตมี มีพระเชษฐาร่วมพระชนกชนนีคือ นันทะ และเป็นพระขนิษฐาต่างพระชนนีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เธอได้รับการยกย่องจากเครือญาติว่าเป็นหญิงงาม และได้รับสมญานามว่า ชนบทกัลยาณี นันทาออกผนวชเป็นภิกษุณีเพียงเพราะความรักในเครือญาติหาได้เกิดจากความความศรัทธาในพระศาสนา[45] ด้วยเหตุนี้เธอจึงหลงใหลในรูปโฉมโนมพรรณของตนเองแม้จะอยู่ในเพศบรรพชิตก็ตาม[46] นอกจากนี้นันทายังหลีกเลี่ยงที่จะเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะเกรงว่าจะถูกตำหนิ[47][48] สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมให้นันทาเห็นหญิงงามสังขารไม่เที่ยง จนบรรลุอรหันตผลหลังการเพ่งฌาน ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงยกย่องเธอให้เป็น "ผู้เป็นเลิศในการเพ่งฌาน"[46][48]
เครือญาติ
[แก้]ฝ่ายพุทธบิดา
[แก้]กัญจนา
[แก้]กัญจนา เป็นพระราชธิดาของเทวทหสักกะ เจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ เป็นพระขนิษฐาของอัญชนะ เจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะลำดับถัดมา ด้วยเหตุนี้นางจึงมีศักดิ์เป็นพระปิตุจฉา (อา) ของสิริมหามายา และมหาปชาบดีโคตมี กัญจนาอภิเษกสมรสกับสีหหนุ เจ้าผู้ครองแคว้นสักกะ มีพระราชโอรส-ธิดาด้วยกัน 7 พระองค์ ได้แก่ สุทโธทนะ สุกโกทนะ อมิโตทนะ โธโตทนะ ฆนิโตทนะ ปมิตา และอมิตา กัญจนาจึงเป็นพระอัยยิกาฝ่ายพระชนก (ย่า) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[1]
กาฬิโคธา
[แก้]กาฬิโคธา เป็นนางสากิยานีแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ไม่ปรากฏนามบรรพชน ทราบแต่เพียงว่าเป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งไม่ปรากฏนามของสามี นางมีบุตรคนหนึ่งชื่อ ภัททิยะ ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นราชาหรือเจ้าผู้ครองแคว้นสักกะ แต่ภายหลังได้สละตำแหน่งเพื่อออกบวชในพระพุทธศาสนา[49] ใน กาฬิโคธาสูตร ระบุว่านางมีความศรัทธาในพระบรมศาสดาอย่างยิ่ง มีอุปนิสัยดี ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว มักบริจาคทานอยู่เป็นนิจศีล ซึ่งนางกาฬิโคธามีธรรมเหล่านั้นอยู่กับตัว พระพุทธองค์กล่าวชมเชยว่านางเป็นโสดาบัน และเข้าถึงการตรัสรู้ได้เป็นแน่[50][51]
กิมพิละ
[แก้]กิมพิละ เป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าเป็นบุตรของใคร หลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดญาติที่เมืองกบิลพัสดุ์ อุนุรุทธะได้ชักชวนกิมพิละออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดา โดยมีผู้ออกบวชด้วยพร้อมกัน ได้แก่ ภัททิยะ อุนุรุทธะ ภัคคุ อานนท์ เทวทัต และอุบาลีชาวภูษามาลา[52][53] เมื่อสิ้นสุดพรมแดนแคว้นสักกะแล้ว เหล่าเจ้าชายทั้งห้าก็เปลื้องเครื่องประดับมีค่าออก มอบให้อุบาลีนำไปขาย แต่อุบาลีไม่ยินยอมขอออกบวชด้วย ทั้งหมดจึงทิ้งเครื่องประดับเหล่านั้นไว้ใต้ต้นไม้ แล้วเดินทางขอบวชกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิมพิละมุ่งบำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐานจนบรรลุพระอรหันต์[54][55]
กิสาโคตมี
[แก้]กิสาโคตมี เป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้า ทราบว่ามีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเป็นพระธิดาของพระเจ้าอาแต่ไม่ปรากฏพระนามว่าเป็นพระองค์ใด[56] (คนละท่านกับกีสาโคตมีผู้ภิกษุณี)[57] นางเสกสมรสกับสุกโกทนะ พระอนุชาของสุทโธทนะ มีพระโอรสด้วยกันเพียงพระองค์เดียวคือ อานนท์[58] กิสาโคตมีปรากฏในพุทธประวัติช่วงต้น ว่าหลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพบกับเทวทูตและเสด็จกลับไปยังพระนครในช่วงเย็น ก็สดับพระคาถาที่กิสาโคตมีภาษิตไว้ว่า[56]
พระราชกุมารผู้เช่นนี้ เป็นพระราชโอรสแห่งพระชนนี | ||
พระชนก และเป็นพระสวามีของนางใด ๆ พระชนนี |
พระชนก และพระนางนั้น ๆ ดับ (เย็นใจ) แน่แล้ว | ||
