ราพันเซล เจ้าหญิงผมยาวกับโจรซ่าจอมแสบ
ราพันเซล เจ้าหญิงผมยาวกับโจรซ่าจอมแสบ | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | • นาธาน เกรโน (Nathan Greno) • ไบรอน ฮาวเวิร์ด (Byron Howard) |
บทภาพยนตร์ | แดน โฟเกิลแมน (Dan Fogelman) |
สร้างจาก | ราพันเซล ของ พี่น้องกริม |
อำนวยการสร้าง | • รอย คอนลี (Roy Conli) • จอห์น แลสเซเทอร์ (John Lasseter) • เกล็น คีแอน (Glen Keane) |
นักแสดงนำ | • แมนดี มัวร์ (Mandy Moore) • แซคารี ลีวาย (Zachary Levi) • ดอนนา เมอร์ฟี (Donna Murphy) |
ผู้บรรยาย | แซคารี ลีวาย (Zachary Levi) |
ตัดต่อ | ทิม เมอร์เท็นส์ (Tim Mertens) |
ดนตรีประกอบ | เพลง: อลัน เมนเคน (Alan Menken) เนื้อเพลง: เกล็น สเลเทอร์ (Glenn Slater) |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์ |
วันฉาย | 24 พฤศจิกายน 2553 3 มีนาคม 2554 |
ความยาว | 100 นาที[1] |
ประเทศ | สหรัฐอเมริกา |
ภาษา | อังกฤษ |
ทุนสร้าง | 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] |
ทำเงิน | 592.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] |
ราพันเซล เจ้าหญิงผมยาวกับโจรซ่าจอมแสบ[3] (อังกฤษ: Tangled) เป็น ภาพยนตร์เพลงแนวตลกร้ายและเพ้อฝันสัญชาติอเมริกัน วอลต์ดิสนีย์แอนิเมชันสตูดิโอส์สร้างด้วยคอมพิวเตอร์แอนิเมชันเมื่อ พ.ศ. 2553 และเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันซึ่งฉายในโรงภาพยนตร์เป็นลำดับที่ 1 ของวอล์ดิสนีย์ มีเนื้อหาอิงเทวนิยายเยอรมันเรื่อง ราพันเซล (Rapunzel) ของพี่น้องกริม อย่างหยาบ ๆ และในภาคภาษาอังกฤษนั้น แมนดี มัวร์, ซาชารี เลวี และ ดอนนา เมอร์ฟีย์ ให้เสียงตัวละครเด่น ๆ [4]
เดิมชื่อภาษาอังกฤษของภาพยนตร์นี้คือ Rapunzel แต่ก่อนออกฉายเล็กน้อยได้เปลี่ยนเป็น Tangled ภาพยนตร์นี้ฉายในโรงภาพยนตร์ระบบสามมิติเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ส่วนในประเทศไทย ฉายเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 นอกจากนี้เคยทำเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน บาร์บี้ ในชื่อตอนว่า Barbie as Rapunzel (บาร์บี้ เจ้าหญิงราพันเซล) เมื่อปี 2089 สร้างโดย แมทเทล และ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ อินเตอร์เนชันแนล[5] การจัดสร้างภาพยนตร์ใช้เวลาถึงหกปี และแอลเอไทมส์รายงานว่า ใช้ทุนไปราว ๆ สองร้อยหกสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ใช้จ่ายเงินไปมากที่สุดทีเดียว[6]
เนื้อเรื่อง
[แก้]หยาดแสงอาทิตย์หยาดหนึ่งตกลงสู่พื้นโลก และงอกงามขึ้นเป็นดอกไม้เรืองแสงสวยงามประกอบด้วยสรรพคุณเยียวยาความเจ็บป่วย หญิงชรานางหนึ่งชื่อว่า "กอเธล" พบเจอเข้า จึงใช้ดอกไม้นั้นเพื่อคงความเยาว์วัยดุจหญิงสาวของตนเอง โดยวิธีร้องเพลงมนตร์แก่ดอกไม้นั้นว่า "บุปผาเรืองแสงส่อง เปล่งฤทธาของเจ้า ช่วยย้อนวันให้เรา คืนสิ่งที่เคยได้ครอง" นางนำสุ่มมาครอบดอกไม้นั้นเพื่อเก็บไว้ใช้แต่ผู้เดียว
หลายร้อยปีผ่านไป เกิดมีอาณาจักรขึ้นบริเวณนั้น ราชินีอันเป็นที่รักแห่งอาณาจักรดังกล่าวประชวรขณะใกล้ให้ประสูติกาล ทหารและพลเมืองช่วยกันค้นหาวิธีแก้ไข และพบดอกไม้นั้นเข้าโดยบังเอิญ ราชินีทรงได้รับการรักษา และมีประสูติกาลแก่ธิดาพระนามว่า "ราพันเซล" ผู้มีเกศางามดังทอง และบัดนี้ เกศาของพระธิดากลายเป็นแหล่งสรรพคุณวิเศษของดอกไม้นั้นแทน ในคืนนั้น กอเธลลักพาพระธิดาไปซ่อนไว้ในหอคอยสูงกลางป่า แล้วเลี้ยงดูประดุจบุตรในอุทร เพื่อใช้ผมของราพันเซลช่วยให้ตนเองคงความเยาว์วัยต่อไป นางทราบดีว่า ถ้าตัดผมของราพันเซลออก ผมนั้นจะเสื่อมสรรพคุณ และเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีน้ำตาลทันที ดังนั้น นางจึงปล่อยให้เกศาของราพันเซลยาวโดยไม่ได้ตัดเลย และไม่ให้ราพันเซลออกนอกหอคอยเลย ทั้งนี้ ทุก ๆ ปี ในวันคล้ายวันประสูติราพันเซล พระราชาและราษฎรของพระองค์จะปล่อยโคมลอยนับแสนดวงขึ้นสู่ฟ้า พวกเขาหวังว่าโคมลอยจะนำพาพระธิดาของพวกเขากลับมาอีกครั้ง
