วัดชำนิหัตถการ
วัดชำนิหัตถการ | |
---|---|
วัดชำนิหัตถการ | |
ชื่อสามัญ | วัดชำนิหัตถการ, วัดสามง่าม, วัดพิกุลทอง, วัดพระยาชำนิ |
ที่ตั้ง | เลขที่ 199 ถนนพระรามที่ 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดชำนิหัตถการ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
[แก้]วัดชำนิหัตถการหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดสามง่าม เดิมมีนามอีกนามหนึ่งว่า วัดพิกุลทอง เป็นวัดเก่าแก่สร้างมานาน ครั้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2367 พระยาชำนิหัตถการได้มาทำการบูรณะก่อสร้างขึ้นใหม่ แล้วขนานนามว่า วัดพระยาชำนิ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามให้ใหม่เป็น "วัดชำนิหัตถการ" เพื่อเป็นเกียรติอนุสรณ์แก่พระยาชำนิหัตถการผู้สร้างวัด วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2447[1]
อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ
[แก้]อุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ หลังคาไม่ประดับเครื่องลำยอง ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันและกรอบหน้าบันประดับปูนปั้นลายพรรณพฤกษาแบบจีน มีการยกคอสอง คือยกส่วนหลังคาขึ้นจากส่วนชายคา ที่คอสองเจาะซุ้มโค้งยอดแหลมโดยรอบ อุโบสถมีเสาพาไลโดยรอบ แต่เป็นเสาพาไลที่หนากว่าวัดอื่น ๆ ที่ 8 ตำแหน่งโดยรอบปรากฏใบเสมา สลักดอกไม้กลมอยู่ตรงกลางและข้างซ้ายขวา ปลายใบเสมางอน ด้านบนเป็นกลีบบัวทรงชายคลุมและรัดเกล้า เป็นลักษณะของใบเสมาสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซุ้มประตูหน้าต่างประดับลายอย่างเทศ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัย นามว่า พระศรีสรรเพชญทศพลญาณ ด้านหน้ามีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานลดหลั่นลงมาอีก 2 องค์ และด้านข้างประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปยืนจำนวนหนึ่ง
ด้านหลังอุโบสถ คือ วิหารพระพุทธไสยาสน์ หลังคาประดับเครื่องลำยองซึ่งน่าจะต่อเติมในสมัยหลัง หน้าบันประดับลายปูนปั้นพรรณพฤกษา ผนังภายในตอนบนเจาะช่องประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ อยู่ในท่าบรรทมสีหไสยาสน์ หรือนอนตะแคงขวาอย่างพระนอนทั่วไป มีพระรัศมีเป็นเปลว ขมวดพระเกศาเล็ก พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง นูนขึ้นเป็นสัน พระโอษฐ์เล็ก แย้มพระโอษฐ์ ลักษณะพระพักตร์ที่นิ่งอย่างหุ่นละคร หรือที่เรียกว่าพระพักตร์อย่างหุ่น[2]
นอกจากนี้ยังมีศาลาประดิษฐานพระสีวลี พระศรีอริยเมตไตรย และพระมหากัจจายนะซึ่งประชาชนนิยมมากราบไหว้ขอพร โดยเฉพาะพระสีวลีปางนั่งซึ่งเป็นองค์แรกของประเทศไทย สร้างในขนาดเท่าคนจริง[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดชำนิหัตถการ". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "ชม 4 วัดราษฎร์ เขตปทุมวัน: วัดชำนิหัตถการ".
- ↑ "ไม่ถึงชั่วโมง! งานทดลองปั่นจักรยานเที่ยวรอบเมืองสนุกต้องลอง (ชมคลิป)". ไทยรัฐออนไลน์. 5 มีนาคม 2558.