ข้ามไปเนื้อหา

พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน เป็นพงศาวดารสยาม มีเนื้อหาเริ่มตั้งแต่แรกสร้างเมืองสวรรคโลก[1]จนถึงพระเจ้ากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชสมบัติกรุงเทพมหานคร และพระเจ้าปดุงโปรดให้วังหน้าผู้เป็นพระราชโอรสไปตียะไข่สำเร็จแล้วจึงยกทัพกลับกรุงอังวะในปี พ.ศ. 2327[2] ต้นฉบับเป็นสมุดไทยจำนวน 30 เล่ม[3]

ประวัติ

[แก้]

พระราชพงศาวดารฉบับนี้เรียบเรียงขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นสมุดไทยจำนวน 30 เล่ม แต่ปัจจุบันต้นฉบับสูญหายไป เหลือแต่ฉบับคัดลอกตัวบรรจงด้วยหมึกดำในสมุดฝรั่ง ซึ่ง J. Hurst Hayes Esq. มอบให้พิพิธภัณฑ์บริติชเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 ขจร สุขพานิช ได้พบเอกสารนี้ระหว่างได้รับทุนไปค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ไทยที่สหรัฐและประเทศอังกฤษ จึงถ่ายไมโครฟิล์มเล่มต้นกับเล่มปลายส่งให้กรมศิลปากรตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบแล้วกรมศิลปากรได้ขอให้ถ่ายไมโครฟิล์มส่งมาทุกเล่มเพราะมีประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย[3]

เมื่อมาในปี พ.ศ. 2507 สำนักพิมพ์ก้าวหน้าได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรให้พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในชื่อพระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับที่เป็นสมบัติของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้เพิ่มเติมคำในวงเล็บเพื่อให้ข้อความชัดเจนขึ้น และมีเชิงอรรถเพื่อเปรียบเทียบเนื้อหากับพระราชพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ และพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)[3] ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 กรมศิลปากรได้พิมพ์เผยแพร่อีกครั้งในชุดหนังสือประชุมพงศาวดารนับเป็นภาคที่ 82 เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน[4] เป็นเรื่องสุดท้ายในหนังสือชุดประชุมพงศาวดาร และในปี พ.ศ. 2542 ได้ตีพิมพ์เป็นประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 2 เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539[5]

เนื้อหา

[แก้]

พระราชพงศาวดารฉบับนี้ มีบานแพนกสองแห่ง คือบานแพนกแรกกับบานแพนกแทรก บานแพนกแรกมีตั้งแต่ต้นเรื่อง ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2350 กรมพระราชวังบวรฯ ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเล่ม 1 จากนั้นเป็นประวัติเมืองสวรรคโลก[1] โดยเนื้อความเหมือนกับพงศาวดารเหนือ ต่างตรงที่ฉบับบริติชมิวเซียมเนื้อความกระชับ สละสลวย และเข้าใจง่ายกว่า[6]

ต่อจากประวัติเมืองสวรรคโลก จึงเป็นประวัติกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่เริ่มสถาปนากรุง เมื่อเนื้อความถึงเหตุการณ์สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเตรียมยกทัพไปตีเมืองละแวก ก็มีบานแพนกแทรกขึ้นมาต่อจากนั้นว่าในปี พ.ศ. 2338 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ชำระพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สร้างกรุงจนถึงเหตุการณ์ดังกล่าว[7] และดำเนินความมาจนถึงปี พ.ศ. 2327 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แม้บานแพนกแทรกดังกล่าวเกือบเหมือนกันบานแพนกของพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพงศาวดารทั้งสองฉบับมีเค้าโครงเรื่องตรงกัน แต่ฉบับบริติชมิวเซียมขยายความเพิ่มเติมเข้ามาหลายตอนในส่วนที่ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ไม่สมบูรณ์

อุบลศรี อรรถพันธุ์ จึงสันนิษฐานว่า พระราชพงศาวดารฉบับนี้ถูกชำระโดยอาศัยพงศาวดาร 3 เรื่องมาคัดรวมกัน คือ พงศาวดารเมืองสวรรคโลก พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)[8] และพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมนี้อาจเป็นต้นฉบับในการชำระพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียนด้วย[9]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82, หน้า 1
  2. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82, หน้า 399
  3. 3.0 3.1 3.2 ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82, หน้าคำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
  4. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82, หน้าคำนำ
  5. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 2
  6. การชำระพระราชพงศาวดารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, หน้า 116
  7. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82, หน้า 28
  8. การชำระพระราชพงศาวดารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, หน้า 114
  9. การชำระพระราชพงศาวดารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, หน้า 119
บรรณานุกรม
  • ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2542. ISBN 974-419-217-8 [พิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี]
  • ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82 เรื่องพระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. กรุงเทพฯ : พิมพ์ครั้งที่ 2, กรมศิลปากร, 2537. 423 หน้า. ISBN 974-419-025-6
  • อุบลศรี อรรถพันธุ์. การชำระพระราชพงศาวดารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2524. 273 หน้า. หน้า 34-37. [วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร]