ข้ามไปเนื้อหา

เฮเลน เมียร์เรน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฮเลน เมียร์เรน
เฮเลน เมียร์เรนในปี 2020
เฮเลน เมียร์เรนในปี 2020
สารนิเทศภูมิหลัง
ชื่อเกิดอิลเยนา ลิเดีย วาซิลีเยฟนา มิโรนอฟ
เกิด (1945-07-26) 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 (79 ปี)
แฮมเมอร์สมิท, เกรเทอร์ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
คู่สมรสเทย์เลอร์ แฮ็กฟอร์ด
(1997–ปัจจุบัน)
อาชีพนักแสดง
ปีที่แสดง1965–ปัจจุบัน
รางวัล
ออสการ์นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
2006 เดอะ ควีน ราชินีหัวใจโลกจารึก
เอมมีนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทมินิซีรีส์หรือภาพยนตร์ทางโทรทัศน์
1996 ไพรม์ซัสเปกต์ (ซีซั่น 4)
1999 เดอะ แพสชัน ออฟ ไอน์ แรนด์
2006 เอลิซาเบธที่ 1
2007
ไพรม์ซัสเปกต์ (ซีซั่น 7)
โทนีนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมทางละครเวที
2015 ดิ ออเดียนซ์
ลูกโลกทองคำนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทมินิซีรีส์หรือภาพยนตร์ทางโทรทัศน์
1996 ลูซิง เชส
2006
เอลิซาเบธที่ 1
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ดราม่า
2006
เดอะ ควีน ราชินีหัวใจโลกจารึก
แบฟตานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (ทางโทรทัศน์)
1991 ไพรม์ซัสเปกต์
1992
ไพรม์ซัสเปกต์
1993
ไพรม์ซัสเปกต์
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (ภาพยนตร์)
2006
เดอะ ควีน ราชินีหัวใจโลกจารึก

เดม เฮเลน เมียร์เรน ดีบีอี (อังกฤษ: Dame Helen Mirren, DBE; เกิดวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1945) มีชื่อเดิมว่า อิลเยนา ลิเดีย วาซิลีเยฟนา มิโรนอฟ (อังกฤษ: Ilyena Lydia Vasilievna Mironov) เป็นนักแสดงชาวอังกฤษ[1] ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและได้รับรางวัลมากมาย โดยเธอเป็นหนึ่งในนักแสดงเพียง 24 คนจนถึงปัจจุบันที่ได้ทริปเปิลคราวน์ทางการแสดง อันประกอบไปด้วยรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม, รางวัลไพรม์ไทม์เอมมี และ รางวัลโทนี เมียร์เรน มีผลงานการแสดงภาพยนตร์รวมถึงละครโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 50 ปี เธอได้รับคำชื่นชมจากการแสดงบท "สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2" จากภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ควีน ราชินีหัวใจโลกจารึก (2006) ซึ่งบทดังกล่าวเป็นบทที่สร้างชื่อเสียงให้เธอมากที่สุดและส่งผลให้เธอได้รับรางวัลออสการ์, รางวัลแบฟตา, รางวัลลูกโลกทองคำรวมถึงรางวัลแซกอวอร์ดส์ภายในปีเดียวกัน นอกจากนี้เธอยังมีผลงานที่โด่งดังทางโทรทัศน์จากบท "เจน เทนนิสัน" ตำรวจสืบสวนหญิงแห่งสกอตแลนด์ยาร์ด ในละครชุดเรื่อง ไพรม์ซัสเปกต์ (1991–2006) ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลแบฟตาถึง 3 สมัยติดต่อกัน และยังได้รับรางวัลไพรม์ไทม์เอมมี สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทมินิซีรีส์อีก 2 สมัย

