พระพุทธเจ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระพุทธเจ้า เป็นพระสมัญญานามที่ใช้เรียกพระบรมศาสดาของศาสนาพุทธ พระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานต่างนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาของตนเหมือนกันแต่รายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน ฝ่ายเถรวาทให้ความสำคัญกับพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันคือ "พระโคตมพุทธเจ้า" ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระองค์ที่ 4 ในภัทรกัปนี้ และมีกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอดีตกับในอนาคตบ้างแต่ไม่ให้ความสำคัญเท่า ฝ่ายมหายานนับถือพระพุทธเจ้าของฝ่ายเถรวาททั้งหมดและเชื่อว่านอกจากพระพุทธเจ้า 28 พระองค์[1] ที่ระบุในพุทธวงศ์ของพระไตรปิฎกภาษาบาลีแล้ว ยังมีพระพุทธเจ้าอีกมากมายเพิ่มเติมขึ้นมาหลังจากตำนานของเถรวาท

ผู้ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ก่อน เมื่อบารมีเต็มแล้วจึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีลักษณะพิเศษตรงกันคือ[2] เป็นมนุษย์เพศชายเกิดในวรรณะกษัตริย์หรือพราหมณ์ พระวรกายสมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักขณะ ก่อนออกผนวชจะอภิเษกสมรสมีพระโอรสพระองค์หนึ่ง หลังจากนั้นทรงพบเทวทูตทำให้ตัดสินใจออกผนวช วันออกผนวชจะตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ

คัมภีร์พุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายานบันทึกตรงกันว่า พระโคตมพุทธเจ้าประสูติ 623 ปี ก่อนคริสต์ศักราช พระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ระหว่าง 80 ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ 543 ปี ก่อนคริสตกาลตามตำราไทยซึ่งอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทย และตรงกับ 483 ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล

ความหมายและคุณลักษณะ[แก้]

ในพระพุทธศาสนา พุทธะ (บาลี: พุทฺธ แปลว่า "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน") หมายถึงบุคคลผู้ตรัสรู้อริยสัจ 4 แล้วอย่างถ่องแท้

ธชัคคสูตร กล่าวว่าพระพุทธเจ้ามีคุณลักษณะ 9 ประการ[3] เรียกว่า พุทธคุณ 9 ได้แก่

  • อรหํ หมายถึง ผู้ปราศจากกิเลส
  • สมฺมาสมฺพุทฺโธ หมายถึง ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์
  • วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน หมายถึง ผู้มีความรู้และความประพฤติถึงพร้อม
  • สุคโต หมายถึง ผู้เสด็จไปด้วยดี
  • โลกวิทู หมายถึง ผู้รู้แจ้งโลก
  • อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ หมายถึง ผู้ฝึกคนได้ดี ไม่มีผู้ใดเทียมเท่า
  • สตฺถา เทวมนุสฺสานํ หมายถึง ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
  • พุทฺโธ หมายถึง ผู้ตื่น
  • ภควา หมายถึง ผู้มีภคธรรม

พระสมัญญา[แก้]

มีหลายคำดังจะกล่าวต่อไปนี้

  • พระโพธิสัตว์ หมายถึง ท่านผู้ที่กำลังบำเพ็ญ บารมี 10 (โดยยิ่งยวด 30 ทัศ) คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา และ จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
  • อังคีรส หมายถึง ท่านผู้มีรัศมีแผ่ออกมาจากพระกาย
  • มหาบุรุษ เป็นคำที่ใช้เรียก พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ อีกความหมายหนึ่งคือ บุรุษผู้ยิ่งใหญ่
  • ตถาคต ผู้ไปแล้วอย่างนั้น เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระองค์เองมี
  • ธรรมราชา หมายถึง ท่านผู้เป็นราชาแห่งธรรม
  • ธรรมสวามิศร, ธรรมสามิสร หมายถึง ท่านผู้เป็นใหญ่โดยเป็นเจ้าของธรรม
  • ธรรมสามี หมายถึง ท่านผู้เป็นเจ้าของธรรม
  • ธรรมิศราธิบดี หมายถึง ท่านผู้เป็นอธิปดีในธรรม เป็นคำกวีหมายถึงพระพุทธเจ้า
  • ภควา แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
  • พระศาสดา พระบรมศาสดา พระบรมครู หมายถึง ท่านผู้ทรงสอนชนทั้งปวง
  • พระสัมพุทธเจ้า, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
  • มหาสมณะ
  • พระโลกนาถ หมายถึง พระผู้เป็นที่พึ่งแห่งโลก
  • สยมภู หมายถึง ท่านผู้ตรัสรู้ได้โดยตนเอง ไม่มีใครมาสั่งสอน
  • สัพพัญญู หมายถึง ท่านผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
  • พระสุคต หมายถึง ท่านผู้เสด็จไปดีแล้ว

ในคติเถรวาท[แก้]

พระพุทธรูปปางประทับยืน พบที่ประเทศปากีสถาน ศิลปะคันธาระสมัยพุทธศตวรรษที่ 5-6

ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีกล่าวว่า ในภัทรกัปนี้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว 4 พระองค์ พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่ 4 และพระพุทธเจ้าพระองค์ถัดไปคือพระศรีอริยเมตไตรย ในทัศนะเถรวาทถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ที่เหนือกว่าคนทั่วไปคือพระองค์พบทางดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง และเผยแผ่หนทางนั้นต่อสรรพสัตว์ ทรงเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ เมื่อทรงดับขันธปรินิพพาน คือดับไปโดยไม่เหลือเชื้อใด ๆ ผู้จะเป็นพระพุทธเจ้าต้องทำความดี (บารมี) มาในชาติก่อน ๆ นับชาติไม่ถ้วน (ก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้าเรียกว่าพระโพธิสัตว์)

การประสูติของพระพุทธเจ้า[แก้]

พระโพธิสัตว์ผู้ที่จะจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ก่อนจะจุติจะทรงพิจารณา 5 อย่าง เรียกว่า มหาวิโลกนะ 5[4] คือ

1. กาล (อายุขัยของมนุษย์)

อายุขัยของมนุษย์ขึ้นอยู่กับกระแสสังขารและการทำความดี หากทำดีมากขึ้นอายุก็จะเพิ่มขึ้น หากทำดีน้อยอายุขัยก็จะลดลง อายุขัยของมนุษย์อยู่ระหว่าง 10 ปีถึง 1 อสงไขยปี (1 × 10140 ปี) แต่พระโพธิสัตว์ทรงเลือกอายุขัยมนุษย์ระหว่าง 100-100,000 ปี ถ้าหากน้อยกว่า 100 ปีมนุษย์จะมีจิตใจหยาบช้าเกินกว่าจะฟังธรรมให้แตกจนบรรลุพระนิพพานได้ ถ้าเกิน 100,000 ปีมนุษย์จะเริ่มประมาทความแก่ ความเจ็บ ความตายเพราะอายุยืนความตายมาถึงช้า จะไม่เห็นอริยสัจ 4 หรือธรรมใดๆ

2. ทวีป (ทวีปที่จะลงมาประสูติ)

พระโพธิสัตว์เลือกชมพูทวีปเป็นทวีปที่จะจุติทุกครั้ง เพราะมนุษย์ในชมพูทวีปมีทั้งความสุขและความทุกข์ มีความเห็นทุกข์ เห็นสุข ได้ดีกว่ามนุษย์ในทวีปอื่นๆ

สาเหตุอีกอย่างที่เลือกลงมามนุษยภูมิเพราะมนุษย์เห็นสุขทุกข์ได้ง่ายที่สุด สัตว์ในอบายภูมิ 4 มีแต่ความทุกข์ไม่เห็นสุขกระจ่าง เทวดาพรหมก็เห็นสุขมากกว่าทุกข์จนยากที่จะทำให้เป็นพระอรหันต์ได้ อีกทั้งมนุษย์ทำบุญได้ จึงทรงเลือกมนุษย์

3. ประเทศ (ประเทศที่จะประสูติ)

พระโพธิสัตว์จะทรงเลือกประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรือง เศรษฐกิจดี มีประชากรหนาแน่น มีนักปราชญ์ เจ้าสำนัก เป็นที่รวมของการศึกษาและศิลปวิทยามากมาย มีผู้มีคุณธรรมมากมาย จะสามารถเผยแพร่ธรรมให้รุ่งเรือง มีคนรู้มากได้

4. ตระกูล (ตระกูลที่จะประสูติ)

