ผลต่างระหว่างรุ่นของ "โคลงโลกนิติ"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
พ.น.บุญรอด (คุย | ส่วนร่วม)
พ.น.บุญรอด (คุย | ส่วนร่วม)
บรรทัด 180: บรรทัด 180:


{{เรียงลำดับ|คโลงลโกนิติ}}
{{เรียงลำดับ|คโลงลโกนิติ}}
{{หนังสือดี 100 เล่ม}}
[[หมวดหมู่:วรรณคดีไทย]]
[[หมวดหมู่:วรรณคดีไทย]]
[[หมวดหมู่:วรรณกรรมพุทธศาสนา]]
[[หมวดหมู่:วรรณกรรมพุทธศาสนา]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:11, 27 ตุลาคม 2551

โคลงโลกนิติ
ชื่ออื่นประชุมโคลงโลกนิติ
กวีสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร (จารึกวัดโพธิ์)
ประเภทโคลงสุภาษิต
คำประพันธ์โคลงสี่สุภาพ
ความยาว๔๐๘ บท (สมุดไทย)
๔๓๕ บท (จารึกวัดโพธิ์ฯ)
๙๑๑ บท (ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)
๙๐๒ บท (ฉบับกรมวิชาการ)
ยุครัตนโกสินทร์
ปีที่แต่งพ.ศ. ๒๓๗๔
ลิขสิทธิ์-
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

โคลงโลกนิติ เป็นวรรณกรรมประเภทคำสอน ในลักษณะของโคลงสุภาษิต คำว่า โลกนิติ (อ่านว่า โลก-กะ-นิด) แปลว่า ระเบียบแบบแผนแห่งโลก

เนื้อหาในโคลงโลกนิติจึงมุ่งแสดงความจริงของโลกและสัจธรรมของชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้เท่าทันต่อโลก และเข้าใจในความเป็นไปของชีวิต พร้อมเป็นแม่แบบเพื่อให้ผู้อ่านได้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้องดีงามสืบไป

โคลงโลกนิติมีความไพเราะเหมาะสมทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหาปรัชญาสาระ ครบคุณค่าทางวรรณกรรม ทำให้เป็นที่แพร่หลายในหมู่คนทั่วไป บางท่านกล่าวยกย่องโคลงโลกนิติว่าเป็น อมตะวรรณกรรมคำสอน หรือ ยอดสุภาษิตอมตะ[1] , ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นบทอ่านในหนังสือแบบเรียนสำหรับนักเรียนนักศึกษาอยู่ทุกยุคสมัย และได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน

ประวัติ

  • สำนวนเก่า

โคลงโลกนิติเชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยนักปราชญ์ในสมัยนั้นได้คัดเลือกหาคาถาสุภาษิตภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตที่ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ เช่น คัมภีร์โลกนิติ, คัมภีร์ธรรมนีติ, คัมภีร์ราชนีติ, หิโตปเทศ, ธรรมบท และ พระไตรปิฎก เป็นต้น มาถอดความแล้วเรียบเรียงแต่งเป็นโคลงโลกนิติ

  • ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ฯ) ในปี พ.ศ. ๒๓๗๔ ก็มีดำริให้จารึกวิชาการสาขาต่างๆ ไว้บนแผ่นศิลาที่ประดับไว้ตามเสาหรือกำแพงพระวิหาร ในการนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนเดชอดิศร (ต่อมาได้ดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร) ทรงชำระโคลงโลกนิติของเก่าให้ประณีตไพเราะยิ่งขึ้น เพื่อจารึกไว้ในคราวเดียวกัน

จำนวนโคลงโลกนิติที่ปรากฏต้นฉบับในสมุดไทยมีทั้งสิ้น ๔๐๘ บท แต่ที่จารึกไว้ในวัดพระเชตุพนฯ แผ่นละบท มี ๔๓๕ แผ่น (รวมโคลงนำ ๒ บท) คาดว่ามีโคลงที่แต่งเพิ่มเติมเพื่อให้พอดีกับพื้นที่จารึก

