ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอนาน้อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอนาน้อย
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Na Noi
นางพญาเสือโคร่งบานที่อุทยานแห่งชาติขุนสถาน
คำขวัญ: 
เมืองเสาดิน ถิ่นมะขามหวาน
ตำนานดอยผาชู้ เชิดชูพระธาตุพลูแช่
แผนที่จังหวัดน่าน เน้นอำเภอนาน้อย
แผนที่จังหวัดน่าน เน้นอำเภอนาน้อย
พิกัด: 18°19′30″N 100°42′54″E / 18.32500°N 100.71500°E / 18.32500; 100.71500
ประเทศ ไทย
จังหวัดน่าน
พื้นที่
 • ทั้งหมด1,408.122 ตร.กม. (543.679 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด32,109 คน
 • ความหนาแน่น22.80 คน/ตร.กม. (59.1 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 55150
รหัสภูมิศาสตร์5504
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอนาน้อย เลขที่ 52
หมู่ที่ 1 ถนนเจ้าฟ้า ตำบลนาน้อย
อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน 55150
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

นาน้อย (ไทยถิ่นเหนือ: ) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดน่าน เป็นเมืองที่รองรับการขยายตัวเศรษฐกิจของจังหวัดน่านตอนใต้

สาระสังเขป

[แก้]

ในปัจจุบัน อำเภอนาน้อย กลายเป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของดินแดนน่านใต้ อาทิ เสาดินนาน้อย ดอยเสมอดาว อีกทั้งยังมีอุทยานแห่งชาติศรีน่าน และ อุทยานแห่งชาติขุนสถาน ที่พร้อมให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสความเย็นและชมความสวยงามของทะเลหมอก ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอนาน้อยมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้

ประวัติ

[แก้]

อำเภอนาน้อยแต่เดิมเรียกว่า เวียงศรีษะเกษ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำแหง อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดน่าน ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร มีอาณาเขตรวมกับแขวงท่าปลา(อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์) เรียกว่า "น่านใต้" ขึ้นอยู่ในความปกครองของจังหวัดน่าน ในการปกครองแต่ละแขวง แบ่งการปกครองเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่ละเมืองมีพ่อเมืองปกครองมีบรรดาศักดิ์เป็น พญา ท้าว แสน แคว่น และปู่หลัก พ่อเมืองแต่ละเมืองจะมีบรรดาศักดิ์แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับและความสามารถของเจ้าเมืองนั้น ๆ ลักษณะของเมืองเล็ก ๆ เหล่านี้เป็นการรวมพื้นที่หลาย ๆ หมู่บ้าน ก็จะรวมเป็นเมืองหนึ่ง ซึ่งมีอาณาบริเวณใกล้เคียงกันตามลักษณะของภูมิประเทศ โดยมีพ่อเมืองเป็นผู้ดูแลปกครองมีอำนาจการปกครองและสั่งการเกือบเด็ดขาด โดยได้รับอาชญามาจากเจ้าครองนครมีศักดิ์เป็นพญา ในเขตท้องที่อำเภอนาน้อยหรือแขวงศรีษะเกษแต่โบราณกาล[1]

