ปะหล่อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ชาวปะหล่อง)
ปะหล่อง
สตรีชาวปะหล่องในรัฐฉาน ประเทศพม่า
ประชากรทั้งหมด
557,000 (est.)
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ประเทศพม่า ประชากรจำนวนน้อยในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และประเทศไทย
ภาษา
ปะหล่อง
ศาสนา
พุทธเถรวาท

ปะหล่อง (พม่า: ပလောင် လူမျိုး, ออกเสียง: [pəlàʊ̯ɰ̃ lùmjó]) เป็นชนกลุ่มน้อยพวกหนึ่ง นับเป็นหนึ่งใน 56 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีชาวปะหล่องอาศัยอยู่ในประเทศพม่า และมีบางส่วนที่อพยพเข้ามาประเทศไทยบริเวณชายแดน ใกล้ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ชาวปะหล่องพูดภาษาปะหล่อง ซึ่งเป็นภาษาตระกูลมอญ-เขมร

คำว่า "ปะหล่อง" เป็นคำที่ชาวไทใหญ่ใช้เรียก แต่ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้จะเรียกตนเองว่า ดาราอั้ง[1] เป็นชาวเขาชนเผ่าหนึ่งที่มีที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนดอยสูง กระจัดกระจายอยู่บริเวณรัฐฉาน รัฐกะชีน ประเทศพม่า และมณฑลยูนนาน ประเทศจีน แต่ด้วยภัยสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ช่วงปี พ.ศ. 2511–2527 ชาวดาราอั้งจำนวนมากต้องข้ามน้ำสาละวินลัดเลาะจากเชียงตอง เมืองปั่น ในเขตเชียงตุง มายังฝั่งประเทศไทย มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อาศัยบริเวณบ้านนอแล บ้านห้วยเลี้ยม บ้านแคะนุ ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้กับพื้นที่รับผิดชอบของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง และส่วนหนึ่งจัดให้อยู่ บ้านปางแดง บ้านแม่จร บ้านห้วยโป่ง อำเภอเชียงดาว บ้านห้วยหวาย บ้านห้วยทรายขาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านสันต้นปุย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในส่วนของเรือนที่อยู่อาศัย ชาวดาราอั้งนิยมสร้างเรือนด้วยเสาไม้ ฟากและฝาเป็นไม้ไผ่สับ เป็นเรือนยกพื้นสูง ขึ้นอยู่กับความลาดชันบนไหล่เขา และหลังคามุงด้วยหญ้าคา ดำรงชีพด้วยการทำเกษตรกรรมปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด และเลี้ยงสัตว์

ชาวดาราอั้ง มีภาษาพูดเป็นของตนเอง คือ ภาษาดาราอั้ง จัดอยู่ในกลุ่มภาษาปะหล่อง–วะ แต่โดยทั่วไปแล้วชาวดาราอั้งสามารถพูดภาษาไทยใหญ่ได้ เนื่องจากถิ่นฐานเดิมอยู่ใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มไทใหญ่ ชาวดาราอั้งมีชีวิตที่ค่อนข้างสงบและเรียบง่าย ด้วยเพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความเชื่อเรื่องผีอันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของบรรพบุรุษ

หมวกสำหรับเด็กชายของชาวดาราอั้ง เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายชนเผ่าดาราอั้ง บ้านปางแดงใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

สตรีชาวดาราอั้งนิยมสวมเสื้อแขนกระบอก ผ่าหน้า เอวลอย สีสันสดใส ส่วนมากนิยมสีดำ น้ำเงิน เขียว และม่วง ในส่วนของสาบเสื้อเย็บด้วยผ้าสีแดง ตกแต่งด้วยเลื่อมและลูกปัดหลากสี นุ่งซิ่นลายขวางสีแดงสลับลายริ้วขาวเส้นเล็ก ๆ ผืนยาวกรอมเท้า เคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาว และที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น คือ การสวมเอวด้วยวงหวาย บางคนก็ใช้โลหะสีเงินหรือทองตัดเป็นแถบยาวตอกลาย แล้วขดเป็นวง สวมใส่ปนกัน เรียกว่า “หน่องว่อง” สำหรับบุรุษชาวดาราอั้งนิยมสวมเสื้อแขนยาวสีขาว กางเกงสะดอหรือกางเกงเซี่ยมสีน้ำเงิน เคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาว และที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น คือ การแกะฟันและฝังด้วยทองคำหรืออัญมณี ถือดาบ สะพายย่าม สูบกล้องยาสูบ