หลังสดับภาษิตดังกล่าวแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเปลื้องแก้วมุกดาหารที่พระศอ ส่งประทานแก่กิสาโคตมี แล้วกลับไปที่ประทับ ในคืนนั้นเอง พระองค์เกิดความเบื่อหน่ายเมื่อทอดพระเนตรนางฟ้อนที่กำลังหลับไหลด้วยท่าทางแปลก ๆ จึงเสด็จออกพร้อมฉันนะและม้ากัณฑกะ แล้วออกผนวชริมฝั่งแม่น้ำอโนมา[56]
นันทิยะ
[แก้]นันทิยะ เป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าเป็นบุตรของใคร เคยเข้าไปสนทนาธรรมกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[59]
นาคมณฑา
[แก้]นาคมณฑา หรือ นาคบุณฑา เป็นนางทาสีซึ่งถือเป็นหญิงชั้นต่ำ นางตั้งครรภ์กับมหานามะ เจ้าผู้ครองแคว้นสักกะ มีธิดาด้วยกันคนเดียว คือ วาสภขัตติยา ผู้มีรูปโฉมงดงาม อย่างไรก็ตามทั้งนาคมณฑา วาสภขัตติยา และวิฑูฑภะ ซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน ต่างถูกเลือกปฏิบัติอันเกิดจากการแบ่งชั้นวรรณะในเครือญาติศากยวงศ์[60][61][62]
ภัคคุ
[แก้]ภัคคุ หรือ ภคุ เป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าเป็นบุตรของใคร หลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดญาติที่เมืองกบิลพัสดุ์ อุนุรุทธะได้ชักชวนภัคคุออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดา โดยมีผู้ออกบวชด้วยพร้อมกัน ได้แก่ ภัททิยะ อุนุรุทธะ กิมพิละ อานนท์ เทวทัต และอุบาลีชาวภูษามาลา[52] พระพุทธเจ้าเคยให้การชื่นชมการอยู่โดดเดี่ยวของภัคคุ[53]
ภัททิยะ
[แก้]ภัททิยะ หรือ ภัททิยกาฬิโคธาบุตร ชนนีเป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้าแต่ไม่ปรากฏนามของบรรพชน[63] เป็นพระโอรสของนางกาฬิโคธา หญิงในวงศ์สักกะ แต่ไม่ปรากฎนามบิดา เมื่อจำเริญวัยภัททิยะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นราชาหรือเจ้าผู้ครองของแคว้นสักกะ กระทั่งอนุรุทธะชี้ชวนให้ภัททิยะออกบวชด้วย เบื้องต้นภัททิยะไม่พอใจที่จะบวช แต่ก็ตัดใจยอมบวช โดยสละตำแหน่งราชาของตน[49] แล้วออกบวชพร้อมกับอุนุรุทธะ ภัคคุ กิมพิละ อานนท์ เทวทัต และอุบาลีชาวภูษามาลา[52][53] ทว่าเมื่อบวชแล้วภัททิยะก็สามารถบรรลุอรหันต์ได้อย่างรวดเร็ว ครั้นเมื่อบำเพ็ญพรตในป่า ภัททิยะมักกล่าวว่า "สุขหนอ ๆ" อยู่เป็นนิจศีล จนพระบรมศาสดาเปล่งวาจาชมเชย[49]
มหานามะ
[แก้]มหานามะ หรือ มหานาม[64] เป็นพระโอรสของอมิโตทนะ[65] (บางแห่งว่าสุกโกทนะ)[66][67] พระอนุชาของสุทโธทนะ เขามีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มหานามะมีพระอนุชาคือ อนุรุทธะ และพระขนิษฐาคือ โรหิณี[58] มหานามะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นราชาของแคว้นสักกะ[64] เขามีพระธิดากับนางทาสีชื่อนาคมณฑา คือ วาสภขัตติยา ซึ่งต่อมาได้อภิเษกสมรสเป็นพระอัครมเหสีของปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งอาณาจักรโกศล[68] มหานามแม้จะไม่ได้ออกผนวช แต่ก็เป็นอุบาสกที่มีศรัทธาแก่กล้า ด้วยเป็นเอตทัคคะด้านการถวายของประณีต[64]
โรหิณี
[แก้]โรหิณี เป็นนางสากิยานีแห่งกบิลพัสดุ์ เป็นพระธิดาของอมิโตทนะ[58] (บางแห่งว่าสุกโกทนะ)[66][67] พระอนุชาของสุทโธทนะ นางมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางเป็นขนิษฐาของมหานามะ และอนุรุทธะ[58] โรหิณีประชวรด้วยโรคผิวหนังจึงละอายพระทัยไม่ออกนอกพระตำหนัก นางทำได้เพียงแต่นำเครื่องประดับอันมีค่าของตนออกขายแล้วนำเงินนั้นมาทำบุญแก่พระพุทธศาสนาเพื่อสร้างโรงฉันและภัตตาหาร พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมแก่โรหิณีและผู้คนว่าให้พึงระงับความโกรธลง[69] หลังจากนั้นนางบรรลุถึงโสดาบัน และผิวพรรณที่เคยป่วยโรคนั้นก็กลับมางดงามดุจทองคำ[70][71][72]
วัปปะ
[แก้]วัปปะ เป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าเป็นบุตรของใคร ทราบแต่เพียงว่ามีศักดิ์เป็นอาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดิมเป็นสาวกนิครันถ์ ได้เข้าไปสนทนาธรรมกับพระมหาโมคคัลลานะ แต่เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้าไปอธิบายธรรม วัปปะก็บรรลุธรรมและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ[73]
