สำนักงานสถิติแห่งชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ตราสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง1 เมษายน พ.ศ. 2458; 108 ปีก่อน (2458-04-01)
หน่วยงานก่อนหน้า
  • กรมสถิติพยากรณ์
  • กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์
  • กรมสถิติ พยากรณ์สาธารณะ
  • สำนักงานสถิติกลาง
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
งบประมาณประจำปี955.4564 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ปิยนุช วุฒิสอน, ผู้อำนวยการ
  • กฤษณา จิรวัฒน์สถิตย์, รองผู้อำนวยการ
  • สุวรรณี วังกานต์, รองผู้อำนวยการ
  • พินิจ กัลยาณมณีกร​, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เว็บไซต์www.nso.go.th

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (อังกฤษ: National Statistical Office) เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทย ระดับกรม สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีภารกิจในฐานะเป็นหน่วยงานกลางของรัฐ ในการดำเนินการเกี่ยวกับสถิติตามหลักวิชาการ และจัดทำสถิติเพื่อติดตามประเมินผลและสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายและแผนงานของรัฐ

ประวัติ[แก้]

ราชการสถิติของประเทศไทย ได้กำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๘ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้ง "กรมสถิติพยากรณ์" ขึ้นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๑ วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๔๕๗ โดยมีพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี ทำหน้าที่รวบรวมหัวข้อทะเบียน และรายงานของกระทรวง ทบวง กรม เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์และพยากรณ์ภาวการณ์ล่วงหน้า โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเป็นที่ปรึกษา หลังจากนั้น กรมสถิติพยากรณ์ได้มีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพ และสังกัดอีกหลายครั้ง แต่การปฏิบัติราชการสถิติก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยมิได้หยุดยั้ง เรื่องราวต่างๆ ได้ถูกลำดับตามช่วงเวลาและขั้นตอนที่สำคัญๆ ซึ่งควรแก่การจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ของหน่วยงานดังนี้คือ

เดือนกันยายน ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริ เห็นสมควรขยายขอบเขตหน้าที่ การปฏิบัติงาน ของกรมสถิติพยากรณ์ไปทางด้านพาณิชย์ด้วย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์" แต่ยังคงสังกัดอยู่ใน กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โดยมีการขยายงานเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติสาขาต่างๆ และได้จัดพิมพ์หนังสือสถิติรายงาน ประจำปี พ.ศ. ๒๔๕๙ (Statistical Yearbook) ออกเผยแพร่ เป็นเล่มแรกของประเทศไทย ซึ่งจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ

เดือนสิงหาคม ๒๔๖๓ ได้มีการยกฐานะ กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ขึ้นเป็น "กระทรวงพาณิชย์" งานสถิติที่สังกัดอยู่ในกระทรวงนี้มีฐานะเป็นกรม และมีชื่อว่า "กรมสถิติ พยากรณ์สาธารณะ" ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ๒๔๖๔ ได้โอนกรมสถิติพยากรณ์สาธารณะ มาสังกัดกรมบัญชาการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีชาวต่างประเทศเป็นหัวหน้าหน่วยงาน โดยมีหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ และพิมพ์รายงานประจำปีออกเผยแพร่ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ หัวหน้าหน่วยงานซึ่งเป็นชาวต่างประเทศ ได้เดินทางกลับไป หม่อมเจ้าอธิพรพงศ์ เกษมศรี ทรงเข้ารับหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานแทน และเมื่อทรงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกรม ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๗๖ ได้มีการโอน กรมสถิติพยากรณ์สาธารณะ ไปสังกัดอยู่กับกรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการ และลดฐานะเป็น "กองสถิติพยากรณ์" โดยมีหม่อมเจ้าอธิพรพงศ์ เกษมศรี ทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากอง และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กองประมวลสถิติพยากรณ์" เมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๗๘ จากนั้น ได้ย้ายมาสังกัดกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยหม่อมเจ้าอธิพรพงศ์ เกษมศรี ทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองเช่นเดิม โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง สำหรับการให้บริการข้อมูลสถิติ