ในวันก่อนวันคล้ายวันประสูติปีที่สิบแปดของราพันเซล เธอขอให้กอเธลอนุญาตให้เธอออกไปดูโคมลอยนอกหอคอย แต่กอเธลไม่อนุญาต และให้สาเหตุว่า "โลกภายนอกมีแต่ภยันตรายและความชั่ว"
ขณะเดียวกัน กลุ่มโจรกลุ่มหนึ่ง นำโดย ฟลิน ไรเดอร์ ชายหนุ่มรูปงาม ได้ขโมยศิราภรณ์ของเจ้าหญิงผู้หายสาบสูญนั้นไปจากพระราชวัง ระหว่างที่เหล่าองครักษ์ไล่ตามกลุ่มโจรอย่างติดพันนั้น แม็กซิมัส ม้าของหัวหน้าองครักษ์ คลาดจากกลุ่มโดยไม่มีผู้ขี่ ม้าแม็กซิมัสจึงออกตามล่าฟลินเอง ในเวลานั้น ฟลินหลอกเอาศิราภรณ์ไปจากเพื่อนร่วมกลุ่ม แล้วหนีขึ้นไปซ่อนตัวที่หอคอยของราพันเซลซึ่งเขาพบโดยบังเอิญ แต่เขาถูกราพันเซลฟาดด้วยกระทะจนสลบไป เธอซ่อนเขาไว้ในตู้เสื้อผ้าของเธอ แล้วริบศิราภรณ์ไว้
เมื่อกอเธลกลับมา ราพันเซลขอให้นางไปเก็บเปลือกหอยมาให้เป็นของขวัญวันเกิดเพื่อนำมาทำสีระบายภาพ กอเธลยอมใช้เวลาเดินทางสามวันไปเอาของขวัญมาให้ ระหว่างนั้น ราพันเซลตกลงกับฟลินว่า ถ้าอยากได้ศิราภรณ์คืน ให้พาเธอออกไปนอกหอคอยเพื่อไปชมดูเหล่าโคมลอยที่เธอเข้าใจว่าเป็น "หมู่ดาว" ซึ่งปรากฏขึ้นทุก ๆ วันคล้ายวันเกิดของเธอ ฟลินพยายามให้ราพันเซลเลิกเดินทางแล้วกลับหอคอยไปเสีย โดยพาเธอไปค้างแรมที่ร้านลูกเป็ดหน่อมแน้ม (Snuggly Duckling Parlor) ที่เต็มไปด้วยคนเถื่อนชาวไวกิง ทว่า ชาวไวกิงกลับเอ็นดูราพันเซล และราพันเซลแนะนำให้พวกเขาทำความฝันของตนให้สำเร็จเหมือนที่เธอกำลังจะไปดูโคมลอยที่ฝันหามานาน
ระหว่างเดินทาง กอเธลพบม้าแม็กซิมัสที่ไม่มีคนขี่ และเกิดกังวลขึ้นมาว่า อาจมีคนไปพบราพันเซล จึงรีบกลีบไปยังหอคอย แต่พบว่า ราพันเซลไม่อยู่แล้ว ขณะนั้น เหล่าองครักษ์มาถึงร้านลูกเป็ดหน่อมแน้มเพื่อจับกุมฟลิน แต่ชาวไวกิงช่วยฟลินและราพันเซลหนีไปได้ การไล่ล่ายุติลงเมื่อม้าแม็กซิมัสทำให้เขื่อนแตก และฟลินกับราพันเซลติดอยู่ในถ้ำน้ำท่วมไร้ทางออก เมื่อคิดว่า ตนกำลังใกล้ความตาย เขาสารภาพว่า อันที่จริงตนเองชื่อ ยูจีน ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต ส่วนราพันเซลก็สารภาพว่า เธอมีเส้นผมวิเศษที่เรืองแสงได้เวลาที่เธอร้องเพลงมนต์ ทันใด ผมของเธอก็เรืองแสงขึ้นและชี้ทางออกให้แก่คนทั้งสอง ทั้งคู่จึงออกจากถ้ำปิดตายนั้นได้ และราพันเซลได้ใช้ผมของเธอเยียวยาบาดแผลของยูจีน คืนนั้น กอเธลติดตามมาพบราพันเซล และบอกเธอว่า ยูจีนไม่สนใจเธอจริง เขาประสงค์เพียงได้ศิราภรณ์เท่านั้น โดยกอเธลยืนยันให้ราพันเซลทดสอบยูจีนโดยคืนศิราภรณ์ให้ดู
เช้าวันต่อมา ม้าแม็กซิมัสพบยูจีน แต่ได้กลายเป็นเพื่อนกับราพันเซลไป และยอมร่วมทางไปกับคนทั้งสองเพื่อกลับอาณาจักรแล้วพาราพันเซลไปดูโคมลอย คืนนั้น ยูจีนพาราพันเซลล่องเรือไปกลางอ่าวหน้าพระราชวังเพื่อชมดูโคมลอยอย่างใกล้ ๆ ณ ที่นั้น ราพันเซลคืนศิราภรณ์ให้เขา แต่เขากล่าวว่า เขาไม่ต้องการมันอีกต่อไปแล้วเมื่อเขาได้พบเธอ ทันใด เขาสังเกตเห็นเพื่อนโจรของเขาที่เขาทิ้งมา เขาจึงละราพันเซลไปพบเพื่อนเพื่อยกศิราภรณ์ให้ ทว่า เพื่อนโจรจับเขามัดติดกับเรือแล้วให้แล่นเข้าไปในท่าของพระราชวัง พวกเขาบอกแก่ราพันเซลว่า ยูจีนทรยศความรู้สึกของเธอโดยชิงศิราภรณ์จากไปแล้ว และพวกเขาจะจับเธอเพื่อเอาผมเธอไปขายเสียเดี๋ยวนี้ แต่กอเธลช่วยราพันเซลไว้ได้ และพาเธอกลับหอคอย ทว่า ทั้งหมดนี้เป็นแผนการของกอเธล วันนั้น ยูจีนถูกจับและถูกพิพากษาประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ม้าแม็กซิมัสจึงนำพาชาวไวกิงที่ร้านลูกเป็ดหน่อมแน้มมาช่วยยูจีน และไปช่วยราพันเซลที่หอคอย
ราพันเซลคิดทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้พบขณะเดินทางไปดูดูโคมลอย เธอจึงทราบว่า เธอคือเจ้าหญิงที่หายสูญไปจากอาณาจักร และเธอพยายามหลบหนี กอเธอจึงจับเธอไว้ และเมื่อยูจีนมาถึงหอคอย กอเธลแทงเขาจากข้างหลัง แล้วกล่าวว่า นางจะพาราพันเซลหนีไปอยู่ที่อื่นแล้ว แต่ราพันเซลขอให้เธอให้ใช้ผมรักษายูจีนก่อน เธอจะยอมเป็นของกอเธลตลอดไป ก่อนราพันเซลจะได้ช่วยเยียวยายูจีน ยูจีนคว้าเศษกระจกมาตัดผมของราพันเซลเสียจนสั้น เส้นผมของราพันเซลจึงเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มและสูญเสียสรรพคุณไป กอเธลบันดาลโทสะเป็นอันมาก และร่างกายนางก็เปลี่ยนกลับสู่ความชราอย่างรวดเร็ว จนนางมิอาจยอมรับเงาของตนในกระจกได้ นางใช้ผ้าคลุมปิดหน้าตนเองไว้ ด้วยความโกรธและตื่นตกใจ นางวิ่งพล่านจนล้มคะมำพุ่งออกจากหน้าต่างหอคอยดิ่งลงสู่พื้นเบื้องล่าง ร่างกายของนางก็ร่วงโรยขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนนางจะปะทะกับพื้นแล้วป่นเป็นเถ้ากระดูกไป
ยูจีนค่อย ๆ ตายลงในอ้อมแขนของราพันเซล ด้วยความเสียใจ ราพันเซลร้องไห้และร้องเพลงมนต์ หยาดน้ำตาของเธอหยดลงบนแก้มของยูจีน และยังให้เขาฟื้นจากความตายอีกครั้ง ทั้งสองกอดและจูบกัน แล้วพากันกลับอาณาจักร พระหทัยของราชาและราชินีนั้นท้นไปด้วยน้ำตาของความปีติที่ได้พบพระธิดาอีกครั้ง หลายปีต่อมา ยูจีนและราพันเซลเสกสมรสกัน ส่วนชาวไวกิงก็ทำความฝันของพวกตนให้เป็นจริง ฝ่ายม้าแม็กซิมัสนั้นก็ได้บรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นสูงในกององครักษ์
ตัวละคร
[แก้]ชื่อ | พากย์ | ||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อังกฤษ[7] | ไทย | ||||||||||||||||||||||||||||
ราพันเซล (Rapunzel) | แมนดี มัวร์ (Mandy Moore) | ชนนัยน์ สุขวัจน์ | |||||||||||||||||||||||||||
ยูจีน ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต (Eugene Fitzherbert) หรือ ฟลิน ไรเดอร์ (Flynn Rider) |
ซาชารี เลวี (Zachary Levi) | อภินันท์ ธีระนันทกุล พูด พิชญากร แช่มช้อย ร้อง | |||||||||||||||||||||||||||
กอเธล (Gothel) | ดอนนา เมอร์ฟีย์ (Donna Murphy) | สุกานดา บุณยธรรมิก | |||||||||||||||||||||||||||
พี่น้องสแตบบิงตัน (Stabbington Brothers) | รอน เพิร์ลแมน (Ron Perlman) | สปัลศิลป์ ศิริชัย | |||||||||||||||||||||||||||
โจรมือตะขอ (Hook-Hand Thug) | แบรด การ์เรต (Brad Garrett) | เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง พูด กฤษณะ ศฤงคารนนท์ ร้อง | |||||||||||||||||||||||||||
โจรจมูกใหญ่ (Big Nose Thug) | เจฟฟรีย์ แทมเบอร์ (Jeffrey Tambor) | ||||||||||||||||||||||||||||
วแลเดมีร์ (Vladamir) | ริชาร์ด คีเอล (Richard Kiel) | สปัลศิลป์ ศิริชัย | |||||||||||||||||||||||||||
โจรเตี้ย (Short Thug) | พอล เอฟ. ทอมป์กินส์ (Paul F. Tompkins) | เอกชัย พงศ์สมัย | |||||||||||||||||||||||||||
โจรเลิฟลอร์น (Lovelorn Thug) | กฤษณะ ศฤงคารนนท์ | ||||||||||||||||||||||||||||
หัวหน้าราชองครักษ์ (Captain of the Guard) | เอ็ม. ซี. เกนีย์ (M. C. Gainey) | เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง | |||||||||||||||||||||||||||
ราชองครักษ์ (Guard) | ทอม เคนนีย์ (Tom Kenny) | ||||||||||||||||||||||||||||
พาสกาล (Pascal) | แฟรงก์ เวลเกอร์ (Frank Welker) | ||||||||||||||||||||||||||||
แม็กซิมัส (Maximus) | |||||||||||||||||||||||||||||
หมายเหตุ: = ไม่ทราบ และ = ใช้เสียงดั้งเดิม |
อนึ่ง ในฉบับภาษาไทยนั้น นอกจาก กฤษณะ ศฤงคารนนท์ จะพากย์ด้วยแล้ว เขายังเป็นผู้กำกับการพากย์ด้วย ส่วนบทภาษาไทยนั้น ธนัชชา ศักดิ์สยามกุล แปล
การผลิต
[แก้]ระยะเวลาและกำหนดการ
[แก้]แอลเอไทมส์รายงานว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาพัฒนาถึงหกปี และใช้เงินไปมากกว่าสองร้อยหกสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ[6]
เดิมทีในเดือนเมษายน 2550 มีการประกาศว่า จะให้ ดีน เวลลินส์ (Dean Wellins) นักแอนิเมชันและนักเขียนเรื่องผู้เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแอนนี มาร่วมกำกับภาพยนตร์นี้กับ เกล็น คีแอน (Glen Keane)[8] วันที่ 9 ตุลาคม ปีถัดมา มีรายงานว่า ทั้งคู่ลาออก และมีการแต่งตั้ง ไบรอน ฮาวเวิร์ด (Byron Howard) กับ นาธาน เกรโน (Nathan Greno) และคณะ มาแทนที่ คณะของฮาวเวิร์ดเคยทำงานให้แก่ดิสนีย์ในภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เรื่อง ซูเปอร์โฮ่ง ฮีโร่หัวใจเต็มร้อย (Bolt) มาก่อน โดยคีแอนที่ลาออกจากตำแหน่งผู้กำกับนั้นจะไปเป็นผู้อำนวยการบริหารการผลิตและผู้ควบคุมแอนิเมชัน ส่วนเวลลินส์จะไปทำภาพยนตร์สั้นเรื่องอื่น[9]