วาสภขัตติยา
[แก้]วาสภขัตติยา เป็นนางสากิยานีแห่งกบิลพัสดุ์ เป็นพระธิดาของมหานามะ ที่ประสูติแต่นางนาคมณฑา ซึ่งเป็นนางทาสี[74][75] แม้จะเกิดแต่มารดาสกุลต่ำแต่ก็มีรูปงาม แต่เพราะมีมารดาเป็นนางทาสีนี้เองที่ทำให้ศากยวงศ์ล้วนรังเกียจเดียดฉันท์นาง[60][62] เมื่อวาสภขัตติยามีพระชันษาได้ 16 ปี ก็ได้เข้าเป็นพระอัครมเหสีของปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งโกศล[62][68] มีพระราชโอรสด้วยกันพระองค์หนึ่งคือ วิฑูฑภะ หรือ วิฏฏุภะ ครั้นเมื่อปเสนทิโกศลทราบว่าวาสภขัตติยามีมารดาเป็นทาสีจึงปลดนางออกจากตำแหน่ง รวมทั้งปลดวิฑูฑภะออกด้วยเช่นกัน แต่ทั้งสองยังคงประทับอยู่ในพระราชวังของปเสนทิโกศล[61]
วิฑูฑภะ
[แก้]วิฑูฑภะ เป็นพระราชโอรสของปเสนทิโกศล กับวาสภขัตติยา ด้วยความที่มีพระราชชนนีสืบสันดานจากทาสจึงทำให้เขาถูกรังเกียจเดียดฉันท์ทั้งจากเครือญาติศากยวงศ์ที่ไม่ร่วมสนิทสมาคม[60][76] หรือแม้แต่พระราชชนกที่เคยปลดพระองค์และวาสภขัตติยาออกจากตำแหน่งมาแล้ว[61] ต่อมาเมื่อวิฑูฑภะขึ้นเสวยราชสมบัติอาณาจักรโกศลแล้ว หลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ไม่นาน วิฑูฑภะได้กรีฑาทัพไปตีแคว้นสักกะและโกลิยะ เอกสารพุทธอธิบายว่าวิฑูฑภะไปฆ่าล้างวงศ์ด้วยการเชือดคอแล้วนำเลือดของพวกศากยะมาล้างไม้กระดาน ด้วยผูกใจเจ็บว่าพวกศากยะเคยนำน้ำเจือน้ำนมมาล้างไม้กระดานที่พระองค์และวาสภขัตติยะเคยนั่ง[60] ซึ่งในความเป็นจริง การรุกรานดังกล่าวอาจเกิดจากการอ้างสิทธิเหนือดินแดนของวาสภขัตติยาผู้ชนนี จึงกลายเป็นแรงจูงใจให้วิฑูฑภะยกทัพไปตีดินแดนทั้งสอง แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชาวสักกะได้ถูกผนวกเข้าเป็นประชากรของอาณาจักรโกศล มีบางครอบครัวที่ยังรักษาอัตลักษณ์ของตระกูลศากยะไว้ได้ ขณะที่ชาวโกลิยะเองกลับถูกกลืนไปจนหมดสิ้นหลังการผนวกดินแดน[77][78]
สรกานิ
[แก้]สรกานิ เป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าเป็นบุตรของใคร สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยทำนายไว้ว่าจะได้ไปเกิดเป็นโสดาบัน และจะตรัสรู้ได้ในเบื้องหน้า[79] เพราะแต่เดิมสรกานิโปรดเสวยน้ำจัณฑ์ และเพิ่งสมาทานศาสนาพุทธก่อนที่จะสิ้นพระชนม์[80] มหานามะและเจ้าศากยวงศ์พระองค์อื่นมองว่าสรกานิยังไม่บริบูรณ์ในสิกขา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตัดสินว่า สรกานิเป็นผู้บริบูรณ์ในสิกขาในเวลาจะสิ้นพระชนม์[79]
สีหหนุ
[แก้]สีหหนุ เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นสักกะ เป็นพระราชโอรสของชัยเสน เจ้าผู้คนแคว้นสักกะองค์ก่อน สีหหนุอภิเษกสมรสกับกัญจนา พระราชธิดาเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ มีพระราชโอรส-ธิดาด้วยกัน 7 พระองค์ ได้แก่ สุทโธทนะ สุกโกทนะ อมิโตทนะ โธโตทนะ ฆนิโตทนะ ปมิตา และอมิตา สีหหนุจึงเป็นพระอัยกาฝ่ายพระชนก (ปู่) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[1]
สุกโกทนะ
[แก้]สุกโกทนะ เป็นพระราชโอรสลำดับที่สองของสีหหนุกับกัญจนา เป็นพระอนุชาของสุทโธทนะ และเป็นพระปิตุลา (อา) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สุกโกทนะเสกสมรสกับนางกิสาโคตมี มีพระโอรสด้วยกันหนึ่งคนคือ อานนท์[1][58] แต่บางเอกสารระบุว่ามหานามะ อนุรุทธะ กับโรหิณี เป็นพระบุตรของสุกโกทนะ[66][67]
อนุรุทธะ
[แก้]อนุรุทธะ เป็นพระราชโอรสของอมิโตทนะ[65] (บางแห่งว่าสุกโกทนะ)[66][67] พระอนุชาของสุทโธทนะ อนุรุทธะมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระเชษฐาคือมหานามะ และมีพระขนิษฐาคือโรหิณี[58] อนุรุทธะเพียบพร้อมด้วยทรัพย์สินศฤงคารและบริวาร เขามีปราสาทสามหลัง แต่ละหลังใช้พำนักในสามฤดู[81]
