ลัทธิมากซ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ลัทธิมาร์กซ์)

ลัทธิมากซ์ (อังกฤษ: Marxism) หรือมักใช้ทับศัพท์ว่า มาร์กซิสม์[1] เป็นวิธีวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์สังคมวิทยาแบบฝ่ายซ้ายถึงซ้ายจัด[2][3][4] ที่ใช้การตีความพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยม ซึ่งเป็นเป็นที่รู้จักในชื่อวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (historical materialism) เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ทางชนชั้นและความขัดแย้งทางสังคม (social conflict) และใช้มุมมองแบบวิภาษวิธีในการพิจารณาการแปลงสภาพทางสังคม (social transformation) มันถือกำเนิดจากงานเขียนของคาร์ล มาคส์ และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ นักปรัชญาชาวเยอรมันสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อเวลาผ่านไปลัทธิมากซ์พัฒนาเป็นหลายแขนงและสำนักคิด ไม่มีทฤษฎีมาร์กซิสต์ (Marxist philosophy) ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งที่สมบูรณ์ครบถ้วนและเป็นที่สิ้นสุด[5]

ตามทฤษฎีลัทธิมากซ์ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเกิดในสังคมทุนนิยมอันเนื่องจากความขัดกันระหว่างผลประโยชน์ทางวัตถุของชนกรรมาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งรับค่าจ้างผลิตสินค้าและบริการ กับชนชั้นกระฎุมพี ประชากรส่วนน้อยซึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและเอาความมั่งคั่งมาจากการจัดสรรมูลค่าส่วนเกิน (กำไร) ที่ชนกรรมาชีพผลิต การต่อสู้ระหว่างชนชั้นนี้ซึ่งมักแสดงออกมาเป็นการกบฏของพลังการผลิตของสังคม (productive forces) ต่อความสัมพันธ์การผลิตของสังคม (relations of production) ส่งผลให้เกิดวิกฤติระยะสั้นเมื่อชนชั้นกระฎุมพีประสบความลำบากในการจัดการความแปลกแยกของแรงงาน (Marx's theory of alienation) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นของชนกรรมาชีพ วิกฤตนี้จะลงเอยด้วยการปฏิวัติของชนกรรมาชีพและการสถาปนาสังคมนิยม ซึ่งเป็นระบบทางสังคมและเศรษฐกิจที่ให้สังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่กระจายให้แต่ละคนตามการมีส่วนร่วม และการผลิตที่จัดระเบียบโดยตรงสำหรับการใช้สอย เมื่อพลังการผลิตก้าวหน้าขึ้น มาคส์ตั้งสมมติฐานว่าสังคมนิยมในท้ายที่สุดจะแปลงเป็นสังคมคอมมิวนิสต์

สำนักคิดต่าง ๆ นอกจากจะเน้นและดัดแปลงแง่มุมบางอย่างของลัทธิมากซ์คลาสสิก (classical marxism) แล้ว แนวคิดแนวมากซ์ถูกนำไปรวมและปรับใช้ในหลากหลายทฤษฎีทางสังคม (social theory) ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่แตกต่างหลากหลาย[6] พร้อมกับบทวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง (critique of political economy) ของมากซ์ ลักษณะต่าง ๆ ที่ให้นิยามลัทธิมากซ์มักถูกเรียกในชื่อวัตถุนิยมวิภาษวิธี (dialectical materialism) และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ทว่าศัพท์เหล่านี้ถูกบัญญัติขึ้นหลังมาคส์เสียชีวิตแล้ว และหลักการของมันถูกตั้งคำถามจากผู้ที่ระบุตนว่าเป็นมาร์กซิสต์บางคน

ลัทธิมากซ์ได้สร้างผลกระทบต่อวงการวิชาการทั่วโลกอย่างลุ่มลึก และส่งอิทธิพลต่อหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นมานุษยวิทยา,[7][8] โบราณคดี (Marxist archaeology), ทฤษฎีศิลปะ (Marxist aesthetics), อาชญาวิทยา (Marxist criminology), วัฒนธรรมศึกษา (cultural studies), เศรษฐศาสตร์, การศึกษา,[9] จริยศาสตร์ (Marxist ethics), ทฤษฎีภาพยนตร์ (Marxist film theory), ภูมิศาสตร์ (geography),[10] ประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Marxist historiography), วรรณคดีวิจารณ์ (Marxist literary criticism), สื่อมวลชนศึกษา (media studies),[11][12] ปรัชญา, รัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์การเมือง, จิตวิทยา (Freudo-Marxism), วิทยาศาสตร์ศึกษา (science studies),[13] สังคมวิทยา (Marxist sociology), การผังเมืองและการละคร

ภาพรวม[แก้]

คาร์ล มาคส์

ลัทธิมากซ์พยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม (social phenomena) ภายในสังคมใด ๆ ด้วยการวิเคราะห์วัตถุสภาพและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จำเป็นในการสนองความต้องการเชิงวัตถุของมนุษย์ แนวคิดนี้สันนิษฐานว่ารูปแบบของการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจ หรือวิถีการผลิต ส่งอิทธิพลต่อปรากฏการณ์ทางสังคมอื่น ๆ ทั้งมวล รวมทั้งความสัมพันธ์ทางสังคมที่กว้างกว่า สถาบันทางการเมือง ระบบกฎหมาย ระบบวัฒนธรรม สุนทรียภาพ และอุดมการณ์ ความสัมพันธ์ทางสังคมเหล่านี้และระบบเศรษฐกิจประกอบกันเป็นฐานและโครงสร้างส่วนบน เมื่อพลังการผลิต (กล่าวคือเทคโนโลยี) พัฒนายิ่งขึ้น รูปแบบการจัดระเบียบการผลิตอย่างที่ดำรงอยู่จะล้าสมัยและขัดขวางการพัฒนาก้าวหน้า คาร์ล มาคส์ เขียนไว้ว่า "ที่ขั้นของการพัฒนาขั้นหนึ่ง พลังการผลิตเชิงวัตถุของสังคมจะขัดแย้งกับความสัมพันธ์การผลิตที่ดำรงอยู่ หรือ นี่จะกล่าวแต่เพียงสิ่งเดียวกันแต่ด้วยศัพท์ทางกฎหมาย กับความสัมพันธ์ของทรัพย์สินภายในกรอบที่พวกมันได้ดำเนินการมาจนบัดนี้ จากรูปแบบต่าง ๆ ของการพัฒนาของพลังการผลิต ความสัมพันธ์เหล่านี้กลายเป็นพันธนาการของพวกมัน จากนั้นยุคสมัยของการปฏิวัติทางสังคม (social revolution) จึงเริ่มต้น"[14]

ความไร้ประสิทธิภาพดังกล่าวจะปรากฏตัวเป็นความขัดแย้งทางสังคมภายในสังคม จากนั้นจึงชิงชัยกันในระดับของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น[15] การต่อสู้อันนี้ภายในวิถีการผลิตแบบทุนนิยมปรากฏตัวเป็นการต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (ชนชั้นกระฎุมพี) กับส่วนใหญ่ของประชากรซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการ (ชนกรรมาชีพ) มาร์กซิสต์เริ่มต้นการอนุมานด้วยข้อตั้งว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (social change) เกิดขึ้นจากการต่อสู้ระหว่างชนชั้นต่าง ๆ ภายในสังคมซึ่งมีความขัดแย้งกัน แล้วสรุปว่า ในเมื่อทุนนิยมขูดรีดและกดขี่ชนกรรมาชีพ ดังนั้นทุนนิยมจะนำไปสู่การปฏิวัติของชนกรรมาชีพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทรัพย์สินส่วนบุคคลในฐานะปัจจัยการผลิตจะถูกแทนที่ด้วยการถือกรรมสิทธิ์แบบสหกรณ์ในสังคมสังคมนิยม เศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialist economics) จะไม่มีพื้นฐานการผลิตเป็นการสร้างผลกำไรของเอกชน แต่เป็นการสนองต่อความต้องการของมนุษย์ กล่าวได้ว่าคือการผลิตเพื่อการใช้สอย (production for use) ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ อธิบายไว้ว่า "วิถีการถือเอาแบบทุนนิยมที่ผลผลิตเป็นนายทาสของผู้ผลิตแล้วก็ของผู้ถือเอา จะถูกแทนที่ด้วยวิถีการถือเอาผลผลิตซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนธรรมชาติของปัจจัยการผลิตสมัยใหม่ ในมือหนึ่ง การถือเอาของสังคมโดยตรงให้เป็นปัจจัยในการบำรุงรักษาและการขยายตัวการผลิต และในอีกมือหนึ่ง การถือเอาของปัจเจกชนโดยตรงให้เป็นปัจจัยในการยังชีพและการเสวยสุข"[16]

เศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์และผู้สนับสนุนมองว่าทุนนิยมไม่มีความยั่งยืนในทางเศรษฐกิจ (economic stability) และไม่สามารถพัฒนามาตรฐานการครองชีพ (Standard of living) ของประชากรได้ เพราะต้องชดเชยอัตรากำไรที่ลดลง (Tendency of the rate of profit to fall) ด้วยการลดค่าจ้างและสวัสดิการ (Welfare) ของลูกจ้างและต้องรุกรานทางการทหารในขณะเดียวกัน และมองว่าวิถีการผลิตแบบสังคมนิยม (socialist mode of production) จะรับช่วงต่อทุนนิยมเป็นวิถีการผลิตของมนุษย์ผ่านการปฏิวัติโดยกรรมาชีพ ทฤษฎีภาวะวิกฤติแนวมากซ์เชื่อว่าสังคมนิยมไม่เพียงแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจด้วย

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

คำว่า Marxism (ลัทธิมากซ์) เป็นที่รู้จักจาก คาร์ล เคาท์สกี (Karl Kautsky) ซึ่งนับว่าตนเองเป็น orthodox Marxist (มาร์กซิสต์แบบเดิม) ในช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างผู้ติดตามมาคส์แบบเดิมกับแบบลัทธิแก้[17] เอดูอาร์ท แบร์นชไตน์ คู่แข่งลัทธิแก้ของเคาท์สกีต่อมาก็นำคำนี้มาใช้[17]

เอ็งเงิลส์ไม่สนับสนุนให้ใช้คำว่า Marxism ในการเรียกมุมมองของเขาหรือของมาคส์ก็ตาม[18] เขากล่าวว่าคำนี้ถูกใช้ในทางที่ผิดเป็นคำขยาย (Grammatical modifier) เชิงวาทกรรมของพวกที่พยายามอ้างว่าตนเป็นผู้ติดตามที่แท้จริงของมาคส์ และแปะป้ายคนอื่น ๆ ด้วยคำอื่นอย่าง Lassallians (ลัทธิลาซาล)[18] ใน ค.ศ. 1882 เอ็งเงิลส์กล่าวว่ามาคส์วิจารณ์ ปอล ลาฟาร์ก (Paul Lafargue) ลูกเขยของมาคส์ที่เรียกตนว่าเป็นมาร์กซิสต์ว่า หากมุมมองของลาฟาร์กคือมาร์กซิสต์ อย่างนั้นแล้ว "สิ่งหนึ่งนั้นแน่นอนคือตัวฉันเองไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์" (ce qu'il y a de certain c'est que moi, je ne suis pas Marxiste)[18][19]

วัตถุนิยมประวัติศาสตร์[แก้]

การค้นพบการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ในแบบวัตถุนิยม หรืออีกอยางหนึ่ง การสานต่อและขยายความวัตถุนิยมเข้าไปสู่ขอบเขตของปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างเหนียวแน่น ได้กำจัดข้อบกพร่องหลักสองประการของทฤษฎีประวัติศาสตร์อันก่อน ๆ ทิ้งไป ประการแรก อย่างดีที่สุดพวกมันพิจารณาเพียงแรงจูงใจเชิงอุดมการณ์ของกิจกรรมทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์เท่านั้น โดยมิได้เข้าใจถึงกฎเกณฑ์เชิงรูปธรรมซึ่งคอยควบคุมพัฒนาการของระบบของความสัมพันธ์ทางสังคม ... ประการที่สอง ทฤษฎีอันก่อน ๆ มิได้กล่าวถึงกิจกรรมของ มวลชน ของประชากร ในขณะที่วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ทำให้สามารถศึกษาสภาวะทางสังคมของชีวิตของมวลชนและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเหล่านั้นด้วยความแม่นยำแบบวิทยาศาสตร์ได้เป็นครั้งแรก