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการสถิติ ออกใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เรียกว่า "พระราชบัญญัติการสถิติพยากรณ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙" ซึ่งได้กำหนดหน้าที่ในการบริหารราชการสถิติของประเทศ และหน้าที่ของประชาชน ที่พึงปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๕ ได้โอนกองประมวลสถิติพยากรณ์ ไปสังกัดกรมการสนเทศ กระทรวงพาณิชย์ และในเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๖ ได้โอนกองประมวลสถิติพยากรณ์ กลับมาสังกัดกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรีตามเดิม ในระยะนี้มีผู้ต้องการใช้ข้อมูลสถิติเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีความต้องการใช้สถิติใหม่ๆด้วย จึงมีการพิจารณาปรับปรุงจัดวางมาตรฐานในการบริหารงานสถิติ รวมทั้งมีการบัญญัติศัพท์สถิติขึ้นใช้เป็นครั้งแรก เพื่อให้ส่วนราชการที่มีงานสถิติใช้ร่วมกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๓ มีการโอนกองประมวลสถิติพยากรณ์ ไปสังกัดสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งในขณะนั้นเป็นทบวงการเมืองอิสระ มีฐานะเทียบเท่ากรม กองประมวลสถิติพยากรณ์ภายใต้สังกัดใหม่ ได้ขยายงาน และ ได้จัดทำงานสถิติที่สำคัญร่วมกับกระทรวงเกษตราธิการ คือ จัดทำสำมะโนเกษตรทั่วราชอาณาจักรขึ้นเป็นครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๓

ต่อมาได้มีการจัดตั้ง "สำนักงานสถิติกลาง (Central Statistical Office)" ขึ้นใน สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๙๓ โดยมีหม่อมเจ้าอธิพรพงศ์ เกษมศรี เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสถิติกลางคนแรก ในช่วงนี้ได้พัฒนาและขยายงานสถิติออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าเดิมและได้นำเครื่องจักรกล มาใช้ในการประมวลผลข้อมูลสถิติ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูลงานสำมะโนเกษตร หลังจากนั้นมีการประกาศใช้ "พระราชบัญญัติสถิติ ๒๔๙๕" ซึ่งทำให้สำนักงานสถิติกลาง มีอำนาจหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ทั้งในด้านการบริหารกิจการสถิติของรัฐ การส่งเสริม และประสานงานสถิติ การทำสำมะโน สำรวจ การศึกษาอบรมวิชาสถิติ ตลอดจนการวิจัยในด้านวิชาการสถิติ

เมื่อรัฐบาล ได้จัดตั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นใน สำนักนายกรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน ๒๕๐๒ เป็นผลให้สำนักงานสถิติกลางได้รับการปรับปรุง และขยายงานเพิ่มขึ้น ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ สำนักงานสถิติกลาง ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติหลายโครงการ ที่สำคัญๆ คือ โครงการสำมะโนประชากร พ.ศ. ๒๕๐๓ (เป็นสำมะโนประชากรครั้งที่ ๖ ของประเทศไทย และเป็นสำมะโนประชากรครั้งแรกของสำนักงานสถิติกลาง) และโครงการสำรวจการใช้จ่ายของครอบครัว