จากความสะดวกสบายดังกล่าว มหานามะผู้เชษฐาได้ชักชวนให้อนุรุทธะออกบวช เบื้องต้นอนุรุทธะปฏิเสธอย่างแข็งขันเพราะตนนั้นรักสบาย มหานามะจึงให้ผู้อนุชาเรียนการครองเรือนเสียก่อน คือการทำนา แต่อนุรุทธะเบื่อหน่ายการเรือนจึงขอออกบวชเสียดีกว่า แต่มารดาก็ทัดทานไว้ตลอด อนุรุทธะได้ชวนให้ภัททิยะออกบวชเป็นเพื่อน แต่ภัททิยะก็ปฏิเสธเรื่อยมา ที่สุดภัททิยะมิอาจทนการรบเร้าของอนุรุทธะไม่ไหวจึงออกบวชด้วย พร้อมกับญาติวงศ์แห่งสักกะ ได้แก่ กิมพิละ ภัคคุ อานนท์ และเทวทัต รวมเดินทางไปขอบวชกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุปิยนิคม แคว้นมัลละ อนุรุทธะได้ศึกษาธรรมกับพระสารีบุตร และได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุอรหันต์[81]
อมิตา
[แก้]อมิตา เป็นพระราชธิดาของสีหหนุกับกัญจนา และเป็นพระขนิษฐาของสุทโธทนะ จึงมีศักดิ์เป็นพระปิตุจฉา (อา) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อมิตาอภิเษกสมรสกับสุปปพุทธะ เจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ มีพระราชบุตรด้วยกันสองพระองค์ คือ เทวทัต และยโสธรา ซึ่งต่อมายโสธราได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อมิตาจึงมีศักดิ์เป็นพระสัสสุ (แม่ยาย) ของพุทธองค์[1] แต่เอกสารบางแห่งระบุว่านางมีโอรสคนเดียวคือ ติสสะ ซึ่งภายหลังได้ออกบวชเป็นภิกษุ[82]
อมิโตทนะ
[แก้]อมิโตทนะ เป็นพระราชโอรสลำดับที่สามของสีหหนุกับกัญจนา เป็นพระอนุชาของสุทโธทนะ และเป็นพระปิตุลา (อา) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระบุตรสามพระองค์ คือ มหานามะ อนุรุทธะ และโรหิณี[1][58] แต่บางเอกสารกลับระบุว่าอมิโตทนะเป็นบิดาของอานนท์[83]
อานนท์
[แก้]อานนท์ หรือ อานันทะ[84] เป็นพระโอรสของสุกโกทนะ กับกีสาโคตมี[58][85][86] บิดาของอานนท์เป็นพระอนุชาของสุทโธทนะ อานนท์จึงเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระพุทธเจ้าเมื่อนับจากฝ่ายบิดา[87] ทังยังเกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า จึงนับว่าเป็นหนึ่งในสหชาติ 7[88] อานนท์เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเมื่อคราวที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแสดงธรรมที่เมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จออกไปแสดงธรรมที่เมืองอื่น อานนท์จึงขอออกบวชเพื่อตามเสด็จ[89]
อานนท์มีความสำคัญในฐานะหนึ่งในสิบอัครสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[90] ทั้งยังโดดเด่นเรื่องความจำเป็นเลิศ[91] เนื้อหาของ สุตตันตปิฎก ส่วนใหญ่มาจากการระลึกถึงคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากการสังคายนาครั้งแรก[87] ด้วยเหตุนี้อานนท์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น "คลังของพระธรรม"[92] ยี่สิบปีของการออกผนวชเพื่อรับใช้พระศาสนา อานนท์ทำงานอย่างเอาใจใส่และจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง[93] โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างพระพุทธเจ้า ฆราวาส และคณะสงฆ์[94][95] อานนท์ติดตามรับใช้พระพุทธเจ้าทุกหนแห่ง ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นเลขานุการและเป็นกระบอกเสียงแทนพระพุทธเจ้า[96] นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการวางรากฐานระบบการบวชภิกษุณีอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการทูลขอพุทธานุญาตแทนมหาปชาบดีโคตมีให้สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้[97][98] และในช่วงการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อานนท์แสดงออกถึงความเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้ง[99]
ริชาร์ด แวกเนอร์ (Richard Wagner) นักแต่งเพลง ได้นำเรื่องราวของอานนท์มาร่างเป็นบทเพลง ต่อมาโจนาทาน ฮาร์วีย์ (Jonathan Harvey) ได้นำบทเพลงดังกล่าวไปจัดเป็นการแสดงโอเปราใช้ชื่อว่า แวกเนอร์ดรีม เมื่อ ค.ศ. 2007[100]