เมียร์เรน เริ่มต้นอาชีพนักแสดงจากการเป็นนักแสดงละครเวทีของโรงละครเยาวชนแห่งชาติสหราชอาณาจักร โดยในปี 1965 ขณะอายุได้ 20 ปี เธอได้รับบทเป็น คลีโอพัตรา ในละครเวทีที่สร้างจากบทประพันธ์ของวิลเลียม เชกสเปียร์ ซึ่งจากการแสดงของเธอทำให้เธอได้รับความสนใจและได้รับการติดต่อให้มาเป็นนักแสดงของโรงละครรอยัล เชกสเปียร์ ที่เป็นโรงละครชั้นนำในลอนดอน โดยเธอได้แสดงละครเวทีที่สร้างจากบทละครที่มีชื่อเสียงของวิลเลียม เชกสเปียร์ และ มักซิม กอร์กีหลายเรื่อง[2] จากความโดดเด่นของเธอในละครเวที ทำให้เธอมีโอกาสได้แสดงภาพยนตร์เรื่องต่างๆเช่น ฝันในคืนกลางฤดูร้อน (1968), ซาเวจ เมสสิยาห์ (1972), แฮมเลต (1976), คาลิกูลา กษัตริย์วิปริตแห่งโรมัน (1979) จนในปี 1980 เธอได้แสดงในภาพยนตร์เรื่อง เดอะลองกู้ดฟรายเดย์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากและถูกบรรจุไว้ใน 100 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ ส่งผลให้เธอมีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นและมีผลงานการแสดงในภาพยนตร์ฮอลลีวูดทุนสร้างสูงอย่าง เอ็กซ์คาลิเบอร์ ดาบเทวดา​ (1981) ที่เธอรับบทเป็น "มอร์แกน เลอ เฟย์ / มอร์กานา" รวมทั้งภาพยนตร์ไซไฟเรื่อง 2010 อุบัติการณ์อาทิตย์ดวงใหม่ (1984) ซึ่งเป็นภาคต่อของ 2001 จอมจักรวาล ต่อมาเธอได้แสดงในภาพยนตร์เพลงที่เข้าชิงรางวัลออสการ์เรื่อง บอกเธอ บอกฉัน บอกว่ารักเรามั่นนิรันดร (1985) และแสดงนำคู่กับ แฮร์ริสัน ฟอร์ด ใน สวรรค์ดงดิบ (1986)

ยุคคริสต์ทศวรรษ 1990 เมียร์เรน มีผลงานในภาพยนตร์ชีวประวัติของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3เรื่อง ราชาสภาโจ๊ก (1993) ซึ่งเธอรับบทเป็นสมเด็จพระราชินีชาร์ล็อต และได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก ในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ก่อนจะมีผลงานแสดงนำในภาพยนตร์ที่สร้างจากเหตุการณ์การอดอาหารประท้วงในประเทศไอร์แลนด์เรื่อง เพื่อแม่หรืออุดมการณ์ (1996) และแสดงคู่กับเคที โฮลมส์ ในภาพยนตร์ระทึกขวัญเรื่อง อาจารย์หวีด (1999) โดยในยุคคริสต์ทศวรรษ 2000 เธอแสดงในเรื่อง คนสวนมือใหม่ นักโทษไม้ประดับ (2000) ก่อนที่จะได้รับรางวัลแซกอวอร์ดส์เป็นครั้งแรกในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จากบท "มิสซิสวิลสัน" ในภาพยนตร์เรื่อง รอยสังหารซ่อนสื่อมรณะ (2001) ซึ่งจากบทบาทดังกล่าวยังทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ, รางวัลแบฟตา รวมถึงได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่ 2 จากนั้นเธอแสดงใน สาวปฏิทินหัวใจทอง (2003), หักล้างแผนไถ่อำมหิต (2004), ชาโดว์บ๊อกเซอร์ (2005)

