แยกกษัตริย์ศึก
แยกกษัตริย์ศึกในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 มองเห็นสะพานกษัตริย์ศึกชัดเจน | |
ชื่ออักษรไทย | กษัตริย์ศึก |
---|---|
ชื่ออักษรโรมัน | Kasat Suek |
รหัสทางแยก | N140 (ESRI), 002 (กทม.) |
ที่ตั้ง | แขวงคลองมหานาคและแขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และแขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร |
ทิศทางการจราจร | |
↑ | ถนนกรุงเกษม » แยกนพวงศ์ |
→ | ถนนบำรุงเมือง » แยกอนามัย |
↓ | ถนนกรุงเกษม » แยกสะพานขาว |
← | ถนนพระรามที่ 1 » แยกพงษ์พระราม |
แยกกษัตริย์ศึก (อักษรโรมัน: Kasat Suek Intersection) เป็นทางแยกหนึ่งในพื้นที่แขวงคลองมหานาคและแขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และแขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เป็นสี่แยกที่เป็นจุดกันระหว่างถนนพระรามที่ 1, ถนนกรุงเกษม และถนนบำรุงเมือง
ชื่อทางแยกมาจาก "สะพานกษัตริย์ศึก" หรือ สะพานพระราม 1 ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ที่อยู่ตรงทางแยกฝั่งถนนพระรามที่ 1 เดิมสะพานนี้มีชื่อที่เรียกกันว่า "สะพานยศเส" ซึ่งเป็นสะพานไม้ ต่อมาสะพานยศเสมีความชำรุด ในปี พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการซ่อมแซมใหม่เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีบาทวิถีสองข้าง เช่นเดียวกับสะพานข้ามทางรถไฟ ในเส้นทางรถไฟจากสถานีรถไฟหัวลำโพงทางถนนพระรามที่ 1 ที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งใช้ชื่อว่าสะพานกษัตริย์ศึกเช่นเดียวกัน โดยชื่อ "กษัตริย์ศึก" ซึ่งเป็นนามพระราชทาน มีที่มาจากราชทินนามในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อครั้งที่ทรงรับราชการและมีบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และสัมพันธ์กับความหมายของชื่อถนนพระรามที่ 1 ซึ่งหมายถึงรัชกาลที่ 1 และมีการสันนิษฐานว่า เส้นทางสร้างสะพานแห่งนี้เป็นเส้นทางเดินทัพกลับของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเมื่อคราวศึกกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทรงเปิดสะพานวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2472[1] [2]
จากที่เดิมสะพานกษัตริย์ศึกเคยใช้ชื่อว่า สะพานยศเส ทำให้ย่านนี้ถูกเรียกกันติดปากว่า "ยศเส" มีซอยต่าง ๆ ที่ใช้ชื่อตามนี้ โดยเป็นแหล่งของร้านอาหารที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น ราดหน้า, สุกี้ ที่ได้รับการแนะนำเป็นบีบกูร์ม็องจากมิชลินไกด์ด้วย[3]
นอกจากนี้แล้วในปี พ.ศ. 2450 ที่นี่ยังเป็นจุดแรกที่มีการให้บริการรถโดยสารประจำทาง หรือรถเมล์ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยนายเลิศ เศรษฐบุตร โดยวิ่งจากสะพานยศเสไปจนถึงประตูน้ำสระปทุม (บริเวณแยกประตูน้ำในปัจจุบัน) แต่ในครั้งนั้นยังไม่ได้ใช้รถยนต์ หากแต่ใช้รถม้า จึงยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก[4]
สถานที่สำคัญใกล้เคียง
[แก้]- การรถไฟแห่งประเทศไทย
- กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
- บ้านพิบูลธรรม
- โรงเรียนเทพศิรินทร์
- ตลาดโบ๊เบ๊
- โรงพยาบาลหัวเฉียว
- วัดสระบัว (กรุงเทพมหานคร)
- วัดชำนิหัตถการ (วัดสามง่าม)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สะพานใหม่ "กษัตริย์ศึก"". รำลึกวันวานของสะพานกษัตริย์ศึก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-10. สืบค้นเมื่อ 2018-02-26.
- ↑ "กำเนิดสะพานข้ามทางรถไฟ". รำลึกวันวานของสะพานกษัตริย์ศึก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-10. สืบค้นเมื่อ 2018-02-26.
- ↑ "เอลวิส สุกี้ (สาขาซอยยศเส)". มิชลินไกด์.
- ↑ "ประวัติ ขสมก". ขสมก.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)