ข้ามไปเนื้อหา

แผนมอร์เกินเทา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่การตัดแบ่งประเทศเยอรมนีตามแผนมอร์เกินเทา สีแดงคือเยอรมันเหนือ สีม่วงคือเยอรมันใต้ สีเขียวคือโซนนานาชาติ สีเทาคือยกให้ประเทศอื่น

แผนมอร์เกินเทา (เยอรมัน: Morgenthau-Plan) เป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเยอรมันโดยฝ่ายสัมพันธมิตรภายหลังนาซีเยอรมนีแพ้สงคราม ประเทศเยอรมนีถูกยึดครองและแบ่งปกครองโดยทั้งสี่ประเทศคือ สหรัฐ สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4 และสหภาพโซเวียต โดยกำหนดให้ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจเพียง 50% ของสภาพเศรษฐกิจเมื่อปี 1938 เพื่อป้องกันไม่ให้เยอรมนีกลายเป็นรัฐทหารอันก้าวร้าวได้อีก ซึ่งทางสหภาพโซเวียตเห็นด้วยกับแผนนี้เพราะไม่ต้องการให้เยอรมนีโจมตีรัสเซีย วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศโซเวียต กล่าวกับ เจมส์ เอฟ. เบิร์นส์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ว่าสหภาพโซเวียตต้องการเห็นเยอรมนีที่ไร้พิษภัย แผน JCS 1067 ของสหรัฐอเมริกาสะท้อนข้อตกลงนี้โดยกล่าวว่าสหรัฐจะ "ไม่ดำเนินการฟื้นฟูเยอรมนีในด้านเศรษฐกิจ" ดังนั้น โรงงานในเยอรมนีส่วนที่สหรัฐอเมริกาครอบครองอยู่จึงถูกรื้อถอนและส่งมอบให้กับเยอรมนี ส่วนที่โซเวียตยึดครองเพื่อเป็นการลดศักยภาพทางอุตสาหกรรมของเยอรมนี และให้สหภาพโซเวียตทำตามแผนการฟื้นฟูของตน

แต่ทว่าผลลัพธ์ของแผนมอร์เกินเทานั้นรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างสุดขีดของเยอรมนีส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจทั้งทวีปยุโรปถดถอยลง วิลเลียม แอล. เคลย์ตัน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ในการประชุมพ็อทซ์ดัมรายงานกลับไปยังกรุงวอชิงตันว่า "ประชาชนหลายล้านคนกำลังอดตายอย่างช้า ๆ " ในตอนแรก สหรัฐอเมริกายังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายต่อเยอรมนี แต่หลังจากที่นายพลลูเชียส ดี. เคลย์ และบรรดาเหล่าเสนาธิการเริ่มแสดงความกังวลต่อการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีและเศรษฐกิจของยุโรปที่เริ่มพังพินาศ ฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1947 นายพลจอร์จ มาร์แชล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้โน้มน้าวให้ประธานาธิบดีทรูแมนยกเลิกแผน JCS 1067 ในที่สุด แผนการ JCS 1779 ก็ถูกนำมาแทนที่แผนการเดิมโดยมีใจความตอนหนึ่งว่า "การที่ยุโรปจะเป็นระเบียบและมั่งคั่งได้ จะต้องได้รับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจจากเยอรมนีที่มีเสถียรภาพและอุดมสมบูรณ์" ดังนั้นทางสหรัฐอเมริกาเริ่มดำเนินนโยบายตามแผนมาร์แชลล์แทน