การเปลี่ยนชื่อ
[แก้]ในเบื้องต้น มีการโฆษณาภาพยนตร์เรื่องนี้โดยใช้ชื่อว่า Rapunzel Unbraided ("ราพันเซลไม่ได้ถักเปียนะ") แล้วเปลี่ยนเป็น Rapunzel ("ราพันเซล") เฉย ๆ[10]
เนื่องจากดิสนีย์เห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า มหัศจรรย์มนต์รักเจ้าชายกบ ที่ฉายในปี 2551 นั้น ยังไม่ได้ดั่งใจ ถึงแม้ว่า ภาพยนตร์นี้จะได้รับคำวิพาษ์วิจารณ์ไปในทางบวก และนำรายได้จากทั่วโลกมาเกือบสองร้อยเจ็ดสิบล้านดอลลาร์สหรัฐก็ตาม ประกอบกับดิสนีย์มองว่า หากภาพยนตร์เรื่องใหม่นั้นใช้ชื่อ Rapunzel จะไม่จูงใจเด็กหนุ่มมาชมดู[11] [12] ดิสนีย์จึงเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์เรื่องใหม่อีกครั้ง จาก Rapunzel เป็น Tangled ("อีนุงตุงนัง") โดยคาดว่าน่าจะจูงใจทั้งหญิงทั้งชายมากขึ้น และจะได้เน้นย้ำบทบาทของฟลิน ไรเดอร์ พระเอกของเรื่อง มากขึ้นด้วย[12]
ในครั้งนี้ ดิสนีย์ถูกประณามเป็นอันมากกว่า ละทิ้งชื่อที่เป็นแบบแผนไปเพียงเพื่อประโยชน์ทางการตลาด โดย ฟลอยด์ นอร์แมน อดีตนักแอนิเมชันและนักเขียนเรื่องของดิสนีย์และพิกซาร์ แถลงว่า "ไอ้แนวความคิดเรื่องเปลี่ยนชื่อคลาสสิก ๆ อย่าง 'ราพันเซล' ไปเป็น 'อีนุงตุงนัง นี่ ผมว่ามันโฉดเขลาสิ้นดี ผมฟันธงเลยว่า เขาจะไม่ได้อะไรจากการเปลี่ยนชื่อนี้ จะได้อย่างเดียวก็แต่การถูกผู้คนมองว่าดิสนีย์พยายามหาคนมาดูหนังเพิ่ม"[13] และ จัสติน ชาง (Justin Chang) จากนิตยสารวาไรอิที (Variety) เปรียบว่า การกระทำครั้งนี้ของดิสนีย์ เหมือนกับเปลี่ยนชื่อ The Little Mermaid ("เงือกน้อยผจญภัย") ไปเป็น Beached ("เกยตื้น")[14]
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 อันเป็นวันที่เผยแพร่ภาพยนตร์ครั้งแรก ผู้กำกับภาพยนตร์ทั้งสองคนแถลงว่า การเปลี่ยนชื่อมิใช่การตัดสินใจเพื่อการตลาด แต่เพราะว่า ราพันเซลไม่ใช่ตัวเอกเพียงคนเดียวของเรื่อง แต่เป็นทั้งราพันเซลและฟลิน ไรเดอร์ ผู้กำกับทั้งคู่กล่าวด้วยว่า "ก็เหมือนกับที่คุณจะไปเรียก Toy Story ("ทอยสตอรี") ว่า Buzz Lightyear ("บัซ ไลต์เยียร์" ตัวเอกของเรื่องคู่กับ นายอำเภอวูดี) นั้นก็ไม่ได้อยู่แล้ว" และว่า พวกตนต้องการชื่อที่แสดงถึงแก่นเรื่องอย่างแท้จริงเท่านั้น[15]
แอนิเมชัน
[แก้]ภาพยนตร์นี้ทำขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีที่เรียก การสร้างจินตภาพด้วยคอมพิวเตอร์ (computer-generated imagery) แต่ก็อ้างอิงภาพลักษณ์แบบดั้งเดิมจากภาพเขียนผ้าใบเก่า ๆ ด้วย มีการใช้ชุดภาพเขียนโรโกโกของ ฌ็อง-ออนอเร ฟราโฌนาร์ (Jean-Honoré Fragonard) จิตรกรชาวฝรั่งเศส โดยเฉพาะภาพ เดอะสวิง (The Swing) มาใช้เป็นแนวทางศิลปะของภาพยนตร์ เพราะผู้กำกับคีแอนเห็นว่าเป็นผลงานที่ "ทั้งน่าเพ้อฝัน ทั้งงามงดสดใส"[16]
ผู้กำกับคีแอนประสงค์ให้รูปลักษณ์และสัมผัสในภาพยนตร์เป็นแบบที่ดิสนีย์เคยวาดด้วยมือแต่ก่อน แต่ในรูปแบบสามมิติ เขาจึงจัดการสัมมนาชื่อ "ของดีจากสองโลก" (The Best of Both Worlds) เพื่อให้จิตรกรคอมพิวเตอร์กราฟิก และจิตรกรวาดมือ จำนวนห้าสิบคน ของดิสนีย์ มาถกกันเรื่องข้อดีข้อด้อยของการวาดมือและระบบสามมิติ[17] เพราะมีข้อจำกัดบางประการทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ภาพยนตร์สร้างด้วยเทคโนโลยีการสร้างจินตภาพด้วยคอมพิวเตอร์จึงไม่เคยใช้งานที่ทำงานมือเลย แต่ในสมัยหลัง เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาก ทำให้สามารถผสมผสาน "งานทำมือ" และ "งานทำคอมป์" เข้าด้วยกันได้ แล้วเลือกใช้จุดที่ดีที่สุดของทั้งสอง คีแอนเน้นย้ำว่า เขาพยายามให้คอมพิวเตอร์ "คำนับจิตรกรวาดมือ" มากกว่าให้คอมพิวเตอร์ครองโลกศิลปะ เขากล่าวด้วยว่า เขาประสบความสำเร็จในการทำให้คอมพิวเตอร์ "ว่าง่ายอย่างดินสอ" และเรียกทัศนคติของเขาว่า "การวาดภาพสามมิติ" (three dimensional drawing) ด้วยเทคโนโลยีอันอยู่ในความควบคุมของจิตกร เมื่อเริ่มงาน เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่คีแอนต้องการมีเพื่อให้ผลงานออกมามีคุณภาพสูงนั้น ยังไม่มีในพื้นโลก ดิสนีย์แอนิเมชันสตูอิโอส์จึงต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเอง[16] คีแอนกล่าวว่า "มันไม่มีเส้นผมเสมือนจริงเหมือนถ่ายรูปเอาได้ ผมอยากได้ผมสวย แล้วเราก็เลยประดิษฐ์หนทางใหม่สำหรับให้ได้ผมสวยนั้น ผมอยากให้ประะสมความอบอุ่นและความรู้แจ้งเห็นจริงแบบใช้มือวาดเข้าไปในซีจีไอ [การสร้างจินตภาพด้วยคอมพิวเตอร์]"[18]
เป้าหมายหลักเป้าหมายหนึ่งของนักแอนิเมชันคือ สร้างความเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งให้ดูนุ่มนวลเหมือนวาดมืออย่างในภาพยนตร์เก่า ๆ ของดิสนีย์ คีแอนยกเรื่องนี้ให้เป็นผลงานของ ไคล์ สตราวิตซ์ (Kyle Strawitz) นักแอนิเมชันสามมิติของดิสนีย เขากล่าวว่า สตราวิตซ์ "เอาบ้านมากจากเรื่องสโนว์ไวต์ แล้วสร้างมัน เขาระบายสีมัน เพื่อให้มันดูเป็นบ้านแบนเรียบ แต่ทันใด มันก็เคลื่อนไหวได้ แล้วก็มีมติ เขาเก็บรายละเอียดทุกอย่างราวกับเป็นความนุ่มนวลและโค้งควับแห่งแปรงสีน้ำ ไคล์ช่วยให้เราได้ผู้หญิงในภาพ สวิง ของฟราโฌนาร์...เรากำลังใช้...เทคนิคทันสมัยที่สุดเพื่อทำให้เกิดบุคลิกมนุษย์เสมือนจริงจนใครก็เถียงไม่ได้ และก็ให้เกิดบรรยากาศพร้อมสรรพด้วย"[16]
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีการสร้างจินตภาพด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีนั้นยังมีข้อขัดข้องอยู่บ้าง โดยเฉพาะในเรื่องจัดการเส้นผมของราพันเซล เคลลี วาร์ด (Kelly Ward) วิศวกรซอฟต์แวร์ชั้นผู้ใหญ่ของดิสนีย์ จึงสละเวลาหกปีนั่งเขียนโปรแกรมขึ้นมา เพื่อทำให้ควบคุมเส้นผมของราพันเซลได้ตามต้องการ[19] เขาพัฒนาโปรแกรมจำลองการเคลื่อนไหวของเส้นผมชื่อ "ไดนามิกไวรส์" (Dynamic Wires) และเคยนำโปรแกรมนี้ไปใช้ในภาพยนตร์เรื่อง ซูเปอร์โฮ่ง ฮีโร่หัวใจเต็มร้อย โปรแกรมดังกล่าวยุติความกังวลของเหล่าผู้กำกับในเรื่องเส้นผมยาวสลวยของราพันเซลได้ในเดือนมีนาคม 2553[20]
นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีเรขาคณิตแยกส่วนต่างอย่างเด่นชัด (discrete differential geometry) เพื่อสร้างผลตามที่ต้องการและพิชิตความยากลำบากบางประการในเรื่องผมของราพันเซล โดยเฉพาะเพื่อให้ผมพลิวไสวเมื่อต้องลม และลอยไปตามน้ำได้อย่างไม่น่าเชื่อ เทคโนโลยีดังกล่าวยังให้นักแอนิเมชันทำหน้าที่อันเฉพาะเจาะจงของตนได้ดังใจ จากที่เดิมต้องใช้เวลาหลายวันก็ลดลงเหลือเพียงไม่กี่นาที[21]
คณะทำงานฝ่ายสามมิติได้ตั้งอยู่บทการเข้าถึงความสุนทรีย์ทางศิลปะ มากกว่าจะเพ่งเป้าหมายไปยังความเหมือนจริง โรเบิร์ต นิวแมน (Robert Neuman) ผู้ควบคุมมุมมองสามมิติของภาพยนตร์ กล่าวว่า "เรากำลังจมดิ่งสู่ความนุ่มลึกอย่างเป็นศิลปะมากกว่าครั้งไหน ๆ และเราก็ไม่ได้ใส่จะถ่ายทอดความลึกซึ้งของกล้องกับมุมภาพอย่างตรงไปตรงมา หากเราใฝ่ใจจะตีความมันมากกว่า" ในการนี้ คณะทำงานได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียก "มัลติ-ริกกิง" (multi-rigging) ที่สร้างขึ้นจากกล้องเสมือนจริงจำนวนหลายคู่ แต่ละคู่ทำหน้าที่อย่างเป็นเอกเทศของตนในแต่ละองค์ประกอบเป็นราย ๆ ไป โดยจะเพิ่มความลึกซึ้งให้แก่ฉาก เช่น ในฉากหลัง, ฉากหน้า และลีลาตัวละคร โดยไม่เกี่ยวโยงกับกล้องคู่อื่น ๆ เลย พอนำกล้องทั้งหมดมาประสมกันในการผลิตขั้นตอนต่อมา จะได้ผลลัพธ์เป็น "อะไรบางอย่างที่เป็นไปไม่ได้โดยทัศนวิสัยในโลกจริง แต่ก็สร้างภาพลักษณ์น่าดึงดูดให้แก่ภาพยนตร์"[22]
เพลงประกอบภาพยนตร์
[แก้]ราพันเซล เจ้าหญิงผมยาวกับโจรซ่าจอมแสบ: เพลงประกอบภาพยนตร์ต้นฉบับ Tangled: Original Soundtrack | |
