ข้ามไปเนื้อหา

พระมงกุฎ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระมงกุฎ
Kusa
พระมงกุฎ พระราชโอรสของ พระราม และ นางสีดา
ชื่อในอักษรเทวนาครีकुश
คัมภีร์รามายณะ หรือ รามเกียรติ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
อาศรมของฤๅษีวาลมิกิ, พรหมวัต, โกศล (ปัจจุบันคือ Bithoor, รัฐอุตตรประเทศ, ประเทศอินเดีย)
บิดา-มารดา
พี่น้องพระลบ
ราชวงศ์ราชวงศ์รฆุ-อิกษวากุ

พระมงกุฎ หรือในรามายณะเรียกว่า พระกุศะ (อังกฤษ: Kusa สันสกฤต: कुश) เป็นแฝดผู้พี่ของ พระลบ ราชโอรสพระองค์โตของ พระราม และ นางสีดา เรื่องของพระลบถูกกล่าวถึงในวรรณกรรมฮินดู เรื่อง รามายณะ หรือ รามเกียรติ์ ในบันทึกรามายณะเล่าว่า เขาปกครองอาณาเขตของแคชเมียร์ แม่น้ำสินธุ และฮินดูกูช ซึ่งอยู่ทางชายแดนของอินเดียที่รู้จักกันในชื่อว่าฮินดูกูชเกษตร และสร้างเมืองแคชเมียร์ และเมืองกศุระในหุบเขาพร้อมกับลวะบุรีให้กับพระลบ (น้องชายฝาแฝดอีกคน) ณ ที่นั้น[1] แม้ว่าตำนานท้องถิ่นจะโต้แย้งว่าเมืองกศุระก่อตั้งขึ้นในปี 1525 โดย ชาวปาสทันที่อพยพมาก็ตาม[2][3][4] ตามตำนานเชื่อกันว่าพระลบเองที่เป็นผู้สร้างเมือง "ลวะบุรี" (ในปัจจุบันคือเมือง ลาฮอร์)

ประวัติ

[แก้]
ฤๅษีวาลมิกิสอนพระมงกุฎ พระลบยิงธนู
ฤๅษีวาลมิกิสอนรามายณะพระมงกุฎ พระลบ

ในรามเกียรติ์ฉบับของไทย

[แก้]

พระมงกุฎในลักษณะโขนไทยคือ มีกายสีเขียว ทรงม้าขาว ผมเกล้าจุก ประวัติของพระมงกุฎตามที่มีปรากฎในรามเกียรติ์คือ พระมงกุฎเป็นบุตรของ พระราม กับ นางสีดา เมื่อนางสีดาถูกพระรามแคลงใจ กล่าวหาว่าแอบคิดถึงทศกัณฐ์ แล้วให้ พระลักษมณ์ นำนางไปประหารชีวิต พระลักษมณ์มิได้ประหารและยังปล่อยนางไปด้วย นางสีดาจึงได้ไปอาศัยอยู่กับ ฤาษีวัชมฤค ในป่า และฝากพระมงกุฎไว้ให้ฤาษีอบรมสั่งสอน วันหนึ่งนางสีดาได้เดินไปท่าน้ำโดยฝากลูกไว้กับฤาษี ระหว่างทางนางสีดานึกขึ้นได้ จึงกลับมานำโอรสไปด้วยในขณะที่ฤาษีกำลังเข้าฌาน ครั้นเมื่อฤาษีลืมตาขึ้นมาไม่พบบุตรนางสีดา ก็ตกใจเกรงว่านางสีดาจะมาต่อว่าตน จึงได้ทำการวาดรูปเหมือนของพระมงกุฎ และทำพิธีชุบชีวิตกุมารขึ้นมาจากรูปวาด ขณะนั้นนางสีดาพาโอรสกลับมาพอดี พระฤๅษีจะลบรูปนัันทิ้ง แต่นางก็ขอให้พระฤาษีชุบพระกุมารต่อไป เพื่อไว้เป็นเพื่อนเล่นกัน กุมารน้อยนี้จึงได้ชื่อว่า พระลบ

ต่อมาพระฤาษีได้ชุบศรให้แก่กุมารทั้งสอง แล้วอบรมสั่งสอนศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ จนเก่งกล้า ทั้งสองกุมารได้ประลองศรกันบังเกิดเสียงกึกก้องกัมปนาท จนพระรามได้ยินเสียงก็คิดว่าคงเกิดผู้มีฤทธิ์มาแข่งกับพระองค์ จึงทำพิธีปล่อยม้าอุปการให้วิ่งออกไปหาผู้มีฤทธิ์นั้น โดยให้ พระพรต, พระสัตรุด และ หนุมาน เป็นผู้ตามม้าไป เมื่อม้าไปถึงทั้งสองกุมารก็จับมาขี่เล่น หนุมานเห็นดังนั้นก็เข้าต่อสู้ แต่ถูกสองกุมารตีด้วยศรสลบถึงสองครั้งแล้วจับมัดด้วยเถาวัลย์ สักหน้าและสาปว่าผู้เป็นนายเท่านั้นจึงจะแก้ออกได้

ต่อมาพระมงกุฎถูกพระพรตกับพระสัตรุดจับได้ พระมงกุฎถูกแห่ประจาน 3 วัน เพื่อรอการประหาร พระลบจึงหลบหนีมาบอกข่าวแก่นางสีดา และลอบใส่แหวนนางสีดาลงในภาชนะที่นางรำพา (นางฟ้าแปลงกาย) นำไปให้พระมงกุฎดื่มเพื่อช่วยพี่ เมื่อพระมงกุฎใส่แหวนแล้วก็ทำให้หลุดจากเครื่องพันธนาการ

