ผู้มีชื่อเสียง
ผู้มีชื่อเสียง (อังกฤษ: celebrity) หรือ ผู้เรืองนาม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คนดัง, ดารา หรือ เซเล็บ หมายถึงบุคคลที่โด่งดัง มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในสังคม ผู้มีชื่อเสียงมีประเภทและระดับหลากหลายกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่และวงการ โดยอาจรวมถึงบุคคลสาธารณะที่โด่งดังเพราะมีชื่อเสียงในทางไม่ดีหรือเป็นที่ครหา ขณะที่บางคนอาจเป็นคนมีชื่อเสียงในกลุ่มเฉพาะ ในขณะที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักสำหรับสาธารณชนกลุ่มอื่น ยกตัวอย่างเช่น ริชาร์ด แบรนสัน ผู้บริหารบริษัทเวอร์จิ้น เป็นที่รู้จักในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แต่ไม่ใช่เป็นผู้มีชื่อเสียงที่รู้จักกันทั่วไป จนกระทั่งเขาพยายามเดินเรือรอบโลกโดยใช้บัลลูน ทำให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณะ ผู้มีชื่อเสียงอีกประเภทหนึ่งที่เป็นเป้าสายตาของสาธารณชน คือพวกที่เรียกว่า เอ-ลิสต์ (A-list) โดยใช้การชี้วัดจากมุมมองด้านการตลาด สื่อของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ มักจะพูดถึงผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นระดับ เอ-ลิสต์ บี-ลิสต์ ดี-ลิสต์ หรือแซด-ลิสต์ เพื่อเป็นการวัดระดับความสำคัญ อย่างไรก็ตามทัศนะเช่นนี้ก็ยังมีความแตกต่างกันไปตามท้องที่ เป็นการยากที่จะแบ่งประเภท ดาราดังในนิการากัว อาจจะเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับ บี-ลิสต์ ในสหรัฐอเมริกา แต่อาจจะเป็นดารา เอ-ลิสต์ ในสาธารณรัฐเชคก็ได้ วิธีในการวัดความดังในประเทศจาก เอ-ลิสต์ ไป เอช-ลิสต์ สามารถพิจารณาได้จากยอดจากค้นหาในกูเกิ้ล เช่นกัน[1] แต่วิธีนี้ก็เป็นการวัดเชิงปริมาณ ใช้การสำหรับชื่อที่เป็นคนที่มีชื่อไม่มีคนใช้ชื่อซ้ำเยอะ
โดยทั่วไปแล้ว ผู้มีชื่อเสียงคือคนที่ทำตัวให้เป็นที่สนใจของสื่อและโดยมากจะเป็นบุคคลสาธารณะ ความต้องการเป็นที่รู้จักมีนัยยะในส่วนหนึ่งจากค่านิยมของวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะความฝันอเมริกัน (American Dream) ก็เป็นทัศนะหนึ่งที่ใช้ชี้วัดความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีคนที่ไต่เต้าความดังโดยการนำชีวิตส่วนตัวมาเปิดเผยให้เป็นที่รู้จัก อย่างเช่นความสัมพันธ์หลอก ๆ การปรากฏตัวในรายการเรียลลิตี้ การมีภาพโป๊หรือที่แย่กว่านั้นคือเทปลับ
ในศตวรรษที่ 20 ความหลงใหลต่อผู้มีชื่อเสียงอย่างไม่มีขีดจำกัดบวกกับความปรารถนาในเรื่องซุบซิบผู้มีชื่อเสียง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดคอลัมน์กอสซิป แท็บลอยด์ ปาปาราซซี และบล็อกผู้มีชื่อเสียง เกิดขึ้นมา
ไคลฟ์ เจมส์ นักเขียน ผู้ประกาศข่าว และนักแสดง เขียนหนังสือเกี่ยวกับปรากฏการณ์ความมีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 20 ในชื่อ Fame in the 20th Century เขาแย้งว่าคนมีชื่อเสียงจริง เกือบจะไม่เป็นที่รู้จักก่อนศตวรรษที่ 20 เพราะขาดสื่อมวลชนที่เผยแพร่กว้างขวาง เขาระบุว่า ชาร์ลี แชปลิน ถือเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับโลกคนแรกอย่างแท้จริง เนื่องจากมีผลกระทบจากภาพยนตร์ของเขาในคริสต์ทศวรรษ 1910 และหลังจากนั้น เขายังชี้ว่าผู้มีชื่อเสียงเป็นที่โดดเด่นขึ้นมาหลายวิธี เขาพูดถึง เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ว่าการใช้ชีวิตของเธอทำให้เธอโด่งดังมากกว่าผลงานการแสดงภาพยนตร์ของเธอเสียอีก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ E. Schulman, "Measuring Fame Quantitatively. III. What Does it Take to Make the 'A' List? เก็บถาวร 2007-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,"Annals of Improbable Research Vol. 12, No. 1 เก็บถาวร 2010-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (2006), 11.