วลาดิมีร์ เลนิน ค.ศ. 1913[20]

สังคมมิได้ประกอบขึ้นจากปัจเจกบุคคล แต่เป็นการแสดงออกมาของผลรวมของความสัมพันธ์ระหว่างกัน ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลเหล่านี้

ลัทธิมากซ์ใช้ระเบียบวิธีแบบวัตถุนิยม ที่มาคส์และเอ็งเงิลส์เรียกว่าการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยม และในภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์เหตุเบื้องหลังของพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากมุมมองของวิธีการส่วนรวมที่มนุษย์ใช้ยังชีพตนเอง[22] คำอธิบายของมาคส์เกี่ยวกับทฤษฎีนี้มีอยู่ในงานเขียนของเขา The German Ideology (ค.ศ. 1845)[23] และในคำนำของ A Contribution to the Critique of Political Economy (ค.ศ. 1859)[24] ลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสังคมทั้งหลาย (ชนชั้นทางสังคม พีระมิดการเมือง และอุดมการณ์) ถูกสันนิษฐานว่าถือกำเนิดขึ้นมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งสองคือสิ่งที่เรียกว่าฐานและโครงสร้างส่วนบน (base and superstructure) อุปลักษณ์ว่าด้วยฐานและโครงสร้างส่วนบนนี้เป็นการอธิบายถึงความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดที่มนุษย์ใช้ในการผลิตและการผลิตซ้ำการดำรงอยู่ทางสังคมของตน มาคส์กล่าวว่า "ผลรวมของพลังการผลิตทั้งหมดที่เข้าถึงมือมนุษย์เป็นตัวที่กำหนดสภาพของสังคม" และคือฐานทางเศรษฐกิจของสังคม[25]

ฐานนั้นประกอบไปด้วยพลังการผลิตเชิงวัตถุ อาทิแรงงาน (means of labor) ปัจจัยการผลิต และความสัมพันธ์การผลิต กล่าวคือการจัดระเบียบทางสังคมและการเมืองที่ควบคุมการผลิตและการกระจาย โครงสร้างส่วนบนซึ่งงอกออกมาจากฐานนี้คือ "จิตสำนึกทางสังคม (social consciousness) ในรูปแบบต่าง ๆ" ทางกฎหมายและการเมือง ซึ่งได้สภาวะต่าง ๆ ทั้งโครงสร้างส่วนบนและอุดมการณ์หลัก (dominant ideology) ของสังคมมาจากฐานทางเศรษฐกิจนั้นเอง ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาพลังการผลิตเชิงวัตถุกับความสัมพันธ์การผลิตจะกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติสังคม โดยที่การเปลี่ยนแปลงของฐานทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่การแปลงสภาพทางสังคมของโครงสร้างส่วนบน[24][26]

ความสัมพันธ์นี้เป็นแบบสะท้อน โดยเริ่มแรกฐานจะให้กำเนิดแก่โครงสร้างส่วนบน และคงตนไว้เป็นพื้นฐานของการจัดระเบียบทางสังคม (social organization) รูปแบบหนึ่ง ระเบียบสังคมที่ก่อร่างขึ้นใหม่เหล่านั้นก็ส่งผลต่อทั้งส่วนฐานและส่วนโครงสร้างส่วนบน ดังนั้นแทนที่จะสถิตย์นิ่ง ความสัมพันธ์เป็นแบบวิภาษ ซึ่งแสดงออกมาและขับเคลื่อนโดยความขัดแย้งและความย้อนแย้ง เอ็งเงิลส์อธิบายว่า "ประวัติศาสตร์ของสังคมที่ดำรงอยู่ตราบจนบัดนี้ทั้งสิ้นคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น เสรีชนกับทาส แพทริเซียนกับเพลเบียน (Plebeians) เจ้าที่ดินกับข้าที่ดิน นายสมาคมช่าง (guild) กับนายช่าง (journeyman) กล่าวคือผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ (Oppressors–oppressed distinction) เผชิญหน้ากันในความขัดแย้งระหว่างกันเป็นนิตย์ ซึ่งดำเนินไปโดยไร้ซึ่งอุปสรรค บ้างซ่อนเร้นไว้ บ้างออกมาสู้กัน การต่อสู้ซึ่งเมื่อสิ้นสุดลงแล้วจะลงเอยด้วยการปฏิวัติประกอบร่างสังคมทั้งมวลขึ้นใหม่ หรือการล่มสลายร่วมกันของชนชั้นชิงชัย"[27]

มาคส์พิจารณาว่าความขัดแย้งทางชนชั้นที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นแรงขับเคลื่อนของประวัติศาสตร์มนุษย์ ดังเช่นความขัดแย้งที่ได้ปรากฏเป็นจริงในรูปของระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition economy) ของการพัฒนาที่เด่นชัดในยุโรปตะวันตก เอ็งเงิลส์อธิบายความคิดเรื่องวิวัฒนาการของสังคมในความคิดของมาคส์ว่า สังคมมีวิวัฒนาการด้วยกัน 6 ขั้น[28] โดย 4 ขั้นแรกของพัฒนาการของความสัมพันธ์ทางการผลิตในประวัติศาสตร์ของมนุษย์คือ:

  1. สังคมคอมมิวนิสต์โบราณ (primitive communism): เป็นสังคมชนเผ่า (tribe) ที่มีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
  2. สังคมทาส: เป็นสังคมซึ่งวิวัฒนาการจากชนเผ่ากลายเป็นนครรัฐ บ่อเกิดของระบอบอภิชนาธิปไตย
  3. สังคมศักดินา: เป็นสังคมซึ่งมีเจ้าขุนมูลนายเป็นชนชั้นปกครอง และพ่อค้าวิวัฒนาการกลายเป็นกระฎุมพี
  4. สังคมทุนนิยม: เป็นสังคมซึ่งมีนายทุนเป็นชนชั้นปกครอง เป็นผู้สร้างและเป็นนายจ้างของชนกรรมาชีพ

แม้ว่าวัตถุนิยมประวัติศาสตร์จะถูกเรียกว่าเป็นทฤษฎีประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยม แต่มาคส์ไม่เคยอ้างว่าเขาได้สร้างกุญแจผีไว้ไขประวัติศาสตร์ขึ้นมา และการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยมไม่ได้เป็น "ทฤษฎีเชิงประวัติศาสตร์-ปรัชญาเกี่ยวกับวิถีทั่วไปที่ผู้คนทั้งมวลถูกโชคชะตาบีบบังคับ โดยไม่สนถึงพฤติการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่พวกเขาประสบพบเจอเลย" ในจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รัสเซีย Otetchestvennye Zapiskym (ค.ศ. 1877)[29] เขาอธิบายว่าแนวคิดของเขามีพื้นฐานอยู่บนการศึกษาสภาพความเป็นจริงในยุโรปอย่างเป็นรูปธรรม[30]

การวิพากษ์ทุนนิยม[แก้]

ภาพเขียนใน ค.ศ. 1911 สะท้อนการวิพากษ์ทุนนิยมของมากซ์ โดยแสดงให้เห็นว่าชนชั้นปกครองมีจำนวนน้อยทว่ากดขี่ขูดรีดชนชั้นล่างลงมาซึ่งมีจำนวนมากกว่า

อิทธิพลของจิตนิยมเยอรมันเห็นได้จากแนวคิดเรื่องความแปลกแยก ซึ่งมาคส์รับมาจาก Phenomenology of Spirit (ค.ศ. 1807) ของเฮเกิลและ The Essence of Christianity (ค.ศ. 1841) ของฟ็อยเออร์บัค[31] ใน ค.ศ. 1844 ผ่านหนังสือของเขาชื่อ "ต้นฉบับทางเศรษฐศาสตร์และปรัชญาจากปี 1844" (Economics and Philosophical Manuscript 1844)" มาคส์ระบุถึงความแปลกแยก 4 ชนิดที่เกิดขึ้นกับกรรมกรที่ทำงานอยู่ในระบบการผลิตแบบทุนนิยม อันได้แก่[32]:

มากซ์วิเคราะห์ว่าอัตรามูลค่าส่วนเกิน (หรือกำไร) คือระดับของการขูดรีดพลังแรงงานโดยทุน หรือการขูดรีดคนงานโดยนายทุน มากซ์เริ่มการวิเคราะห์โดยการสมมุติว่าไม่มีการขูดรีดอยู่เลย การซื้อขายสินค้าทำที่มูลค่าของมันที่มากซ์กล่าวว่าวัดได้ด้วยเวลาแรงงานนามธรรมอันจำเป็นทางสังคม (Socially necessary labour time) ในการผลิตมันขึ้นมา เช่นหากจำเป็นต้องใช้แรงงานนามธรรมห้าชั่วโมงในการผลิตผลไม้หนึ่งลัง และสองชั่วโมงครึ่งในการผลิตเสื้อหนึ่งตัว เราจะสามารถแลกเปลี่ยนเสื้อสองตัวได้ผลไม้หนึ่งลัง มาคส์กล่าวว่านายทุนซื้อสินค้าที่เรียกว่าพลังแรงงาน (Labour power) จากคนงานที่มูลค่าแลกเปลี่ยน (Exchange value) ของมันในรูปของค่าจ้าง ซึ่งเป็นมูลค่าที่เพียงพอให้คนงานสามารถแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น ๆ เพื่อยังชีพได้ เช่นอาหารมูลค่าเท่ากับแรงงานนามธรรมห้าชั่วโมง และเมื่อซื้อไปแล้ว นายทุนจึงเป็นเจ้าของพลังแรงงานนั้นในระหว่างเวลาทำงาน และทำให้มูลค่าใช้สอย (Use value) ของพลังแรงงานแปลกแยกออกจากตัวคนงาน[33]

นายทุนบริโภคมูลค่าใช้สอยของพลังแรงงานที่ซื้อมาด้วยการให้คนงานทำงานเป็นเวลาสิบชั่วโมงเป็นต้น มูลค่าที่คนงานผลิตทั้งหมดสิบชั่วโมงจึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่เป็นค่าจ้างห้าชั่วโมงและส่วนที่เป็นมูลค่าส่วนเกินอีกห้าชั่วโมงที่ได้มาจากการใช้มูลค่าใช้สอยของพลังแรงงานซึ่งตกเป็นของนายทุน ผลคือคนงานกลับต้องทำงานปริมาณมากกว่าที่จำเป็นสำหรับการยังชีพ และนายทุนกลับได้รับมูลค่าส่วนเกินมาโดยไม่ต้องทำอะไรนอกจากเพียงแค่การบริโภคสินค้าที่มาคส์เรียกว่าพลังแรงงาน มาคส์สรุปว่านายทุนได้รับผลผลิตของแรงงานคนอื่นโดยไม่ต้องให้อะไรตอบแทนเขา ในตัวอย่างดังที่กล่าวมาแล้วคือแรงงานที่ไม่ได้จ่ายไปปริมาณห้าชั่วโมง กล่าวคือ นายทุนขูดรีดแรงงาน ทฤษฎีมากซิสต์นี้อ้างว่าที่นายทุนได้รางวัล (หรือมูลค่าส่วนเกินในรูปของ "กำไร") ไม่ใช่เพราะเขาปล้นหรือหลอกลวงคนงาน และไม่ใช่เพราะเขายอมรับความเสี่ยง เป็นเจ้าของสินทรัพย์ อดเปรี้ยวกินหวาน ทำธุรกิจ หรือทำงานหนัก แต่เพียงแค่เพราะเขาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบริโภคพลังแรงงานของคนงาน จึงได้รับมูลค่าของมันและมูลค่าใช้สอยในการสร้างมูลค่าส่วนเกินขึ้นมา[33]