พระโพธิสัตว์ทรงเลือกได้ระหว่าง วรรณะกษัตริย์ กับ วรรณะพราหมณ์ ว่าในช่วงเวลานั้นตระกูลใดเจริญมากกว่ากัน ได้รับการยอมรับมากกว่ากัน ใน 4 อสงไขยแสนมหากัปล่าสุดนี้มีพระพุทธเจ้าจากตระกูลกษัตริย์มากกว่า แต่ในภัทรกัปนี้มีพระพุทธเจ้าจากตระกูลพราหมณ์มากกว่า (พระกกุสันธะ พระโกนาคมณ์ พระกัสสปะ และพระเมตไตรยะ) มีเพียงพระโคตมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่มาจากตระกูลกษัตริย์

พระโพธิสัตว์ผู้ได้มาจุติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ ทรงเลือกตระกูลศากยโคตมวงศ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์นคร เพราะได้รับความนับถือมาก และบริสุทธิ์มา 7 รุ่นแล้ว ถ้าไม่บริสุทธิ์แล้วลงมาจุติแล้วเป็นพระพุทธเจ้าก็ยากที่จะได้รับการนับถือ สาเหตุที่เลือกตระกูลกษัตริย์เพราะในช่วงเวลานั้นมีการแบ่งชนชั้นวรรณะกัน และวรรณะกษัตริย์เป็นวรรณะที่มีคนนับถือมากที่สุด จึงทรงเลือกวรรณะกษัตริย์

5. มารดา (มารดาผู้ให้กำเนิดและกำหนดอายุของพระมารดาหลังประสูติ)

พระโพธิสัตว์จะทรงเลือกผู้หญิงจากตระกูลกษัตริย์หรือพราหมณ์ที่รักษาศีล รักษาธรรมได้ดีที่สุด บริสุทธิ์ทางกาย วาจา ใจ ไม่ดื่มสุรา ไม่หลงในอบายมุข ไม่โลเลในบุรุษ และทรงกำหนดอายุของพระมารดาว่ามีประมาณเท่าใด เพราะพระครรภ์ที่ประทับแห่งพระโพธิสัตว์ผู้จะได้เสด็จอุบัติตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เปรียบประดุจพระคันธกุฎีแห่งพระบรมศาสดา ไม่สมควรแก่ผู้อื่น

พระบรมโพธิสัตว์ทรงเลือกพระมารดาที่บริสุทธิ์ไม่แปดเปื้อนมลทินโทษ มิฉะนั้นจะยากแก่การเผยแผ่ศาสนา เพราะจะถูกโจมตีว่ามารดาของพระศาสดาไม่บริสุทธิ์ พระนางสิริมหามายาได้อธิษฐานเป็นพระพุทธมารดามาแต่อดีตกาล เมื่อประสูติพระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ 7 วันก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสถิตในดุสิตเทวโลก ตามประเพณี พระพุทธมารดาไม่ได้เป็นหญิงอย่างเก่า ที่เกิดเป็นหญิงเพราะอธิษฐานขอเป็นมารดาพระพุทธเจ้า

ประเภทของพระพุทธเจ้า[แก้]

ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีกล่าวถึงพระพุทธเจ้าไว้ 2 ประเภท[5] คือ

  • พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง แล้วประกาศพระศาสนา
  • พระปัจเจกพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เฉพาะตน ไม่ได้ประกาศพระศาสนา

ต่อมาในคัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาของอังคุตตรนิกาย พระพุทธโฆสะได้กล่าวถึงพุทธะทั้งหมด 4 ประเภท อีกประเภท 2 ประเภทที่เพิ่มเข้ามา[6] คือ

  • จตุสัจจพุทธเจ้า คือพระอรหันตสาวก
  • สุตพุทธเจ้า คือผู้เป็นพหูสูต ได้ศึกษาพระพุทธพจน์มามาก

ประเภทของพระพุทธเจ้าโดยการบำเพ็ญบุญบารมี[แก้]

นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ามีอยู่ 3 ประเภทตามกำลังบุญบารมีที่ได้สร้างสั่งสมมาคือ

  • พระปัญญาธิกพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสม อบรมบารมีด้าน “ปัญญา” อย่างแก่กล้าแต่มีพระศรัทธาน้อย จึงใช้เวลาสั่งสมบารมีน้อยกว่าพระพุทธเจ้าอีกสองประเภท ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสร้างบารมีเป็นเวลา 20 อสงไขยกับอีกหนึ่งแสนมหากัป เช่น พระโคตมพุทธเจ้า
  • พระสัทธาธิกพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสม อบรมบารมีด้าน “ศรัทธา” อย่างแก่กล้ายิ่งนัก แต่มีพระปัญญาปานกลาง จึงใช้เวลาสั่งสมพระบารมีอย่างปานกลาง ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสร้างบารมีเป็นเวลา 40 อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัป เช่น พระกัสสปพุทธเจ้า
  • พระวิริยาธิกพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสม อบรมบารมีด้าน “ความเพียร” อย่างแก่กล้า ทรงมีพระวิริยะยิ่งนัก แต่ทรงมีพระปัญญาน้อยกว่า ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสร้างบารมียาวนานมากกว่าพระพุทธเจ้าประเภทอื่นเป็นเวลา 80 อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัป เช่น พระศรีอริยเมตไตรย