  • ฉบับชำระ

ภายหลังมีการรวบรวม สอบทาน และจัดพิมพ์เผยแพร่โคลงโลกนิติ ดังนี้

    • หนังสือสอนอ่านฯ สุภาสิตโลกนิติ์คำโคลง

รวบรวม สอบทาน และจัดพิมพ์โดยกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เพื่อใช้เป็นหนังสือแบบเรียนสำหรับนักเรียน โดยนำโคลงที่สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระไว้ ๔๐๘ บท ที่ปรากฏในต้นฉบับสมุดไทย (รวมโคลงนำ ๒ บท โคลงส่งท้าย ๒ บท และโคลงที่ซ้ำกันอยู่ ๕ บท) มาพิมพ์ร่วมกับโคลงอีก ๓๐ บท ที่พบในแผ่นศิลาวัดพระเชตุพนฯ

    • ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ

หอสมุดแห่งชาติจัดพิมพ์โคลงโลกนิติที่เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ร่วมกับโคลงโลกนิติสำนวนเก่าที่มีการค้นพบเป็นจำนวนมากจากหอพระสมุดวชิรญาณ พร้อมระบุคาถาอันเป็นที่มาของโคลง และจัดรวบรวมกันเป็นชุดๆ ได้โคลงภาษิตรวม ๕๙๓ ชุด จำนวน ๙๑๑ บท (ไม่รวมโคลงนำ ๒ บท และโคลงส่งท้าย ๒ บท) พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐

    • ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับกรมวิชาการ

เป็นฉบับที่คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ นำต้นฉบับ หนังสือสอนอ่านฯ สุภาสิตโลกนิติ์คำโคลง และ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ มาสอบทาน แก้ไขอักขระ ตัดโคลงที่ซ้ำซ้อน เพิ่มเติมคาถา จัดทำคำอธิบายศัพท์ และจัดหมวดหมู่ใหม่ในโคลงบางชุด ทำให้ได้โคลงภาษิตรวม ๕๙๔ ชุด จำนวน ๙๐๒ บท (รวมโคลงนำ ๒ บท และโคลงส่งท้าย ๔ บท) พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓

รูปแบบของหนังสือประชุมโคลงโลกนิติ

ไฟล์:Lokaniti meeting.jpg
ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับกรมวิชาการ

หนังสือประชุมโคลงโลกนิติ[2] ขึ้นต้นด้วยโคลงนำ ๒ บท คือ

 
อัญขยมบรมนเรศเรื้อง รามวงศ์
พระผ่านแผ่นไผททรง สืบไท้
แสวงยิ่งสิ่งสดับองค์ โอวาท
หวังประชาชนให้ อ่านแจ้งคำโคลง
 
ครรโลงโลกนิตินี้ นมนาน
มีแต่โบราณกาล เก่าพร้อง
เป็นสุภสิตสาร สอนจิต
กลดั่งสร้อยสอดคล้อง เวี่ยไว้ในกรรณ
 

จากนั้น จะแยกโคลงออกเป็นชุดๆ แต่ละชุดมีส่วนประกอบดังนี้

  • ตัวเลขลำดับกำกับชุด
  • คาถา โดยชุดที่มีคาถา จะเขียนคาถาไว้ที่ต้นบท พร้อมชื่อคัมภีร์อันเป็นที่มาของคาถานั้น
    • ถ้าโคลงชุดนี้ไม่มีคาถา จะเขียนว่า ไม่พบคาถา
  • อ้างอิงท้ายคาถา (ถ้ามีคาถา)
    • แหล่งที่มา เช่น คัมภีร์โลกนิติ, คัมภีร์ธรรมนีติ, คัมภีร์ราชนีติ, หิโตปเทศ, ธรรมบท, พระไตรปิฎก
    • ถ้าไม่พบที่มาของคัมภีร์ จะเขียนว่า ไม่ปรากฏที่มา
  • ตัวโคลง
  • อ้างอิงท้ายโคลง
    • โคลงสำนวนเก่า จะเขียนว่า สำนวนเก่า
    • โคลงพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร (จารึกวัดพระเชตุพนฯ) จะเขียนว่า สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร
ตัวอย่าง