จากการวิเคราะห์เรื่องการขูดรีดแรงงานของมาคส์ ชนชั้นนายทุนจึงต้องพัฒนาเครื่องมือและวิธีการผลิตให้ก้าวหน้าขึ้นตลอดเวลา ต้องขยายตลาดสินค้า แหล่งวัตถุดิบและกิจการไปทั่วโลก การผลิตแบบทุนนิยมนี้ได้ทำให้เกิดความปั่นป่วนและวิกฤตทางเศรษฐกิจแบบวัฏจักร นั่นคือการผลิตล้นเกินท่ามกลางโลกที่อดอยากขาดแคลน เพื่อแก้ไขวิกฤตการผลิตล้นเกินและรักษาราคาของผลผลิตให้สูงกว่าต้นทุน จึงต้องทำลายผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด พยายามขยายตลาดใหม่และใช้ตลาดเก่าให้เป็นประโยชน์ ซึ่งผลสุดท้ายก็จะนำไปสู่วิกฤตรอบด้านที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ความขัดแย้งทางชนชั้นในสังคมรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในที่สุด จากปรากฏการณ์ดังกล่าว มาคส์เห็นว่า สิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมทุนนิยมเป็นจริงเฉพาะกับผู้ที่มีทรัพย์สิน ไม่ใช่สำหรับกรรมาชีพและคนยากจน การที่มนุษย์ถูกทำให้ยอมรับว่ามีความรวยหรือความจนนั้นมาคส์เรียกว่าจิตสำนึกหลอกลวงและจอมปลอม (False Conciousness)

จิตสำนึกหลอกลวงและจอมปลอมกำหนดพฤติกรรมในสังคมมนุษย์ให้ถูกครอบงำโดยปัจจัยในการผลิต คือ ทุน เครื่องมือ และที่ดิน ที่สำคัญคือ แรงงานเป็นตัวกำหนด และผลักดัน ซึ่งส่งผลให้เกิดชนชั้นทางสังคม มากซ์เรียกความคิดเหล่านี้ว่า "วัตถุนิยมประวัติศาสตร์" (historical materialism) โดยมีตรรกะดังนี้[34]

  • ทุกสิ่งเป็นไปตามกฎของวิภาษวิธีของเฮเกิล ดังนั้น
  • ทุกสิ่งย่อมมีการสูญสลาย และย่อมมีสิ่งเกิดใหม่ ประวัติศาสตร์ของสังคมเป็นวิวัฒนาการของการต่อสู้ทางชนชั้น
  • การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ ในเชิงปริมาณ ย่อมก่อให้เกิดคุณภาพ ในทางวัตถุ คือ สภาวะ ในทางสังคม คือการปฏิวัติ
  • ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกฎ 3 ข้อ ข้างต้น
  • มนุษย์ที่สมบูรณ์ (ในสังคมคอมมิวนิสต์) คือผู้ที่มีจิตสำนึกต่อสังคม เพราะได้รับการพัฒนา และวิวัฒนาการทางความคิด และวัตถุมาอย่างยาวนาน

อ้างอิงตามวลาดีมีร์ เลนิน "เนื้อหาหลักของลัทธิมากซ์" คือ "หลักเศรษฐศาสตร์ของมาคส์"[35] มาคส์อธิบายถึงคำกล่าวอ้างของนายทุนกระฎุมพีและนักเศรษฐศาสตร์ของพวกเขาที่ "ผลประโยชน์ของทุนเป็นสิ่งเดียวกันกับผลประโยชน์ของคนทำงาน" ว่าเป็นคำโกหก[36] เขาเชื่อว่าพวกเขาทำเช่นนั้นโดยการอ้างว่า "การเติบโตของทุนในการผลิตอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้" เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับทั้งนายทุนที่ร่ำรวยและกรรมกรคนงานเพราะเป็นการสร้างการจ้างงานให้พวกเขา[37]

นอกจากการวิพากษ์วิจารณ์ มาคส์กล่าวถึงผลลัพธ์บางประการของทุนนิยมโดยกล่าวว่ามัน "ได้สร้างพลังการผลิตในระดับมหาศาลและใหญ่โตยิ่งกว่าในยุคสมัยก่อนยุคใด ๆ ทั้งสิ้น"[38] และ "ได้ยุติระเบียบแบบศักดินาและปิตาธิปไตยทั้งมวล"[39]

ชนชั้นทางสังคม[แก้]

ลัทธิมากซ์สอนผมว่าสังคมคืออะไร ผมเหมือนเป็นคนถูกปิดตาอยู่ในดงป่าที่ไม่รู้ทิศเหนือทิศใต้เลย ถ้าจนสุดท้ายคุณยังไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้นโดยถ่องแท้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีมโนทัศน์ที่ชัดเจนว่าสังคมถูกแบ่งออกระหว่างพวกคนรวยและคนจน และคนบางคนกดขี่ขูดรีดคนอื่น ๆ คุณกำลังหลงทางอยู่ในดงป่าและไม่รู้อะไรสักอย่าง

ฟิเดล กัสโตร, ค.ศ. 2009[40]

มาคส์จัดแบ่งชนชั้นทางสังคมด้วยเกณฑ์สองข้อ การถือครองปัจจัยการผลิตกับการควบคุมเหนือพลังแรงงานของคนอื่น ตามเกณฑ์การแบ่งชนชั้นตามความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินดังกล่าวนี้ มาคส์ระบุกลุ่มสังคมภายในการจัดช่วงชั้นทางสังคมของวิถีการผลิตแบบทุนนิยมไว้ดังต่อไปนี้:

  • ชนกรรมาชีพ: "ชนชั้นของผู้ใช้แรงงานรับจ้างสมัยใหม่ ผู้ที่ไม่ถือครองปัจจัยการผลิตของตน และถูกลดทอนจนต้องขายพลังแรงงานของตนเพื่อยังชีพ"[41] วิถีการผลิตแบบทุนนิยมสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ชนชั้นกระฎุมพีสามารถขูดรีดชนกรรมาชีพได้ โดยที่แรงงานของกรรมกรคนงานผลิตมูลค่าส่วนเกินที่มากกว่าค่าจ้างของเขาเอง
  • ชนชั้นกระฎุมพี: "ชนชั้นของนายทุนสมัยใหม่ ผู้ถือครองปัจจัยการผลิตทางสังคมและนายจ้างของแรงงานรับจ้าง"[42] และดังนั้นคือผู้ขูดรีดชนกรรมาชีพ กลุ่มนี้ถูกแบ่งย่อยเป็นชนชั้นกระฎุมพีกับชนชั้นกระฎุมพีน้อย
  • เจ้าที่ดิน: ชนชั้นทางสังคมซึ่งมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ยังคงถือความมั่งคั่งและอำนาจบางส่วนไว้
  • ชาวไร่ชาวนา: ชนชั้นที่กระจัดกระจายและไม่สามารถจัดตั้งและส่งผลสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม (socioeconomics) ส่วนใหญ่จะกลายเป็นชนกรรมาชีพและบางส่วนจะกลายเป็นเจ้าของที่ดิน

สำนึกทางชนชั้นหมายถึงการที่ชนชั้นทางสังคมตระหนักรู้ถึงตนเองและโลกทางสังคม และความสามารถที่จะกระทำอย่างเป็นเหตุผลเพื่อประโยชน์สูงสุดของตน สำนึกทางชนชั้นเป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่ชนชั้นทางสังคมจะสามารถปฏิวัติได้โดยสำเร็จและจากนั้นจึงสามารถจัดตั้งเผด็จการโดยชนกรรมาชีพ

มาคส์ไม่ได้ให้นิยามคำว่า อุดมการณ์[43] แต่ใช้คำนี้เพื่ออธิบายถึงการผลิตจินตภาพของความเป็นจริงทางสังคม เอ็งเงิลส์กล่าวว่า "อุดมการณ์เป็นกระบวนการซึ่งผู้ที่เรียกกันว่านักคิดได้กระทำไปโดยจิตสำนึก ถูกต้อง แต่เป็นจิตสำนึกจอมปลอม เขายังคงไม่รู้ว่าอะไรกันคือแรงจูงใจที่แท้จริงที่กระตุ้นเขา ไม่อย่างนั้นก็จะไม่เป็นกระบวนการทางอุดมการณ์เลย ฉะนั้นเขาจินตนาการถึงแรงจูงใจที่จอมปลอมหรือประหนึ่งเป็นมัน"[44]

เพราะชนชั้นปกครองควบคุมปัจจัยการผลิตของสังคม โครงสร้างส่วนบนของสังคม (กล่าวคือความคิดครอบงำของสังคม) จึงถูกกำหนดโดยผลประโยชน์สูงสุดของชนชั้นปกครอง มาคส์กล่าวใน The German Ideology ว่า "ความคิดของชนชั้นปกครองคือความคิดครอบงำในทุก ๆ ยุคสมัย กล่าวคือชนชั้นซึ่งเป็นพลังเชิงวัตถุที่ครอบงำในสังคมนั้น ในเวลาเดียวกันก็เป็นพลังทางปัญญาที่ครอบงำ"[45]

แรงจูงใจของกำไร (profit motive) จะถูกกำจัดไปด้วยการถือครองปัจจัยการผลิตโดยส่วนรวม (common ownership) และถูกแทนที่ด้วยแรงจูงใจของการสานต่อความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ ชนชั้นของผู้ผลิตกับผู้ถือเอาจะหายไปเพราะมูลค่าส่วนเกินที่กรรมกรผลิตจะกลายเป็นทรัพย์สินของสังคมโดยรวม และในเมื่อรัฐถือกำเนิดจากคณะของข้าบริพารที่ชนชั้นปกครองกลุ่มแรกจ้างวานมาเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ทางเศรษฐกิจของพวกเขา มันจะเหือดหายไป (Withering away of the state) เมื่อเงื่อนไขที่ทำให้มันดำรงอยู่หายสาบสูญไป[46][47][48]

ลัทธิคอมมิวนิสต์ การปฏิวัติ และสังคมนิยม[แก้]

ผู้ประท้วงฝ่ายซ้ายที่กำลังโบกธงแดงและชูกำปั้น (raised fist) ทั้งสองเป็นสัญลักษณ์ของสังคมนิยมปฏิวัติ

อ้างอิงตาม The Oxford Handbook of Karl Marx มาคส์ใช้ศัพท์หลายแบบเรียกสังคมยุคหลังทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็น "positive humanism" สังคมนิยม คอมมิวนิสม์ "realm of free individuality" สมาคมอิสระของผู้ผลิต ฯลฯ เขาใช้ศัพท์เหล่านี้สลับทดแทนกันได้โดยสิ้นเชิง แนวคิดที่กล่าวว่า "สังคมนิยม" กับ "คอมมิวนิสม์" เป็นขั้นของการพัฒนาที่ต่างกันเป็นสิ่งที่ไม่พบเห็นในงานเขียนของเขา และปรากฏอยู่ในคลังศัพท์ของลัทธิมากซ์ภายหลังเขาเสียชีวิตแล้วเท่านั้น[49]

เอ็งเงิลส์อธิบายความคิดเรื่องวิวัฒนาการของสังคมในความคิดของมาคส์ว่า สังคมมีวิวัฒนาการด้วยกัน 6 ขั้น[28] โดย 2 ขั้นถัดจากทุนนิยมคือ:

  1. สังคมสังคมนิยม: เป็นวิวัฒนาการที่เกิดจากการปฏิวัติทางสังคมของชนกรรมาชีพที่ถูกขูดรีดให้กลายมาเป็นผู้ปกครองแบบ "เผด็จการโดยชนกรรมาชีพ" (Dictatorship of the proletariat) และมีการพิจารณาวิถีการผลิตแบบใหม่เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วิวัฒนาการขั้นสุดท้าย
  2. สังคมคอมมิวนิสต์: เป็นวิวัฒนาการทางสังคมขั้นสูงสุดของมนุษย์ ที่สังคมสามารถกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นสังคมที่ไม่มีชนชั้น มนุษย์ทุกคนสามารถใช้ชีวิตตามใจปรารถนา โดยมีเพียงความรับผิดชอบต่อตนเองและชุมชนโดยรวม

