อัจฉริยะยกบ้าน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


อัจฉริยะยกบ้าน

โลโก้รายการ
ออกอากาศ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551
สถานีโทรทัศน์ ททบ.
ผู้ดำเนินรายการ แทนคุณ จิตต์อิสระ
โหน่ง ชะชะช่า
ผลิตโดย บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)

อัจฉริยะยกบ้าน (Family Genius) เป็นรายการเกมโชว์ควิซโชว์ที่ปรับรูปแบบมาจากรายการอัจฉริยะข้ามคืน โดยเปลี่ยนการแข่งขันที่เน้นความเป็นอัจฉริยะจากรายบุคคล มาเป็นการแข่งขันแบบครอบครัว 3 คน ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก[1] โดยออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 22.00 - 23.00 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ส่วนหนึ่งของรายการใช้รูปแบบที่ได้รับลิขสิทธิ์จากรายการ Ultimate Family Challenge ของ Fuji TV ประเทศญี่ปุ่น

กติกา[แก้]

เริ่มต้น[แก้]

  • แต่ละสัปดาห์จะมีครอบครัว 3 ครอบครัวมาเข้าแข่งขัน แต่ละครอบครัวประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก โดยหนึ่งครอบครัวจะเป็นบุคคลมีชื่อเสียง
  • การแข่งขันของแต่ละครอบครัวจะเป็นอิสระต่อกัน แต่ละครอบครัวมีเป้าหมายเพื่อผ่านภารกิจทั้งหมด 4 ภารกิจ โดยครอบครัวที่พิชิตได้ครบ 4 ภารกิจ จะได้รับเสื้อสามารถ G-jacket และเงินรางวัล 50,000 บาท
  • หากครอบครัวไม่สามารถผ่านภารกิจใดภารกิจหนึ่งได้ ก็จะตกรอบทันที
  • กติกาของแต่ละภารกิจอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
  • แต่ในปัจจุบันนี้ เกมกติกามีการเปลี่ยนแปลง คือ จาก 3 ครอบครัวที่เข้ามาแข่งขันเพิ่มเป็น 4 ครอบครัว
  • เกมในแต่ละภารกิจนั้น พิธีกรจะประกาศครอบครัวที่ผ่านเข้ารอบโดยจะให้ 2 ครอบครัวที่มาแข่งขันเกมในแต่ละภารกิจนั้นคอยฟังพิธีกรประกาศให้พร้อมกับเวลาที่ 2 ครอบครัวได้แข่งขันกันในที่สุด ถ้าครอบครัวใดทำเวลาได้น้อยกว่ากันจะผ่านเข้ารอบทันที ถ้าครอบครัวใดทำเวลาได้มากกว่ากันจะตกรอบทันที

ภารกิจที่ 1 ครอบครัวหัวหมุน[แก้]

  • (แบบที่1)เป็นภารกิจวัดทักษะการทรงตัว โดยทั้งสามคนพ่อ แม่ ลูก จะยืนอยู่บนแท่นหมุนความเร็วสูงเป็นเวลา 45 วินาที โดยจะปรากฏคำใบ้เป็นชื่อสัตว์ระหว่างนั้น จนกระทั่งแท่นหมุนหยุด ทั้งสามคนจะต้องช่วยกันวิ่งระยะสั้น และแต่ละคนต้องคว้าตุ๊กตา หรือตัวอักษร ตามคำใบ้ที่วางอยู่ระหว่างทาง แล้วไปให้ถึงเส้นชัยโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด
  • (แบบที่2)เป็นภารกิจวัดทักษะการทรงตัว โดยทั้งสามคนพ่อ แม่ ลูก จะยืนอยู่บนแท่นหมุนความเร็วสูงเป็นเวลา 45 วินาที จนกระทั่งแท่นหมุนหยุด ทั้งสามคนจะต้องช่วยกันวิ่งระยะสั้น ทางเดินที่วิ่งจะค่อนข้างแคบ ถ้าตกต้องกลับไปเริ่มวิ่งใหม่ แล้วไปให้ถึงเส้นชัยโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด

ภารกิจที่ 2 ครอบครัวหัวลำเลียง[แก้]

  • (แบบที่1) เป็นภารกิจวัดความสามารถการกะระยะ และการประสานงานเป็นทีม แต่ละคนจะสวมหมวกที่มีชามติดอยู่กับหมวก ครอบครัวจะต้องเลือกว่าจะลำเลียงอะไร ระหว่าง เม็ดโฟม ลูกบาส ลูกเทนนิส และเม็ดพลาสติก บางสัปดาห์ก็จะเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน สิ่งของที่ให้เลือกจะเปลี่ยนไปทุกสัปดาห์ตามความเหมาะสม แต่กติกายังคงเหมือนเดิมถ้าของหล่นระหว่างทาง จะต้องไปเลือกของใหม่
  • (แบบที่2) ให้สมาชิกหนึ่งคนโยนไข่ไก่ระยะไกล อีกสองคนคอยถือผ้าคอยรับไข่ให้ได้ โดยมีผ้าสองขนาดคือเล็กและใหญ่ ซึ่งจำนวนไข่ที่ต้องรับให้ได้ก็จะต่างกันไป

ภารกิจที่ 3 ครอบครัวหัวแล่น[แก้]

  • จะวัดสมรรถภาพร่างกาย คณิตศาสตร์ และการแยกประสาท ครอบครัวจะมีโจทย์ 3 แบบ ให้ 3 คนเล่น คือ
  • แบบที่ 1 : โจทย์ บวก - ลบ 2 ข้อ
  • แบบที่ 2 : โจทย์ บวก - ลบ - คูณ - หาร 4 ข้อ
  • แบบที่ 3 : โจทย์ บวก - ลบ - คูณ - หาร 6 ข้อ

ให้ทั้ง 3 คน คำนวณขณะวิ่งโดยใช้เวลาน้อยที่สุด

ภารกิจที่ 4 ครอบครัวรวมหัวคิด[แก้]

  • เกมนี้นำมาจากจุดเด่นของรายการอัจฉริยะข้ามคืนเดิม เริ่มต้นโดยครอบครัวสามคน จะต้องถอดรหัสอัจฉริยะซึ่งเป็นข้อความที่ไขออกมาได้เป็นตัวเลข 4 หลักให้ถูกต้อง ข้างในเซฟจะมีกุญแจเพื่อไปไขประตูสามบาน เมื่อแยกกันไปก็จะพบกับสะพานแคบที่มีทางเดินไปสู่ศูนย์กลาง แต่ละคนจะต้องหยิบจิ๊กซอว์คนละชิ้น และเดินบนทางแคบนั้นไปโดยไม่ให้ตก เมื่อพบกับตรงกลางต้องประกอบจิ๊กซอว์ของแต่ละคน ให้เข้ากันเป็นรูปวงกลมให้สำเร็จ และขึ้นไปยืนกอดกันบนแท่นนั้น มีเวลาให้ 7 นาที ถ้าทำสำเร็จก็จะพิชิตรางวัลไป และถ้าทำสำเร็จภายใน 5 นาทีแรก จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท

รหัสอัจฉริยะของแต่ละตอน[แก้]

จุดเด่นของรายการนี้ก็คือรหัสอัจฉริยะในแต่ละตอนนั่นเอง ซึ่งรหัสแต่ละสัปดาห์ก็มีดังนี้