---|---|
ซาวด์แทร็กอัลบั้มโดย | |
วางตลาด | 16 พฤศจิกายน 2553 |
บันทึกเสียง | 2553 |
แนวเพลง | ลูกทุ่งร็อก, มัชฌิมยุค, ประกอบภาพยนตร์ |
ค่ายเพลง | วอลต์ดิสนีย์ |
เพลงประกอบภาพยนตร์ต้นฉบับนั้น อลัน เมนเคน (Alan Menken) ผู้ได้รับรางวัลอะแคเดมีอะวอดส์ถึงแปดครั้ง รับหน้าที่ประพันธ์ และเกล็น สเลเทอร์ (Glenn Slater) เขียนเนื้อร้อง[23] เมนเคนกล่าวว่า เขาพยายามประสมดนตรีแบบมัชฌิมยุคเข้ากลับเพลงลูกทุ่งแนวร็อกในยุค 1960 เพื่อให้เกิดแนวเพลงใหม่ ๆ[24]
ลำดับ | ชื่อเพลง | ร้อง/บรรเลง | ยาว |
---|---|---|---|
1. | "When Will My Life Begin? (ท. "เมื่อไรชีวิตจะเริ่มต้น")" | แมนดี มัวร์ (ชนนัยน์ สุขวัจน์) | 2:32 |
2. | "When Will My Life Begin? (Reprise 1) (ท. "เมื่อไรชีวิตจะเริ่มต้น (รีไพรส์ 1)")" | มัวร์ (ชนนัยน์ สุขวัจน์) | 1:03 |
3. | "Mother Knows Best? (ท. "แม่รู้กว่าใคร")" | ดอนนา เมอร์ฟีย์ (สุกานดา บุณยธรรมิก) | 3:10 |
4. | "When Will My Life Begin? (Reprise 2) (ท. "เมื่อไรชีวิตจะเริ่มต้น (รีไพรส์ 2)")" | มัวร์ (ชนนัยน์ สุขวัจน์) | 2:06 |
5. | "I've Got a Dream (ท. "ฉันมีความฝัน")" | แบรด การ์แรต, เจฟฟรีย์ แทมบอร์, มัวร์, ซาชารี เลวี, และคนอื่น ๆ (ชนนัยน์ สุขวัจน์, สุเมธ องอาจ, พิชญากร แช่มช้อย, กิตติคุณ สดประเสริฐ, ธานี พูนสุวรรณ) | 3:11 |
6. | "Mother Knows Best (Reprise) (ท."แม่รู้กว่าใคร (รีไพรส์)")" | เมอร์ฟีย์ (สุกานดา บุณยธรรมิก) | 1:38 |
7. | "I See the Light (ท. "เห็นแสงประกาย")" | มัวร์, เลวี (ชนนัยน์ สุขวัจน์, สุเมธ องอาจ) | 3:44 |
8. | "Healing Incantation (ท. "บทเพลงรักษา")" | มัวร์ (ชนนัยน์ สุขวัจน์) | 0:54 |
9. | "Flynn Wanted" | อลัม เมนเคน | 2:51 |
10. | "Prologue" | เมอร์ฟีย์, เดลานี สเตน | 2:02 |
11. | "Horse with No Rider" | เมนเคน | 1:57 |
12. | "Escape Route" | " | 1:57 |
13. | "Campfire" | " | 3:21 |
14. | "Kingdom Dance" | " | 2:20 |
15. | "Waiting For the Lights" | " | 2:47 |
16. | "Return to Mother" | " | 2:06 |
17. | "Realization and Escape" | " | 5:50 |
18. | "The Tear Heals" | เมนเคน, มัวร์ | 7:37 |
19. | "Kingdom Celebration" | เมนเคน | 1:50 |
20. | "Something That I Want" | เกรซ พอตเตอร์ | 2:43 |
เพลงหลายเพลงถูกตัดออกจากภาพยนตร์ เช่น "What More Could I Ever Need?" ที่ใช้เพลง "When Will My Life Begin?" ซึ่งแต่งขึ้นใหม่แทน นอกจากนี้ เมนเคนยังกล่าวว่า เขาแต่งเพลงสำหรับตอนเริ่มภาพยนตร์เอาไว้ถึงห้าหกเพลง[25]
อนึ่ง เมนเคนยังให้สัมภาษณ์ว่า เดิมเขาแต่งเพลงรักที่ชื่อ "You Are My Forever" ให้กอเธลร้องต่อราพันเซลในแนวแม่ลูก แต่ได้ตัดเพลงดังกล่าว เพราะต้องการให้ฟลิน ไรเดอร์ ร้องเพลงแนวรักใคร่กับราพันเซลแทน โดยเปลี่ยนไปให้กอเธลร้องเพลง "Mother Knows Best" และให้ฟลินกับราพันเซลร้อง "I See the Light"[26]
ภาพยนตร์นี้ปิดด้วยเพลง "Something That I Want" ที่ เกรซ พอตเตอร์ (Grace Potter) จากวงร็อกสัญชาติอเมริกันชื่อ เกรซพอตเตอร์แอนด์น็อกเทอร์นัลส์ (Grace Potter and the Nocturnals) ร้อง เพลงนี้พอตเทอร์ปรับปรุงเนื้อร้องเองด้วย ส่วนในภาพยนตร์ที่พากย์ภาษาสเปนนั้น เพลงดังกล่าวได้รับการแปลเป็นภาษาสเปน ชื่อ "Algo Quiero Querer" แล้วให้ แฟนนี ลู (Fanny Lú) ขับร้อง[27]
อัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่อันดับที่ 44 ในบิลบอร์ด 200, อันดับที่ 27 ในสถิติเพลงประกอบภาพยนตร์ และอันดับที่ 3 ในสถิติอัลบัมเพลงเด็ก[28][29][30]
ส่วนในฉบับภาษาไทยนั้น ธานี พูนสุวรรณ แปลเนื้อร้อง และสุกานดา บุณยธรรมิก กำกับการร้อง ทั้งคู่ยังร่วมร้องบางเพลงด้วย บันทึกเสียงทั้งพูดและร้องที่เกคโค สตูดิโอ คอมเพล็กซ์ ภายในการควบคุมของ บริษัทดิสนีย์แคแรกเตอร์วอยเซสอินเทอร์เนชันนัล (Disney Character Voices International, Inc)
รางวัล