อ้างอิงตามทฤษฎีลัทธิมากซ์แบบเดิม (orthodox Marxist) การล้มล้างระบอบทุนนิยมด้วยการปฏิวัติสังคมนิยมในสังคมปัจจุบันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความหลีกเลี่ยงไม่ได้ของการปฏิวัติสังคมนิยมที่จะมาถึงเป็นหัวข้อถกเถียงระหว่างหลายสำนักคิดของลัทธิมากซ์ แต่มาร์กซิสต์ทุกคนเชื่อว่าสังคมนิยมเป็นเรื่องจำเป็น มาร์กซิสต์อ้างว่าสำหรับประชากรส่วนใหญ่สังคมสังคมนิยมเป็นสิ่งที่ดีกว่าสังคมทุนนิยม วลาดีมีร์ เลนิน เขียนไว้ก่อนการปฏิวัติรัสเซียว่า "การทำให้การผลิตกลายเป็นของสังคม (social ownership) จะนำมาสู่การแปลงปัจจัยการผลิตกลายเป็นทรัพย์สินของสังคม ... การแปลงนี้จะส่งผลโดยตรงให้เกิดผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร เวลาทำงานที่ลดลง และการแทนที่เศษเดน ซากของการผลิตที่มีขนาดเล็ก โบราณ และแตกแยกกัน ด้วยแรงงานแบบรวมหมู่ที่ดีขึ้น"[50] ความล้มเหลวของการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1905 พร้อมกับความล้มเหลวของขบวนการสังคมนิยมที่ไม่สามารถต้านทานการอุบัติของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ นำมาสู่ความพยายามทางทฤษฎีและการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญจากเลนินและโรซา ลุคเซิมบวร์ค ในการตระหนักในทฤษฎีภาวะวิกฤติ (crisis theory) ของมาคส์ และความพยายามในการประกอบร่างของทฤษฎีจักรวรรดินิยม[51]

ประวัติ[แก้]

คาร์ล มาคส์ และฟรีดริช เอ็งเงิลส์[แก้]

ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ เมื่อ ค.ศ. 1877

มาคส์ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากสามแหล่งหลัก ๆ ปรัชญาจิตนิยมเยอรมัน (German idealism) สังคมนิยมฝรั่งเศส (French Left) และเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบอังกฤษและสกอตแลนด์ (classical economics)[52][53][35] มาคส์สนใจเป็นพิเศษในความแปลกแยกจากพลังแรงงานของตนเองของชนชั้นแรงงาน[54] เขาเขียนถึงประเด็นความแปลกแยกนี้อย่างมาก[55] มาคส์เริ่มต้นด้วยแนวคิดแบบเฮเกิลเรื่องความแปลกแยกและพัฒนามันกลายเป็นแนวคิดที่เป็นวัตถุนิยมยิ่งขึ้น[54] มาคส์วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ด้วยการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ซึ่งสามารถสรุปได้ด้วยบรรทัดแรก ๆ ของแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (ค.ศ. 1848) ว่า "ประวัติศาสตร์ของสังคมที่ดำรงอยู่ตราบจนบัดนี้ทั้งสิ้นคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น"[27] มาคส์ยังอธิบายถึงการขูดรีดแรงงาน วิถีการผลิตแบบทุนนิยม และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์

มาคส์และเอ็งเงิลส์ร่วมกันพัฒนาทฤษฎีคอมมิวนิสต์ขึ้นมา ทั้งสองพบกันเป็นครั้งแรกที่สำนักงานของหนังสือพิมพ์ไรนิชเชอไซทุง (Rheinische Zeitung) ที่มาคส์ทำงานอยู่[56] และพบกันเป็นครั้งที่สองที่ปารีสใน ค.ศ. 1844 นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของทั้งสอง[57] พวกเขาร่วมกันเขียนวิพากษ์แนวคิดของบรูโน เบาเออร์ (Bruno Bauer) และกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ (young hegelians) ในงานชื่อ Die heilige Familie (The Holy Family (book))[58] ใน ค.ศ. 1845 มาคส์ถูกรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศสในขณะนั้นเนรเทศออกจากประเทศด้วยแรงกดดันจากปรัสเซีย ทั้งสองจึงลี้ภัยไปประเทศเบลเยียมโดยต้องเงื่อนไขว่าจะไม่เผยแพร่งานเขียนที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองร่วมสมัย[59] ที่นั่น ทั้งสองพร้อมกับเพื่อนสนิทอีกคน ฟีลิป ฌีโก (Philippe Gigot) ได้ก่อตั้ง Kommunistisches Korrespondenz-Komitee (Communist Correspondence Committee "คณะกรรมการสัมพันธ์คอมมิวนิสต์") เพื่อประสานสัมพันธ์คอมมิวนิสต์ในทวีปยุโรป โดยใน ค.ศ. 1846 ได้ก่อตั้งศูนย์ประสานงานในหลายประเทศและเขียนจดหมายเวียนส่งหากัน[60]

ใน ค.ศ. 1847 มาคส์และเอ็งเงิลส์เริ่มเขียนแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ โดยได้รับอิทธิพลจากฉบับร่าง Grundsätze des Kommunismus (The Principles of Communism "หลักการของลัทธิคอมมิวนิสต์") ของเอ็งเงิลส์[61][62] และตีพิมพ์ออกมาใน ค.ศ. 1848 มาคส์และเอ็งเงิลส์เดินทางกลับเยอรมันทันทีภายหลังจากการปฏิวัติเยอรมัน ค.ศ. 1848 เริ่มขึ้น และร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์น็อยเออร์ไรนิชเชอไซทุง (Neue Rheinische Zeitung) ที่เมืองโคโลญกับสมาชิกแนวหน้าของสันนิบาตคอมมิวนิสต์ (communist league) ที่อาศัยอยู่ที่นั่น[63][64] ในขณะเดียวกัน จากมาตรการใหม่เพื่อขับไล่ฝ่ายซ้ายและนักปฏิวัติออกจากประเทศของคณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโดยกษัตริย์ฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4[65] หนังสือพิมพ์น็อยเออร์ไรนิชเชอไซทุงจึงถูกปิด และมาคส์ถูกสั่งให้ออกจากประเทศ[66][67] มาคส์กลับมาที่ปารีส ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ในเมืองขับไล่เพราะถูกมองว่าเป็นอันตรายทางการเมือง ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1849 เขาจึงลี้ภัยไปที่ลอนดอน[68][69]

หลังมาคส์เสียชีวิตไปใน ค.ศ. 1883 เอ็งเงิลส์จึงกลายเป็นผู้เรียบเรียงและผู้แปลงานเขียนของมาคส์ งานเขียนของเขา กำเนิดครอบครัว ทรัพย์สินส่วนบุคคล และรัฐ (Origins of the Family, Private Property, and the State) (ค.ศ. 1884) ซึ่งวิเคราะห์ว่าการกดขี่ผู้หญิงโดยผู้ชายนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมกับพัฒนาการของการมีคู่สมรสคนเดียว[70] เป็นส่วนสำคัญที่มีต่อทฤษฎีสตรีสิทธินิยม (feminist theory) และสตรีสิทธินิยมแนวมากซ์ (Marxist feminism)[71] และถูกเปรียบเทียบกับการกดขี่ชนชั้นแรงงานโดยชนชั้นนายทุน[72]

การปฏิวัติรัสเซียและสหภาพโซเวียต[แก้]

วลาดีมีร์ เลนิน และโจเซฟ สตาลิน

ในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 ฝ่ายบอลเชวิคยึดอำนาจจากรัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย พวกบอลเชวิคสถาปนารัฐสังคมนิยม (socialist state) แห่งแรกบนแนวคิดประชาธิปไตยแบบโซเวียตและลัทธิเลนิน รัฐที่เพิ่งก่อตั้งนี้ยุติการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งของรัสเซียและสถาปนารัฐกรรมกรปฏิวัติ (revolutionary worker's state) หลังจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม รัฐบาลโซเวียตต่อสู้กับขบวนการขาว[73] และหลายขบวนการเอกราชในสงครามกลางเมืองรัสเซีย[74] ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ นโยบายสังคมนิยมต่าง ๆ และการพัฒนาแนวคิดสังคมนิยมแบบใหม่ ลัทธิมากซ์–เลนิน ได้เกิดขึ้นมา

ใน ค.ศ. 1919 รัฐบาลโซเวียตซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นมาได้ก่อตั้งคอมมิวนิสต์อะคาเดมี (Communist Academy) และสถาบันมาคส์-เอ็งเงิลส์-เลนิน (Marx–Engels–Lenin Institute) เพื่อศึกษาหลักการมาร์กซิสต์และเผยแพร่เอกสารวิจัยและอุดมการณ์ของทางการพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อเลนินเสียชีวิตไปใน ค.ศ. 1924 เกิดความขัดแย้งกันภายในขบวนการคอมมิวนิสต์โซเวียต ระหว่างโจเซฟ สตาลินและเลออน ทรอตสกี ในรูปแบบของกลุ่มค้านฝ่ายขวา (right opposition) และกลุ่มค้านฝ่ายซ้าย (left opposition) ตามลำดับ ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นจากการตีความทฤษฎีของมากซ์กับเลนินที่ต่างกันในบริบทขณะนั้นของสหภาพโซเวียต[75]

การปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีน[แก้]

ทฤษฎีของมาคส์ เอ็งเงิลส์ เลนิน และสตาลิน สามารถนำมาใช้ได้ในทุกแห่ง เรามิควรมองมันเป็นสิทธันต์ หากแต่เป็นแนวทางของการปฏิบัติ การศึกษามันมิใช่เพียงแต่เรียนรู้คำศัพท์และสำนวนต่าง ๆ หากแต่เป็นการเรียนรู้ลัทธิมากซ์-เลนินในฐานะวิทยาศาสตร์การปฏิวัติ มิใช่ทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทั่วไปต่าง ๆ ที่มาคส์ เอ็งเงิลส์ เลนิน และสตาลินได้หามาจากชีวิตจริงและประสบการณ์ปฏิวัติเท่านั้น แต่ศึกษาจุดยืนและวิธีการพิจารณาและแก้ไขปัญหาของพวกเขา

เหมา เจ๋อตง, คติพจน์จากประธานเหมา เจ๋อตง[76]

เมื่อสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สองและสงครามโลกครั้งที่สองโดยกว้างได้สิ้นสุดลง การปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีนเกิดขึ้นในบริบทของสงครามกลางเมืองจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1921 ขัดแย้งกับก๊กมินตั๋งในเรื่องอนาคตของประเทศ ตลอดสงครามกลางเมือง เหมา เจ๋อตง ได้พัฒนาทฤษฎีลัทธิมากซ์ที่เข้ากับบริบทของประวัติศาสตร์จีน เหมามีฐานสนับสนุนในวงกว้างจากชาวนาซึ่งแตกต่างจากการปฏิวัติรัสเซียที่มีฐานสนับสนุนหลักอยู่ในใจกลางเมืองในจักรวรรดิรัสเซีย แนวคิดสำคัญบางข้อจากเหมาเช่น ประชาธิปไตยใหม่ (new Democracy), แนวทางมวลชน (mass line) และสงครามประชาชน สาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ได้รับการสถาปนาขึ้นใน ค.ศ. 1949 รัฐสังคมนิยมแห่งใหม่นี้ตั้งบนฐานความคิดของมาคส์ เอ็งเงิลส์ เลนิน และสตาลิน[77][78]

นับแต่สตาลินเสียชีวิตจนกระทั่งช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เกิดความขัดแย้งที่ทวีขึ้นระหว่างประเทศจีนกับสหภาพโซเวียต การล้มล้างอิทธิพลของสตาลินซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยของนีกีตา ครุชชอฟ และนโยบายเดต็องต์ถูกมองว่าเป็นลัทธิแก้ (Revisionism (Marxism)) และมาร์กซิสต์ไม่พอ การประชันหน้ากันทางอุดมการณ์นี้ได้เอ่อล้นกลายเป็นวิกฤตที่กว้างขึ้นในระดับโลกแวดล้อมประเด็นหลักว่าชาติใดที่จะเป็นผู้นำขบวนการสังคมนิยมในนานาชาติ[79]

หลังเหมาเสียชีวิตและเติ้ง เสี่ยวผิง ขึ้นสู่อำนาจ ลัทธิเหมาและลัทธิมากซ์ทางการของประเทศจีนได้รับการสังคายนาใหม่ ตัวแบบใหม่นี้เป็นลัทธิมากซ์-เลนินและลัทธิเหมาในรูปพลวัตในประเทศจีน มักถูกเรียกว่าสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน (socialism with Chinese characteristics) แนวทางใหม่นี้มีศูนย์กลางเป็นหลักการพื้นฐานสี่ประการ (Four Cardinal Principles) ของเติ้งซึ่งพยายามค้ำจุนบทบาทหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและค้ำจุนหลักการว่าประเทศจีนยังอยู่ในระบอบสังคมนิยมระยะต้น (primary stage of socialism) ที่ยังกำลังทำงานเพื่อสร้างสังคมคอมมิวนิสต์บนหลักการลัทธิมากซ์[80][81]

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20[แก้]