ตอนที่ รหัสลับ รายละเอียดการถอดรหัส เฉลย
0 ฉับฉับโป๊กโป๊ก
  • รหัสนี้ใช้ในโฆษณาของรายการ
  • ให้นึกถึงเกม เป่ายิ้งฉุบ ที่สามารถออก ค้อน กรรไกร กระดาษ
  • ฉับ ฉับ เป็นเสียงการตัด ก็คือกรรไกร โดยเวลาออกท่าทาง จะเป็นการชู 2 นิ้ว
  • โป๊ก โป๊ก ก็คือเสียงตอกของค้อน โดยการออกท่าทางต้องกำมือ เป็นเลข 0
  • ฉับ ฉับ โป๊ก โป๊ก จึงรวมได้เป็น 2200 (ก็คือเวลาออกอากาศของรายการ)
2200
1 ฉันอยู่หน้าสวนสัตว์
  • ต้องแก้ไขรหัสนี้เป็นภาษาอังกฤษ โดยคำว่า ฉัน ภาษาอังกฤษเรียกว่า I และ สวนสัตว์ ภาษาอังกฤษเรียกว่า ZOO
  • จะได้เป็น I อยู่หน้า ZOO หรือ IZOO
  • IZOO มองคล้ายกับเลข 1200
1200
2 เฒ่าทารกขยุ้มหลังคาม้าเหล็ก
  • คำสำคัญของรหัสนี้คือ ขา
  • เฒ่า เปรียบเหมือนมีไม้เท้าค้ำ จึงมี 3 ขา
  • ทารก จะคลาน เหมือนมี 4 ขา
  • ขยุ้มหลังคา คือ แมงมุม ที่มี 8 ขา
  • ม้าเหล็ก คือ รถไฟ ซึ่งมี 2 ขา ได้แก่ขาไป และขากลับ
  • เมื่อเอาทั้งหมดมารวมกัน จะได้เป็นเลข 3482
3482
3 นางหิมะขาวกับบุตรสุกร
  • คำสำคัญของรหัสนี้คือ ตัวละคร ที่อยู่ในนิทานต่าง ๆ แยกเป็น นาง หิมะขาวกับ และ บุตรสุกร
  • นาง หมายถึงนางสิบสอง ในนิทานพื้นบ้าน เป็นเลข 12
  • หิมะขาวกับ คือ Snow White กับ ก็เป็น คนแคระทั้งเจ็ด คือเลข 7
  • บุตรสุกร ถอดได้เป็น ลูกหมู ก็คือลูกหมูสามตัว ได้เลข 3
  • รวมรหัสจากนิทานสามเรื่อง ได้เป็น 1273
1273
4 ฝรั่งป่วยจีนตาย
ไทยขำน้ำต้องเช็ด
  • ฝรั่งป่วย ก็คือ Sick ในภาษาอังกฤษ ซึ่งพ้องกับ Six ที่แปลว่า 6
  • จีนตาย ก็คือ ซี้ ซึ่งพ้องเสียงกับ 4
  • ไทยขำ คือเสียง ฮ่า ซึ่งพ้องกับ 5
  • น้ำต้องเช็ด หมายถึง น้ำหก ก็คือเลข 6
  • รวมรหัสสัปดาห์นี้เป็น 6456
6456
5 ไล่ลำดับลูกประดู่
  • ลูกประดู่ คือคำเรียกของทหารเรือ[2]
  • ทหารเรือ เขียนย่อได้ เป็น ทร.
  • รหัสนี้ก็จะกลายเป็น ไล่ลำดับท.ทหาร ร.เรือ โดยไล่ตามลำดับอักษรไทย
  • ท.ทหาร เป็นอักษรลำดับที่ 23 ส่วน ร.เรือ เป็นลำดับที่ 35
  • รหัสครั้งนี้คือ 2335
2335


6 เรียงแต้มสโรชาธัญญาไม่เอา
  • สโรชา หมายถึงนักแสดงหญิง เต๋า-สโรชา วาทิตตพันธ์ แทนด้วยคำว่าเต๋า หรือ ลูกเต๋า
  • ธัญญา หมายถึงนักแสดงหญิง แดง-ธัญญา วชิรบรรจง แทนด้วยคำว่า แดง
  • รหัสจึงเป็น เรียงแต้มลูกเต๋าแดงไม่เอา
  • บนหน้าของลูกเต๋า จะมีแต้ม 1 กับ 4 จะเป็นจุดสีแดง ฉะนั้นต้องเรียงแต้มโดยไม่เอาแต้มสีแดง
  • รหัสจึงเป็น 2356
2356