  • เวียงศรีษะเกษ

เวียงศรีษะเกษ ในปัจจุบันตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านนาน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลนาน้อย เมืองงั่วหรือเมืองศรีษะเกษในสมัยอดีต มีอาณาเขตการปกครองในพื้นที่ตำบลศรีษะเกษ ตำบลเชียงของ ตำบลนาน้อย บางส่วนของตำบลสถานและตำบลสันทะ นาน้อยในยุคเริ่มแรกที่เรียกว่า เมืองงั่ว ยังไม่มีหลักฐานใดบ่งชัดว่าชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานคือชนกลุ่มใด สันนิษฐานว่าเป็นชนที่มีเผ่าพันธุ์เช่นเดียวกับคนพื้นเมืองในล้านนา ซึ่งมีการทำมาหากิน การนุ่งห่ม วัฒนธรรมประเพณี ภาษาพูด ที่คล้ายกับท้องถิ่นต่าง ๆ ในภาคเหนือ จากหลักฐานศิลาจารึกที่วัดดอนไชย หมู่ที่ 2 ตำบลนาน้อย ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนชื่อจากเมืองงั่วมาเป็นเมืองศรีษะเกษ ในปี จ.ศ. 1241 (ปี พ.ศ. 2422) ในสมัยเจ้ามหาชีวิต อนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ปกครองนครน่าน ซึ่งตรงกับสมัยของรัชกาลที่4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตามตำนานได้กล่าวถึงชื่อเมืองว่า สาเหตุที่เรียกชื่อเมืองว่า ศรีษะเกษ นั้นมีที่มาจาก ครั้งเมื่อ เจ้าเมืองน่านได้เสด็จประพาสมายังแขวงนี้ได้เห็นสายน้ำไหลกลับทิศ คือไหลจากทิศใต้มาทิศเหนือเป็นที่น่าสังเกตและแปลกจากแขวงอื่นๆ จึงตั้งชื่อแขวงนี้ว่า แขวงศรีษะเกษ คำว่าศรีษะเกษ แผลงมาจากคำว่า"สังเกต"ต่อมาได้ตั้งชื่อเป็นอำเภอศรีษะเกษ แต่ชื่อไปตรงกับจังหวัดศรีสะเกษ จริงได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งตามสภาพทางภูมิศาสตร์ของตัวอำเภอ ด้วยพื้นที่การทำการเกษตรไม่มาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของเป็นผืนป่าและภูเขา จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอนาน้อย [2]

ประเพณีและวัฒนธรรม

[แก้]
ประเพณีนมัสการพระธาตุพลูแช่-แปดเป็ง
พฤษภาคม – มิถุนายน / วัดพระธาตุพลูแช่ ตำบลนาน้อย อำเภอนาน้อย
ลายลักษณ์อักษรประวัติการสร้างปรากฏในบันทึกสมุดข่อยเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๒๖๒ ปีไจ้(ปีชวด) เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ ได้บันทึกตามคำบอกเล่าของครูบาธรรมปัญญาได้เล่าแก่สามเณรแสนพรหม (ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาแสนพรหม) ว่ามีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งได้เสด็จมาโปรดสัตว์ถึงบริเวณดอยหัวงัว โดยได้มีพระเถระเจ้าติดตามมารูปหนึ่ง พระเถระได้ลงไปตักน้ำที่ตีนเขา (เชิงเขา) ขากลับได้แวะขอพลูจากย่าเฒ่าที่บ้านตีนดอย เนื่องจากพลูแห้ง ย่าเฒ่าจึงขอเอาพลูแช่น้ำก่อนแล้วจึงนำมาถวายเมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่องย่า เฒ่าแช่พลูจึงทรงทำนายว่าที่นี่ต่อไปจักได้ชื่อว่า ดอยพลูแช่เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับทรงเอาพระเกศา (เส้นผม) ให้พระเถระบรรจุลงที่ประทับนั่ง ประชาชนนำโดยพญางั่ว (เมืองหนึ่งในเขตอำเภอนาน้อยสมัยโบราณ) นำตุง ธูป เทียน ดอกไม้ มาบูชาพระพุทธเจ้าและขออนุญาตสร้างเจดีย์ตรงที่ประทับนั่งซึ่งได้บรรจุพระ เกศาไว้นั้น พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์ตรงที่บรรจุพระเกศา เพื่อเอาไว้สักการบูชาและได้ขนานนามว่า พระธาตุพลูแช่[3]
ประเพณีนมัสการพระธาตุศรีษะเกษ
๑๖ เมษายน / บ้านศรีษะเกษ ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย
คำบอกเล่าสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นกล่าวว่า พระธาตุแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดย ม่าน พุทธศาสนิกชนชาวพม่า เดิมวัดพระธาตุศรีษะเกษตั้งอยู่บนฝั่งริมน้ำแหงแขวงเมืองศรีษะเกษ ในบริเวณวัดจะมีกู่ (สถูป) พระธาตุและวิหาร มีพระประธานหล่อด้วยสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ต่อมาเกิดอุทกภัย สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ต่อมาชาวบ้าน ได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ โดยห่างจากที่เดิมไปทางทิศตะวันตก ต่อมาเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้ง สายน้ำแหงเปลี่ยนทิศทางมาทางวัด ประตูบ่อง น้ำเซาะตลิ่งทำให้แผ่นดินทรุดตัว โบสถ์และพระประธานในวัดถูกสายน้ำพัดจมหาย ชาวบ้านเห็นว่าสถูปอาจได้รับความเสียหายด้วย จึงทุบสถูปแล้วเก็บไหโบราณและของมีค่าแล้วนำไปเก็บไว้บนภูเขาบนหมู่บ้านหลวงพ่อเพ็งหรือพระสุยะสารทโร ได้พาชาวบ้านมาสร้างบ้านเรือนอยู่บนเชิงเขาได้สร้างวัดไว้บนเขาแล้วตั้งชื่อว่า วัดพระธาตุศรีษะเกษ เหมือนชื่อเดิม หลวงพ่อเพ็งเมื่อสร้างวัดเสร็จ จึงนำชาวบ้านเปิดไหที่เก็บสถูปไว้ ปรากฏว่า ปากไหปิดแน่นมาก เพราะปากไหโบกด้วยสะตาย (เป็นภาษาพื้นเมืองของภาคเหนือใช้เรียกสิ่งที่มีส่วนผสมของทรายละเอียด ปูนขาว ปละน้ำเมือกของหนังน้ำอ้อย ผสมกันเหนียวคล้ายปูนซีเมนต์) เมื่อเปิดปากไหได้ ปรากฏว่ามีพระธาตุขนาดเท่าหนึ่งนิ้วก้อยสีขาว มีลักษณะคล้ายเบี้ยจั่น มีลูกแก้ว ๗ ลูก เป็นสีดำ สีเขียว สีแดงก่ำ สีขาวหม่น สีขาวใส อย่างละ ๑ ลูก และสีเหลืองจำนวน ๒ ลูก ชาวบ้านเรียกขานชื่อลูกแก้วสีต่าง ๆ ดังนี้
ชนิดที่
สี
ชื่อเรียก
จำนวน
สีดำ แก้วมหานิล ๑ ลูก
สีเขียว แก้วเขียวหัวเป็ด ๑ ลูก
สีแดงก่ำ แก้วก้อ ๑ ลูก
สีขาวหม่น หมอกมุงเมือง ๑ ลูก
สีขาวใส ไม่ปรากฏ ๑ ลูก
สีเหลือง ไม่ปรากฏ ๒ ลูก