ในปี 2006 เป็นปีที่เธอประสบความสำเร็จในอาชีพการแสดงสูงสุด จากการรับบท "สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร" ในภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ควีน ราชินีหัวใจโลกจารึก ที่ทำให้เธอได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์จำนวนมาก ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม, รางวัลแบฟตา, รางวัลลูกโลกทองคำ และรางวัลแซกอวอร์ดส์ ภายในปีเดียวกัน โดยเธอยังคงมีผลงานการแสดงในภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องเช่น ปฏิบัติการณ์เดือด ล่าบันทึกลับสุดขอบโลก (2007), รักเธอตราบจนสถานีสุดท้าย (2009), คนอึดต้องกลับมาอึด (2010), ปรุงชีวิต ลิขิตฝัน (2014), ภาพปริศนา ล่าระทึกโลก (2015), คฤหาสน์ขังผี (2018), เร็ว..แรงทะลุนรก ฮ็อบส์ & ชอว์ (2019) และ เร็ว..แรงทะลุนรก 9 (2021)

เฮเลน เมียร์เรน เป็นนักแสดงหญิงที่ได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์เทียบเท่าชั้นอัศวินและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิบริติชชั้น "เดม คอมมานเดอร์" หรือ ดีบีอี จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่พระราชวังบักกิงแฮมโดยให้มีคำนำหน้าว่าเดมเทียบเท่ากับ "เซอร์" ที่ใช้กับบุรุษ[3][4] นอกจากนี้เธอยังได้รับเกียรติให้จารึกชื่อไว้ในฮอลลีวูดวอล์กออฟเฟม

ตลอดอาชีพนักแสดงของเธอ เธอประสบความสำเร็จได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม 1 ครั้ง, ได้รับรางวัลไพรม์ไทม์เอมมี สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทมินิซีรีส์ทางโทรทัศน์ 4 ครั้ง, ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม 3 ครั้ง, ได้รับรางวัลแบฟตา 4 ครั้ง, ได้รับรางวัลรางวัลแซกอวอร์ดส์ 5 ครั้ง และได้รับรางวัลโทนี, รางวัลลอเรนซ์โอลิวีเอร์ อีก 1 ครั้ง

ประวัติ

[แก้]

อิลเยนา ลิเดีย วาซิลีเยฟนา มิโรนอฟ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1945[5][6] ที่โรงพยาบาลสูติกรรมและการผดุงครรภ์สมเด็จพระราชินีชาร์ล็อต เขตแฮมเมอร์สมิธ เกรเทอร์ลอนดอน [7][8] มีแม่เป็นชาวอังกฤษและมีพ่อเป็นชาวรัสเซีย[9] แม่ของเธอมีชื่อว่า "แคทลีน อเล็กซานดรินา อีวา มาทิลดา โรเจอส์" มาจากครอบครัวใหญ่แถบเวสต์แฮมที่ประกอบธุรกิจค้าขายเนื้อที่ประสบความสำเร็จในลอนดอน โดยตาทวดของเธอ เฮนรี โรเจอส์ เริ่มกิจการธุรกิจขายเนื้อสัตว์ที่ประสบความสำเร็จในเขตอิสลิงตัน ลอนดอนชั้นใน และได้เป็นผู้จัดหาเนื้อสัตว์ให้กับราชวงศ์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย[9][10] ส่วนพ่อของเธอมีชื่อว่า "วาซิลี เปโตรวิช มิโรนอฟ" เป็นอดีตนักดนตรีชาวรัสเซีย ตำแหน่งวิโอลาประจำวงออเคสตร้าในลอนดอน ซึ่งภายหลังได้รับราชการในกระทรวงคมนาคม ของอังกฤษ พ่อของเธอถูกนำตัวจากแคว้นสโมเลนสค์ จักรวรรดิรัสเซีย มาที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ 2 ขวบ โดย พันเอก ปิออตร์ วาซิลีเยวิช มิโรนอฟ ซึ่งเป็นปู่ของเธอ[9]

ภูมิหลังครอบครัว

[แก้]

ต้นตระกูลทางฝ่ายพ่อของเธอสืบเชื้อสายมาจาก จอมพล เคานต์ "มีฮาอีล คาเมนสกี" อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของรัสเซีย ในสงครามนโปเลียน ที่ถูกผู้ใต้บังคับบัญชาลอบสังหารด้วยการใช้ขวานสับที่ศีรษะจนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1809 จอมพล มีฮาอีล มีบุตรชายคือ พลเอก เคานต์ "เซียร์เกย์ มิฮาอิลโลวิช คาเมนสกี" ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารราบ เคานต์ เซียร์เกย์ ถูกปลดออกจากราชการทหารในปี ค.ศ. 1822 จากนั้นไปใช้ชีวิตที่ โอริออล[11]