โคลงชุดที่ ๑๗๐ เป็นดังนี้

 
๑๗๐.
ปฐพฺยา มธุรา ติณี อุจฺฉุ นารี สุภาสิตํ
อุจฺฉุนารีสุ ตปฺปนฺติ น ตปปติ สุภาสิตํ
ไม่ปรากฏที่มา
 
รสหวานในโลกนี้ มีสาม
หญิงรูปบริสุทธิ์งาม อีกอ้อย
สมเสพรสกลกาม เยาวโยค
หวานไป่ปานรสถ้อย กล่าวเกลี้ยงไมตรี
สำนวนเก่า
 
หวานใดในโลกนี้ มีสาม สิ่งนา
หวานหนึ่งคือรสกาม อีกอ้อย
หวานอื่นหมื่นแสนทราม สารพัด หวานเอย
หวานไป่ปานรสถ้อย กล่าวเกลี้ยงคำหวาน
สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร
 

หนังสืออื่นที่มีที่มาจากคัมภีร์โลกนิติ

นอกจากโคลงโลกนิติสำนวนเก่า และโคลงโลกนิติในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศรแล้ว ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่มีที่มาจาก คัมภีร์โลกนิติ (กล่าวคือ มีที่มาเดียวกับโคลงโลกนิติ ไม่ใช่แต่งไปจากโคลงโลกนิติ) ได้แก่

ประพันธ์โดยขุนสุวรรณสารวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ เป็นคำฉันท์จำนวน ๒๖๕ บท ตามคาถาของคัมภีร์โลกนิติ

  • โคลงโลกนิติ จากหนังสือวชิรญาณ เล่ม ๒ จ.ศ. ๑๒๔๗

เป็นการรวบรวมคัมภีร์โลกนิติ ฉบับภาษาบาลี ซึ่งมี ๗ กัณฑ์ โคลงโลกนิติ พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ พระยาเดชาดิศร และโคลงโลกนิติ ที่เข้าใจว่าเป็นสำนวนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เข้ามารวมพิมพ์ไว้ในเล่มเดียวกัน

ประพันธ์และเรียบเรียงโดยพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) โดยจัดทำเป็น ๓ ภาษา คือ ภาษาบาลี ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ จำแนกเนื้อหาออกเป็น ๗ กัณฑ์ ตามคัมภีร์โลกนิติ รวมมีทั้งสิ้น ๑๖๗ คาถา พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑

ถอดคำประพันธ์ของคัมภีร์โลกนิติทั้ง ๗ กัณฑ์ ออกเป็นร้อยแก้วภาษาไทย โดย แสง มนวิทูร มีทั้งสิ้น ๑๕๘ คาถา

  • โลกนิติ - สุตวัฑฒนนีติ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ราชบัณฑิตยสถานได้ชำระและแปลคัมภีร์โลกนิติและคัมภีร์สุตวัฑฒนนีติ ออกเป็น ๔ ภาษา คือ ภาษาบาลี ภาษาบาลีเขียนเป็นอักษรโรมัน ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ รวมมีทั้งสิ้น ๑๖๗ คาถา พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐


เชิงอรรถ

  • ^  จาก สุปาณี พัดทอง, "โคลงโลกนิติ" อมตะวรรณกรรมคำสอน
  • ^  ในที่นี้เป็นรูปแบบตามหนังสือประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับกรมวิชาการ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  • กรมวิชาการ, ประชุมโคลงโลกนิติ, กรมวิชาการ, 2543. ISBN 9742688192.
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร, โคลงโลกนิติ, เรือนปัญญา, 2545. ISBN 9744194669.
  • นิยะดา เหล่าสุนทร, โคลงโลกนิติ : การศึกษาที่มา, แม่คำผาง, 2537. ISBN 9747036231.
  • สุปาณี พัดทอง, "โคลงโลกนิติ" อมตะวรรณกรรมคำสอน, วารสารวรรณวิทัศน์ ปีที่ 2 ฉ.2, ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ย. 2545.