พ.ศ. ๒๔๘๐ หลวงพ่อเพ็งและชาวบ้าน จึงได้ร่วมกันสร้างองค์พระธาตุองค์ปัจจุบันขึ้นมาใหม่เพื่อบรรจุพระบรมธาตุ โดยจ้างวานนายวงศ์ โนรินทร์ ชาวตำบลเมืองลีมาเป็นนายช่างก่อสร้างพระธาตุ การก่อสร้างได้ใช้เวลา ๒ ปี จึงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี องค์พระธาตุศรีษะเกษนับว่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวนาน้อยให้ความเคารพนับถือ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ งานนมัสการประจำปี[4]

งานล่องเฮือไฟ ไหว้ครูบา
พฤศจิกายน / บริเวณฝายกุ่น ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย
ไหลเรือไฟ เป็นประเพณีที่ชาวบ้านตำบลเชียงของ และหมู่บ้านใกล้เคียง ร่วมใจกันจัดขึ้นในทุกๆปี นิยมปฏิบัติกันในเทศกาลออกพรรษา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ มีความเชื่อเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับความเป็นมาหลายประการ เช่น บูชารอยพระพุทธบาท สักการะท้าวพกาพรหม บวงสรวงพระธาตุจุฬามณี ระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา เป็นต้น

ในยามค่ำคืนจะมีการแสดงมหรสพแสงสีเสียงมากมายบนเวที และมีการไหลเรือไฟ โดยตัวเรือจะทำด้วยโครงไม้ ไม้ไผ่ หรือ วัสดุอื่นๆ ที่ลอยน้ำ ให้มีโครงสร้างเป็นรูปต่าง ๆ ตามต้องการ แล้วจุดไฟ เปลวไฟจะลุกเป็นรูปร่างตามโครงสร้างนั้น โดยมีความเชื่อในพระพุทธศาสนาว่าเป็นการบูชาประทีป และบูชารอยพระพุทธบาท อีกทั้งยังเป็นการสะเดาะเคราะห์กรรมต่างๆอีกด้วย

