สัมมาสติ
เป็นส่วนหนึ่งของ |
ธรรมะหนทางสู่การรู้แจ้ง |
---|
สัมมาสติ คือการมีสติกำหนดระลึกรู้อยู่เป็นนิจว่า กำลังทำอะไรอยู่ กำหนดรู้สภาวะที่เกิดขึ้นจริงในขณะปัจจุบัน ในสภาวะทั้ง 4 คือ กาย เวทนา จิต และธรรม ตามความจำกัดความแบบพระสูตร คือหลักธรรมที่เรียกว่า สติปัฏฐาน 4 แบ่งออกเป็น 4 คือ
(สัมมาสติ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ อันนี้เรียกว่า สัมมาสติฯ)[1]
- กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในกาย คือ อิริยาบถ 4 การเคลื่อนไหว (อานาปานบรรพ อิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ นวสีวถิกาบรรพ)
- เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในเวทนา คือ เวทนาทางกาย ทางใจ สุข ทุกข์ อุเบกขา
- จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในจิต จิตมีโทสะรู้ มีราคะรู้ มีโมหะรู้ ฯลฯ
- ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในธรรม คือ สัญญา (ความนึก) และสังขาร (ความคิด) นิวรณ์ 5 อุปาทานขันธ์ 5 อายตนะภายในและภายนอก 6 โพชฌงค์ 7 อริยสัจ 4
กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน - พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมหาสติปัฏฐาน 4
อานาปานบรรพ - ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่าภิกษุในธรรมวินัยนี้ นั่งคู่บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า - เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว - เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว - เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น - เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น - ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก - ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า - ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก - ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
อิริยาปถบรรพ - ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดิน - เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่าเรายืน - เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง - เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่าเรานอน หรือเธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใด ๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้น สัมปชัญญบรรพ ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง
ปฏิกูลมนสิการบรรพ (พิจารณากายโดยความเป็นของไม่สะอาด) - ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูต
ธาตุมนสิการบรรพ (พิจารณากายโดยความเป็นธาตุ) - ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้โดยความเป็นธาตุว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีอยู่ในกายนี้ นวสีวถิกาบรรพ (พิจารณากายโดยความเป็นซากศพ) ภิกษุพึงเห็นกายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า - ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด - ฝูงนก ฝูงสัตว์ หมู่สัตว์ตัวเล็ก ๆ ต่าง ๆ กัดกินอยู่บ้าง - เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ - เป็นร่างกระดูกปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ - เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ - เป็นกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในคนละทิศละทาง - เป็นเหลือแต่กระดูกมีสีขาว - เป็นกระดูกกองเรียงรายอยู่แล้วเกินปีหนึ่งขึ้นไป - เป็นกระดูกผุเป็นจุณแล้ว ย่อมน้อมเข้ามาสู่กายตนนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้
ดังพรรณามาฉะนี้ - ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง - พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง - พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ [ต้องการอ้างอิง][2][3]⠀ ⠀ ⠀ ⠀
เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน - พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมหาสติปัฏฐาน 4 เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน
ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่อย่างไรเล่า - ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เสวยสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนา หรือเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนา หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา หรือเสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส หรือเสวยทุกขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนามีอามิส หรือเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส
ดังพรรณนามาฉะนี้ - ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในเวทนาบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า เวทนามีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก อย่างนี้แลภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ [4] [ต้องการอ้างอิง]
จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน - พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมหาสติปัฏฐาน 4 - จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน
ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอย่างไรเล่า - ภิกษุในธรรมวินัยนี้จิตมีราคะ หรือ ปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะ หรือ ปราศจากราคะ - จิตมีโทสะ หรือ ปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ หรือ ปราศจากโทสะ - จิตมีโมหะ หรือ ปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโมหะ หรือ ปราศจากโมหะ - จิตหดหู่ หรือ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า จิตหดหู่ หรือ จิตฟุ้งซ่าน - จิตเป็นมหรคต หรือ ไม่เป็นมหรคต ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นมหรคต หรือ ไม่เป็นมหรคต - จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือ ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือ ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า - จิตเป็นสมาธิ หรือ ไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นสมาธิ หรือ ไม่เป็นสมาธิ - จิตหลุดพ้น หรือ ไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตหลุดพ้น หรือ ไม่หลุดพ้น
ดังพรรณามาฉะนี้ - ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในบ้าง - พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกบ้าง - พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในจิตบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในจิตบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิตบ้าง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก อย่างนี้แล ชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ [5] [ต้องการอ้างอิง][6]
ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน - พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมหาสติปัฏฐาน 4 แก่ชาวกุรุ - ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน
นีวรณบรรพ - ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือนิวรณ์ 5 อย่างไรเล่า พิจารณาเห็นการมีอยู่ หรือ การไม่มีอยู่ภายในจิต การเกิดขึ้น การละเสีย การไม่ให้เกิดขึ้นต่อไป ของกามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา
ขันธบรรพ - ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออุปาทานขันธ์ 5 อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นดังนี้ว่า - อย่างนี้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขันธ์ห้า) - อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งขันธ์ห้า - อย่างนี้ความดับแห่งขันธ์ห้า
อายตนบรรพ - ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อายตนะภายในและภายนอก 6 อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ - ย่อมรู้จักนัยน์ตา รู้จักรูป ,รู้จักหู รู้จักเสียง, รู้จักจมูก รู้จักกลิ่น, รู้จักลิ้น รู้จักรส, รู้จักกาย รู้จักสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย, รู้จักใจ รู้จักธรรมารมณ์ - และรู้จักแต่ละคู่นั้นว่า เป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ - สังโยชน์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย - สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย - สังโยชน์ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
โพชฌงคบรรพ - ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือ โพชฌงค์ 7 - สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ - อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ - เมื่อสัมโพชฌงค์ มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สัมโพชฌงค์ มีอยู่ ณ ภายในจิต - หรือเมื่อสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต - สัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย - สัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
สัจจบรรพ - ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ 4 อยู่ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทุกขอริยสัจ คือ - ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นทุกข์ - ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์ ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ ตัณหาอันมีความเกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความสำรอก และความดับโดยไม่เหลือ ความสละ ความส่งคืน ความปล่อยวาง ความไม่มีอาลัย ในตัณหานั้น ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ มรรคมีองค์ 8 อันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ดังพรรณนามาฉะนี้ - ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
ดูเพิ่ม
[แก้]- พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค ฉบับหลวง มหาสติปัฏฐานสูตร