ประวัติศาสตร์[แก้]

ใน ค.ศ. 1949 ชาวปะหล่องในประเทศจีน มีชื่อเรียกว่า Benglong ครั้นปี ค.ศ. 1985 มีชื่อเรียกใหม่ว่าเต๋ออ๋าง (จีน: ; พินอิน: Déáng Zú) ตามคำเรียกร้องของสมาชิกในกลุ่มชาติพันธุ์นี้

กลุ่ม[แก้]

ชาวปะหล่องแบ่งออกเป็นสามกลุ่มย่อย ได้แก่: Palé, Shwe และ Rumai[2]

วัฒนธรรม[แก้]

การแต่งกายของชาวดาราอั้ง บ้านปางแดงใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

บ้านเรือนส่วนใหญ่ของชาวปะหล่องทำจากไม้ไผ่ แต่โครงเป็นไม้จริง ประตูหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ละครอบครัวมีบ้านของตนเอง มักเป็นบ้านสองชั้น (แต่บ้านชั้นเดียวก็มี) ชั้นล่างเป็นที่เก็บข้าวเปลือกและเลี้ยงสัตว์ ส่วนชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย

ผู้หญิงชาวปะหล่องแต่งกายแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ปกติจะมีเสื้อกั๊กสีดำ หรือขาวทับด้านนอก ตกแต่งด้วยแถบกำมะหยี่หลากสี และนิยมนุ่งผ้าถุง

ชายชาวปะหล่องสวมเสื้อกั๊กสีขาวหรือกรมท่า กางเกงขายาว ขาบาน นอกจากนี้ยังโพกศีรษะด้วยผ้าขาวหรือดำ ในบางท้องถิ่น ชาวปะหล่องยังนิยมสักบนร่างกายเป็นรูปเสือ นก หรือดอกไม้

ศาสนา[แก้]

ชาวปะหล่องส่วนใหญ่ยึดมั่นในพุทธศาสนา และมีการสร้างวัดในเมืองส่วนใหญ่ของพวกเขา นอกจากทำบุญตามประเพณีของชาวพุทธแล้ว ชาวปะหล่องยังนิยมส่งลูกหลานที่มีอายุประมาณ 10 ขวบไปบวชสามเณร และสึกออกมาเพื่อถึงวัยผู้ใหญ่

อ้างอิง[แก้]

  1. "ดาราอั้ง - สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่". The Center for the Promotion of Arts and Culture, Chiang Mai University.
  2. Ta'ang = The Peoples of the World Foundation

อ่านเพิ่ม[แก้]

  • Palaung Women's Organisation. (2006). Poisoned flowers: the impacts of spiralling drug addiction on Palaung women in Burma. Tak, Maesot, Thailand: Palaung Women's Organisation.
  • Ashley, S. (2006). Exorcising with Buddha palaung Buddhism in northern Thailand. Ottawa: Library and Archives Canada = Bibliothèque et Archives Canada. ISBN 0-494-03309-6
  • Howard, M. C., & Wattana Wattanapun. (2001). The Palaung in northern Thailand. Chiang Mai, Thailand: Silkworm Books. ISBN 974-88325-1-1
  • Cameron, A. A. (1912). Notes on the Palaung of the Kodaung Hill tracts of Mong Mit State. Rangoon: Govt. Printer.
  • Milne, Mrs. Leslie. The Home of an Eastern Clan: A Study of the Palaungs of the Shan State, Oxford, Clarendon Press (1924).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]