ข้ามไปเนื้อหา

มาเลฟิเซนต์ กำเนิดนางฟ้าปีศาจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มาเลฟิเซนต์ กำเนิดนางฟ้าปีศาจ
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับรอเบิร์ต สตรอมเบิร์ก
บทภาพยนตร์ลินดา วูลเวอร์ตัน
สร้างจาก
อำนวยการสร้างโจ รอธ
นักแสดงนำ
กำกับภาพดีน เซมเลอร์
ตัดต่อ
ดนตรีประกอบเจมส์ นิวตัน ฮาวเวิร์ด
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายวอลต์ดิสนีย์สตูดิโอส์โมชันพิกเชอส์
วันฉาย
ความยาว97 นาที
ประเทศสหรัฐ
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง180–263 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[1]
ทำเงิน758.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]

มาเลฟิเซนต์ กำเนิดนางฟ้าปีศาจ (อังกฤษ: Maleficent) เป็นภาพยนตร์อเมริกันแฟนตาซีปี 2014 นำแสดงโดยแองเจลินา โจลีในบทมาเลฟิเซนต์ ในภาพยนตร์คนแสดงที่ตีความบทบาทตัวร้ายของเธอในภาพยนตร์แอนิเมชันปี 1959 ของวอลต์ ดิสนีย์ เรื่องเจ้าหญิงนิทรา ซึ่งดัดแปลงมาจากเทพนิยายของชาร์ล แปโรในปี 1697 เสียใหม่ ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยรอเบิร์ต สตรอมเบิร์ก จากบทภาพยนตร์ของลินดา วูลเวอร์ตัน และยังร่วมแสดงโดยชาร์ลโต คอปลีย์, แอลล์ แฟนนิง, แซม ไรลีย์, อิเมลดา สทอนตัน, จูโน เทมเพิล และเลสลีย์ แมนวิลล์ในบทบาทสมทบ

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการนำภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง เจ้าหญิงนิทรา (Sleeping Beauty) เมื่อปี 1959 มาสร้างภาพลักษณ์ใหม่ผ่านมุมมองของมาเลฟิเซนต์ (Maleficent) ตัวละครฝ่ายร้าย โดยใช้คนแสดง

การถ่ายทำหลักมีขึ้นในเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม 2012 แล้ววอลต์ดิสนีย์พิกเจอส์ (Walt Disney Pictures) จึงเผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2014 ภาพยนตร์ได้รับคำวิจารณ์บวกลบคละกันไป

เนื้อเรื่อง

[แก้]

หญิงชรานางหนึ่งเล่าความว่า ในเมืองทิพย์ชื่อ เดอะมัวส์ (The Moors) ซึ่งประชิดติดเมืองมนุษย์ เทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ มาเลฟิเซนต์ ได้พบและรักมนุษย์หนุ่มชื่อ สเตฟาน ผู้มีใจใคร่จะเป็นราชา แต่ยิ่งนานวัน ทั้งคู่ก็ยิ่งห่างกัน จนวันหนึ่งสเตฟานเลิกมาหานาง ต่อมา พระเจ้าเฮนรี กษัตริย์เมืองมนุษย์ ยกรี้พลมาตีเมืองทิพย์ แต่ทรงแพ้แก่มาเลฟิเซนต์ จึงทรงกริ้วโกรธเป็นกำลัง มีรับสั่งว่า ผู้ใดตามล้างผลาญนางเพื่อแก้แค้นแทนพระองค์ได้ จะให้ผู้นั้นสืบบัลลังก์ สเตฟานสบช่องขึ้นเป็นใหญ่ จึงกลับไปหามาเลฟิเซนต์ในคืนหนึ่ง เขาวางยานาง แต่หักใจปลิดชีวิตนางไม่ลง เขาจึงใช้เหล็กอันเป็นวัตถุมีอำนาจสังหารเทพธิดาตัดปีกนางออก แล้วแสดงปีกนั้นในเมืองมนุษย์เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า เขาได้ฆ่านางแล้ว มาเลฟิเซนต์หัวใจแหลกลาญ จึงหันไปสร้างดินแดนอนธการอยู่ในเมืองทิพย์นั้น แล้วรับเอานกกาชื่อ ดีอาวัล มาเป็นคนสนิท ให้มีฤทธิ์แปลงกายได้นานัปการ