เคานต์ เซียร์เกย์ มีบุตรชายคือ เคานต์ "อันเดรย์ คาเมนสกี" โดยเคานต์ อันเดรย์ แต่งงานกับ ลูย์บอฟ เฟโดรอฟนา และมีบุตรสาวคือ เคาน์ติส "ลิเดีย อันเดรเยฟนา คาเมนสกี" ในปี ค.ศ. 1848 ต่อมา เคาน์ติส ลิเดีย ที่แม้เธอจะเกิดในชนชั้นสูงของจักรวรรดิรัสเซียแต่กลับเลือกแต่งงานกับ "วาซิลี มิโรนอฟ" ที่ฐานะต่ำกว่า โดยลูกชายของ วาซิลี และ ลิเดีย คือ พันเอก "ปิออตร์ วาซิลีเยวิช มิโรนอฟ" (ปู่ของเฮเลน เมียร์เรน) ได้บรรจุเข้ารับราชการทหารในกองทัพจักรวรรดิรัสเซียและเข้าร่วมสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1904

ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียได้ส่ง พันเอก ปิออตร์ มิโรนอฟ เป็นทูตไปเจรจาซื้อขายอาวุธให้กับกองทัพที่ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1915 โดยปิออตร์ ได้เดินทางมาพร้อมกับครอบครัวคือ มาเรีย มิโรนอฟ ผู้เป็นภรรยา ไอรีนา และ วาซิลี เปโตรวิช มิโรนอฟ ลูกสาวคนโตและลูกชายคนเล็ก แต่เมื่อเดินทางมาถึงที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปิออตร์กลับทราบข่าวว่าได้เกิดเหตุการณ์การปฏิวัติรัสเซีย นำไปสู่การสละราชสมบัติของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในปี ค.ศ. 1917 และรัฐบาลถูกล้มล้างโดยกลุ่มบอลเชวิก รวมทั้งเกิดการกวาดล้างในสงครามกลางเมืองรัสเซีย ทำให้ปิออตร์ และครอบครัว ไม่สามารถกลับประเทศของตัวเองได้เนื่องจากเป็นคนของฝ่ายพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2

เมื่อปิออตร์ มิโรนอฟ ไม่สามารถกลับไปยังรัสเซียได้ หลังจากการก่อตั้งสหภาพโซเวียต เขาจึงใช้ชีวิตในลอนดอนต่อไป และต้องเปลี่ยนอาชีพจากการรับราชการทหารระดับสูงในรัสเซียมาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเป็นคนขับรถยนต์โดยสารในลอนดอน เขาติดต่อกับพี่น้องที่รัสเซียผ่านทางจดหมาย โดยพี่สาวและน้องสาวของเขาแจ้งว่าบ้านและทรัพย์สินของพวกเขาที่รัสเซียถูกยึด ครอบครัวของเขากลายเป็นคนไร้บ้านและต้องไปอาศัยรวมกันในที่แคบๆและไม่มีหน้าต่างในมอสโก คอยหลบซ่อนคนของกองทัพแดง เคาน์ติส ลิเดีย คาเมนสกี แม่ของเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1928 โดย เฮเลน เมียร์เรน ได้นำจดหมายของ ปิออตร์ มิโรนอฟ ปู่ของเธอที่เขียนโต้ตอบกับครอบครัวที่รัสเซียในช่วงนี้ให้กับ เฮเลน ดันมอร์ ทำเป็นละครวิทยุเรื่อง เดอะ มิโรนอฟ เลกาซี ทางเรดิโอ 4 ของบีบีซี