พิธีบรวงสรวงเจ้าพ่อพญาเมืองน้อย
๒๐ เมษายน / บ้านทัพม่าน ตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย
พญาเมืองน้อย เป็นโอรสองค์แรกของ เจ้าพญาแสนคำเม็งรายเจ้าเมืองเชียงราย ส่วนองค์น้องชื่อว่า เจ้าพญาหลักคำ เมื่อเจ้าพญาแสนพรมสิ้นพระชนม์ เจ้าพญาแสนคำ เม็งรายได้มอบให้เจ้าพญาเมืองน้อยมาปกครองแทน (อำเภอนาน้อยเดิมชื่อว่าเมืองงั่วมีเจ้าพญาแสนพรม ปกครองอยู่ เมืองงั่วเป็นเมืองขึ้นของ เจ้าพญาแสนคำเม็งราย) โดยได้ ตั้งเมืองอยู่ที่โรงเรียนชุมชนบ้านนาหลวงในปัจจุบัน และได้ ขุดคูรอบเมืองไว้ป้องกันข้าศึก ทางทิศใต้อาศัยแม่น้ำแหงเป็น คูเมือง ส่วนทางทิศเหนือให้ทหารขุดคูโดยรอบ ซึ่งยังมี ร่องรอยปรากฏให้เราเห็นจนถึงปัจจุบัน (พื้นที่ส่วนใหญ่ได้ เป็นที่ทำกินของชาวบ้านนาหลวงไปหมดแล้ว) เจ้าพญาเมือง น้อยตั้งชื่อเมืองใหม่ว่าเมืองน้อยตามชื่อของพระองค์ เมื่อ เจ้าพญาเมืองน้อยปกครองอยู่มีเมืองฮ้อเมืองเงี้ยว ทัพม่าน ทัพเงี้ยวยกทัพมาทางทิศตะวันตกหวังจะมาตีเอาเมืองน้อย เป็นเมืองขึ้น เจ้าพญาเมืองน้อยจึงได้ยกทัพไปสู้รบมีทหาร บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ในที่สุดทัพม่านทัพเงี้ยวก็ พ่ายแพ้ ทัพของเจ้าพญาเมืองน้อยได้รับชัยชนะ ขณะถอย ทัพกลับที่ตั้ง ทัพม่านทัพเงี้ยวกลับยกทัพตีโอบมาทาง ด้านหลังทำให้สู้รบกันอีกครั้ง ในที่สุดเจ้าพญาเมืองน้อย ก็พลาดพลั้งตกลงหลุมพรางของข้าศึกและถูกข้าศึกใช้ไม้ไผ่ ขัดแตะ (ต๋าแสง) ปิดปากหลุมไว้ และใช้ไม้แหลม (กระทู้เจ็ด แบก) พุ่งลงใส่ตัวท่านจนหมด แต่ไม่ทิ่มตำร่างกายของท่าน แต่อย่างใด จากนั้นเจ้าพ่อพญาเมืองน้อยก็ออกจาก หลุมพรางได้สำเร็จ และได้ต่อสู้กันอีกจนท่านพลาดท่าล้มลง ถูกพวกทัพม่านทัพเงี้ยวใช้หอกดาบแทงตายบริเวณกลางทุ่ง นา เหล่าทหารจึงขุดหลุมฝังศพท่านไว้ตรงนั้น ปัจจุบันคือ ทุ่งนาบ้านผาลาย และยังเหลือร่องรอยไว้ให้คนรุ่นหลังได้ เห็นคือสถานที่ที่เจ้าพญาเมืองน้อยไปต่อสู้กับทัพม่าน ทัพเงี้ยวนั้น มีชื่อเรียกกันจนติดปากมาถึงทุกวันนี้คือ