ฟิเดล กัสโตร ที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 1960

การปฏิวัติคิวบาเมื่อ ค.ศ. 1959 นำมาซึ่งชัยชนะของฝ่ายฟิเดล กัสโตร และขบวนการ 26 กรกฎาคม แม้ว่าจะไม่ได้ระบุเป็นการปฏิวัติสังคมนิยมอย่างชัดแจ้ง[82] ทว่าเมื่อชนะและขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว กัสโตรนำตัวแบบการพัฒนาสังคมนิยมของลัทธิเลนินมาใช้และร่วมเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต[83][84] เช เกบารา นักปฏิวัติมาร์กซิสต์ชาวอาร์เจนตินาหนึ่งในผู้นำของการปฏิวัติครั้งนั้น ต่อมาได้เดินทางไปช่วยเหลือขบวนการปฏิวัติสังคมนิยมในคองโก-กินชาซาและโบลิเวีย โดยในท้ายที่สุดถูกจับและฆ่าโดยหน่วยของ เฟลิกซ์ โรดริเกซ (Felix Rodriguez) เจ้าหน้าที่ซีไอเอชาวคิวบาตามคำสั่งของรัฐบาลโบลิเวีย แม้รัฐบาลสหรัฐมีความต้องการจับเป็นไว้สำหรับการสอบสวนเพิ่มเติม[85] หลังมรณกรรมเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลก[86][87]

ในสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลลัทธิเหมาได้ดำเนินการปฏิวัติทางวัฒนธรรมตั้งแต่ ค.ศ. 1966 ถึง 1976 เพื่อขจัดล้างสังคมจีนให้สิ้นจากองค์ประกอบของทุนนิยมและเดินหน้าเข้าสู่สังคมนิยม เมื่อเหมา เจ๋อตง เสียชีวิต คู่แข่งของเขาเข้ายึดอำนาจการเมือง และภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง มีการแก้ไขใหม่หรือละทิ้ง (Boluan Fanzheng) นโยบายสมัยการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของเหมาหลายข้อ และการโอนกิจการของรัฐบางส่วนไปเป็นของเอกชน

ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 และช่วงต้น 1990 เกิดการล่มสลายของรัฐสังคมนิยมส่วนใหญ่ซึ่งอ้างอุดมการณ์ลัทธิมากซ์–เลนิน ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 และช่วงต้น 1980 อุดมการณ์ฝ่ายขวาใหม่ (New Right) และทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีสหรัฐโรนัลด์ เรแกน และนายกรัฐมนตรีอังกฤษมาร์กาเรต แทตเชอร์ ได้อุบัติกลายเป็นกระแสอุดมการณ์นำของการเมืองตะวันตกและนำพาให้ชาติตะวันตกมีท่าทีที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นต่อสหภาพโซเวียตและพันธมิตรลัทธิเลนิน ระหว่างนั้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1985 นักปฏิรูปมีฮาอิล กอร์บาชอฟ ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตและพยายามละทิ้งตัวแบบการพัฒนาแบบลัทธิเลนินเพื่อแทนที่ด้วยประชาธิปไตยสังคมนิยม ในท้ายที่สุด การปฏิรูปของกอร์บาชอฟพร้อม ๆ กับประชานิยมชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ (ethnic nationalism) ที่กำลังเติบโตนำมาสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในช่วงปลาย ค.ศ. 1991 กลายเป็นรัฐชาติต่าง ๆ ทั้งหมดละทิ้งตัวแบบสู่สังคมนิยมแบบลัทธิมากซ์-เลนิน และส่วนใหญ่แปรสภาพเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม[88]

คริสต์ศตวรรษที่ 21[แก้]

อูโก ชาเบซ ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งใน ค.ศ. 2007

เมื่อก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 ประเทศที่เป็นระบอบลัทธิมากซ์-เลนินอย่างเป็นทางการหลงเหลืออยู่เพียงประเทศจีน คิวบา ลาว เกาหลีเหนือ และเวียดนาม[89] แต่ในประเทศเนปาลใน ค.ศ. 2008 รัฐบาลลัทธิเหมาซึ่งนำโดยประจัณฑะได้รับเลือกตั้งหลังจากที่เคยต่อสู้แบบกองโจรเป็นเวลายาวนาน[90]

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 รัฐบาลสังคมนิยมได้รับเลือกตั้งขึ้นมาในหลายประเทศในแถบลาตินอเมริกา จนกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "กระแสสีชมพู" ซึ่งนำโดยรัฐบาลเวเนซุเอลาของอูโก ชาเบซ กระแสนี้ประกอบด้วยการได้รับเลือกตั้งของเอโบ โมราเลส ในโบลิเวีย ราฟาเอล กอร์เรอา ในเอกวาดอร์ และดานิเอล ออร์เตกา ในนิการากัว รัฐบาลสังคมนิยมเหล่านี้หลอมรวมพันธมิตรทางการเมืองและเศรษฐกิจผ่านองค์กรระหว่างประเทศอย่างพันธมิตรโบลิบาร์เพื่อประชาชนอเมริกาของเรา (Bolivarian Alliance for the Peoples of Our America) และสร้างพันธมิตรกับประเทศคิวบาที่เป็นลัทธิมากซ์-เลนิน แม้ไม่มีใครสนับสนุนแนวทางลัทธิสตาลินโดยตรง แต่ส่วนใหญ่ยอมรับว่าได้รับอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญจากทฤษฎีลัทธิมากซ์ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาอูโก ชาเบซ ประกาศตนเป็นผู้นิยมลัทธิทรอตสกีระหว่างพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของคณะรัฐมนตรีของเขาเพียงสองวันก่อนพิธีเข้ารับตำแหน่งของเขาเองในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 2007[91] องค์กรลัทธิทรอตสกีในเวเนซุเอลาไม่ได้มองว่าชาเบซเป็นนักลัทธิทรอตสกี และบางส่วนเรียกว่าเขาเป็นพวกชาตินิยมกระฎุมพี[92] ในขณะที่อีกส่วนมองว่าเขาเป็นผู้นำปฏิวัติที่จริงใจ แต่ขาดการวิเคราะห์แนวมาร์กซิสต์จึงกระทำความผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญ[93]

อ้างอิงตามมาร์กซิสต์ชาวอิตาลีจันนี วัตตีโม (Gianni Vattimo) และซันตีอาโก ซาบาลา (Santiago Zabala) ในหนังสือของพวกเขา Hermeneutic Communism (ค.ศ. 2011) "ลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างอ่อนแบบใหม่นี้แตกต่างโดยสำคัญจากรูปปรากฏเดิมแบบโซเวียต (และในปัจจุบันแบบจีน) เพราะประเทศอเมริกาใต้เหล่านี้ดำเนินตามขั้นตอนเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และยังสามารถกระจายอำนาจระบบราชการของรัฐผ่านภารกิจโบลิบาร์ (Bolivarian missions) ได้สำเร็จ โดยรวมแล้ว หากชาติตะวันตกรู้สึกเหมือนว่าลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างอ่อนนี้เป็นวิญญาณหลอกหลอน มันไม่ใช่เพียงเพราะการบิดเบือนของสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังเพราะมันเป็นตัวแทนของอีกทางเลือกหนึ่งที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการประชาธิปไตยในแบบเดียวกับที่ชาติตะวันตกคอยประกาศยึดมั่นอยู่ตลอดเวลา แต่กลับลังเลที่จะนำมันมาใช้"[94]

สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ ค.ศ. 2012

สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้แถลงถึงการเพิ่มความมุ่งมั่นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อความคิดของมาคส์ ที่งานเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปีชาตกาลของมาคส์ สีกล่าว "เราต้องคว้าข้อได้เปรียบ คว้าการริเริ่ม และคว้าอนาคตไว้ เราต้องพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้ลัทธิมากซ์เพื่อวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง"[95] โดยเสริมว่าลัทธิมากซ์นั้นเป็น "อาวุธทางอุดมการณ์ที่ทรงพลังที่ให้เราใช้ทำความเข้าใจโลก รู้ซึ้งในกฎหมาย ขวนขวายหาความจริง และเปลี่ยนแปลงโลก"[96] สีเน้นย้ำเพิ่มถึงความสำคัญของการประเมินและการสานต่อประเพณีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และการยอมรับอดีตของการปฏิวัติของมัน[97][98]

นักปฏิวัติ ผู้นำ และพรรคต่าง ๆ เหล่านั้นมีความเที่ยงตรงต่อชิ้นงานของคาร์ล มากซ์ เท่าใดนั้นเป็นที่ถกเถียงกันอย่างยิ่ง และมาร์กซิสต์กับนักสังคมนิยมหลาย ๆ คนปฏิเสธพวกเขา[99][100] นักสังคมนิยมโดยทั่วไปและนักเขียนสังคมนิยม เช่นดมีตรี วอลคาโกนอฟ (Dimitri Volkogonov) ยอมรับว่าการกระทำของผู้นำสังคมนิยมแบบอำนาจนิยม (authoritarian socialist) ได้ทำลาย "ความน่าดึงดูดใจขั้นมหาศาลของสังคมนิยมที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม"[101]

ข้อวิจารณ์[แก้]

ข้อวิจารณ์ลัทธิมากซ์มีมาจากหลากหลายอุดมการณ์ทางการเมืองและสาขาวิชา[102][103] ไม่ว่าจะเป็นข้อวิจารณ์ทั่วไปเกี่ยวกับการขาดความคงเส้นคงวาภายใน ข้อวิจารณ์เกี่ยวกับวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ว่าเป็นนิยัตินิยมประวัติศาสตร์ชนิดหนึ่ง ความจำเป็นที่จะต้องกดทับสิทธิของปัจเจกชน ประเด็กปัญหาในการปฏิบัติใช้ลัทธิคอมมิวนิสต์ และประเด็นทางเศรษฐกิจอาทิการบิดเบือนหรือการขาดหายไปของสัญญาณราคา (price signal) และสิ่งจูงใจที่ลดลง มากกว่านั้นยังมีการระบุถึงปัญหาเชิงญาณวิทยาและเชิงประจักษ์อยู่บ่อยครั้ง[104][105][106]

มาร์กซิสต์บางคนวิจารณ์การทำให้ลัทธิมากซ์กลายเป็นสถาบันทางวิชาการว่าเป็นสิ่งที่ตื้นเขินเกินไปและแยกตัวออกจากการกระทำทางการเมือง อเล็กซ์ คัลลินิคอส (Alex Callinicos) ทรอตสกีอิสต์และนักวิชาการกล่าวว่า: "ผู้ปฏิบัติของมันทำให้นึกถึงนาร์ซิสซัสที่ตกหลุมรักกับเงาสะท้อนของตัวเองในตำนานกรีก ... บางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องสละเวลาเพื่อพัฒนาและทำให้แนวคิดต่าง ๆ ที่เราใช้งานกระจ่างขึ้น แต่แน่นอนว่าสำหรับมาร์กซิสต์ตะวันตกนี่ได้กลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง ผลลัพธ์คืองานเขียนก้อนหนึ่งซึ่งไม่มีใครเข้าใจเลยนอกจากชนกลุ่มน้อยนิดของนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง"[107]

อนึ่ง ข้อวิจารณ์ทางปัญญาบางข้อของลัทธิมากซ์ท้าทายสมมุติฐานบางประการที่แพร่หลายอยู่ในแนวคิดของมาคส์และลัทธิมากซ์ภายหลังยุคของเขาแต่ไม่ได้ปฏิเสธการเมืองแนวมาร์กซิสต์[108] ผู้สนับสนุนร่วมสมัยบางคนของลัทธิมากซ์อ้างว่าหลายแง่มุมของแนวคิดมาร์กซิสต์สามารถนำมาใช้ได้ แต่คลังข้อมูลนั้นไม่สมบูรณ์หรือล้าสมัยไปแล้วในด้านที่เกี่ยวกับบางแง่มุมของทฤษฎีทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม พวกเขาอาจรวมแนวคิดแบบลัทธิมากซ์เข้ากับแนวคิดของนักทฤษฎีคนอื่น ๆ เช่นมัคส์ เวเบอร์ กล่าวคือสำนักแฟรงก์เฟิร์ตเป็นต้น[109][110]

ทั่วไป[แก้]

นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา (intellectual history) แลแช็ก กอวากอฟสกี (Leszek Kołakowski) ชี้ว่า "ทฤษฎีของมาคส์ไม่สมบูรณ์และกำกวมในหลายแห่ง และสามารถถูกนำมา 'ใช้' ได้ในหลากหลายวิถีทางที่ขัดแย้งกันโดยไม่ปรากฏว่าเป็นการละเมิดหลักการของมัน" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาถือว่า "กฎแห่งวิภาษวิธี" เป็นสิ่งที่ผิดโดยพื้นฐาน และกล่าาวว่าบางอันเป็น "ข้อความจริงที่ไม่มีเนื้อหาแบบมาร์กซิสต์ที่เจาะจง" และอันอื่น ๆ เป็น "สิทธันต์เชิงปรัชญาที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์" และบางอันก็เป็นเพียง "เรื่องไร้สาระ" เขาเชื่อว่ากฎแนวมาร์กซิสต์บางข้อสามารถตีความได้หลายแบบ แต่การตีความเหล่านี้โดยทั่วไปยังคงตกอยู่ในข้อผิดพลาดข้อใดข้อหนึ่งในสองข้อนั้น[111]

ทฤษฎีบทของโอกิชิโอะ (Okishio's theorem) แสดงให้เห็นว่าหากนายทุนใช้เทคนิคตัดลดต้นทุนและไม่ได้เพิ่มค่าจ้างที่แท้จริง (real wage) อัตรากำไรจะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงในมุมมองของมาคส์ที่กล่าวว่าอัตรากำไรจะมีแนวโน้มที่จะลดลง[112]

ข้อกล่าวหาถึงความไม่คงเส้นคงว่าเป็นส่วนสำคัญในเศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์และข้อถกเถียงเกี่ยวกับมันมีมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970[113] แอนดรูว์ ไคลแมน (Andrew Kliman) อ้างว่าข้อกล่าวหาว่าทฤษฎีมาร์กซิสต์ไม่คงเส้นคงวาภายในทำให้ไม่สามารถปรับแก้ไขความไม่คงเส้นคงวาเหล่านั้นได้ เพราะหากไม่คงเส้นคงวาภายในก็จะต้องผิดไปโดยปริยาย การทำวิจัยเกี่ยวกับมันในปัจจุบันจึงถูกกดทับและปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรตั้งแต่เริ่ม[114] จอห์น แคสซิดี (John Cassidy (journalist)) กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างข้อกล่าวหาถึงความไม่คงเส้นคงวากับการขาดงานศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีของมาคส์[115]

ญาณวิทยาและประจักษนิยม[แก้]

นักวิจารณ์ลัทธิมากซ์อ้างว่าการคาดการณ์ของมาคส์ผิด บางรายชี้ไปที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของเศรษฐกิจทุนนิยมที่โดยทั่วไปเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจที่อิงตลาดน้อยกว่า การที่เศรษฐกิจทุนนิยมไม่ประสบกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่แย่ลงจนนำไปสู่การล้มล้างระบอบทุนนิยม และที่การปฏิวัติคอมมิวนิสต์ไม่เกิดขึ้นในประเทศเป็นทุนนิยมขั้นสูงแต่เกิดขึ้นในภูมิภาคที่ยังไม่พัฒนาแทน[116][117] นอกจากนี้ยังวิจารณ์โดยกล่าวว่าทำให้มาตรฐานการครองชีพต่ำลงเมื่อเทียบกับประเทศทุนนิยม แต่ข้อกล่าวอ้างนี้เป็นที่พิพาท[118]

นักปรัชญาวิทยาศาสตร์ คาร์ล พอปเปอร์ (Karl Popper) ได้วิจารณ์พลังการอธิบาย (explanatory power) และความสมเหตุสมผล (Validity (logic)) ของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ไว้ในหนังสือของเขา The Poverty of Historicism และ Conjectures and Refutations[119] พอปเปอร์เชื่อว่าลัทธิมากซ์ในตอนแรกเป็นวิทยาศาสตร์ ในนัยที่มาคส์ได้ตั้งสมมติฐานทฤษฎีเชิงคาดการณ์อย่างแท้จริง แต่เมื่อการคาดการณ์นั้นไม่เป็นจริง พอปเปอร์อ้างว่าทฤษฎีนี้หลีกเลี่ยงการพิสูจน์ว่าเป็นเท็จด้วยการเพิ่มสมมุติฐานเฉพาะกิจเข้าไปที่ทำให้มันเข้ากันได้กับข้อเท็จจริง ด้วยเหตุนี้พอปเปอร์กล่าวว่าทฤษฎีซึ่งในตอนแรกเป็นวิทยาศาสตร์จริง ๆ ได้เสื่อมสภาพกลายเป็นสิทธันต์แบบวิทยาศาสตร์เทียม[120]

อนาธิปไตยและอิสรนิยม[แก้]

อนาธิปไตยมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับลัทธิมากซ์ นักอนาธิปัตย์และนักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมที่ไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์หลายคนปฏิเสธความจำเป็นที่จะต้องมีระยะของรัฐเปลี่ยนผ่าน โดยอ้างว่าการสถาปนาสังคมนิยมขึ้นมาจะทำได้ผ่านองค์กรที่กระจายอำนาจและไม่บีบบังคับเท่านั้น นักอนาธิปัตย์มีฮาอิล บาคูนิน วิจารณ์แนวโน้มอำนาจนิยมของมาคส์[121] "สังคมนิยมค่ายทหาร" หรือ "ลัทธิคอมมิวนิสต์ค่ายทหาร" (barracks communism) เป็นวลีที่มาคส์และเอ็งเงิลส์ใช้เรียกแนวคิดของเซอร์เกย์ เนชาเยฟ (Sergey Nechayev) สมาชิกฝ่ายของบาคูนินในสมาคมกรรมกรสากล (International Workingmen's Association)[122] และได้กลายเป็นชื่อเรียกข้อวิจารณ์แบบนี้ ซึ่งปลุกภาพจำของชีวิตของพลเมืองว่าถูกจัดเป็นกรมเป็นกองเหมือนกับชีวิตของทหารเกณฑ์ในค่ายทหาร[123]

เศรษฐศาสตร์[แก้]

ข้อวิจารณ์อื่น ๆ มาจากจุดยืนด้านเศรษฐศาสตร์ อาทิงานเขียนของวลาดีมีร์ คาร์โปวิช ดมีตรีฟ (Vladimir Karpovich Dmitriev) ใน ค.ศ. 1898[124] งานเขียนของลาดิสเลาส์ บอร์ทคีวิทช์ (Ladislaus Bortkiewicz) ใน ค.ศ. 1906–1907[125][126] และนักวิจารณ์คนอื่น ๆ กล่าวหาว่าทฤษฎีมูลค่า (value theory) ของมาคส์และกฎแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรไม่มีความคงเส้นคงวาภายใน กล่าวคือ นักวิจารณ์เหล่านี้กล่าวว่าข้อสรุปของมาคส์ไม่ได้เป็นไปตามข้อตั้งทางทฤษฎีของเขา เมื่อข้อผิดพลาดที่ถูกกล่าวหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไข ข้อสรุปของเขาว่าราคาและกำไรโดยรวมเท่ากับและถูกกำหนดโดยมูลค่าและมูลค่าส่วนเกินโดยรวมนั้นจะไม่เป็นจริงอีกต่อไป ผลคือทฤษฎีของเขาที่การขูดรีดกรรมกรคนงานเป็นแหล่งของกำไรเพียงแหล่งเดียวถูกตั้งข้อสงสัย[127]

นักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรีย (Austrian School) หลายรุ่นวิเคราะห์วิพากษ์ลัทธิมากซ์และสังคมนิยมในด้านระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ และผลเกี่ยวพันทางการเมือง[128][129] ก็อทฟรีท ฮาเบอร์เลอร์ (Gottfried Haberler) อ้างว่าบทวิจารณ์เศรษฐศาสตร์ของมาคส์ของเบิห์ม-บาแวร์ค (Eugen von Böhm-Bawerk) "ถี่ถ้วนและสร้างความเสียหาย" มากเสียจนแม้กระทั่งทศวรรษ 1960 แล้วก็ยังไม่มีนักวิชาการสำนักมากซ์คนใดที่สามารถหักล้างมันได้อย่างชี้ชัด[130] ลูทวิช ฟ็อน มีเซิส (Ludwig von Mises) จุดไฟการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการคำนวณทางเศรษฐกิจ (economic calculation problem) ขึ้นมาใหม่โดยอ้างว่าเมื่อสินค้าทุน (capital good) ขาดสัญญาณราคา ในความคิดของเขาแง่มุมอื่น ๆ ในเศรษฐกิจแบบตลาดจะไร้ซึ่งเหตุผลทั้งสิ้น ทำให้เขาประกาศว่า "กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีเหตุผลเป็นไปไม่ได้ในเครือจักรภพสังคมนิยม"[131]

ดารอน อาเจโมลู (Daron Acemoglu) และเจมส์ เอ. รอบินสัน (James A. Robinson) อ้างว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของมาคส์บกพร่องตั้งแต่พื้นฐานเพราะมันพยายามทำให้เศรษฐกิจง่ายลงกลายเป็นประมวลของกฎทั่วไปไม่กี่ข้อที่เพิกเฉยต่อผลกระทบที่สถาบันต่าง ๆ มีต่อเศรษฐกิจ[132]

ลัทธิมากซ์ในปัจจุบัน[แก้]

ทฤษฎีของลัทธิมากซ์ ได้รับการยึดถือ แปลความ และวิพากษ์วิจารณ์ จากบรรดานักวิชาการ นักการเมือง พรรคการเมือง รัฐบาล องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประชาชนจำนวนมาก และเรียกทฤษฎีสังคมนิยมของมากซ์ว่า ลัทธิมากซ์[133]นับตั้งแต่ทฤษฎีนี้ ได้กำเนิดขึ้นตลอดมา ตราบจนถึงปัจจุบัน จนกล่าวได้ว่าเป็นทฤษฎีที่ได้รับการพูดถึงและอ้างอิงมากที่สุดทฤษฎีหนึ่ง ไม่ว่าจากฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม

นับจากที่ได้กำเนิดขึ้นในกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้มีคนนำลัทธิมากซ์ไปใช้เป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้ในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

  • กลุ่มแรก คือ กลุ่มคนที่เชื่อมั่นในลัทธิมากซ์แบบดั้งเดิม และนำลัทธิมากซ์ ไปประยุกต์ใช้ โดยเน้นถึงความถูกต้องตรงตามทฤษฎีอย่างเคร่งครัด พวกนี้จะเรียกตนเองว่าเป็นนักลัทธิมากซ์ และกล่าวหากลุ่มที่สองว่าเป็นพวกลัทธิแก้
  • กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มคนที่เห็นว่า ทฤษฎีบางส่วนของลัทธิมากซ์ ไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันแล้ว แต่ทฤษฎีบางส่วนของลัทธิมากซ์ ยังคงถูกต้องและสามารถใช้ได้จึงนำเอาเฉพาะส่วนที่ยังใช้ได้ไปประยุกต์ใช้ตามมุมมองของกลุ่มตน โดยไม่ยึดถือทฤษฎีลัทธิมากซ์ดั้งเดิมอย่างเคร่งครัดเหมือนกลุ่มแรก แต่ยังเรียกกลุ่มตนว่าเป็นนักลัทธิมากซ์
  • กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มคนที่ไม่ได้เชื่อถือในทฤษฎีลัทธิมากซ์ แต่นำเฉพาะแนวคิดหรือข้อเขียนบางส่วนที่ตรงกับแนวคิดของตน มาใช้อ้างอิงในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง หรือทางอื่น ๆ เช่น ข้อเขียนของทอฟเลอร์ (Alvin Toffler) ซึ่งถือว่าเป็นนักอนาคตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ

ตระกูลทางความคิดต่าง ๆ ของลัทธิมากซ์[แก้]

1. ลัทธิมากซ์โบราณ (Orthodox Marxism หรือ Old School Marxism) ลัทธิมากซ์โบราณคือกลุ่มนักวิชาการที่ยึดถือทฤษฎีของมากซ์อย่างเคร่งครัด

2. ลัทธิมากซ์ในรัสเซีย : ลัทธิเลนิน (Leninism), ลัทธิสตาลิน (Stalinism) และลัทธิตรอตสกี (Trotskyism)

3. ลัทธิเหมา (Maoism)