7 หงส์เสาไข่เรือใบสร้างภาพ
  • คำสำคัญคือ สร้างภาพ หมายความว่าให้มองรหัสแต่ละคำเป็นภาพ
  • หงส์ มีรูปร่างคล้ายเลข 2
  • เสา คล้ายเลข 1
  • ไข่ คล้ายเลข 0
  • เรือใบ คล้ายเลข 4
  • รหัสนี้จึงเท่ากับ 2104
2104
8 ตึกฝรั่งมักไม่มีหมูสวรรค์
  • คำสำคัญของรหัสนี้คือ ชั้น แยกเป็น ตึกฝรั่งมักไม่มี หมู สวรรค์
  • ตึกฝรั่งมักไม่มี คือ ตึกของชาวตะวันตกไม่มีชั้นที่ 13 เพราะเป็นเลขแห่งความโชคร้าย
  • หมู มี 3 ชั้น
  • สวรรค์ มักจะหมายถึงสำนวนที่ว่า สวรรค์ชั้น 7
  • รหัสนี้จึงเท่ากับ 1337
1337
9 โป๊ยก่ายกลางจอ
  • จอ หรือปีสุนัข เป็นปีนักษัตรลำดับที่ 11
  • โป๊ยก่าย ก็คือหมูในนิยายเรื่องไซอิ๋ว หรือปีกุน ซึ่งเป็นปีลำดับที่ 12
  • ได้เป็น 12กลาง11 หมายถึงให้แทรกเลข 12 ตรงกลางระหว่าง 11
  • รหัสนี้จึงเท่ากับ 1121
1121
10 หามแห่หัวหายมิตรวายปราณ
  • วิธีถอดรหัสจะต้องหาจำนวนคน ที่ซ่อนในแต่ละคำ
  • แยกเป็น หามแห่ กับ หัวหายมิตรวายปราณ
  • หามแห่ ก็คือ 4 คนหาม 3 คนแห่ ที่แปลว่าแห่ศพ
  • มิตรวายปราณ ก็คือ เพื่อนตาย รหัสส่วนหลังจึงเป็น หัวหายเพื่อนตาย
  • ซึ่งก็ตรงกับสำนวนที่ว่า 1 คนหัวหาย 2 คนเพื่อนตาย
  • รหัสนี้จึงเท่ากับ 4312
4312
11 คิดจะผ่านอ่านเจ็ดรอบ
  • ให้สนใจที่คำว่า อ่านเจ็ดรอบ
  • รอบ หมายถึงรอบปีนักษัตร ก็คือ 12 ปี
  • เจ็ดรอบ ก็คือ 7 คูณ 12 เป็น 84 ปี
  • พออ่านเจ็ดรอบ ก็จะออกเสียงแยกเป็นคำ ๆ ได้ว่า แปด สิบ สี่ หรือ 8 10 4
  • รหัสนี้จึงเท่ากับ 8104
8104
12 วันอะไรไปไปหยุดหยุด
  • ไปไปหยุดหยุด ให้เปรียบเทียบกับสีของไฟจราจร ไปคือไฟเขียว หยุดคือไฟแดง
  • รหัสนี้จึงแปลงได้เป็น เขียวเขียวแดงแดง
  • วันอะไรเขียวเขียวแดงแดง ก็คือวันพุธที่เป็นสีเขียว และวันอาทิตย์สีแดงตามลำดับ
  • วันพุธเป็นวันที่ 4 ของสัปดาห์ ส่วนวันอาทิตย์เป็นวันที่ 1 ของสัปดาห์
  • รหัสนี้จึงเท่ากับ 4411
4411
13 เณรถือศีลเท่าของพระถือศีล[3]
  • เณรถือศีลทั้งหมด 10 ข้อ
  • พระถือศีลทั้งหมด 227 ข้อ
  • จึงเขียนรหัสใหม่ได้เป็น 10 เท่าของ 227 หรือนำ 10 มาคูณกับ 227 จึงเท่ากับ 2270
  • รหัสนี้จึงเท่ากับ 2270
2270
14 ก่อนเย็นมาเป็นคู่แรก
  • แยกคำออกเป็น ก่อนเย็น และ มาเป็นคู่แรก
  • ก่อนเย็น หมายถึง ตอนบ่าย หรือเวลาบ่าย
  • มาเป็นคู่แรก ก็คือ เลขคู่ตัวแรกสุดของจำนวน คือเลข 2
  • จะได้คำว่า เวลาบ่าย 2 หรือ 14:00 น.
  • รหัสนี้จึงเท่ากับ 1400
1400
15 นางกลางดัง
  • ดัง หมายถึงชื่อนักร้อง ดัง พันกร ก็แปลว่า 1000 มือ