ฝ่ายพุทธมารดา
[แก้]เทวทัต
[แก้]เทวทัต หรือสะกดว่า เทวทัตต์[84] เป็นพระราชโอรสของสุปปพุทธะกับอมิตา เป็นพระเชษฐาของยโสธรา และยังเป็นลูกพี่ลูกน้องของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวทัตออกบวชจากการชักชวนของอนุรุทธะ เจ้าศากยวงศ์ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง โดยมีผู้ออกบวชด้วยพร้อมกัน ได้แก่ กิมพิละ ภัททิยะ ภัคคุ อานนท์ และอุบาลีชาวภูษามาลา[52][53] ซึ่งในกาลต่อมาผู้ที่บวชพร้อมกับเทวทัตล้วนแต่บรรลุอรหันตผลไปแล้ว แต่เทวทัตทำได้เพียงโลกิยสมาบัติเท่านั้น เทวทัตได้กระทำการชั่วช้าหลายครั้ง ได้แก่ การยุยงให้อชาติศัตรูกระทำปิตุฆาตพิมพิสารแล้วปราบดาภิเษก ส่งช้างนาฬาคิรีซึ่งตกมันไปยังพุทธองค์ที่กำลังบิณฑบาต จ้างพลธนู 10 ผลัดลอบยิงพุทธองค์ และกลิ้งหินลงจากหน้าผาเขาคิชฌกูฏใส่พระพุทธเจ้า แต่พุทธองค์กลับถูกสะเก็ดหินทำให้พระองค์เป็นห้อที่ข้อพระบาท[101][102] นอกจากนี้ยังตั้งตัวเป็นศาสดาแทนพระผู้มีพระภาคเจ้า รวมทั้งก่อให้เกิดสังฆเภท[103][104]
แม้เทวทัตจะสำนึกตนที่ทำชั่วต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในช่วงบั้นปลายของชีวิต ขณะที่เทวทัตกำลังเดินไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อขออภัยที่วัดเชตวันมหาวิหาร แต่เทวทัตกลับถูกธรณีสูบบริเวณหน้าวัดเสียก่อน[105]
สีวลี
[แก้]สีวลี หรือ สีวลิ[106] เป็นพระโอรสของสุปปวาสา พระราชโกฬิยธิดาของเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะซึ่งไม่ได้ระบุพระนามของราชา และไม่ได้ระบุนามของบิดา เอกสารพุทธระบุว่าสุปปวาสาตั้งครรภ์สีวลีนานถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน เมื่อสีวลีจำเริญวัยขึ้นก็ได้ออกบวชในสำนักของพระสารีบุตร เอกสารระบุอีกว่าบรรลุอรหันตผลขณะกำลังปลงผมบวช[107] สีวลีมีชื่อเสียงว่าเป็นเอตทัคคะด้านผู้มีลาภมาก[108]
สุปปพุทธะ
[แก้]สุปปพุทธะ เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ เป็นพระราชโอรสของอัญชนะกับยโสธรา เขาอภิเษกสมรสกับอมิตา พระราชธิดาของสีหหนุแห่งสักกะ ทั้งสองมีพระราชบุตรด้วยกันสองพระองค์คือ เทวทัต และยโสธรา ต่อมายโสธราได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้สุปปพุทธะจึงมีฐานะเป็นสัสสุระ (พ่อตา) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า[1] สุปปพุทธะผูกใจเจ็บกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะทรงทอดทิ้งยโสธราให้เป็นม่าย และยังผูกเวรกับเทวทัตจนถูกธรณีสูบ สุปปพุทธะเสวยน้ำจัณฑ์แล้วไปขวางทางพระพุทธเจ้ามิให้เสด็จออกไปจากปราสาทเพื่อเผยแผ่คำสอน หลังจากนั้นเจ็ดวันสุปปพุทธก็ถูกธรณีสูบเช่นเดียวกับเทวทัต[109]
อัญชนะ
[แก้]อัญชนะ เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ เป็นพระราชโอรสของเทวทหสักกะ เขาอภิเษกสมรสกับยโสธรา พระราชธิดาของชัยเสนแห่งสักกะ มีพระราชบุตรด้วยกันสี่พระองค์ ได้แก่ สุปปพุทธะ ทัณฑปาณิ สิริทหามายา และมหาปชาบดีโคตมี ด้วยเหตุนี้อัญชนะจึงเป็นพระอัยกาฝ่ายพระชนนี (ตา) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[1]
อ้างอิง
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 ดาวสยาม วชิรปัญโญ, พระมหา. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย. กรุงเทพ : เม็ดทรายพริ้นติ้ง, พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า 27-31
- ↑ อดิเทพ พันธ์ทอง (20 พฤษภาคม 2559). "พุทธประวัตินอกกระแส (ในไทย): "สิทธัตถะ" เกิดในสังคมแบบชนเผ่า ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประติมากรรมดินเผารูป พระเจ้าสุทโธทนะ". สำนักการสังคีต กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Gombrich, 1988, pp. 49-50
- ↑ Batchelor, Stephen (2015). After Buddhism: Rethinking the Dharma for a Secular Age. Yale University Press. pp. 37. ISBN 978-0300205183.