4. มากซ์สายใหม่หรือนีโอมากซิสม์ (Neo-Marxism) มากซ์สายใหม่เป็นสกุลทางความคิดที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยยังยึดโยงทางความคิดเข้ากับความคิดของมากซ์ไว้ โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่าสังคมและวัฒนธรรมมักจะมีความขัดแย้งและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเสมอ ผลของการเปลี่ยนแปลงมักจะเป็นสภาวะใหม่ที่แตกต่างจากภาวะเดิม รวมถึงเชื่อว่าสังคมมนุษย์นั้นมีความไม่เท่าเทียมกัน อำนาจการชี้นำ และครอบงำสังคมยกอยู่ในมือกลุ่มคนส่วนน้อย

ในส่วนที่มากซ์สายใหม่มองต่างไปจากมากซ์โบราณ คือในเรื่องเครื่องมือหรือเงื่อนไขของการครอบงำ ดังนี้

  • ขณะที่มากซ์สายเดิมมองว่าเครื่องมือหรือเงื่อนไขดังกล่าวคืออำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นลักษณะการครอบงำโดยตรง และการต่อสู้ทางชนชั้นก็ต่อสู้โดยตรงเช่นกัน ชนชั้นกรรมมาชีพที่ต่างมีสำนึกทางชนชั้นร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อต้องการปฏิวัติสังคมอย่างถอนรากถอนโคน เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ปราศจากชนชั้น สังคมแห่งความเท่าเทียมกัน หรือสังคมคอมมิวนิสต์
  • มากซ์สายใหม่จะมองว่าเครื่องมือ หรือเงื่อนไขของการครอบงำนั้น คืออุดมการณ์ทางการเมือง อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมหรือความรู้ โดยมีลักษณะการครอบงำทางอ้อม และการต่อสู้ทางชนชั้นก็ต่อสู้โดยทางอ้อมเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างพลังขับเคลื่อนผ่านกลุ่มตัวแทนสังคมต่าง ๆ กลุ่มประชาสังคม กลุ่มเครือข่าย โดยมีเป้าหมายพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปสังคมสู่สังคมที่มีความยุติธรรม อย่างค่อยเป็นค่อยไป [134]

มากซ์สายใหม่ยังแยกย่อยอีกเป็นหลายตระกูล แต่ก็มักเรียกขานแยกต่างหากกันไป อาทิ มากซ์สายใหม่ที่เน้นศึกษาวัฒนธรรมได้แก่นักปรัชญามากซ์สายใหม่ในมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ทในเยอรมนี ก็จะเรียกขานว่านักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ท หรือนักปรัชญามากซ์สายใหม่ในมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมก็จะเรียกขานว่านักคิดสายเบอร์มิงแฮม เป็นต้น แต่อย่างไรเสียอิทธิพลความคิดของนักทฤษฎีมากซ์สายใหม่นั้นก็สามารถลากโยงไปถึงความคิดของนักการเมืองชาวอิตาลีที่ชื่อว่า อันโตนีโอ กรัมชี

5. ลัทธิมากซ์เชิงโครงสร้าง (the Structural Marxism) หลุยส์ อัลธูแซร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ได้พัฒนาความคิดของมากซ์ และมากซ์สายใหม่ของกรัมชี่ผนวกเข้ากับทฤษฎีสังคมศาสตร์ตระกูลโครงสร้างนิยม โดยมองว่ารัฐนั้นเป็นข้ารับใช้ของระบอบทุนนิยม และชนชั้นนายทุน ชนชั้นนายทุนมีอำนาจสั่งการรัฐโดยตรง อำนาจรัฐกับอำนาจของทุนจึงเป็นสิ่งเดียวกัน จากกระบวนการดังกล่าวรัฐจึงทำหน้าที่ตอบสนองต่อทุน ในการโอบอุ้มช่วยเหลือนายทุนมากกว่าตอบสนอง และโอบอุ้มสังคม รัฐกระทำการดังกล่าวผ่านนโยบายสาธารณะ, กฎหมาย และระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปตามที่นายทุนต้องการ

สำหรับอาลตูว์แซร์อุดมการณ์มีฐานะเป็นโครงสร้างส่วนบนที่มีบทบาทในการกำหนดให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างกับโครงสร้างส่วนล่าง อุดมการณ์จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคลสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีเอกภาพและต่อเนื่อง จนกลายเป็นเรื่องคุ้นชินเรื่องปกติธรรมดาไป

อาลตูว์แซร์มองว่าอุดมการณ์เป็นเครื่องมือในการสร้าง, สืบสาน และผลิตซ้ำให้กับสังคม อุดมการณ์จึงต้องถูกผลิตซ้ำผ่านการปลูกฝังบ่มเพาะให้กับสมาชิกในสังคม โดยการถูกฝึกฝนให้ยอมรับต่อกฎเกณฑ์ของระบบที่ดำรงอยู่ การผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางการผลิตนี้ถูกกระทำขึ้นอย่างมั่นคงโดยการใช้อำนาจรัฐผ่านกลไกหรือสถาบันซึ่งรวมกันเป็นรัฐ อุดมการณ์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐ โดยรัฐใช้อุดมการณ์เพื่อผลประโยชน์ดังกล่าวสิ่งที่อัลธูแซร์เรียกว่ากลไกของรัฐ (the state apparatus) โดย อาลตูว์แซร์แบ่งออกเป็นสองแบบ คือ

  • กลไกของรัฐที่มีลักษณะกดบังคับ (repressive state apparatus) ได้แก่ รัฐบาล ทหาร ตำรวจ ศาล คุก กลไกของรัฐในลักษณะแรกนี้ปฏิบัติการโดยการบังคับใช้ความรุนแรง
  • กลไกของรัฐในเชิงอุดมการณ์ (ideological state apparatus) ซึ่งได้แก่ ศาสนา โรงเรียน ครอบครัว ระบบกฎหมาย พรรคการเมือง สหภาพแรงงาน และเครือข่ายการสื่อสาร กลไกของรัฐแบบที่สองนี้ปฏิบัติการณ์ผ่านการสร้างอุดมการณ์ให้กับสมาชิกในสังคม[135]

6. สำนักวัฒนธรรมศึกษาเบอร์มิงแฮม (The Birmingham School of The Cultural Studies)

นักทฤษฎีสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยพยายามที่จะข้ามพ้นวิธีคิดแบบเศรษฐกิจกำหนดวัฒนธรรมในฐานะที่วัฒนธรรมเป็นโครงสร้างส่วนบนแบบลัทธิมากซ์โบราณมาสู่ความเข้าใจวัฒนธรรมในฐานะที่เป็น "การกระทำ" (action) ที่เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งนี้โดยเอามนุษย์เป็นแกนกลางในการศึกษา (human agency) มากกว่าจะศึกษาเพียงแค่สภาวะที่กำหนดพฤติกรรมมนุษย์ (condition) กับผลที่ตามมาจากการถูกกำหนด (outcome) หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือนักทฤษฎีสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยพยายามเข้าใจการเกิดขึ้นของวัฒนธรรม (the making of culture) ในรายละเอียด มากกว่าศึกษาแค่ว่าอะไรเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมแต่เพียงเท่านั้น โดยสรุป นักคิดสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยพยายามที่จะหาส่วนผสมผสานระหว่างแนวคิดว่าวัฒนธรรมนั้นถูกกำหนดโดยพลังในระดับโครงสร้างต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ และวัฒนธรรมนั้นมีอิสระโดยตัวเอง ซึ่งการผสมผสานดังกล่าวนั้นสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยได้รับแรงบันดาลใจจากงานของกรัมชี่[136]

งานเขียนของสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยศึกษานั้นเน้นการศึกษาชีวิตจริงของผู้คนในแง่มุมต่าง ๆ อาทิ เรื่องการศึกษา เรื่องวัฒนธรรมวัยรุ่น เรื่องสื่อมวลชน อาทิ โฆษณา และโทรทัศน์ ดังนั้น หัวใจสำคัญของการศึกษาของสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยนั้นจึงอยู่ที่การประกาศจุดยืนทางอุดมการณ์ของตัวเองอย่างชัดเจนในเบื้องแรกว่า ยึดถือและศรัทธาในงานของมากซ์ แต่ก็เสนอว่าที่ผ่านมานั้นยังไม่มีทฤษฎีในเรื่องของอุดมการณ์ที่เป็นที่พอใจและหนทางที่จะได้ทฤษฎีอุดมการณ์ที่น่าพอใจนั้นก็คือการผสมผสานการถกเถียงทางทฤษฎีเข้ากับการศึกษากรณีรูปธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในการทำการค้นหา "ความสัมพันธ์ที่แท้จริง (real relations)" กับ "รูปแบบที่ปรากฏออกมา (phenomenal form)" ซึ่งในหลายกรณีนั้นรูปแบบที่ปรากฏออกมานั้นก็ทำให้เราลุ่มหลงอยู่กับมัน และเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นจริงแท้

สำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยศึกษานั้นจึงเสนอว่า การศึกษาเรื่องอุดมการณ์นั้นเป็นส่วนสำคัญในการศึกษา "วัฒนธรรม" โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่าง ความคิดต่าง ๆ สถาบันต่าง ๆ และบริบททางสังคม ทฤษฎีของสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยศึกษามีอิทธิพลในการศึกษาเรื่องของการสื่อสารและสื่อมวลชนกับมิติทางการเมืองโดยเฉพาะในอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมา โดยเฉพาะงานเขียนของสจวร์ต ฮอลล์ นักสังคมวิทยาชาวสหราชอาณาจักรที่มีอิทธิพลอย่างสูงอยู่ในวงวิชาการในศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มหาวิทยาลัย เบอร์มิงแฮม (Center of Contemporary Cultural Studies ; CCCS) หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า "ตระกูลนักคิดสายเบอร์มิงแฮม (the Birmingham school)" โดยฮอลล์ เสนอว่า คำว่าอุดมการณ์นั้นไม่เคยเป็นคำที่มีความเป็นกลางทางการเมือง และแม้จะมีการให้ความหมายว่า อุดมการณ์คือ "ชุดของความคิดที่มีความเป็นระบบ" แต่วิธีการอธิบายเช่นนี้ก็มีลักษณะที่เน้นการพรรณาความ มากกว่าการวิเคราะห์ ดังนั้น แม้ว่าคำว่าอุดมการณ์ทางการเมืองจะมีความเกี่ยวข้องกับคำว่า "ความคิด" แต่ในขณะเดียวกันความคิดนั้นไม่ใช่ตัวอุดมการณ์ทั้งหมด อุดมการณ์จึงมีการซ่อนแอบความหมายอยู่ด้วย และเป็นหน้าที่ของนักวัฒนธรรมร่วมสมัยศึกษาที่จะต้องค้นหาให้ได้ว่าอะไรคือรากฐานหรือธรรมชาติของการบังคับหรือเป็นที่มาของการที่บางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของความคิดซึ่งเข้ามากำหนดส่วนที่เป็นความคิด[137]

นักคิดสายเบอร์มิงแฮมใช้รากฐานทางทฤษฎีของฮอลล์มาใช้เชิงวิพากษ์วัฒนธรรมผ่านการวิเคราะห์ การตีความ การวิจารณ์นวัตกรรมทางวัฒนธรรม โดยรวมแล้วนักคิดสายเบอร์มิงแฮมมองว่าวัฒนธรรมเป็นรากฐานของการแปรรูปทางสังคม (social reformation) โดยสังคมมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นลำดับชั้น และเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกัน ทั้งในเรื่องชนชั้น ความเป็นเพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และความเป็นชาติ นักคิดสายเบอร์มิงแฮมจึงมุ่งศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจของพลังที่ครอบงำ และการต่อต้านในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมถึงปฏิเสธ การจัดระบบแบบลำดับชั้นสูงต่ำ (hierarchical stratification) ของวัฒนธรรม นักคิดสายเบอร์มิงแฮมจะเชื่อว่าวัฒนธรรมนั้นต่างมีความสำคัญต่อกันในระดับระนาบ (horizontal) ผู้รับสื่อเป็นผู้กระทำ (active audience) เพราะเป็นผู้สร้างความหมายต่าง ๆ และยังผลิตซ้ำวัฒนธรรมดังกล่าวด้วย นักคิดสายเบอร์มิงแฮมจะพุ่งประเด็นศึกษาว่าผู้รับสื่อตีความและแปรความหมายวัฒนธรรมที่ได้รับจากสื่ออย่างไร รวมถึงวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้รับสารตอบสนองต่อสื่อแตกต่างกันไป