วันหนึ่ง ดีอาวัลมาแจ้งว่า สเตฟานได้เสวยราชย์ในเมืองมนุษย์แล้ว บัดนี้ กำลังสมโภชพระธิดาที่เพิ่งประสูติมีพระนามว่า ออโรรา เพื่อแก้แค้นสเตฟาน มาเลฟิเซนต์จึงบุกไปงานสมโภชโดยมิได้รับเชิญ แล้วสาปพระกุมารีให้ทรงถูกเข็มปั่นฝ้ายตำพระดัชนีในวันเฉลิมพระชนม์ปีที่สิบหกและบรรทมไปตลอดกาล พระเจ้าสเตฟานทรงขอให้นางปรานี นางจึงทูลว่า คำสาปนี้แก้ได้ด้วยจุมพิตแห่งรักแท้ แล้วนางก็จากไป พระเจ้าสเตฟานทรงเกรงมาเลฟิเซนต์จะเคียดแค้นพระองค์ยิ่งนัก จึงรับสั่งให้ริบเครื่องปั่นฝ้ายทั้งหมดในแว่นแคว้น แล้วให้นางฟ้าสามองค์นำพระธิดาไปกักเก็บไว้ในป่าจนกว่าจะลุวันเฉลิมพระชนม์ปีที่สิบหก

นางฟ้าทั้งสามนั้นสะเพร่า มิได้เอาใจใส่พระธิดาตามสมควร มาเลฟิเซนต์จึงมาปรนนิบัติพัดวีอยู่ไม่ห่าง แม้เดิมจะจงเกลียดจงชังมากก็ตาม ครั้นพระธิดาเจริญพระชันษาที่สิบห้า ก็เสด็จไปพบมาเลฟิเซนต์ ทรงให้รู้สึกเสมือนว่า มาเลฟิเซนต์เฝ้าคุ้มครองป้องกันพระองค์เสมอมา จึงทรงเชื่อว่า มาเลฟิเซนต์เป็น "แม่ทูนหัว" (godmother) ของพระองค์ มาเลฟิเซนต์เองเมื่อให้พระธิดาพำนักอยู่กับตนนานเข้า ก็เริ่มตระหนักว่า ตนรักพระธิดามากเพียงไร นางจึงพยายามเพิกถอนคำสาปให้ แต่ไร้ผล

ภายหลัง ออโรราพบเจ้าชายรูปงามพระนามว่า ฟิลลิป ที่กำลังเสด็จไปวังพระเจ้าสเตฟาน ทั้งสองมีใจปฏิพัทธ์กันในบัดดล เจ้าชายฟิลลิปทรงให้คำมั่นว่าจะเสด็จกลับมาหาออโรราให้จงได้ ต่อมาเมื่อวันเฉลิมพระชนม์ปีที่สิบหกมาถึง ออโรรายังทรงพอพระทัยจะอยู่กับมาเลฟิเซนต์มากกว่าจะเสด็จกลับเมืองมนุษย์ มาเลฟิเซนต์เองก็หวังจะให้เป็นเช่นนั้น คิดว่า คงช่วยป้องปัดมิให้คำสาปสัมฤทธิ์ผลได้ ทว่า นางฟ้าทั้งสามรุดมาแถลงว่า เป็นมาเลฟิเซนต์ที่สาปออโรรามาแต่พระเยาว์ ออโรราทรงฟังแล้วก็พระทัยสลาย เสด็จหนีมาเลฟิเซนต์คืนสู่วังพระบิดา

พระเจ้าสเตฟานทรงขังออโรราไว้ในวังจนกว่าวันเฉลิมพระชนม์จะพ้นไป กระนั้น ออโรราเสด็จไปพบเครื่องปั้นฝ้ายที่ริบไว้แต่เดิม และทรงถูกเข็มตำนิ้วพระหัตถ์ คำสาปเป็นอันบรรลุผล มาเลฟิเซนต์เสียใจที่ไม่อาจปกป้องพระธิดาได้ จึงลอบพาเจ้าชายฟิลลิปมาสู่วัง หวังใจว่า ที่เจ้าชายและเจ้าหญิงได้ทรงพบกันในป่านั้น แม้จะเป็นเวลาอันสั้น ก็อาจช่วยให้บังเกิดรักแท้มาแก้คำสาปได้ เจ้าชายฟิลลิปทรงบรรจงจุมพิตออโรรา แต่ว่าไม่เป็นผล มาเลฟิเซนต์ก็เสียใจหนัก จึงปวารณาจะพิทักษ์รักษาพระธิดาจากเภทภัยทั้งหลายจนกว่าจะทรงฟื้นคืนพระชนม์ กล่าวแล้วก็จุมพิตพระนลาฏพระธิดาด้วยความรัก ฉับพลัน พระธิดาทรงตื่นจากพระบรรทม มาเลฟิเซนต์จึงเข้าใจว่า รักใดในโลกนี้ก็ไม่จริงแท้เท่ารักที่แม่มีให้ลูก พระธิดาทรงเรียกขานมาเลฟิเซนต์ว่า "แม่ทูนหัว" ด้วยทรงซาบซึ้งถึงความรักประหนึ่งมารดาที่มาเลฟิเซนต์มีให้ และทรงอภัยมาเลฟิเซนต์ในทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว

พระธิดายังทรงปรารถนาจะกลับไปอยู่กับมาเลฟิเซนต์ในเมืองทิพย์ มาเลฟิเซนต์จึงพาเสด็จหนี ทว่า พระเจ้าสเตฟานเสด็จมาขวางและทรงใช้ข่ายเหล็กจับมาเลฟิเซนต์ไว้ได้ แล้วทหารของพระองค์พร้อมด้วยศัสตราวุธทำด้วยเหล็กกล้าจึงเตรียมฆ่านาง มาเลฟิเซนต์ใช้กำลังเฮือกสุดท้ายจำแลงนกกาดีอาวัลเป็นมังกรเพื่อช่วยให้นางกับพระธิดาหนีไป แต่ทัพมนุษย์กล้าแกร่งนัก ในโมงยามที่มาเลฟิเซนต์กำลังจะถูกประหารนั้นเอง เจ้าหญิงออโรราถอดปีกของมาเลฟิเซนต์ที่รักษาไว้ในคุกออกมาคืนให้ มาเลฟิเซนต์จึงได้ฟื้นฤทธานุภาพโดยบริบูรณ์ และเอาชนะพระเจ้าสเตฟานได้ มาเลฟิเซนต์ละเว้นพระชนม์โดยขอให้เลิกรากันเท่านี้ ก่อนที่นางจะพาพระธิดาบินจากไป ทว่า พระเจ้าสเตฟานไม่ทรงยอมแพ้ ทรงโผนไปเกาะมาเลฟิเซนต์ไว้ มาเลฟิเซนต์ทรงตัวไว้ได้ แต่พระเจ้าสเตฟานนั้นทรงพลัดตกลงสู่เบื้องล่างถึงแก่พระชนมชีพ

ครั้นแล้ว มาเลฟิเซนต์ก็รวมเมืองทิพย์เมืองคนเข้าเป็นหนึ่ง และตั้งออโรราปกครอง ตอนท้ายปรากฏว่า หญิงเฒ่าผู้เล่าเรื่องนั้นคือออโรราในบั้นปลายพระชนม์

ตัวละคร

[แก้]

การตอบรับเชิงวิพากษ์

[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคำชมเชยและตำหนิระคนกัน ในเว็บไซต์รอตเทนโทเมโทส์ (Rotten Tomatoes) มีผู้ออกความเห็น 161 ราย ให้ภาพยนตร์ได้คะแนน 5.7 จากคะแนนเต็ม 10 และลงมติว่า "การแสดงอันน่าดึงดูดของแองเจลินา โจลี นั้นดีเด่นกว่าสเปเชียลเอฟเฟกต์มลังเมลืองในภาพยนตร์เป็นไหน ๆ แต่โชคไม่ดีที่ตัวภาพยนตร์ทำให้ความบากบั่นอันน่าประทับใจทั้งหลายต้องเสียเปล่า"[13] ส่วนในเว็บไซต์เมตาคริติก (Metacritic) มีผู้วิจารณ์ 41 ราย และให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้คะแนน 56 เต็ม 100[14]

แม้ภาพยนตร์มีคะแนนไม่ดี แต่การแสดงของโจลีกลับเป็นที่ชื่นชมในหมู่ผู้วิจารณ์ รอบ คอลลิน จากหนังสือพิมพ์ เดอะเทเลกราฟ (The Telegraph) ว่า "การที่ดิสนีย์เอา เจ้าหญิงนิทรา มาแปลงโฉมใหม่นี้ขาดเสน่ห์ที่แท้จริงไปหน่อย ดีที่แองเจลินา โจลี ช่วยกู้หน้าไว้ได้"[15] เบตซี ชาร์กีย์ (Betsy Sharkey) จากหนังสือพิมพ์ ลอสแอนเจลิสไทมส์ (Los Angeles Times) ว่า "เรียกได้ว่าเป็นหนังของโจลีเพราะตัวละครมาเลฟิเซนต์ที่เธอแสดงเลยทีเดียว พอมีตัวนี้ ตัวละครอื่น ๆ แม้กระทั่งออโรรา ก็เลือนหายไปหมดสิ้น"[16] แอน ฮอร์นาเดย์ (Ann Hornaday) จากหนังสือพิมพ์ เดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) ว่า "แม้มีข้อจำกัดต่าง ๆ นานา มาเลฟิเซนต์ ก็ยังดูได้สนุกดีอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งนี้ ก็เพราะตัวละครหลักตัวเดียวเลย"[17] แดเนียล เอ็ม. คิมเมล (Daniel M. Kimmel) ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ "ก้าวไปได้ก็เพราะพลานุภาพในการแสดงของแองเจลินา โจลี ถ้าจะให้พูดเป็นคำแล้วก็ เธอช่างล้ำเลิศ"[18] แมต ซอลเลอร์ ซีตซ์ (Matt Zoller Seitz) เขียนลงเว็บไซต์ของรอเจอร์ เอเบิร์ต (Roger Ebert) ว่า เขาชอบแก่นเรื่องและฝีมือของโจลี อย่างไรก็ดี เขาว่า ฉากที่มาเลฟิเซนต์รู้ว่าปีกหายไปนั้นเป็น "ภาพที่อุบาทว์ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาในหนังจักร ๆ วงศ์ ๆ ฮอลลีวูดนับตั้งแต่เรื่อง อภินิหารตำนานแห่งนาร์เนีย ตอน ราชสีห์ แม่มด กับตู้พิศวง เมื่อปี 2005 ที่เอาอัสลัน (Aslan) ไปบูชายัญเหมือนพระเยซู"[19] ขณะที่ริชาร์ด โรเปอร์ (Richard Roeper) จากหนังสือพิมพ์ ชิคาโกซันไทมส์ (Chicago Sun-Times) ว่า "เนื้อเรื่องนี่ดูแล้วอาจรู้สึกมึนตึ้บอย่างเดียวกับที่นางเอกเป็น"[20]