เมื่อ วาซิลี เปโตรวิช มิโรนอฟ ลูกชายของปิออตร์ เติบโตขึ้น เขาทำงานเป็นคนขับรถยนต์โดยสารเช่นเดียวกับผู้เป็นพ่อ และยังทำงานเป็นนักดนตรีในตำแหน่งวิโอลาประจำวงออเคสตร้าในลอนดอนควบคู่กันไปด้วย โดยเขาแต่งงานกับ แคทลีน โรเจอส์ หญิงชาวอังกฤษในปี ค.ศ. 1938 ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง วาซิลี ได้ทำงานเป็นคนขับรถพยาบาลฉุกเฉิน และปฏิบัติหน้าที่ในลอนดอนช่วงเหตุการณ์เดอะบลิตซ์ ที่กองทัพลุฟท์วัฟเฟอของนาซีเยอรมันทิ้งระเบิดลงลอนดอนอย่างหนัก วาซิลี และ แคทลีน มีลูกด้วยกัน 3 คนคือ เยกาเจรีนา มิโรนอฟ ลูกสาวคนโต, อิลเยนา มิโรนอฟ (เฮเลน เมียร์เรน) และ ปิออตร์ วาซิลีเยวิช มิโรนอฟ

ในปี 1951 วาซิลี มิโรนอฟ ได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อและนามสกุลของเขาเป็น "บาซิล เมียร์เรน" ให้ใกล้เคียงสำเนียงอังกฤษ เนื่องจากชื่อและนามสกุลภาษารัสเซียของเขาทำให้เขาและครอบครัวต้องประสบปัญหายุ่งยากในการใช้ชีวิตที่ลอนดอน ซึ่งทั้งภรรยาและลูกๆของเขาได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุล เมียร์เรน นับแต่นั้น โดยลูกของเขาเปลี่ยนชื่อจาก เยกาเจรีนา มิโรนอฟ เป็น แคทลีน เมียร์เรน ,อิลเยนา มิโรนอฟ เป็น เฮเลน เมียร์เรน และ ปิออตร์ วาซิลีเยวิช มิโรนอฟ เป็น ปีเตอร์ บาซิล เมียร์เรน ภายหลังเขาได้ออกจากวงดนตรีและได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สอบใบอนุญาตขับขี่จนได้รับราชการที่กระทรวงคมนาคมของประเทศอังกฤษ

วันเด็ก

[แก้]

ครอบครัวของ เฮเลน เมียร์เรน ได้ย้ายจากลอนดอนมายังภาคตะวันออกของอังกฤษ โดยเธอเติบโตมาในย่านลีห์ออนซี เมืองเซาท์เอนด์ ของมณฑลเอสเซกซ์[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
  2. Murray, Braham (2007). The Worst It Can Be Is a Disaster. London: Methuen Drama. ISBN 978-0-7136-8490-2.
  3. "No. 56963". The London Gazette (Supplement). 14 June 2003. p. 7.
  4. "Dame Helen centre stage at palace". BBC News. 5 December 2003. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 July 2012.
  5. "Helen Mirren Biography: Actress (1945–)". Biography.com. FYI/A&E Networks. สืบค้นเมื่อ 15 June 2016.
  6. Lahr, John (2 October 2006). "Command Performance: The reign of Helen Mirren". The New Yorker. สืบค้นเมื่อ 24 October 2010.
  7. "England & Wales births 1837–2006 Transcription". Findmypast. สืบค้นเมื่อ 6 June 2016. Her birth was registered in the Hammersmith registration district
  8. Norman, Neil (10 March 2013). "'Whenever I see the Queen, I think, "Oh ... there I am"': The right royal progress of Helen Mirren". The Independent. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 May 2022. สืบค้นเมื่อ 20 October 2019.
  9. 9.0 9.1 9.2 "Helen Mirren". Nation's Memorybank. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 December 2008. สืบค้นเมื่อ 5 July 2008.
  10. Mirren 2011, p. 34.
  11. Russian Generals of the Napoleonic Wars
  12. Piccalo, Gina (7 February 2011). "Helen Mirren interview". The Daily Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 January 2022. สืบค้นเมื่อ 6 November 2012.