พระพุทธเจ้าในอดีต[แก้]

พระพุทธเจ้าในอนาคต[แก้]

ในคัมภีร์อนาคตวงศ์นั้น ได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอนาคต 10 พระองค์ที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ดังนี้ [7]

พระพุทธเจ้าตามความเชื่อของฝ่ายมหายาน[แก้]

นิกายมหายานยอมรับพระพุทธเจ้าตามคัมภีร์ฝ่ายเถรวาททั้งหมดและยังสร้างพระพุทธเจ้าอีกมากมาย ทั้งที่เป็นมนุษย์และมีสถานะเหมือนเทพเจ้าในศาสนาฮินดู นิกายมหายานเชื่อว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่ดับสูญแต่ไปประทับ ณ พุทธเกษตรซึ่งเป็นดินแดนที่งดงามกว่าสวรรค์ พระพุทธเจ้าตามคติมหายานแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. อาทิพุทธะ ถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่อุบัติมาพร้อมกับโลกและประทับอยู่กับโลกเป็นนิรันดร์ มีบทบาทคล้ายพระพรหมในศาสนาฮินดูที่เป็นผู้สร้างโลกและจักรวาล
  2. พระมานุสสพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าที่อวตารมาจากอาทิพุทธะมาเกิดในโลกมนุษย์และบำเพ็ญเพียรในฐานะพระโพธิสัตว์จนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อปรินิพพานแล้วจะไปอยู่กับอาทิพุทธะ คล้ายกับคติของศาสนาฮินดูที่เมื่อทำความดีถึงขั้นสูงสุดจะกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของมหาพรหม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจจุบัน ทางมหายานเรียกว่าพระศากยมุนีพุทธเจ้า เป็นพระมานุสสพุทธะด้วยเช่นกัน
  3. พระธยานิพุทธะ เป็นพุทธะที่อวตารมาจากอาทิพุทธะเช่นกันแต่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าด้วยอำนาจฌาน (ธยาน) ของอาทิพุทธะไม่ได้ผ่านการบำเพ็ญเพียรในโลกมนุษย์ พุทธะเหล่านี้ประทับบนสวรรค์ ในสภาวะกายทิพย์ มีเฉพาะพระโพธิสัตว์ที่มองเห็นได้
  4. พระพุทธเจ้าอื่นๆ เช่น พระสัทธรรมวิทยาตถาคต พระไภษัชยคุรุทั้ง 7 พระสหัสประภาราชาศานติสถิตยตตถาคต พระประภูตรัตนะ

จำนวนของพระพุทธเจ้า[แก้]

ในคัมภีร์ของทางมหายานนั้นได้ระบุนามของพระพุทธเจ้าไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งพระพุทธเจ้า 35 พระองค์ พระพุทธเจ้า 53 พระองค์ และที่มากที่สุดคือพระพุทธเจ้า 3,000 พระองค์ โดยแบ่งเป็น [8]

อ้างอิง[แก้]

  1. พุทธปกิรณกกัณฑ์, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
  2. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 111
  3. ธชัคคสูตรที่ 3, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
  4. พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), มหาวิโลกนะ, พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
  5. มหาปรินิพพานสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
  6. มโนรถปูรณี, อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกบุคคลบาลี อรรถกถาสูตรที่ ๕
  7. ประชุมพงศาวดารฉบับราษฏร์ ภาค 3 อนาคตวงศ์. กทม. อมรินทร์วิชาการ. 2542 และ ดู : Linkเก็บถาวร 2008-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. ภิกษุจีนวิศวภัทร. พระพุทธเจ้าและพระธรรมสูตรฝ่ายมหายาน. กทม. หมื่นคุณธรรมสถาน.2549
  • ประสงค์ แสนบุราณ. พระพุทธศาสนามหายาน. กทม. โอเดียนสโตร์. 2548
  • พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]