อ้างอิง

[แก้]
  1. FilmL.A. (May 2015). "2014 Feature Film Study" (PDF). FilmL.A. Feature Film Study. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ May 20, 2023. สืบค้นเมื่อ November 11, 2017.
  2. "Maleficent (2014)". Box Office Mojo. IMDb. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 4, 2014. สืบค้นเมื่อ December 6, 2014.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 Kit, Borys (May 7, 2012). "Imelda Staunton, Miranda Richardson Joining Angelina Jolie in 'Maleficent' (Exclusive)". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ May 7, 2012.
  4. Sneider, Jeff (October 17, 2013). "'Kick-Ass 2' Actress to Play Younger Version of Angelina Jolie in 'Maleficent'". The Wrap. สืบค้นเมื่อ May 31, 2014.
  5. "Ella Purnell replaces India Eisley in Maleficent". MSN Entertainment. October 18, 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-31. สืบค้นเมื่อ May 31, 2014.
  6. Charalambous, Sophia (November 8, 2012). "Chelmsford schoolgirl stars in Disney movie with Angelina Jolie". Essex Chronicle. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-24. สืบค้นเมื่อ May 31, 2014.
  7. Tourtellotte, Bob (August 22, 2012). "Jolie, Pitt daughter to make film debut as young princess". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-23. สืบค้นเมื่อ August 23, 2012.
  8. Miles, Tina (October 4, 2012). "Young Formby actress to play Sleeping Beauty in Angelina Jolie's Disney movie Maleficent". Liverpool Echo. สืบค้นเมื่อ October 4, 2012.
  9. "Bellshill schoolboy wins role opposite Hollywood star Angelina Jolie in new Disney film". Daily Record. September 18, 2012. สืบค้นเมื่อ September 18, 2012.
  10. Eagan, Daniel (May 29, 2014). "Film Review: Maleficent". Film Journal International. สืบค้นเมื่อ May 29, 2014.
  11. Fleming, MIke, Jr. (May 30, 2012). "Disney Crowns Young Prince In 'Maleficent'". Deadline.com. สืบค้นเมื่อ May 30, 2012.
  12. Kit, Borys (May 17, 2012). "Juno Temple Joins Angelina Jolie's 'Maleficent' (Exclusive)". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ June 19, 2012.
  13. "Maleficent (2014)". Rotten Tomatoes (Flixster). สืบค้นเมื่อ June 5, 2014.
  14. "Maleficent". Metacritic. สืบค้นเมื่อ May 31, 2014.
  15. Collin, Robbie (May 28, 2014). "Maleficent, review". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 29 May 2014.
  16. Sharkey, Betsy (May 29, 2014). "Review: Angelina Jolie is wickedly good in the not-quite-classic 'Maleficent'". The Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ May 30, 2014.
  17. Hornaday, Ann (May 30, 2014). "Angelina Jolie stars in 'Maleficent,' a feminist-revisionist take on Sleeping Beauty". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ May 30, 2014.
  18. Kimmel, Daniel M. (May 29, 2014). "Review – Maleficent". NorthShoreMovies.net. สืบค้นเมื่อ May 30, 2014.
  19. Seitz, Matt (May 29, 2014). "Maleficent Movie Review & Film Summary (2014)". RogerEbert.com. Ebert Digital LLC. สืบค้นเมื่อ June 3, 2014.
  20. Roeper, Richard (June 2, 2014). "Maleficent (2014)". RichardRoeper.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-06. สืบค้นเมื่อ June 3, 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]