ข้ามไปเนื้อหา

นางเบญกาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นางเบญกาย
ตัวละครใน รามเกียรติ์
เบญกายแปลงเป็นนางสีดา
เผ่าพันธุ์ยักษ์
ครอบครัวพิเภก (บิดา)
ตรีชฎา (มารดา)
ท้าวลัสเตียน (ปู่)
ท้าวจตุรพักตร์ (ทวด)
ทศกัณฐ์ (ลุง)
กุมภกรรณ (ลุง)
ขร (อา)
ทูษณ์ (อา)
ตรีเศียร (อา)
นางสำมนักขา (อา)
คู่สมรสหนุมาน
บุตรอสุรผัด

นางเบญกาย หรือ นางเบญจกาย เป็นตัวละครในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นธิดาของพิเภกกับนางตรีชฎา และเป็นหลานของทศกัณฐ์ ที่ต่อมาได้ตกเป็นภรรยาคนหนึ่งของหนุมาน[1] (ตอนนี้ไม่ปรากฏในรามายณะ)

นางปรากฏตัวในตอนนางลอย ที่ทศกัณฐ์ผู้เป็นลุงได้สั่งให้เธอแปลงกายนางสีดาแสร้งเป็นศพลอยน้ำไปยังค่ายของพระราม หวังที่จะทำให้พระรามหมดกำลังใจและถอนทัพกลับ แต่หนุมานได้เห็นพิรุธบางประการจึงทูลพระรามก่อนนำไปสู่การเปิดเผย

ประวัติ

[แก้]

นางเบญกาย เป็นธิดาของพิเภก กับนางตรีชฎา[1][2][3] โดยพิเภกเป็นน้องชายของทศกัณฐ์[4] เบญกายจึงเป็นหลานลุงของทศกัณฐ์ด้วย

ทศกัณฐ์ผู้เป็นลุงได้สั่งให้เธอแปลงกายไปเป็นนางสีดาโดยทำเหมือนว่านางสีดาเป็นศพลอยตามน้ำยังหน้าพลับพลาของพระรามหวังทำลายขวัญและกำลังใจฝ่ายตรงข้าม เมื่อรับคำสั่งนั้นนางเบญกายจึงไปเฝ้าดูนางสีดาแล้วแปลงกายเป็นนางสีดาอย่างแนบเนียน แม้แต่ทศกัณฐ์เองก็จำไม่ได้ ดังปรากฏความตอนหนึ่ง ความว่า[2]

เมื่อนั้น นางเบญกายยักษี
เห็นพระราชาอสุรี เสด็จลงจากที่บัลลังก์ทรง
ด้วยได้เห็นรูปนางนิมิต คิดว่าสีดานวลหง
ดำเนินเข้ามาเคียงองค์ ใหลหลงประโลมด้วยวาจา
ภาพ "นางลอย" โดยเหม เวชกร

จากนั้นนางก็ทำตามคำบัญชาของทศกัณฐ์ เมื่อพระรามเห็นศพนางสีดาลอยน้ำมาก็เสียใจมากที่ต้องมาสูญเสียนางอันเป็นที่รักไป พาลต่อว่าหนุมานที่เข้าไปเผากรุงลงกาในคราวนั้น ทศกัณฐ์คงเจ็บใจและสังหารนางสีดาทิ้งเสีย แต่หนุมานทูลให้พระรามเห็นพิรุธนานาประการ อาทิ ศพที่ลอยน้ำจะต้องเป็นศพที่เน่าเปื่อย และศพนางสีดานี้ลอยทวนน้ำขึ้นมานั้นผิดวิสัยของศพที่จะต้องลอยตามกระแสน้ำ จึงทูลขอศพนางสีดานั้นไปเผาไฟ นางเบญกายก็ทนร้อนไม่ไหวจึงกลับคืนร่างเดิมและเหาะขึ้นฟ้าไป แต่หนุมานก็เหาะตามไปจับตัวนางมาได้[1][2]

โทษของนางเบญกายนั้นถึงประหารชีวิต แต่เนื่องจากพระรามได้ทราบว่านางเบญกายเป็นบุตรสาวของพิเภกผู้มีความยุติธรรม จึงได้ปล่อยนางเบญกายไป โดยให้หนุมานไปส่งนางเบญกายที่กรุงลงกา แต่ระหว่างทางที่หนุมานพานางเบญกายไปส่งยังกรุงลงกานั้น หนุมานซึ่งมีจิตปฏิพัทธ์นางเบญกายแต่แรกที่พบกัน จึงได้เกี้ยวพาราสีนางจนได้นางเบญกายเป็นภรรยา[1][3][5]

ในคราวที่หนุมานมาปราบท้าวมหาบาลซึ่งบุกมาที่กรุงลงกา หนุมานได้เข้าไปพำนักกับนางเบญกายด้วย ทำให้ในเวลาต่อมา นางเบญกายได้ให้กำเนิดบุตรชายนามว่า อสุรผัด[1][3] มีหน้าเป็นวานร และมีกายเป็นยักษ์

ครั้นเมื่อทศกัณฐ์ทำพิธีตั้งอุโมงค์บำเพ็ญตบะ หนุมาน, สุครีพ และนิลนนท์ ได้รับมอบหมายให้ไปทำลายพิธี โดยนำน้ำล้างเท้าของนางเบญกายไปรดแผ่นหินที่ปิดปากอุโมงค์[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "ประวัตินางในวรรณคดี หญิงงามในบทประพันธ์". สนุกดอตคอม. 5 เมษายน 2556. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "เบญกาย (รามเกียรติ์)". My First Brain. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 "นางสำมนักขา, สุพรรณมัจฉา, นางเบญกาย, นางมณโฑ, สดายุ". SiamNT ฝีมือไทย ภูมิปัญญาไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-17. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ทศกัณฑ์ (รามเกียรติ์)". My First Brain. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-06. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "นางเบญกาย". บ้านรำไทย. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)