พาลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พาลี
ตัวละครใน รามเกียรติ์
พาลีในรามายณะ
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง
เผ่าพันธุ์ลิง
เพศผู้
ตำแหน่งกษัตริย์กรุงขีดขิน
คู่สมรสนางดารา, นางมณโฑ
บุตรองคต
ชมพูพาน (บุตรบุญธรรม)
ญาติพระอินทร์ (บิดา)
นางกาลอัจนา (มารดา)
นางสวาหะ (พี่สาวร่วมมารดา)
สุครีพ (น้องชายร่วมมารดา)
หนุมาน (หลาน)
มิตรสหายท้าวมหาชมพู, หนุมาน
ศัตรูทศกัณฐ์, ทรพี, อสูรตะไลกาฬ, พญาช้างงาดำ, สุครีพ (หลังจากฆ่าทรพีเสร็จ)

พาลี เป็นลิงที่เป็นตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นลิงเจ้าเมืองขีดขิน ที่มีฤทธิ์มากที่สุดตัวหนึ่ง มีกายสีเขียว เป็นโอรสของพระอินทร์ กับ นางกาลอัจนา เดิมชื่อ กากาศ ตอนเด็กโดนฤๅษีโคดมสาปให้กลายเป็นลิงเช่นเดียวกันกับสุครีพ ซึ่งเป็นน้องชาย เพราะรู้ว่าทั้ง 2 เป็นลูกชู้ ต่อมาพระอินทร์ผู้เป็นบิดา ได้สร้างเมืองชื่อ ขีดขินให้พาลีปกครอง และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า กากาศ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น พาลี เคยต่อสู้กับ ทรพี ควายที่ฆ่า ทรพา พ่อของตนเอง ที่มีเทวดาอารักขาขาทั้งสี่ข้างและสองเขา ซึ่งพาลีจะต้องเข้าไปสู้ในถ้ำสุรกานต์ ก่อนไปได้สั่งเสียสุครีพไว้ว่า ถ้าผ่านไปเจ็ดวันแล้ว ถ้าตนไม่กลับมา ให้ไปดูรอยเลือด ถ้าเลือดข้นนั้นคือ เลือดทรพี ถ้าเลือดใสนั้นคือเลือดตน

ตอนที่เขาพระสุเมรุทรุดเอียงจากการสู้รบกันระหว่างรามสูรกับพระอรชุน พาลีกับสุครีพได้ช่วยชลอเขาให้ตั้งตรงดังเดิม พระอิศวรจึงฝากนางดารามากับพาลีเพื่อให้กับสุครีพผู้เป็นน้อง พาลีได้ยึดนางดาราไว้เป็นภรรยาเสียเอง พาลีเคยแย่งนางมณโฑกับทศกัณฐ์เมื่อตอนที่เหาะผ่านเมืองขีดขินด้วย และมีบุตรกับนางมณโฑ คือ องคต

สุดท้ายพาลีสิ้นชีวิตจากศรของพระราม ขณะที่พระรามแผลงศรใส่พาลี พาลีจับศรไว้ได้ พาลีจึงได้เห็นร่างที่แท้จริงของพระราม ว่าเป็นพระนารายณ์อวตาร จึงได้สำนึกผิด และเรียกสุครีพมาสั่งสอน ซึ่งเรียกว่า "พาลีสอนน้อง" และฝากฝังเมืองขีดขินไว้ จากนั้นก็ปล่อยให้ศรปักอกตาย หลังจากที่พาลีตายได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรพาลีบนสวรรค์ ได้มีบทบาทตอนไปทำลายพิธีชุบหอกกบิลพัทของทศกัณฐ์ ในศาสนาฮินดูพาลีไม่ได้ยึดนางดาราภรรยาของสุครีพ และเป็นกษัตริย์ที่ทรงคุณธรรม เขาตายเนื่องจากพระรามลอบสังหารเขาในขณะต่อกรกับสุครีพ ในชาติต่อไปเขาไปเกิดเป็นนายพรานจาราและสังหารพระกฤษณะซึ่งเป็นพระรามในชาติก่อน

ลักษณะของพาลี[แก้]

พาลีเป็นลิง มีกายสีเขียวอ่อน ปากอ้า มีชฎายอดบัด

พาลีในประเทศไทย[แก้]

โคลงจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม[แก้]

ภาพจิตรกรรมฝาผนังชุดรามเกียรติ์นี้เริ่มเขียนตั้งแต่ภาพพระนารายณ์อวตารในปางต่างๆ ก่อนที่จะอวตารมาเป็น พระราม ในเรื่องรามเกียรติ์
ภาพเขียนนี้มีทั้งหมด ๑๗๘ ห้อง มีทั้งคำบรรยายใต้ภาพและคำบรรยายเป็นโคลงสลักบนแผ่นหินอ่อนติดอยู่ที่ เสารอบพระระเบียง
และมีภาพตัวละครสำคัญอีก ๘๐ ภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายอสูรและฝ่ายวานร เขียนอยู่ตามซุ้มประตูและมุขพระระเบียง โคลงประจำภาพว่า

พาลีพานเรศรเจ้า ขีดขิน นครเฮย
เอารสองค์อมรินทร์ ฤทธิกล้า
ทรงชฎาลออ อินทรีย์สด เขียวแฮ
ใครบสบแรงล้า กึ่งเปลี้ยเสียศูนย์
กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ (สะกดตามต้นฉบับเดิม)

อ้างอิง[แก้]

ก่อนหน้า พาลี ถัดไป
- กษัตริย์กรุงขีดขินในเรื่อง รามเกียรติ์
สุครีพ