สำนักงานสถิติกลาง ได้แยกส่วนราชการออกจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ และได้ยกฐานะเป็น "สำนักงานสถิติแห่งชาติ" มีฐานะเป็นกรม สังกัดอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๐๖ ซึ่งถือว่าเป็นวันก่อตั้งสำนักงาน โดยมีนายบัณฑิต กันตะบุตร เป็นเลขาธิการสถิติแห่งชาติคนแรก ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๕๐ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๐๖ และเป็นหน่วยราชการแห่งแรกของประเทศไทย ที่ได้มีการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ประมวลผลงานสำมะโนและสำรวจ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖ นอกจากนี้มีการขยายงานสถิติไปยังส่วนภูมิภาค โดยได้จัดตั้งสำนักงานสถิติจังหวัดขึ้นทุกจังหวัด ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ แต่ยังเป็นราชการบริหารส่วนกลาง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีการพัฒนางานสถิติมาตามลำดับ โดยดำเนินงานโครงการสถิติที่สำคัญๆ หลายโครงการ และมีบทบาทในการประสานงานสถิติของรัฐ ซึ่งเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การจัดทำผังรวมงานสถิติของประเทศ ในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๘ ได้ประกาศใช้ "พระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. ๒๕๐๘" แทนพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยปรับปรุงในบางมาตรา และกำหนดอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานสถิติของประเทศให้สมบูรณ์มากขึ้น

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยแบ่งส่วนราชการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็น ๙ กอง ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๙๑ ลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๕

ต่อมาในปี ๒๕๓๖ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีการปรับปรุงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสถิติแห่งชาติอีกครั้ง โดยกำหนดให้มีสำนักงานสถิติจังหวัด เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๒๐๗ ลงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๖

จากการปฏิรูประบบราชการ ในปี ๒๕๔๕ ตาม พรบ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม มีผลให้สำนักงานสถิติแห่งชาติเข้ามาอยู่ในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น ๓ สำนัก ๑ ศูนย์ ๓ กอง ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๙ ตอนที่ ๑๐ ก. ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๕

ในปี ๒๕๕๐ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. ๒๕๕๐” แทนพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๔ ตอนที่ ๕๓ ก. ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๐ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หลังมีความชัดเจนในการดำเนินการในฐานะหน่วยงานกลางด้านงานสถิติของรัฐ ตลอดจนมีความคล่องตัวในการผลิตสถิติให้ทันสถานการณ์เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในการบริหารงานของรัฐมากขึ้น นอกจากนี้ ตามพรบ.สถิติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่กำหนดให้มีคณะกรรมการสถิติแห่งชาติ ทำให้สำนักงานสถิติแห่งชาติไม่มีสถานะเป็นหน่วยงานเลขานุการ ของคณะกรรมการสถิติแห่งชาติต่อไป ดังนั้น ชื่อตำแหน่ง หัวหน้าหน่วยงาน จึงได้เปลี่ยนจากเดิม “เลขาธิการสถิติแห่งชาติ” เป็น “ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ” โดยมีสถานะและระดับตำแหน่งเท่าเดิม

จากกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๕ ตอนที่ ๑๑๔ ก. ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๑ สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้แบ่งส่วนราชการออกเป็นราชการบริหารส่วนกลางมี ๖ สำนัก ๒ ศูนย์ ส่วนสำนักงานสถิติจังหวัดเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค

ตราสัญลักษณ์[แก้]

ตราสัญลักษณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ตราสัญลักษณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

จากการที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดโครงการประกวดตราสัญลักษณ์ (โลโก้) สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อนำผลงานที่ชนะเลิศใช้เป็นตัวแทนและเป็นสื่อประชาสัมพันธ์สำนักงานฯ นั้น คณะกรรมการฯได้ทำการคัดเลือกและตัดสินเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 [2]ซึ่งรางวัลชนะเลิศ เป็นผลงานของ นายวีระศักดิ์ พุทธรักษา ตราสัญลักษณ์สื่อถึงหน้าที่ วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และพันธกิจ ของสำนักงานฯ เพื่อให้ตราสัญลักษณ์เป็นเสมือนของตัวแทนองค์กร ที่จะสื่อสารออกไปสู่สังคมไทย ถึงความสำคัญของข้อมูลสถิติ และสารสนเทศที่มีสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบดูแล

  • เส้นโค้ง 3 เส้นสื่อถึงยุทธศาสตร์ และพันธกิจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทั้ง 3 ข้อ ที่รวมเป็นหลักของการพัฒนาสถิติและสารสนเทศของประเทศ
  • วงกลม สื่อถึงการก้าวทันกระแสโลกในปัจจุบันของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
  • เส้นกราฟชี้ขึ้น สื่อถึงความก้าวหน้าของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และเสมือนเข็มทิศที่นำทางประเทศโดยมีสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักที่ผลิตสถิติและสารสนเทศเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ความหมายนัยยะที่ 2 ของเส้นกราฟสื่อถึงตัวอักษร N ที่แสดงถึงความเป็นองค์กรแห่งชาติที่จะเป็นแรงผลักดันประเทศด้วยสถิติและสารสนเทศ
  • เส้นแกน x และ y สื่อถึงสถิติและสื่อถึงเป้าหมายของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ชัดเจนและมีมาตรฐาน
  • สีฟ้าและสีเขียว สื่อถึงสีประจำสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมโดยผสม การออกแบบตัวอักษรตราสัญลักษณ์ที่ทันสมัยและชัดเจนเพื่อง่ายต่อการประชาสัมพันธ์องค์กร

อำนาจหน้าที่[แก้]

สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 ดังต่อไปนี้

  1. จัดทำแผนแม่บทเกี่ยวกับการดำเนินงานทางสถิติของรัฐ
  2. จัดทำมาตรฐานสถิติเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ
  3. ส่งเสริมและพัฒนางานสถิติของรัฐและเอกชน
  4. จัดทำสำมะโนหรือการสำรวจตัวอย่าง หรืออำนวยการให้มีการสำรวจด้านต่างๆ ของประเทศ
  5. ประสานงานและหารือร่วมกับหน่วยงาน เพื่อจัดทำแผนกำหนดความรับผิดชอบในการดำเนินงานทางสถิติตามแผนแม่บทตาม (1.)
  6. แนะนำ ให้คำปรึกษา หรือความช่วยเหลือแก่หน่วยงานเกี่ยวกับการจัดทำแผนงาน และระเบียบวิธีในการจัดทเก็บข้อมูล ตลอดจนการประมวลผล และการวิเคราะห์ผลสถิติ
  7. ประสานกับหน่วยงานในการสร้างเครือข่ายสถิติ เพื่อให้ได้มาซึ่งฐานข้อมูลสถิติที่สำคัญและเป็นปัจจุบันของประเทศ
  8. ให้บริการสถิติแก่หน่วยงาน องค์กรเอกชน และบุคคลทั่วไป
  9. เผยแพร่สถิติและจัดให้มีการศึกษาอบรมวิชาความรู้เกี่ยวกับสถิติ
  10. ร่วมมือและประสานงานกับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศในงานเกี่ยวกับสถิติ
  11. ปฏิบัติการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด และตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

การแบ่งส่วนราชการ[แก้]

จากกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ. 2551[3] สำนักงานสถิติแห่งชาติ แบ่งส่วนราชการดังนี้

ราชการบริหารส่วนกลาง[แก้]

  • สำนักบริหารกลาง
  • ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • ศูนย์สารสนเทศยุทธศาสตร์ภาครัฐ[ลิงก์เสีย]
  • สำนักนโยบายและวิชาการสถิติ
  • สำนักบริหารจัดเก็บข้อมูลสถิติ
  • สำนักสถิติพยากรณ์
  • สำนักสถิติเศรษฐกิจและสังคม
  • สำนักสถิติสาธารณมติ

ราชการบริหารส่วนภูมิภาค[แก้]

ทำเนียบผู้บริหาร[แก้]

ชื่อ - สกุล ตำแหน่ง วาระการดำรงตำแหน่ง
นายบัณฑิต กันตะบุตร
นายเดโช สวนานนท์
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
พ.ค. 2506 - ก.ย. 2513

พลโทบุญเรือน บัวจรูญ
นาวาเอกขจิต บัวจิตติ ร.น.
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
ก.ย. 2513 - พ.ค. 2514

นาวาเอกขจิต บัวจิตติ ร.น.
นางเอกตริตรา ค้อคงคา
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
พ.ค. 2514 - ธ.ค. 2519