[แก้]ภาพยนตร์นี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลหลายสิบรางวัล สมาคมผู้สื่อข่าวต่างชาติประจำฮอลลีวูด (Hollywood Foreign Press Association) ส่งเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ (Golden Globe Awards) สองสาขา คือ ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และเพลงต้นฉบับยอดเยี่ยมสำหรับเพลง "I See the Light" แต่สาขาแรกแพ้ให้แก่ ทอยสตอรี 3 (Toy Story 3) ของดิสนีย์ด้วยกันเอง และสาขาที่สองพ่ายต่อ บาร์รัก เวทีร้อน (Burlesque) สมาคมผู้สื่อข่าวต่างชาติแห่งฮอลลีวูดยังเสนอให้ชิงรางวัลแอนนี (Annie Awards) สองสาขา คือ ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์แอนมิชันยอดเยี่ยม
อนึ่ง ภาพยนตร์นี้ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ฟินิกซ์ (Phoenix Film Critics Society Awards) สองสาขา คือ ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และเพลงต้นฉบับยอดเยี่ยมสำหรับเพลง "I've Got a Dream" แต่ก็แพ้แก่ ทอยสตอรี 3 กับ บาร์รัก เวทีร้อน ตามลำดับ และเพลง "I See the Light" ยังได้เข้าชิงสาขาเพลงต้นฉบับยอดเยี่ยมในรางวัลอะแคเดมีครั้งที่ 83 (83rd Academy Awards) ด้วย ทว่า แพ้ให้แก่เพลง "We Belong Together" จาก ทอยสตอรี 3 ไปอีกหน ภาพยนตร์นี้ยังได้รับการส่งเข้าชิงรางวัลแซตเทิร์นสำหรับภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม (Saturn Award for Best Animated Film) ครั้งที่ 37 ด้วย
อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เรื่องนี้ชนะเลิศสาขาฉากสามมิติยอดเยี่ยมแห่งปี (best 3D scene of the year) ใน รางวัลสมาคมศิลปะสร้างสรรค์สามมิติระหว่างประเทศ (International 3D Society Creative Arts Awards) ครั้งที่สอง[31]
รางวัล | สาขา | ผลลัพธ์ |
---|---|---|
รางวัลอะแคเดมีครั้งที่ 83 (83rd Academy Awards)[32] | เพลงยอดเยี่ยม ("I See the Light") | เสนอชื่อเข้าชิง |
รางวัลแอนนีครั้งที่ 38 (38th Annie Awards)[33] | Best Animated Feature Film | เสนอชื่อเข้าชิง |
บทภาพยนตร์แอนมิชันยอดเยี่ยม [แดน ฟอเกิลแมน (Dan Fogelman)] | เสนอชื่อเข้าชิง | |
รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์แพร่ภาพกระจายเสียง 2010 (Broadcast Film Critics Association Awards 2010)[34] | ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง |
เพลงยอดเยี่ยม ("I See the Light") | เสนอชื่อเข้าชิง | |
รางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 68 (68th Golden Globe Awards)[35] | ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง |
เพลงยอดเยี่ยม ("I See the Light") | เสนอชื่อเข้าชิง | |
รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ 2010 (National Movie Awards 2010) | แอนิเมชัน | ชนะ |
รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ฟินิกซ์ (Phoenix Film Critics Society Awards)[36] | ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง |
เพลงยอดเยี่ยม ("I've Got a Dream") | เสนอชื่อเข้าชิง | |
รางวัลแซตเทิร์นครั้งที่ 37 (37th Saturn Awards) | ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง |
รางวัลสมาคมศิลปะสร้างสรรค์สามมิติระหว่างประเทศ (International 3D Society Creative Arts Awards) ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2554)[31] | ฉากสามมิติยอดเยี่ยมแห่งปี | ชนะ |
รางวัลทีนชอยส์ 2011 (2011 Teen Choice Awards)[37] | ตัวเลือกประเภทภาพยตร์ - แอนิเมชัน | เสนอชื่อเข้าชิง |
ตัวเลือกประเภทเสียงพากย์ภาพยนตร์แอนิเมชัน (ซาชารี เลวี) | เสนอชื่อเข้าชิง |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Tangled: 100 minutes (Starz 08/2011 Schedule, Page 4)
- ↑ 2.0 2.1 "Tangled (2010)". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ 2011-05-25.
