ข้ามไปเนื้อหา

วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร

พิกัด: 13°44′28″N 100°29′22″E / 13.741209°N 100.489578°E / 13.741209; 100.489578
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร
อาคารโมลีปริยัตยากร เฉลิมพระเกียรติฯ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดโมลี, วัดท้ายตลาด
ที่ตั้งซอยวังเดิม 6 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
ประเภทพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระพุทธโมลีโลกนาถ
เจ้าอาวาสพระพรหมวชิโรดม (สุทัศน์ วรทสฺสี)
ความพิเศษเคยเป็นวัดในเขตพระราชฐาน
เวลาทำการทุกวัน 08.00–16.00 น.
เว็บไซต์watmoli.com
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดโมลีโลกยาราม
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000143
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร หรือชื่อเดิมว่า วัดท้ายตลาด ตั้งอยู่บริเวณพระราชวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง และเหตุที่เรียกว่าวัดท้ายตลาดเนื่องจากอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี ปัจจุบันชาวบ้านยังนิยมเรียกชื่อนี้อยู่

ในสมัยธนบุรี วัดนี้เป็นวัดในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่ตลอดช่วงรัชกาล ในรัชกาลที่ 3 ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ทั่วทั้งพระอาราม และทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า "วัดโมลีโลกยสุธาราม" ภายหลังมาเรียกกันว่า "วัดโมลีโลกยาราม" วัดโมลีโลกยารามเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่มีผู้สอบได้เปรียญธรรมมากเป็นระดับต้น ๆ ของประเทศ สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วย[1]

อาคารต่าง ๆ

[แก้]
  1. พระอุโบสถ ลักษณะทรงไทยยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระประธานปางมารวิชัยทรงฉัตร 7 ชั้น (พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 12 ได้ถวายนามว่า "พระพุทธโมลีโลกนาถ") และพระอัครสาวกขวา-ซ้าย โดยหลักฐานตามพระราชพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ ยืนยันได้ว่า สร้างในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
  2. พระวิหาร (พระวิหารฉางเกลือ) ลักษณะทรงไทยคล้ายผสมจีน สันนิษฐานว่าได้ใช้เป็นฉางเกลือของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้านหลังมีรูปปั้นขุนนางจีน 2 ตัว ภายในพระวิหารกั้นเป็น 2 ตอน ปัจจุบัน ตอนหน้าที่หันออกคลองบางกอกใหญ่ ประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นหมู่บนฐานชุกชี ส่วนตอนหลังเป็นพื้นที่ค่อนข้างแคบ ประดิษฐาน "พระปรเมศ" พระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย แต่เดิมผนังห้องนี้เขียนลวดลายงดงาม ภายหลังทาสีทับ แต่ส่วนบนยังปรากฏอยู่
  3. หอสมเด็จ แบ่งเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นฐานและชั้นตัวหอ ชั้นฐานรับหอและพระเจดีย์ แบ่งเป็นช่อง ๆ แต่ละช่องมีรูปทหารแบกส่วนฐานไว้ สันนิฐานว่าเป็นรูปทหารฝรั่งเศสเนื่องจากสร้างบนส่วนของป้อมทหารฝรั่งเศสตั้งแต่สมัยอยุธยา (บริเวณเดียวกับป้อมวิไชยประสิทธิ์) ส่วนบนประกอบด้วยพระเจดีย์รอบด้าน ๆ ละ 2 องค์ รวมเป็น 4 องค์ ด้านหน้าเป็นรูปอุโมงค์ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ตัวหอสมเด็จ เป็นอาคารทรงไทย ประตูหน้าต่างเขียนภาพลายรดน้ำงดงาม ภายในประดิษฐานรูปหล่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เจ้าอาวาสรูปที่ 2 เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเบื้องต้นแด่พระโอรสในรัชกาลที่ 2 แทบทุกพระองค์ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในรัชกาลที่ 3 เมื่อมรณภาพแล้ว รัชกาลที่ 3 โปรดให้หล่อขึ้น เป็นรูปหล่อสำริดนั่งขัดสมาธิมีขนาดเท่าองค์จริง ประดิษฐานอยู่บนแท่นซึ่งมีคำจารึกที่ฐานหล่อว่า "ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้วสองพันสามร้อยแปดสิบหกพระวษา ณ วันจันทร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ปีเถาะ เบญจศก พระบาทสมเด็จบรมธรรมฤกมหาราชาธิราชรามาธิบดีบรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการ ณ พระบัณฑูรสุรสีหนาท ดำรัส สั่งหลวงกัลมาวิจิตร เจ้ากรมช่างปั้นขวา และอาจารย์ฉิม กรมราชบัณฑิตย์ ให้จำลองหล่อพระพุทธรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลย์สุนทรนายก ติปิฏกธรา มหาคณฤษร บวรสังฆาราม คามวาสีบพิตร อันสถิต ณ พุทไธยสวรรยาวาศ วรวิหาร ไว้เป็นที่สักการบูชาแก่สานุศิษย์ทั้งปวงสืบไป"
  4. หอไตร ปัจจุบันย้ายออกมาจากสระน้ำและตั้งอยู่บริเวณ กุฎีสงฆ์ ภายในคณะ 1 เป็นอาคารไม้สักทรงไทย ใต้ถุนสูง หลังคา 2 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ ประตู หน้าต่าง ผนังด้านใน และเสาเขียนภาพลายรดน้ำภาพถ้วยชามเครื่องใช้จีนสวยงามยิ่ง สันนิษฐานว่า คงสร้างในรัชกาลที่ 3 ต่อมา รัชกาลที่ 5 โปรดให้บูรณะขึ้นอีกครั้งสมัยพระธรรมเจดีย์ (อยู่) เป็นเจ้าอาวาส ในปีพุทธศักราช 2555 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานแห่งนี้ให้ดูสวยงามดังเดิม

ลำดับเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร

[แก้]

วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร มีเจ้าอาวาสมาแล้วทั้งสิ้น 13 รูป ได้แก่[2]

ลำดับ เจ้าอาวาส วาระ (พ.ศ.)
1 พระพุทธโฆษาจารย์ (ศรี) 2325 — 2352
2 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) 2353 — 2374
3 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) 2375 — 2393
4 พระธรรมไตรโลก (รอด) 2394 — 2409
5 พระธรรมเจดีย์ (อยู่) 2410 — 2429
6 พระราชานุพัทธมุนี (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) 2430 — 2436
7 พระวิเชียรธรรมคุณาธาร (โสตถิ์ หรือ สด) 2437 — 2453
8 พระสนิทสมณคุณ (เงิน) 2454 — 2463
9 พระประสิทธิศีลคุณ (จ้อย) 2464 — 2492
10 พระครูสังวรโมลี (ชาลี อุตฺตโร) 2493 — 2514
11 พระรัตนมุนี (โสม ปญฺญาวุฑฺโฒ) 2515 — 2539
12 พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ) 2540 — 2554
13 พระพรหมวชิโรดม (สุทัศน์ วรทสฺสี) 2555 — ปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. บันทึก เรื่อง สภาพวัดโมลีโลกยาราม.พระเทพปริยัติสุธี (1 สิงหาคม 2540). https://www.watmoli.org/index.php?url=about&code=reccord_wat&cat=A
  2. ลำดับเจ้าอาวาส

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′28″N 100°29′22″E / 13.741209°N 100.489578°E / 13.741209; 100.489578