- ↑ Schumann, H.W. (2016). Historical Buddha (New ed.). Motilal Banarsidass. pp. 17–18. ISBN 978-8120818170.
- ↑ Hirakawa, 2007, p. 21
- ↑ Schumann, 2016, p. 18
- ↑ พุทธานุพุทธประวัติ, หน้า 127
- ↑ Walshe, Maurice (1995). The Long Discourses of the Buddha: A Translation of the Digha Nikaya (PDF). Wisdom Publications. p. 409. ISBN 0-86171-103-3.
- ↑ Batchelor, Stephen (2015). After Buddhism. Yale University Press. pp. Chapter 2, Section 2, 7th paragraph. ISBN 978-0-300-20518-3.
- ↑ Schumann, H.W. (2016). Historical Buddha: The Times, Life and Teachings of the Founder of Buddhism. Motilal Banarsidass. p. 24. ISBN 978-8120818170.
- ↑ Dictionary of Buddhism, Keown, Oxford University Press, ISBN 0-19-860560-9
- ↑ พุทธานุพุทธประวัติ, หน้า 11
- ↑ "ทำไมหลังจากพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรสแล้วจึงมีพระชนชีพอยู่ต่อมาได้เพียง 7 วัน". วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-18. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โสณเถรวรรคที่ ๕ อัปปายุกาสูตร". ภิกษุณี เอตทัคคะ 84000. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "Maha Pajapati Gotami". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-28. สืบค้นเมื่อ 2010-11-07.
- ↑ 18.0 18.1 The Life of the Buddha: (Part Two) The Order of Nuns
- ↑ พุทธานุพุทธประวัติ, หน้า 13
- ↑ "A New Possibility". Congress-on-buddhist-women.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2010-11-19.
- ↑ Dhammadharini: Going Forth & Going Out ~ the Parinibbana of Mahapajapati Gotami - Dhammadharini เก็บถาวร 2013-02-21 ที่ archive.today
- ↑ พุทธานุพุทธประวัติ, หน้า 159
- ↑ 23.0 23.1 23.2 พุทธานุพุทธประวัติ, หน้า 14
- ↑ "IX:12 King Suppabuddha blocks the Lord Buddha's path". Members.tripod.com. 2000-08-13.
- ↑ "Dhammapada Verse 128 Suppabuddhasakya Vatthu". Tipitaka.net.
- ↑ K.T.S. Sarao (2004). "In-laws of the Buddha as Depicted in Pāli Sources". Chung-Hwa Buddhist Journal. Chung-Hwa Institute of Buddhist Studies (17). ISSN 1017-7132.
- ↑ "Suppabuddha". Dictionary of Pali Names.
- ↑ "เกิดเหตุอันอัศจรรย์ เกิดสหชาติทั้ง 7 ในกาลประสูติมีอะไรบ้าง". วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-04. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สหชาติทั้ง ๗". พุทธะ. 18 ธันวาคม 2552. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-29. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 30.0 30.1 "ประวัติพระภัททากัจจานาเถรี เอตทัคคผู้ได้บรรลุอภิญญาใหญ่". ประตูสู่ธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-09. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "The Compassionate Buddha". Geocities.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-21. สืบค้นเมื่อ 2009-09-23.
- ↑ 32.0 32.1 32.2 "ยโสธราเถริยาปทาน". พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒. สืบค้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Meeks 2016, p. 139.
- ↑ Strong 1997, pp. 122–4.
- ↑ 35.0 35.1 35.2 Buswell & Lopez 2013, Rāhula.
- ↑ 36.0 36.1 36.2 Saddhasena 2003, p. 481.
- ↑ Crosby 2013, p. 110.
- ↑ Crosby 2013, p. 115.
- ↑ Saddhasena 2003, pp. 482–3.
- ↑ Crosby 2013, p. 116.
- ↑ Strong 1997, p. 121.
- ↑ Meeks 2016, passim..
- ↑ Nakagawa 2005, p. 41.
- ↑ "นันทสูตร". พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "The Story of Rupananda meeting Buddha". The Buddhist News.