  • นางกลาง คือชื่อนิ้วในมือ รวมเป็น 2 นิ้ว
  • 2 นิ้ว 1000 มือ ก็รวมได้ 2000 นิ้ว
  • รหัสนี้จึงเท่ากับ 2000
2000
16 เรียกตำรวจบางกอก
นิวยอร์กรวมกัน
  • เรียกตำรวจ หมายถึง โทรแจ้งตำรวจ
  • บางกอก หรือตำรวจไทย โทรเบอร์ 191
  • นิวยอร์ก หรือตำรวจสหรัฐฯ โทรเบอร์ 911
  • รวมกัน หมายถึงให้นำ 191 มาบวกกับ 911 เท่ากับ 1102
  • รหัสนี้จึงเท่ากับ 1102
1102
17 รักริรักต้องสู้เพื่อระเบิดช่อง 5555
18 หน้าเดียวพิชิตเต๋า
  • รหัสนี้คำสำคัญให้ดูที่คำว่า หน้า
  • น้องเดียวพิชิต 200 หน้า ในรายการเกมส์ทศกัณฐ์เด็ก
  • เต๋า ลูกเต๋ามีทั้งหมด 6 หน้า
  • รหัสนี้จึงเท่ากับ 2006
2006
19 สองแท็กซี่ไม่มีทาทา
  • สองแท็กซี่ ให้เขียนคำว่าแท็กซี่เป็นภาษาอังกฤษสองครั้งคือ TAXI TAXI
  • ไม่มีทาทา คือตัดตัวอักษร TATA ออกไป
  • เหลือเป็น XI XI ซึ่งเทียบเป็นเลขโรมันได้ 11 11
  • รหัสคือ 1111
1111
20 ตัดเสมอตอกก็เสมอ
  • รหัสนี้คำสำคัญให้ดูที่คำว่า ตัดและตอกเป็นกริยาของการเป่ายิ้งฉุบ
  • ตัดเสมอ การออกกรรไกรเหมือนกัน ได้เป็น22
  • ตอกก็เสมอ การออกค้อนเหมือนกัน ได้เป็น00
  • รหัสนี้จึงเท่ากับ 2200
2200
21 หลอกเจ้ากับเต่าได้พลอย 9410
22 กบสูงเส้า[4]
  • รหัสนี้เกี่ยวกับ ท่ายืดหยุ่นร่างกาย
  • กบ จะได้ท่า หกกบ เลข6
  • สูง จะได้ท่า หกสูง เลข6
  • เส้า จะได้ท่า หกสามเส้า เลข63
  • รหัสนี้จึงเท่ากับ 6663
6663

การยุติการออกอากาศ[แก้]

เนื่องจากรายการมีเนื้อหาที่ไม่มีพิษมีภัย และเหมาะสมสำหรับครอบครัว ซึ่งผิดกับเวลาที่ออกอาการซึ่งดึกเกินไป บ่อยครั้งที่รายการพยายามเปลี่ยนแปลงกติกาปลีกย่อย แต่ไม่ได้ทำให้เรตติ้งดีขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น รายการอัจฉริยะยกบ้านจึงได้ออกอากาศครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551 และเวิร์คพอยท์ได้นำละครซิทคอมเรื่องรักริทึ่ม ซึ่งมีเนื้อหาสำหรับวัยรุ่นมาออกอากาศแทน

อ้างอิง[แก้]

  1. "อัจฉริยะยกบ้าน กระแสแรง ถูกใจครอบครัวทั้งประเทศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-03. สืบค้นเมื่อ 2008-03-02.
  2. เพลงดอกประดู่
  3. รหัสนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้แข่งขันถอดรหัสไม่ทันเวลาที่กำหนด 7 นาที
  4. รหัสนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้แข่งขันถอดรหัสได้เร็วที่สุด 0.20นาที

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]