ดอกประดู่ (เพลง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"ลับดาบไว้พลาง ช้างบนยอดกาฟฟ์จะนำ"
ธงราชนาวีไทยโบกสะบัดบนเสากาฟฟ์
ใบและดอกประดู่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในเพลง

เพลง ดอกประดู่ หรือที่นิยมเรียกกันอีกอย่างว่าเพลง หะเบสสมอพลัน เป็นบทเพลงพระนิพนธ์ใน พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เดิมเรียกชื่อว่า "Comin Thro' the Rye" ตามชื่อทำนองเพลงเดิมในภาษาอังกฤษ (เพลงนี้เป็นเพลงสก็อต เข้าใจกันว่าดัดแปลงทำนองมาจากเพลง Auld Lang Syne อีกทีหนึ่ง) แรงบันดาลใจสำคัญในการทรงนิพนธ์เพลงนี้คือเหตุการณ์วิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ซึ่งเป็นที่จดจำกันได้ดีทุกคนสำหรับคนไทยในยุคนั้น สันนิษฐานว่าทรงนิพนธ์เพลงดอกประดู่เมื่อ พ.ศ. 2448

เพลงนี้ถือเป็นเพลงสัญลักษณ์ของกองทัพเรือไทยที่คนไทยรู้จักกันดี และเป็นที่มาของการเปรียบเทียบตนเองของทหารเรือไทยว่า เป็น "ลูกประดู่" มาจนถึงทุกวันนี้

เนื้อร้อง[แก้]

หะเบสสมอ[1]พลัน ออกสันดอนไป
ลัดไปเกาะสีชัง จนกระทั่งกระโจมไฟ[2]
เที่ยวหาข้าศึก มิได้นึกจะกลับมาใน
ถึงตายตายไป ตายให้แก่ชาติของเรา

พวกเราดูรู้ เจ็บแล้วต้องจำ[3]
ลับดาบไว้พลาง ช้างบนยอดกาฟฟ์[4]จะนำ
สยาม[5]เป็นชาติของเรา ธงทุกเสาชักขึ้นทุกลำ
ถึงเรือจะจมในน้ำ ธงไม่ต่ำลงมา

เกิดมาเป็นไทย ใจร่วมกันแหละดี
รักเหมือนพี่เหมือนน้อง ช่วยกันป้องปฐพี
สยาม[5]เป็นชาติของเรา อย่าให้เขามาย่ำมายี
ถึงตายตายดี ตายในหน้าที่ของเรา

พวกเราทุกลำ จำเช่นดอกประดู่
วันไหนวันดี บานคลี่พร้อมอยู่
วันไหนร่วงโรย ดอกโปรยตกพรู
ทหารเรือเราจงดู ตายเป็นหมู่เพื่อชาติไทย

อธิบายศัพท์ในเพลง[แก้]

  1. หะเบสสมอ เป็นคำภาษาจาม แปลว่า ถอนสมอเรือ ในศัพท์ทหารเรือไทยนั้นมีคำในภาษาจามและและมลายูปนอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง เนื่องจากสมัยโบราณนั้นทหารเรือมักจะเป็นชาวจามในสังกัดกรมอาสาจาม เพราะชาวจามมีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือทะเลมาก
  2. กระโจมไฟ คือหอประภาคาร ในที่นี้หมายถึงกระโจมไฟที่แหลมงอบ ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด
  3. ท่อนนี้มีการร้องอีกอย่างหนึ่งเป็น "พวกเราจงดู รู้เจ็บแล้วต้องจำ" จะอย่างไรก็ตาม เนื้อร้องดังกล่าวล้วนเป็นการย้ำเตือนให้จดจำวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ไว้
  4. กาฟฟ์ (Gaff) คือ เสาสำหรับชักธงประจำเรือที่ตอนกลางเรือ สำหรับกรณีของทหารเรือนั้น ถ้าหากชักธงชาติสำหรับกองทัพเรือ (ธงราชนาวี) ขึ้นที่เสานี้ แสดงว่าเรือลำดังกล่าวกำลังประจำสถานีรบ ช้างบนยอดกาฟฟ์หมายถึง รูปช้างเผือกในธงราชนาวีไทย ซึ่งไม่ว่าจะมีวิวัฒนาการอย่างไรก็ตามก็จะมีรูปดังกล่าวอยู่ด้วยเสมอ
  5. 5.0 5.1 ในการบันทึกเสียงบางครั้งได้มีการเปลี่ยนคำว่า "สยาม" เป็น "ไทย" แต่ปัจจุบันใช้ว่า "สยาม" ตามต้นฉบับ

อ้างอิง[แก้]