ข้ามไปเนื้อหา

วัดท่าพระ (กรุงเทพมหานคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดท่าพระ
วิหารแกลบวัดท่าพระ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อเกษร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดท่าพระ
ที่ตั้งเลขที่ 20/1 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 4 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อเกษร
เจ้าอาวาสพระครูอาทรสังวรกิจ (วันชัย พนฺธชโย) ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดท่าพระ
กิจกรรมขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี เทศกาลงานแห่ผ้าไตรถวายหลวงพ่อเกษร
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดท่าพระ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 4 แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร (เดิมคือกิ่งอำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี)

วัดท่าพระ ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างวัดอย่างชัดเจน แต่มีการสันนิษฐานว่าอาจสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจากแรงศรัทธาของชาวบ้านและชาวสวนในละแวกคลองมอญ ฝั่งธนบุรี ตลอดทั้งชาวบ้านที่จอดเรือพักแรมในบริเวณดังกล่าว[1] ภายหลังได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตามราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 41 เล่ม 64 ประกาศ ณ วันที่ 13 สิงหาคม พุทธศักราช 2490 โดยมีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร[2]

อาคารเสนาสนะ

[แก้]

อุโบสถสร้างใหม่นี้ สร้างขึ้น พ.ศ. 2540 ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคาลด 3 ชั้น หน้าบันมีพระปรมาภิไธย สก และปั้นเป็นรูปครุฑ กว้าง 12 เมตร ยาว 28 เมตร ผนังด้านนอกประดับกระเบื้องเบญจรงค์ลายเทพพนม ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ด้านซ้ายและขวาเป็นพระมหาโมคคัลลานะและพระสารีบุตร มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ภายใน หลังพระประธานเขียนภาพเทพชุมนุม ระหว่างช่องหน้าต่างเขียน เรื่องมหาเวสสันดรชาดก เหนือหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ ช่างเขียนใช้กรรมวิธีสมัยใหม่ที่เขียนลงบนผ้าก่อนที่จะผนึกติดผนังซึ่งเป็นที่นิยม บานประตูหน้าต่างของพระอุโบสถแกะสลักเรื่องทศชาติชาดก รวม 14 บาน[3]

วิหารหลวงพ่อเกษรเป็นอาคารจตุรมุข ทางวัดสร้างครอบวิหาร กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุและโบราณสถานตั้งแต่ พ.ศ. 2520 ภายในวิหารประดิษฐาน หลวงพ่อเกษร พระพุทธรูปปูนปั้นศิลา แบบศิลปะอยุธยาตอนต้น[4] เชื่อว่าเป็นพระพี่พระน้องกับหลวงพ่อวัดบ้านแหลมและหลวงพ่อโสธร เพราะลอยน้ำมาขึ้นที่วัดเหมือนกัน บานประตูไม้สักแกะสลักรูปทวารบาลทั้ง 2 บาน คาดว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ทำตามเดิมเหมือนอยุธยาตอนต้น เป็นรูปทวารบาลเต็มบาน ยืนบนแท่น มียักษ์แบกองค์เทวดาสวมเทริด ทรงสูง

ลำดับเจ้าอาวาส

[แก้]

รายนามเจ้าอาวาสวัดท่าพระ (ที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้) นับตั้งแต่ก่อสร้างวัด[1] มีรายละเอียดดังนี้

ลำดับ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1 พระอธิการทอง พ.ศ. 2340 พ.ศ. 2400
2 พระอธิการเงิน พ.ศ. 2430 พ.ศ. 2455
3 พระอธิการมัด พ.ศ. 2446 พ.ศ. 2457
4 พระอธิการแช่ม พ.ศ. 2461 พ.ศ. 2488
5 พระอธิการฟุ้ง พ.ศ. 2489 พ.ศ. 2495
6 พระครูวรดิตถ์วุฒาจารย์ พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2522
7 พระครูวรดิตถ์วิมล พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2539
8 พระครูมงคลกิจจานุกูล

(ธงชัย โชติโย)

พ.ศ. 2540 12 มีนาคม 2563
9 พระครูวิบูลกิจจานุยุต

(นิคม อธิปญฺโญ)

6 เมษายน 2563 6 มิถุนายน 2567 14 มีนาคม - 5 เมษายน 2563

ในตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส

10 พระครูอาทรสังวรกิจ

(วันชัย พนฺธชโย)

4 ตุลาคม 2567 ปัจจุบัน 8 มิถุนายน - 3 ตุลาคม 2567

ในตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. "ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. ประกาศ พระราชทานวิสุงคามสีมา, (2 กันยายน 2490). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 64 ตอนที่ 41. หน้า 548-552.
  3. "วัดท่าพระ". สำนักงานเขตบางกอกใหญ่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-25. สืบค้นเมื่อ 2020-09-08.
  4. "วัดท่าพระ" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 139.