(๑) วังต่อวังสู้
(๒) บ้านทัพม่าน
(๓) มีการฆ่ากันเลือดหยดย้อยลงบนหินผาบริเวณนั้น เป็นริ้วรอยก็เรียกกันว่าบ้านผาลาย
(๔) ชาวบ้านทัพม่านจะเอาต๋าแสงมาทำรั้วล้อมบ้านไม่ได้ เพราะจะเกิดอาเพศเหตุร้ายต่างๆ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า ถ้าข้าศึกไม่ทำหลุมพรางและสานไม้ไผ่ทับปากหลุมท่านพญา เมืองน้อยอาจไม่เสียชีวิตก็ได้ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงมีความ เชื่อว่าเมื่อใดที่มีการนำไม้ไผ่มาสานทำรั้วบ้าน จะปรากฏ เสือเข้ามาทำร้ายชาวบ้าน
(๕) ม้าที่เจ้าพ่อพญาเมืองน้อยทรงขี่เวลาสู้รบกับศัตรูก็ เกิดอาการหิวโซไม่มีแรงเพราะสู้รบจนไม่ได้กินน้ำกินหญ้า ม้าจึงตายและทหารได้ฝังม้าและทรัพย์สินเงินทองไว้ที่นั้น และได้ก็เรียกสถานที่แห่งนั้นว่าห้วยม้ามาจนถึงทุกวันนี้ [5]

ปีใหม่ม้งขุนสถาน
๒๕-๓๐ ธันวาคม / โรงเรียนประกิตเวชศักดิ์ ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย
งานรื่นเริงของชาวม้ง ทุกๆปี จะจัดขึ้นหลังจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย และเป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า - ผีป่าผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง และดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี รวมถึงผลผลิตที่ได้ในรอบปีด้วย ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะทำการฉลองกันอย่างพร้อมเพรียงกัน หรือตามวัน และเวลาที่สะดวกของแต่ละหมู่บ้าน การฉลองปีใหม่ม้ง นี้ชาวม้งเรียกกันว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ” สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น ๑ ค่ำ ไปจนถึง ๓๐ ค่ำ (ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะแบ่งออกเป็นข้างขึ้น ๑๕ ค่ำ และข้างแรม ๑๕ ค่ำ) เมื่อครบ ๓๐ ค่ำ จึงนับเป็น ๑ เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย (๓๐ ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย(เดือนที่ ๑๒) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่ส่วนใหญ่จะตกอยู่ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนมกราคม ในวันดังกล่าวหัวหน้าครัวเรือนของแต่ละบ้าน จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลของครัวเรือน ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป ๓ วัน คือวันขึ้น ๑ ค่ำ ๒ ค่ำและ ๓ ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดหน้าที่การงานทุกอย่างในช่วงวันดังกล่าวนี้ และจะมีการจัดการละเล่นต่าง ๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การละเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลงม้ง หรือ ไห่กู่เชี่ย เป็นเพลงที่ชาวม้งนิยมขับร้องในช่วงปีใหม่ ใช้เกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาวหรือขับร้องเพื่อสื่อความหมายบอกความรู้สึกภายในที่อยากสื่อสาร มีแรงบันดาลใจจากเรื่องราวใกล้ตัว หรือเหตุการณ์อื่นๆ ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ก็สามารถถ่ายทอดเขียนเป็นเนื้อเพลงไห่กู่เชี่ยของตัวเองได้ [6]
ผู้พิชิตดอยผาผึ้ง
๓๐ – ๓๑ ธันวาคม / ดอกผาผึ้ง ตำบลน้ำตก อำเภอนาน้อย
ดอยผาผึ้ง จากคำบอกเล่าของชาวชุมชนบ้านเปา ซึ่งมีอายุสืบทอดกับมาไม่น้อยกว่าสองร้อยปี เล่าว่าชื่อมาจากเดิม “ดอยผาผึ้ง” จะเป็นที่อยู่อาศัยของผึ้งป่าจำนวนมากนั้นเอง ความเชื่อของชาว บ้านที่นี่ เชื่อว่าบน “ดอยผาผึ้ง” มีเจ้าป่าเจ้าเขาดูแลรักษาชื่อ เจ้าจอมผา ใครจะไปจะมาก็ต้องบอกกล่าวท่านก่อนเพราะท่านคือผู้ทิทักษ์รักษาพื้นที่แห่ง นี้ไว้จนเหลือเป็นมรดกตกทอดให้พวกเราชนรุ่นหลังได้ชมความงดงามเช่นที่เห็น ดอยผาผึ้งนับว่าเป็นสถานที่หนึ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวที่รักการผจญภัยในช่วงปลายปี ระยะการเดินทางไปดอยผาผึ้งประมาณ ๑๕ กิโลเมตร และต้องเดินเท้าเข้าไปบนยอดเขาอีกเป็นเวลาประมาณ ๓๐ นาที จึงเหมาะสำหรับนักผจญภัย ในช่วงใกล้สิ้นปี จะมีการจัดงานขึ้นดอยผาผึ้งซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในตำบลน้ำตก เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชมที่แห่งนี้ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของทุกๆปี

สถานที่ท่องเที่ยว

[แก้]
สถานที่
ที่ตั้ง
ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ดอยเสมอดาว ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
ผาหัวสิงห์ ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
ผาชู้ ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
แก่งหลวง ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
ม่อนเคียงดาว ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
ม่อนดอยผาผึ้ง ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
อุทยานแห่งชาติขุนสถาน สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
น้ำตกตาดหมอก ดอยแม่จอก ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
น้ำตกขุนลี-ขุนลีหลวง ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง แพร่ 54140
ดอยกู่สถาน ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง แพร่ 54140
ดอยแม่จอก ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
ถ้ำละโอ่ง ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
เสาดินนาน้อย(ฮ่อมจ้อม) คอกเสือ ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
โปดหมาผี ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
เด่นปู่เขียว ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
เด่นอีบด ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
ถ้ำโพรงดินมนุษย์ยุคหิน ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
ถ้ำหนานบุญเถิง ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
โครงการอ่างเก็บน้ำแหง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครัวบ้านริมแหง ตำบลนาน้อย อำเภอนาน้อย น่าน 55150
หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำห้วยสามสบ บ้านทาร์ซาน บ้านกิตตินันท์ ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
บ้านสามฤดู บ้านกิตตินันท์ ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
ตลาดชุมชนบ้านกิตตินันท์ บ้านกิตตินันท์ ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย น่าน 55150
พุทธสถานถ้ำเชตวัน บ้านเชตวัน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย น่าน 55150

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]
ตำบลในอำเภอนาน้อย

อำเภอนาน้อยแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 7 ตำบล 69 หมู่บ้าน ได้แก่

ที่ ชื่อตำบล ตัวเมือง อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนประชากร

(ธันวาคม 2565)[7]

1. นาน้อย Na Noi 10 4,938
2. เชียงของ Chiang Khong 7 1,985
3. ศรีษะเกษ Sisa Ket 14 7,035
4. สถาน Sathan 12 5,129
5. สันทะ San Tha 11 6,421
6. บัวใหญ่ Bua Yai 8 3,922
7. น้ำตก Nam Tok 7 2,523

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอนาน้อยประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลนาน้อย ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลนาน้อย
  • เทศบาลตำบลศรีษะเกษ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีษะเกษทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาน้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาน้อย (นอกเขตเทศบาลตำบลนาน้อย)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงของ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเชียงของทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสถาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสถานทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสันทะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสันทะทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบัวใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบัวใหญ่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำตก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำตกทั้งตำบล

การคมนาคม

[แก้]
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1026 (เวียงสา-นาหมื่น)
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1083 (นาน้อย-ปางไฮ)
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1216 (นาน้อย-ร้องกวาง)
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4025 (หนองห้า-แม่สาคร)

สถานพยาบาล

[แก้]

อำเภอนาน้อย มีสถานพยาบาลบริการทั้งหมด 10 แห่ง ดังนี้


อ้างอิง

[แก้]
  1. http://province.m-culture.go.th/nan04/data1.htm
  2. http://province.m-culture.go.th/nan04/data1.htm
  3. ห้องสมุดประชาชนอำเภอนาน้อย
  4. ห้องสมุดประชาชนอำเภอนาน้อย
  5. ห้องสมุดประชาชนอำเภอนาน้อย
  6. https://www.facebook.com/pg/CharmNanToday/photos/?tab=album&album_id=1178528138850378
  7. "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.