ทั้งสองกุมารจึงร่วมกันสู้รบกับพระราม พระลักษมณ์ พระพรต และพระสัตรุด แต่เมื่อต่างแผลงศร ศรนั้นก็ไม่สามารถประหตประหารกันได้ พระรามเกิดความสงสัยและซักถามประวัติความเป็นมา ทำให้พระรามรู้ว่าคือโอรสของตน การต่อสู้ก็ยุติลง พระรามตามไปจนพบกับนางสีดา และพยายามอ้อนวอนขอคืนดี แต่นางสีดาไม่ยอม ยอมแต่เพียงให้สองกุมารไปอยู่ยังกรุงอโยธยาได้

ภายหลังเมืองไกยเกษได้เสียแก่ ท้าวคนธรรพ์นุราช พระพรต พระสัตรุด, พระมงกุฎ และพระลบได้ยกกองทัพไปตีเอาเมืองคืน โดยพระมงกุฏเป็นผู้ฆ่าท้าวคนธรรพ์นุราชตาย[5]

ในรามายณะฉบับอินเดีย

[แก้]

ในบทแรกของรามายณะ คือ พาลกัณฑ์ กล่าวถึง ฤๅษีวาลมีกิ ที่บรรยายรามายณะแก่พระลบและพระมงกุฏ สาวกของเขา โดยกล่าวถึงเรื่องราวการเกิดและวัยเด็กของทั้งสอง ที่ถูกกล่าวถึงใน อุตตรกัณฑ์ โดยไม่มีใครเชื่อว่าเป็นผลงานดั้งเดิมของวาลมีกิ[6][7] ตามบันทึกในตำนานกล่าวว่า นางสีดา ถูกขับไล่ออกจากอาณาจักรเนื่องจากมีข่าวการติฉินนินทาของชาวเมืองเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของนาง นางเสด็จหนีเข้าไปลี้ภัยในอาศรม ของ ฤๅษีวาลมีกิ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่ง แม่น้ำทัมซา[8] พระมงกุฎและพระลบ เกิดที่อาศรมและได้รับการศึกษาและฝึกฝนวิชาการต่าง ๆ จากฤๅษีวาลมีกิ ซึ่งในครั้งนั้นทั้งสองก็ได้เรียนรู้เรื่องราวของพระรามด้วย

ในการเสี่ยงทาย ม้าอัศวเมธ ของ พระราม ฤๅษีวาลมีกิ นางสีดา พระมงกุฎและพระลบได้ปลอมตัวไปร่วมพิธี

พระมงกุฎและพระลบสวดมนต์รามเกียรติ์ต่อหน้าพระรามและผู้ชมจำนวนมาก เมื่อพระมงกุฎและพระลบท่องมนต์เกี่ยวกับการเนรเทศของนางสีดา พระรามก็เศร้าสลด และฤๅษีวาลมีกิก็เปผิดเผยความจริงเรื่องนางสีดา นางสีดารู้สึกอับอายและเศร้าโศกมากจึงเรียก (พระแม่ธรณี ให้รับเธอไปเพื่อหกนีความอับอาย และเมื่อพื้นดินเปิดขึ้นเธอก็หายตัวไปในนั้น พระรามจึงรู้ว่าพระมงกุฎและพระลบเป็นลูกของเขา

ในวรรณกรรมรามายณะเวอร์ชั่นอื่นบอกว่า พระมงกุฎและพระลบได้จับม้าอัศวเมธได้ และไปปราบพี่น้องของพระราม (พระลักษมณ์, พระพรต และ พระสัตรุด) และกองทัพของพวกเขา เมื่อพระรามทราบข่าวจึงออกมารบกับทั้งสองพระกุมาร เมื่อพระรามมาต่อสู้กับพวกเขา มหาฤๅษีวาลมีกิเข้ามาห้ามทัพระหว่างรบแล้วนางสีดาก็เปิดเผยความจริงว่าพระรามคือพระบิดาและฤๅษีวาลมีกิบอกพระโอรสทั้งสองว่าเพลงรามายณะอันศักดิ์สิทธิ์ที่สองกุมารขับร้องนั้นกล่าวถึงนางสีดาว่าบริสุทธิ์อย่างไร ครั้งอยู่กับมหาราชแห่งลงกา (ทศกัณฐ์) เพื่อล้างภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียของนางสีดาจากชาวเมืองอโยธยา

อ้างอิง

[แก้]
  1. Nadiem, Ihsan N (2005). Kasur ancient name. Punjab, Pg.111. ISBN 978-969-503-434-7.
  2. Chopra, Gulshan Lall (1940). Chiefs and Families of Note in the Punjab (ภาษาอังกฤษ). Government Printing.
  3. Sikand, Yoginder (2011-07-19). Beyond The Border: An Indian in Pakistan (ภาษาอังกฤษ). Penguin UK. ISBN 978-93-5214-132-6.
  4. Nadiem, Ihsan H. (2005). Punjab: land, history, people (ภาษาอังกฤษ). al-Faisal Nashran. ISBN 978-969-503-283-1.
  5. ~ พระมงกุฎ,พระลบ ~. ตำนาน เรื่องเล่า เกร็ดความรู้ เรื่องลี้ลับ. บ้านจอมพระ.com.
  6. "Uttara Kanda of Ramayana was edited during 5th century BCE - Puranas". BooksFact - Ancient Knowledge & Wisdom (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 26 เมษายน 2020. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
  7. Rao, T. S. Sha ma; Litent (2014-01-01). Lava Kusha (ภาษาอังกฤษ). Litent.
  8. Vishvanath Limaye (1984). Historic Rama of Valmiki. Gyan Ganga Prakashan. OCLC 15019218.