- ↑ "ปกดีวีดี". สืบค้นเมื่อ 2011-11-23.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Walt Disney Studios Rolls Out Slate of 10 New Animated Motion Pictures Through 2012". PR Newswire. สืบค้นเมื่อ 2010-11-23.
- ↑ "Disney Pictures Home Page". Disney.go.com. Disney. สืบค้นเมื่อ 2009-12-24.
- ↑ 6.0 6.1 Chmielewski, Dawn C.; Eller, Claudia (November 21, 2010). "Disney Animation is closing the book on fairy tales". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 2010-11-23.
- ↑ IMDb (2010). "Full cast and crew for Tangled". สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2011.
- ↑ "Rapunzel Gets Second Director". The Laughing Place. April 12, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-07. สืบค้นเมื่อ November 23, 2010.
- ↑ "Ain't It Cool News: Glen Keane leaving Disney's RAPUNZEL. Who's stepping up?". AintItCool.com. October 10, 2008. สืบค้นเมื่อ March 13, 2011.
- ↑ Jim Hill (2005-08-08). ""Rapunzel Unbraided" aims to be " ... a film of astonishing beauty."". Jim Hill Media. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-21. สืบค้นเมื่อ 2010-10-06.
- ↑ "The Princess and the Frog @ Yahoo Movies". Yahoo listing of mainstream reviews. สืบค้นเมื่อ April 11, 2011.
- ↑ 12.0 12.1 Dawn C. Chmielewski & Claudia Eller (2010-03-09). "Disney restyles 'Rapunzel' to appeal to boys". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 2010-03-12.
- ↑ Claudia Eller (2010-03-09). "Disney wrings the pink out of 'Rapunzel'". Los Angeles Times.
The idea of changing the title of a classic like Rapunzel to Tangled is beyond stupid. I'm convinced they'll gain nothing from this except the public seeing Disney as desperately trying to find an audience.
- ↑ Justin Chang. "'Tangled' Review". Variety. สืบค้นเมื่อ 2011-03-23.
- ↑ "How did Rapunzel become 'Tangled'? Directors Nathan Greno and Byron Howard set the record straight". Entertainment Weekly. Time Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-19. สืบค้นเมื่อ 2011-03-23.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 Desowitz, Bill (November 4, 2005). "Chicken Little & Beyond: Disney Rediscovers its Legacy Through 3D Animation". Animation World Network. สืบค้นเมื่อ July 5, 2006.
- ↑ Holson, Laura M. (2005-09-18). "Disney Moves Away From Hand-Drawn Animation". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2006-06-05.
- ↑ Bill Desowitz (2006-09-08). "'Little Mermaid' Team Discusses Disney Past and Present". AWN.com. สืบค้นเมื่อ 2011-01-21.
- ↑ "Roundtable Interview with Glen Keane". DAPs. March 17, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 21, 2012. สืบค้นเมื่อ April 11, 2011.
- ↑ "'Tangled' directors unravel film's secrets". SiouxCityJournal.com. December 5, 2010. สืบค้นเมื่อ December 8, 2010.
- ↑ Patricia Cohen (December 29, 2010). "Perfecting Animation, via Science". NYTimes.com. สืบค้นเมื่อ December 12, 2012.
- ↑ "Get 'Tangled' up in hair-raising 3D!". The Manila Bulletin Newspaper Online. January 24, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 30, 2011. สืบค้นเมื่อ June 20, 2011.
- ↑ Graham, Bill (2010-09-27). "Alan Menken Exclusive Interview Tangled". Collider.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-01. สืบค้นเมื่อ 2010-11-26.
- ↑ Hammond, Pete (2010-09-09). "Oscar's Animation Race Just Got 'Tangled'". Deadline Hollywood. สืบค้นเมื่อ 2010-11-26.
- ↑ "Alan Menken Talks 'Tangled', 'Sister Act', 'Leap of Faith', 'The Hunchback of Notre Dame', 'Aladdin' & More". BroadwayWorld.com. 2010-11-15. สืบค้นเมื่อ 2010-11-23.
- ↑ "Tangled". Animated Views Forum. สืบค้นเมื่อ November 23, 2010.
- ↑ "Fanny Lu canta para Walt Disney". Elespectador.com. สืบค้นเมื่อ March 13, 2011.
- ↑ "Music Albums, Top 200 Albums & Music Album Charts". Billboard.com. สืบค้นเมื่อ March 13, 2011.
- ↑ "Soundtracks". Billboard.com. สืบค้นเมื่อ March 13, 2011.
- ↑ "Kids Albums". Billboard.com. สืบค้นเมื่อ March 13, 2011.
- ↑ 31.0 31.1 "Dragon, Pixar, Disney top 3D Society Creative Arts Awards". AnimationMagazine.net. สืบค้นเมื่อ February 10, 2011.
- ↑ "Academy Awards nomination list". TheState.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-05. สืบค้นเมื่อ January 25, 2011.
- ↑ "The Annie Awards". AnnieAwards.org. สืบค้นเมื่อ December 16, 2010.
- ↑ "'Black Swan' leads Critics' Choice nominations". insidemovies.ew.com. สืบค้นเมื่อ March 16, 2011.
- ↑ Reynolds, Simon (December 14, 2010). "In Full: Golden Globes - Movie Nominees". Digital Spy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-19. สืบค้นเมื่อ December 14, 2010.
- ↑ "Phoenix Film Critics Name THE KINGS SPEECH Best Film of 2010". Phoenix Film Critics Society. 2010-12-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-30. สืบค้นเมื่อ 2010-12-29.
- ↑ "Teen Choice Awards Nominees – 2011 List". NationalLedger.com. June 29, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-09. สืบค้นเมื่อ July 1, 2011.