นายอัมพร อรุณรังษี
นางอรุณี หวั่งหลี
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
ต.ค. 2522 - ก.ย. 2524

นายอัมพร อรุณรังษี
นายนิยม ปุราคำ
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
ต.ค. 2524 - ก.ย. 2527

นายนิยม ปุราคำ
นายอิทธิ สวรรคทัต
นางเพ็ญศรี สุวรรณสิงห์
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
ต.ค. 2527 - ก.ย. 2528


นายนิยม ปุราคำ
นางเพ็ญศรี สุวรรณสิงห์
นางดวงใจ พุ่มชูศรี
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
ต.ค. 2528 - พ.ย. 2532


นางเพ็ญศรี สุวรรณสิงห์
นางดวงใจ พุ่มชูศรี
นายคเณศวร์ จันทรทรัพย์
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
พ.ย. 2532 - ก.ย. 2534


นางเพ็ญศรี สุวรรณสิงห์
นางดวงใจ พุ่มชูศรี
นางสาวเอี่ยมจันทร์ เปรมโยธิน
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
ต.ค. 2534 - ก.ย. 2537


นางดวงใจ พุ่มชูศรี
นางสาวเอี่ยมจันทร์ เปรมโยธิน
นางศศิธร โชติกเสถียร
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
ต.ค. 2537 - ก.ย. 2540


นางสาวเอี่ยมจันทร์ เปรมโยธิน
นางศศิธร โชติกเสถียร
นางวันเพ็ญ แกล้วทนงค์
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
ต.ค. 2540 - ก.ย. 2541


นางสาวเอี่ยมจันทร์ เปรมโยธิน
นางศศิธร โชติกเสถียร
นายสือ ล้ออุทัย
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
ต.ค. 2541 - ก.ย. 2542


นางสาวเอี่ยมจันทร์ เปรมโยธิน
นายสือ ล้ออุทัย
นายพิชัย ไสยสมบัติ
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
ต.ค. 2542 - ก.ย. 2543


นางสาวเอี่ยมจันทร์ เปรมโยธิน
นายสือ ล้ออุทัย
นางวรัย วรมนตรี
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
ต.ค. 2543 - ก.ย. 2544


นายสือ ล้ออุทัย
นางสาวจินตนา เพชรานนท์
นายเทอดศักดิ์ แพทยานันท์
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
ต.ค. 2544 - พ.ย.2549


นางธนนุช ตรีทิพยบุตร
นายอังสุมาล ศุนาลัย
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ
พ.ย. 2549 - ก.ย. 2552


นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม
นางพรรณวดี พรปฏิมากร
นายวิลาส สุวี
นายสมเกียรติ ศิริวัฒนโชค
ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ต.ค. 2552 - ต.ค. 2553



นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์
นายสมเกียรติ ศิริวัฒนโชค
นางสาวรัจนา เนตรแสงทิพย์
นางเบ็ญจพร ฉัตรกุล ณ อยุธยา
ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
พ.ย. 2553 - ก.ย.2555



นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์
นางสาวรัจนา เนตรแสงทิพย์
นางสาววิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล
ดร.มาลี วงศาโรจน์
ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ก.ย. 2555 - ก.ย. 2558



นางสาววิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล
นางนวลนภา ธนศักดิ์
นายอาจิน จิรชีพพัฒนา
ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ต.ค. 2558 - 4 พ.ย. 2559



นางนวลภา ธนศักดิ์
นายอาจิน จิรชีพพัฒนา
รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
5 พ.ย. 2559 - ปัจจุบัน



หมายเหตุ[แก้]

จาก พระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 มีผลให้ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม เลขาธิการสถิติแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. "ผลการประกวดตราสัญลักษณ์ (Logo) สำนักงานสถิติแห่งชาติ." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/news/LogoPrize/LogoPrize.html 2553. สืบค้น 17 พฤษภาคม 2555.
  3. กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ. 2551 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 114ก วันที่ 24 ตุลาคม 2551

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]