ตุ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สำหรับ ติ่ง ที่เป็นความหมายสแลงดูที่ ติ่งหู

ตุ่น
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: อีโอซีนตอนปลาย–ปัจจุบัน
ตุ่นยุโรป (Talpa europaea) พบในทวีปยุโรป
โขย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Soricomorpha
วงศ์: Talpidae
Fischer, 1814
วงศ์ย่อยและสกุล

ตุ่น หรือ ติ่ง[1] (Moles) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์หนึ่ง ในอันดับตุ่น (Soricomorpha) ใช้ชื่อวงศ์ว่า Talpidae ซึ่งครั้งหนึ่ง (หรือบางข้อมูล) จะจัดให้ตุ่นอยู่ในอันดับสัตว์กินแมลง (Insectivora)[2]

ตุ่น มีลักษณะคล้ายหนูตะเภาตัวอ้วน ๆ ซึ่งเป็นสัตว์ในอันดับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) แต่ทว่าตุ่นมีอันดับแยกออกมาเองต่างหาก ซึ่งใกล้เคียงกับหนูผี (Soricidae) มากกว่า มีขนอ่อนนุ่ม สีคล้ำอย่างสีเทาหรือสีดำ ตลอดทั้งลำตัว ซึ่งขนนี้มีคุณลักษณะพิเศษที่สามารถบิดไปในทิศทางใดก็ได้ แตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่น ๆ ส่วนหางสั้น

ตุ่นอาศัยในโพรงใต้ดินตลอดเวลา จะไม่ขึ้นมาบนพื้นดิน หากไม่จำเป็น ดังนั้นจึงมีหูและตาเล็กมาก เพราะแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์ และถูกเก็บซ่อนอยู่ใต้ขน เพื่อป้องกันมิให้ดินเข้าเวลาขุดดิน ในบางชนิดจะมีหนังพิเศษปิดเหนือตาด้วย ขาคู่หน้าของตุ่นซ่อนอยู่ใต้ขน ซึ่งจะยื่นออกมาแต่ส่วนปลายเป็นข้อมือที่มีเล็บที่แข็งแรง 5 เล็บ ซึ่งใช้ในการขุดโพรงดิน แต่จะใช้เดินบนพื้นดินไม่ได้เลย หากตุ่นขึ้นมาบนดินจะทำได้เพียงแค่คืบคลาน

ในโพรงใต้ดินของตุ่น มีทางยาวมาก โดยมักจะขุดให้ลึกไปจากผิวดินราว 3 นิ้วครึ่งถึงครึ่งฟุต เป็นทางยาวขนานไปกับผิวดิน และลึกจากหน้าดินราวหนึ่งฟุตก็มีอีกโพรงหนึ่งเป็นคู่ขนานด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งสองสายนี้เชื่อมไว้ด้วยทางเชื่อมเล็ก ๆ ในแนวตามจุดต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ แต่ในบางจุดอาจมีแนวดิ่งลึกลงไปถึง 4 ฟุต ผนังโพรงราบเรียบสม่ำเสมอกัน ที่ปลายสุดของโพรงจะใช้เป็นที่กลับตัว ซึ่งมีความกว้างเพียงขนาดเท่าตัวของตุ่น ดินที่ขุดขึ้นทำโพรงนั้นจะถูกอัดไปตามผนังโพรงเพื่อให้แน่นและแข็งแรง แต่บางส่วนก็จะถูกดันขึ้นไปเหนือพื้นดิน เห็นเป็นเนิน ๆ ซึ่งเรียกในภาษาไทยว่า "โขย"

ตุ่น กินอาหารหลัก คือ ไส้เดือนดิน และก็สามารถกินอาหารอื่นได้ เช่น หนอน, หอยทาก และพืชประเภทหัว เช่น มัน หรือ แห้ว หลายชนิด ในวันหนึ่ง ๆ ตุ่นสามารถที่จะกินอาหารได้เท่ากับน้ำหนักตัว จึงเป็นสัตว์ที่ไม่อาจอดอาหารได้นาน ในฤดูแล้งที่อาหารขาดแคลน ตุ่นสามารถจะสะสมอาหารเป็นเสบียงได้ ในโพรงดินส่วนที่เป็นห้องเก็บอาหาร โดยมีรายงานว่า ตุ่นบางตัวเก็บหนอนไว้ในห้องเก็บอาหารนับร้อยตัว โดยที่หัวของหนอนเหล่านี้ถูกกัดจนหัวขาดแล้ว แต่ยังไม่ตาย ไม่อาจจะหนีไปไหนได้

ตามปกติ ตุ่นเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ลำพัง นอกจากในฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้ต้องต่อสู้แย่งชิงตัวเมียเสียก่อน ตัวเมียจะเป็นฝ่ายสร้างรังขนาดเท่าลูกรักบี้ที่บุด้วยใบไม้และฟางหรือกิ่งไม้เล็ก ๆ โดยจะอยู่ลึกจากหน้าดินประมาณ 2 ฟุต หรือตื้นกว่านั้น มีทางแยกออกจากรังหลายทาง เพื่อที่จะเข้าออกได้หลายทาง เพื่อความสะดวกและปลอดภัย ซึ่งรังของตุ่นจะสะอาดสะอ้านอยู่เสมอ

ตุ่นมักจะมีลูกครอกละ 2-7 ตัว ลูกอ่อนที่เกิดใหม่จะยังไม่ลืมตา และขนจะเริ่มงอกเมื่อมีอายุได้สัก 10 วัน และลืมตาในเวลาต่อมา และจะออกจากรังเมื่อมีอายุได้ราว 5 สัปดาห์ มีอายุขัยโดยเฉลี่ยประมาณ 3 ปี

ตุ่นกระจายพันธุ์ไปในทุกพื้นที่ทั่วโลก ยกเว้นในเขตขั้วโลกและโอเชียเนีย สามารถแบ่งออกได้เป็น 17 สกุล และ 3 วงศ์ย่อย (ดูในตาราง)[3] พบประมาณ 44 ชนิด ซึ่งบางชนิดมีขนสีทอง บางชนิดมีส่วนหางยาว บางชนิดที่จมูกมีเส้นขนเป็นอวัยวะรับสัมผัสเป็นเส้น ๆ 22 เส้น ลักษณะคล้ายดาว และมีพฤติกรรมมักอาศัยอยู่บนดินและว่ายน้ำได้เก่งอีกด้วย ขณะที่บางชนิดก็สามารถปีนต้นไม้ได้ และอาศัยอยู่เป็นฝูง สำหรับในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียว คือ ตุ่นโคลส (Euroscaptor klossi)[4] [5]

รายการอ้างอิง[แก้]

  1. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เก็บถาวร 2009-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สืบค้นคำว่า ตุ่น)
  2. สัตววิทยา (การจัดหมวดหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม), บพิธ-นันทพร จารุพันธุ์, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2547, หน้า 414 - 416
  3. "Talpidae". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  4. หน้า 33-37, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518)
  5. หน้า 158, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน โดยกองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย (มีนาคม, 2543) ISBN 974-87081-5-2

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]