สัมมาสังกัปปะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ดำริชอบ หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง เป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด
สัมมาสังกัปปะ มี 3 อย่าง ได้แก่

  1. เนกขัมมสังกัปป์ (หรือ เนกขัมมวิตก) คือ ความดำริที่ปลอดจากโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่หมกมุ่นพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยากต่างๆ ความคิดที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเสียสละ และความคิดที่เป็นคุณเป็นกุศลทุกอย่าง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากราคะหรือโลภะ
  2. อพยาบาทสังกัปป์ (หรือ อพยาบาทวิตก) คือ ดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริที่ไม่มีความเคียดแค้น ชิงชัง ขัดเคือง หรือเพ่งมองในแง่ร้ายต่างๆ โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม คือเมตตา กรุณาซึ่งหมายถึงความปรารถนาดี ความมีไมตรี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโทสะ
  3. อวิหิงสาสังกัปป์ (หรือ อวิหิงสาวิตก) คือ ดำริในอันไม่เบียดเบียน ไม่มีการคิดทำร้ายหรือทำลายด้วยความไม่รู้ เพราะคึกคะนอง ทำโดยไม่มีความโลภหรือความโกรธมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม ปัญญาคือเข้าใจโลกนี้ตามความเป็นจริง รู้ชัดในกฎแห่งกรรม หรือมีสามัญสำนึกในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเอง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโมหะ

กุศลวิตก 3 ประการนี้ ไม่กระทำความมืดมน กระทำปัญญาจักษุ กระทำญาณ ยังปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน

สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสัมมาสังกัปปะ[แก้]

สัมมาสังกัปปะตรงกันข้ามกับมิจฉาสังกัปปะ (ความดำริผิด) ซึ่งมี ๓ อย่างคือ

  1. กามสังกัปป์ (หรือ กามวิตก)
  2. พยาบาทสังกัปป์ (หรือ พยาบาทวิตก)
  3. วิหิงสาสังกัปป์ (หรือ วิหิงสาวิตก)

ความดำริหรือแนวความคิดแบบมิจฉาสังกัปปะนี้ เป็นเรื่องปรกติของคนส่วนมาก เพราะตามธรรมดานั้น เมื่อปุถุชนรับรู้อารมณ์ ก็จะเกิดความรู้สึกหนึ่งในสองอย่าง คือ ถูกใจซึ่งก็จะชอบ ติดใจ หรือไม่ถูกใจก็จะไม่ชอบ มีขัดเคืองตามมา จากนั้นความดำรินึกคิดต่างๆ ก็จะดำเนินไปตามแรงผลักดันของความชอบและไม่ชอบนั้น
ความดำริหรือความนึกคิดที่เอนเอียงเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะ มองสิ่งต่างๆอย่างผิวเผิน รับรู้อารมณ์เข้ามาทั้งดุ้น โดยขาดสติสัมปชัญญะ แล้วปล่อยความนึกคิดให้แล่นไปตามความรู้สึก หรือตามเหตุผลที่มีความชอบใจไม่ชอบใจเป็นตัวนำ ไม่ได้ใช้ความคิดแยกแยะส่วนประกอบ และความคิดสืบสาวสอบค้นเหตุปัจจัย ตามหลักโยนิโสมนสิการ

มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจผิดพลาด ไม่มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จึงทำให้เกิดมิจฉาสังกัปปะ คือ ดำริ นึกคิด และมีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายผิดพลาดบิดเบือน และมิจฉาสังกัปปะนี้ ก็ส่งผลสะท้อนให้เกิดมิจฉาทิฐิ จนเข้าใจและมองเห็นสิ่งทั้งหลาย อย่างผิดพลาดและบิดเบือนยิ่งขึ้นไปอีก

สัมมาทิฏฐิ กับ สัมมาสังกัปปะ[แก้]

การที่จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ตามที่มันเป็นได้นั้น จะต้องใช้โยนิโสมนสิการ คือ ขณะนั้นความนึกคิดดำริต่างๆ จะต้องปลอดโปร่ง มีอิสระ ไม่มีทั้งความชอบใจ ความยึดติด พัวพัน และความไม่ชอบใจ เป็นปฏิปักษ์ต่างๆด้วย นั่นคือ จะต้องมีสัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ ซึ่งองค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้ ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน

สัมมาสังกัปปะ ๒ อย่าง[แก้]

  • สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ คือ ความดำริในเนกขัมมะ ดำริในความไม่พยาบาท ดำริในความไม่เบียดเบียน
  • สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค คือ ความตรึก ความวิตก ความดำริ ความแน่ว ความแน่ ความปักใจ วจีสังขาร ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง[แก้]

  • จากทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑

ภิกษุผู้ประกอบธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันไม่ผิด และเป็นอันปรารภเหตุ เพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ เนกขัมมวิตก ๑ อพยาบาทวิตก ๑ อวิหิงสาวิตก ๑ สัมมาทิฏฐิ

  • จากสนิทานสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖

ความหมายรู้ในเนกขัมมะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยเนกขัมมธาตุ

ความดำริในเนกขัมมะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความหมายรู้ในเนกขัมมะ

ความพอใจในเนกขัมมะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความดำริในเนกขัมมะ

ความเร่าร้อนเพราะเนกขัมมะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความพอใจในเนกขัมมะ

การแสวงหาในเนกขัมมะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความเร่าร้อนเพราะเนกขัมมะ

อริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อแสวงหาเนกขัมมะ ย่อมปฏิบัติชอบโดยฐานะ ๓ คือ กาย วาจา ใจ

และโดยนัยเดียวกันนี้ กับ อพยาบาท และ อวิหิงสา

อ้างอิง[แก้]