- ↑ 46.0 46.1 "อภิรูปนันทา บรรลุอรหันต์เพราะละจากความหลงใหลในความงาม". Goodlife Update. สืบค้นเมื่อ 30 Jul 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เรื่องพระนางรูปนันทาเถรี". อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑. สืบค้นเมื่อ 30 Jul 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 48.0 48.1 "พระนันทาเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้แพ่งด้วยฌาน". 84000. สืบค้นเมื่อ 30 Jul 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 49.0 49.1 49.2 "ประวัติ พระภัททิยเถระ (กาฬิโคธาบุตร)". ธรรมะพีเดีย. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "กาฬิโคธาสูตร". พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระนางกาฬิโคธา". อุทยานธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 52.0 52.1 52.2 52.3 "พระภคุเถระ". ธรรมะไทย. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 53.0 53.1 53.2 53.3 "พระภัคคุเถระ". อุทยานธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระกิมพิละ". อุทยานธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระกิมพิละเถระ". ธรรมะไทย. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 56.0 56.1 56.2 "เรื่องสญชัย". อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "กีสาโคตมี". พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 58.0 58.1 58.2 58.3 58.4 58.5 58.6 58.7 พุทธานุพุทธประวัติ, หน้า 15
- ↑ "นันทิยสูตร อยู่ด้วยความประมาทและไม่ประมาท". พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 60.0 60.1 60.2 60.3 "เรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะ". อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 61.0 61.1 61.2 "อรรถกถากัฏฐหาริชาดกที่ ๗". อรรถกถา กัฏฐหาริชาดก. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 62.0 62.1 62.2 "อรรถกถาภัททสาลชาดก ว่าด้วยการบำเพ็ญประโยชน์แก่ญาติ". อรรถกถาภัททสาลชาดก. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ พุทธานุพุทธประวัติ, หน้า 126
- ↑ 64.0 64.1 64.2 "มหานาม". พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 65.0 65.1 พุทธานุพุทธประวัติ, หน้า 122
- ↑ 66.0 66.1 66.2 66.3 "โรหิณี". พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 67.0 67.1 67.2 67.3 "อนุรุทธะ". พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 68.0 68.1 เสถียรพงษ์ วรรณปก (31 ตุลาคม 2561). "พระนางมัลลิกา มเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Acharya Buddharakkhita (1985). The Dhammapada:The Buddha's Path of Wisdom (PDF). Kandy, Sri Lanka: Buddhist Publication Society.
- ↑ "โกธวรรควรรณนา (เรื่องเจ้าหญิงโรหิณี)". อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "เจ้าหญิงโรหิณี". อุทยานธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Tin, Daw Mya (2019). The Dhammapada: Verses & Stories. Pariyatti Publishing. ISBN 9781681721200.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "วัปปสูตร ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่าวัปปะ". พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Raychaudhuri H. (1972). Political History of Ancient India, Calcutta: University of Calcutta, pp.177-8
- ↑ Kosambi D.D. (1988). The Culture and Civilisation of Ancient India in Historical Outline, New Delhi: Vikas Publishing House, ISBN 0-7069-4200-0, pp.128-9
- ↑ A. K. Ghosh (1968). "2". Legends from Indian History (Paperback) (ภาษาอังกฤษ). Children's Book Trust. p. 19. ISBN 9788170110460.
- ↑ Sharma 1968, p. 182-206.
- ↑ Sharma 1968, p. 207-217.
- ↑ 79.0 79.1 "สรกานิสูตรที่ ๒ ผู้ถึงสรณคมน์ไม่ไปสู่วินิบาต". พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สรกานิสูตรที่ ๑ ผู้ถึงสรณคมน์ไม่ไปสู่วินิบาต". พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 81.0 81.1 "พระอนุรุทธเถระ". ธรรมะไทย. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "อมิตา". พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "อมิโตทนะ". พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 84.0 84.1 พุทธานุพุทธประวัติ, หน้า 129
- ↑ อรรถกถาจุลลทุกขักขันธสูตร, อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค
- ↑ "ประวัติพระอานนทเถระ". อุทยานธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 87.0 87.1 Powers, John (2013). "Ānanda". A Concise Encyclopedia of Buddhism. Oneworld Publications. ISBN 978-1-78074-476-6.
- ↑ พรรณนาวงศ์พระทีปังกรพุทธเจ้าที่ ๑, อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. ทีปังกรพุทธวงศ์
- ↑ พระพุทธานุญาตจุณเภสัชเป็นต้น, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
- ↑ Nishijima, Gudo Wafu; Cross, Shodo (2008). Shōbōgenzō : The True Dharma-Eye Treasury (PDF). Numata Center for Buddhist Translation and Research. p. 32 n.119. ISBN 978-1-886439-38-2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-08-02. สืบค้นเมื่อ 2018-09-23.
- ↑ Mun-keat, Choong (2000). The Fundamental Teachings of Early Buddhism: A Comparative Study Based on the Sūtrāṅga Portion of the Pāli Saṃyutta-Nikāya and the Chinese Saṃyuktāgama (PDF). Harrassowitz. p. 142. ISBN 3-447-04232-X.
