ปลาแรด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลาแรด
ปลาสีปกติ (ไวลด์ไทป์)
ปลาเผือก
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: Anabantiformes
วงศ์: วงศ์ปลากัด ปลากระดี่
สกุล: วงศ์ย่อยปลาแรด
Lacépède, 1801
สปีชีส์: Osphronemus goramy
ชื่อทวินาม
Osphronemus goramy
Lacépède, 1801
ที่อยู่ตามธรรมชาติในสีเขียว (ไม่แสดงบริเวณที่มีการเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลาย)
ชื่อพ้อง
  • Trichopus goramy (Lacépède, 1801)
  • Trichopodus mentum Lacépède, 1801
  • Trichopode mentonnier Lacépède, 1801
  • Trichopus satyrus G. Shaw, 1803
  • Osphromenus satyrus (G. Shaw, 1803)
  • Osphromenus olfax G. Cuvier, 1831
  • Osphromenus notatus G. Cuvier, 1831

ปลาแรด เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในวงศ์ย่อย Osphroneminae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Osphronemidae นับเป็นปลาแรดชนิดที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด

ลักษณะ[แก้]

ลำตัวป้อมและแบนข้าง เกล็ดสากมือเป็นรูปหยัก มีก้านครีบท้องคู่แรกเป็นเส้นเรียวยาวคล้ายหนวด ใช้สำหรับสัมผัส ปลายหางมนกลม ปากแหลม ริมฝีปากหนา ภายในปากมีฟันซี่เล็ก ๆ แหลมคมเรียงอยู่ภายใน ส่วนหัวเล็กและป้าน เมื่อโตขึ้นมาโดยเฉพาะในปลาตัวผู้จะมีโหนกนูนขึ้นมาเรื่อย ๆ จนดูคล้ายนอแรด อันเป็นที่มาของชื่อสามัญในภาษาไทย โคนหางมีจุดสีดำคล้ำอยู่ทั้ง 2 ข้าง เมื่อโตขึ้นจุดดังกล่าวจะหายไป รวมทั้งอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น ริมฝีปาก หรือขากรรไกรที่ใหญ่กว่าตัวเมีย ขณะที่ปลาตัวเมียจะมีจุดสีดำที่บริเวณโคนครีบอกทั้ง 2 ข้าง ส่วนตัวผู้ไม่มี

อาหาร[แก้]

เป็นปลาที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์น้ำ แต่นิยมกินพืชมากกว่า มีการกระจายพันธุ์ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ และที่เป็นหมู่เกาะ ในประเทศไทยพบได้ในพื้นที่ภาคกลางและบางส่วนของภาคใต้ มีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 90 เซนติเมตร จึงนับว่าเป็นปลาชนิดที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์ Osphronemidae แต่ว่าขนาดโดยเฉลี่ยทั่วไปจะมีขนาดประมาณ 50-60 เซนติเมตร

ที่อยู่[แก้]

เป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของไทย โดยนิยมเพาะเลี้ยงกันในหลายพื้นที่ เช่น นิยมเลี้ยงกันที่แม่น้ำสะแกกรัง ในจังหวัดอุทัยธานี ที่มีเลี้ยงกันในกระชังในแม่น้ำจนเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี[2]

นอกจากนี้แล้ว ยังนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงามอีกด้วย โดยในปลาธรรมดาจะเรียกกันว่า "แรดดำ" และในปลาที่มีผิวเผือกจะเรียกว่า "แรดเผือก" หรือ "แรดเผือกตาแดง" นอกจากนี้แล้วยังมีปลาที่สีแตกต่างออกไปด้วย จากการเพาะขยายพันธุ์โดยมนุษย์

บันทึกและข้อสันนิษฐาน[แก้]

ดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ นักมีนวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ (กรมประมงในปัจจุบัน) ได้บันทึกไว้ในหนังสือชื่อ "The Fresh-Water Fishes of Siam, or Thailand" ที่ตีพิมพ์โดยสถาบันสมิธโซเนียน ในปี ค.ศ. 1945 ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับปลาน้ำจืดเล่มแรกของไทย โดยในหน้าที่ 451 ได้กล่าวถึงปลาแรดไว้ว่า ต้นกำเนิดของปลาแรกอยู่ที่ชวา โดยอ้างถึงการค้นพบปลาชนิดนี้ โดย แบร์นาร์ แฌร์แม็ง เดอ ลาเซแปด นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่บันทึกไว้ในปี ค.ศ. 1802 ว่า มีการค้นพบปลาชนิดนี้ได้ทั่วไปทั้งในจีน, อินเดีย และในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศในแถบเอเชียตะวันออก มีประวัติการค้าขายทางเรือมาอย่างยาวนาน จึงเป็นการยากที่คาดได้ว่าปลาแรดที่ถูกพบในพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากชวา, บอร์เนียว และสุมาตรานั้น จะเป็นปลาท้องถิ่นจริง ๆ หรือเป็นปลาที่ถูกนำเข้ามาจากชวา โดยเรือสินค้าตั้งแต่อดีตกาล เนื่องจากปลาแรดเป็นปลาที่สามารถฮุบอากาศได้โดยตรงได้ และทนทาน จึงสามารถเลี้ยงไว้ในถังหรือภาชนะต่าง ๆ บนเรือได้อย่างนาน ๆ จึงมีความเป็นไปได้ว่า ปลาแรดที่พบกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทยอาจจะมาจากประเทศเหล่านี้ โดยเรือสินค้าตั้งแต่โบราณก็เป็นได้

นอกจากนี้แล้ว ดร.สมิธ ยังได้ให้ข้อมูลถึงแหล่งที่พบปลาแรดไว้ว่า พบได้ที่แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำตาปี โดยเฉพาะในแม่น้ำตาปีนั้นจะพบได้มากที่สุดที่บึงขุนทะเล ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดลักษณะคล้ายทะเลสาบที่มีคลองสาขาเชื่อมต่อกับแม่น้ำตาปี อยู่ไม่ไกลไปจากตัวเมืองบ้านดอนเท่าไรนัก ดร.สมิธจึงทำการวิเคราะห์อย่างง่าย ๆ ผนวกกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในอดีต ที่บริเวณนั้นถือเป็นเมืองท่าที่สำคัญตั้งแต่โบราณ ที่ใช้ทำการค้ากับต่างชาติโดยทางเรือ ยิ่งสนับสนุนแนวความคิดที่ว่า ปลาแรดน่าจะเป็นปลาต่างถิ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่โบราณ และน่าจะมีความเป็นไปได้สูงว่า ปลาแรดคือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดแรกที่เข้ามายังประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ[3]

ชื่อเรียกอื่น[แก้]

ปลาแรด ยังมีชื่อเรียกในภาษาอีสานและภาษาลาวว่า "มิน" ขณะที่ภาษาใต้จะเรียกว่า "เม่น"

อ้างอิง[แก้]

  1. Low, B.W. (2019). "Osphronemus goramy". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T180720A89805140. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-2.RLTS.T180720A89805140.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. "วิถีชีวิตชาวแพลุ่มน้ำสะแกกรัง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-14. สืบค้นเมื่อ 2010-11-07.
  3. หน้า 107-108, The Giant Gourami "แรด" ในตำนาน คอลัมน์ Rare Collection โดย RoF, นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 2 ฉบับที่ 29: พฤศจิกายน 2012

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]