- ↑ Sarao, K. T. S. (2004). "Ananda". ใน Jestice, Phyllis G. (บ.ก.). Holy People of the World: A Cross-cultural Encyclopedia. ABC-CLIO. p. 49. ISBN 1-85109-649-3.
- ↑ Keown 2004, p. 12.
- ↑ Malalasekera 1960, Ānanda.
- ↑ Buswell & Lopez 2013, Ānanda.
- ↑ Findly, Ellison Banks (2003). Dāna: Giving and Getting in Pāli Buddhism. Motilal Banarsidass Publishers. p. 377. ISBN 9788120819566.
- ↑ พุทธานุพุทธประวัติ, หน้า 155-156
- ↑ Ohnuma, Reiko (December 2006). "Debt to the Mother: A Neglected Aspect of the Founding of the Buddhist Nuns' Order". Journal of the American Academy of Religion. 74 (4): 862, 872. doi:10.1093/jaarel/lfl026.
- ↑ Strong, John S. (1977). ""Gandhakuṭī": The Perfumed Chamber of the Buddha". History of Religions. 16 (4): 398–9. doi:10.1086/462775. JSTOR 1062638. S2CID 161597822.
- ↑ App, Urs (2011). Richard Wagner and Buddhism. UniversityMedia. pp. 42–3. ISBN 978-3-906000-00-8.
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 พระเทวทัตส่งคนไปพยายามลอบปลงพระชนม์พระศาสดา. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 พระเทวทัตทำโลหิตุปบาท. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 พระเทวทัตทูลขอปกครองสงฆ์. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 เรื่องวัตถุ 5 ประการ. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ 1 เรื่องพระเทวทัต. อรรถกถาพระไตรปิฏก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [5]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ พุทธานุพุทธประวัติ, หน้า 153
- ↑ "อรรถกถาสูตรที่ ๙ ประวัติพระสีวลีเถระ". อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๒. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประวัติ พระสีวลีเถระ". ธรรมะพีเดีย. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "เรื่องเจ้าสุปปพุทธศากยะ". อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
บรรณานุกรม
[แก้]- วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า. พุทธานุพุทธประวัติ. พระนคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2499. 159 หน้า.
- Buswell, Robert E. Jr.; Lopez, Donald S. Jr. (2013), Princeton Dictionary of Buddhism. (PDF), Princeton University Press, ISBN 978-0-691-15786-3
- Crosby, Kate (2013), "The Inheritance of Rāhula: Abandoned Child, Boy Monk, Ideal Son and Trainee", ใน Sasson, Vanessa R. (บ.ก.), Little Buddhas: Children and Childhoods in Buddhist Texts and Traditions, Oxford University Press, pp. 97–123, ISBN 978-0-19-994561-0
- Keown, Damien (2004), A Dictionary of Buddhism, Oxford University Press, ISBN 978-0-19-157917-2
- Malalasekera, G.P. (1960), Dictionary of Pāli Proper Names, Pali Text Society, OCLC 793535195
- Meeks, Lori (27 June 2016), "Imagining Rāhula in Medieval Japan" (PDF), Japanese Journal of Religious Studies, 43 (1): 131–51, doi:10.18874/jjrs.43.1.2016.131-151
- Nakagawa, Yoshiharu (2005), "The Child as Compassionate Bodhisattva and as Human Sufferer/Spiritual Seeker: Intertwined Buddhist Images", ใน Yust, Karen-Marie; Johnson, Aostre N.; Sasso, Sandy Eisenberg; Roehlkepartain, Eugene C. (บ.ก.), Nurturing Child and Adolescent Spirituality: Perspectives from the World's Religious Traditions, Rowman & Littlefield Publishers, pp. 33–42, ISBN 978-1-4616-6590-8
- Péri, Nöel (1918), "Les femmes de Çākya-Muni" [The Wives of Śākyamunī], Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient (ภาษาฝรั่งเศส), 18 (1): 1–37, doi:10.3406/befeo.1918.5886
- Saddhasena, D. (2003), "Rāhula", ใน Malalasekera, G. P.; Weeraratne, W. G. (บ.ก.), Encyclopaedia of Buddhism, vol. 7, Government of Sri Lanka, OCLC 2863845613[ลิงก์เสีย]
- Strong, John S. (1997), "A Family Quest: The Buddha, Yaśodharā, and Rāhula in the Mūlasarvāstivāda Vinaya", ใน Schober, Juliane (บ.ก.), Sacred Biography in the Buddhist Traditions of South and Southeast Asia, pp. 113–28, ISBN 9780824816995
- Witanachchi, C. (1965), "Ānanda", ใน Malalasekera, G. P.; Weeraratne, W. G. (บ.ก.), Encyclopaedia of Buddhism, vol. 1, Government of Sri Lanka, OCLC 2863845613[ลิงก์เสีย]
- Schumann, H.W. (2004) [1982], Der Historische Buddha [The historical Buddha: the times, life, and teachings of the founder of Buddhism] (ภาษาเยอรมัน), แปลโดย Walshe, M. O' C., Delhi: Motilal Banarsidass, ISBN 81-208-1817-2