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 นักคิดสายเบอร์มิงแฮมเริ่มให้ความสนใจกับวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มวัยรุ่น เพื่อต่อต้านการครอบงำของระบบทุนนิยมในรูปแบบต่าง ๆ วัฒนธรรมวัยรุ่นจึงถูกมองในฐานะรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ที่เป็นผลสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์, ความแตกต่างหลากหลาย, การครอบงำทางวัฒนธรรม ฯลฯ ผ่าน การแต่งกาย แฟชั่น พฤติกรรม และอุดมการณ์ทางการเมือง และที่สำคัญการเกิดขึ้นของ "วัฒนธรรมย่อย (sub culture)" ที่ต่อต้านรูปแบบวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่ครอบงำนั้นเกิดขึ้น หรือสามารถถูกเข้าใจได้อย่างไร[138]

7. สำนักคิดแฟรงก์เฟิร์ต (The Frankfürt School)

เป็นกลุ่มนักวิชาการในสถาบันวิจัยทางสังคมแห่งมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ต (Institution of Social Research, Johann Wolfgang von Goethe-University of Frankfurt) โดยการนำของมักซ์ ฮอคไฮม์เมอร์, ธีโอดอร์ อดอร์โน, , เฮอร์เบิร์ท มาคูเซอ และวอลเตอร์ เบนญามิน ที่เริ่มมีการศึกษาเชิงวิพากษ์ (critical theory) ในประเด็นทางวัฒนธรรมอาทิ เศรษฐศาสตร์การเมืองของสื่อ, การวิเคราะห์วัฒนธรรม, การวิเคราะห์การรับสารในทางอุดมการณ์ เป็นต้น นักวิชาการกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นที่รู้จักในนามนักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ท (The Frankfürt School) ซึ่งก็คือชื่อสถาบันที่นักวิชาการกลุ่มนี้สังกัดนั่นเอง

นักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ทจะปฏิเสธทฤษฎีลัทธิมากซ์ในส่วนที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยวิพาก์ว่าให้ความสำคัญต่อส่วนนี้มากเกินไปจนละเลยมิติอื่นไปเสียหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรม นักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ทจึงให้ความสำคัญกับมิติด้านวัฒนธรรม ความคิด จิตสำนึก และอุดมการณ์ ประเด็นที่นักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ทให้ความสนใจคือการที่สื่อทำให้ "วัฒนธรรม" แปรสภาพมาเป็น "สินค้า" หรือในภาษาของนักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ททำให้ทุกอย่างกลายเป็น "วัฒนธรรมสำหรับคนหมู่มาก (mass culture) กล่าวคือมีการผลิตวัฒนธรรมเพื่อกำไร ซึ่งนักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ทเห็นว่าเป็นการทำลายคุณค่าทางวัฒนธรรม ดังนั้นสำหรับนักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ทวัฒนธรรมจึงไม่มีวัฒนธรรมชั้นสูง (hi-culture) หรือวัฒนธรรมชั้นล่าง (lo-culture) คงมีแต่เพียงวัฒนธรรมสำหรับคนหมู่มากที่ต่างถูกผลิตมาเพื่อตอบสนองความต้องการขายวัฒนธรรมในฐานะของสินค้า ที่คุณค่านั้นได้ถูกทำลายลงไปแล้วทั้งหมดเท่านั้น[139]

8. แนวคิดหลังลัทธิมากซ์ (Post-Marxism)

แนวคิดลัทธิมากซ์ แบบหลังโครงสร้างนิยม (Poststructuralist Marxism) หรือ ลัทธิมากซ์หลังสมัยใหม่ (Postmodern Marxism) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าหลังลัทธิมากซ์ (Post-Marxism) เป็นแนวคิดที่วางฐานอยู่บนการวิพากษ์แนวคิดลัทธิมากซ์เชิงโครงสร้างของอาลตูว์แซร์ และใช้ฐานคิดบางส่วนจากแนวคิดของมีแชล ฟูโก ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างแนวคิดหลังลัทธิมากซ์กับลัทธิมากซ์อื่น ๆ คือ แต่เดิมนั้นลัทธิมากซ์จะมองการต่อสู้ทางชนชั้นโดยวางฐานอยู่บนแนวคิดเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่แนวคิดหลังลัทธิมากซ์จะปฏิเสธมุมมองดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นมุมมองที่มีความคับแคบ แนวคิดหลังลัทธิมากซ์จะมองว่าการกดขี่ทางชนชั้นนั้นสามารถกล่าวรวมไปถึงเรื่องเพศ ชาติพันธุ์วรรณา เชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ[140] อย่างไรก็ดีก็มีการกล่าววิจารณ์ว่าแม้แนวคิดหลังมาร์ซิสม์จะพยายามกล่าวว่าตนเองนั้นหันหลังให้กับลัทธิมากซ์ก็ตาม อย่างไรก็ดีนักคิดตระกูลนี้เองก็ยังหลงใหลในแนวทางการวิเคราะห์สังคมและการเมืองแบบมากซ์อยู่อย่างมากเช่นกัน[141]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "marxism". ศัพท์บัญญัติ ๔๐ สาขาวิชา สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ปรัชญา
    ๑. มาร์กซิสม์, ลัทธิมากซ์
  2. "Left-wing / Right-wing". Marxists Internet Archive Encyclopedia. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 ธันวาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2022 – โดยทาง Marxists Internet Archive.
  3. "Radical left". Dictionary.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 ตุลาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2022. Radical left is a term that refers collectively to people who hold left-wing political views that are considered extreme, such as supporting or working to establish communism, Marxism, Maoism, socialism, anarchism, or other forms of anticapitalism. The radical left is sometimes called the far left.
  4. March, Luke (2009). "Contemporary Far Left Parties in Europe: From Marxism to the Mainstream?" (PDF). Internationale Politik und Gesellschaft. 1: 126–143. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 28 กันยายน 2022 – โดยทาง Friedrich Ebert Foundation.
  5. Wolff, Richard; Resnick, Stephen (1987). Economics: Marxian versus Neoclassical. Johns Hopkins University Press. p. 130. ISBN 978-0801834806. The German Marxists extended the theory to groups and issues Marx had barely touched. Marxian analyses of the legal system, of the social role of women, of foreign trade, of international rivalries among capitalist nations, and the role of parliamentary democracy in the transition to socialism drew animated debates ... Marxian theory (singular) gave way to Marxian theories (plural).
  6. Wolff, Richard D. (2003). "Marxist political economy: major contemporary varieties". ใน O'Hara, Phillip (บ.ก.). Encyclopedia of Political Economy. Vol. 2. Routledge. p. 107. ISBN 978-0415241878. Marxist political economists differ over their definitions of capitalism, socialism and communism. These differences are so fundamental, the arguments among differently persuaded Marxist political economists have sometimes been as intense as their oppositions to political economies that celebrate capitalism.
  7. O'Laughlin, B. (ตุลาคม 1975). "Marxist Approaches in Anthropology". Annual Review of Anthropology. 4 (1): 341–370. doi:10.1146/annurev.an.04.100175.002013. S2CID 2730688.
  8. Roseberry, William (21 ตุลาคม 1997). "Marx and Anthropology". Annual Review of Anthropology. 26 (1): 25–46. doi:10.1146/annurev.anthro.26.1.25.
  9. Malott, Curry; Ford, Derek (2015). Marx, capital, and education: towards a critical pedagogy of becoming. ISBN 978-1-4539-1602-5. OCLC 913956545.[ต้องการเลขหน้า]
  10. Mitchell, Don (2020). Mean streets: homelessness, public space, and the limits of capital. ISBN 978-0-8203-5691-4. OCLC 1151767935.[ต้องการเลขหน้า]
  11. Becker, Samuel L. (18 พฤษภาคม 2009). "Marxist approaches to media studies: The British experience". Critical Studies in Mass Communication. 1 (1): 66–80. doi:10.1080/15295038409360014.
  12. Alvarado, Manuel; Gutch, Robin; Wollen, Tana (1987). Learning the Media: Introduction to Media Teaching. Palgrave Macmillan. pp. 62, 76. doi:10.1007/978-1-349-18681-5. ISBN 9781349186815.
  13. Sheehan, Helena (กรกฎาคม 2007). "Marxism and Science Studies: A Sweep through the Decades". International Studies in the Philosophy of Science. 21 (2): 197–210. doi:10.1080/02698590701498126. S2CID 143737257. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2021. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2022.
  14. Marx 1859: "At a certain stage of development, the material productive forces of society come into conflict with the existing relations of production or – this merely expresses the same thing in legal terms – with the property relations within the framework of which they have operated hitherto. From forms of development of the productive forces these relations turn into their fetters. Then begins an era of social revolution."
  15. Gregory, Paul R.; Stuart, Robert C. (2003). "Marx's Theory of Change". Comparing Economic Systems in the Twenty-First Century. South-Western College Publishing. p. 62. ISBN 0618261818.
  16. Engels, Friedrich (1970) [1880]. "Historical Materialism". Socialism: Utopian and Scientific. Progress Publishers. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มกราคม 2023 – โดยทาง Marxists Internet Archive. the capitalist mode of appropriation, in which the product enslaves first the producer, and then the appropriator, is replaced by the mode of appropriation of the products that is based upon the nature of the modern means of production; upon the one hand, direct social appropriation, as means to the maintenance and extension of production — on the other, direct individual appropriation, as means of subsistence and of enjoyment.
  17. 17.0 17.1 Haupt 2010, p. 18–19.
  18. 18.0 18.1 18.2 Haupt 2010, p. 12.
  19. "The Programme of the Parti Ouvrier". Marxists Internet Archive. 1880. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020. Accusing Guesde and Lafargue of 'revolutionary phrase-mongering' and of denying the value of reformist struggles, Marx made his famous remark that, if their politics represented Marxism, 'ce qu'il y a de certain c'est que moi, je ne suis pas Marxiste'
  20. Lenin 1974, p. 56: "The discovery of the materialist conception of history, or rather, the consistent continuation and extension of materialism into the domain of social phenomenon, removed two chief defects of earlier historical theories. In the first place, they at best examined only the ideological motives of the historical activity of human beings, without grasping the objective laws governing the development of the system of social relations. ... in the second place, the earlier theories did not cover the activities of the masses of the population, whereas historical materialism made it possible for the first time to study with scientific accuracy the social conditions of the life of the masses and the changes in these conditions."
  21. Marx, Karl (1993) [1858]. Grundrisse: Foundations of the Critique of Political Economy. แปลโดย Nicolaus, M. Penguin Classics. p. 265. ISBN 0140445757. Society does not consist of individuals, but expresses the sum of interrelations, the relations within which these individuals stand.
  22. Evans 1975, p. 53.
  23. Marx & Engels 1932
  24. 24.0 24.1 Marx, Karl (1859). "Preface". A Contribution to the Critique of Political Economy. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มกราคม 2023 – โดยทาง Marxists Internet Archive.
  25. Chambre, Henri; McLellan, David T., บ.ก. (2020) [1998]. "Historical materialism". สารานุกรมบริแทนนิกา. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020. 'The sum total of the forces of production accessible to men determines the condition of society' and is at the base of society
  26. Engels, Friedrich (1947) [1877]. "Introduction". Anti-Dühring: Herr Eugen Dühring's Revolution in Science. Moscow: Progress Publishers. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 พฤษภาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2022.
  27. 27.0 27.1 Marx & Engels 1888: "The history of all hitherto existing society is the history of class struggles. Freeman and slave, patrician and plebeian, lord and serf, guild-master and journeyman, in a word, oppressor and oppressed, stood in constant opposition to one another, carried on uninterrupted, now hidden, now open fight, a fight that each time ended, either in a revolutionary reconstitution of society at large, or in the common ruin of the contending classes."
  28. 28.0 28.1 Hunt, Robert Nigel Carew (1983). the Theory and Practice of Communism [วิเคราะห์ลัทธิคอมมิวนิสต์]. แปลโดย ฉันทิมา อ่องสุรักษ์. กรุงเทพฯ: สนพ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. pp. 137–157. ISBN 9745711152.
  29. Marx, Karl; Engels, Friedrich (1968) [1877]. "Letter from Marx to Editor of the Otecestvenniye Zapisky". Marx and Engels Correspondence. New York: International Publishers. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2020. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020 – โดยทาง Marxists Internet Archive. an historico-philosophic theory of the marche générale [general path] imposed by fate upon every people, whatever the historic circumstances in which it finds itself.
  30. Wittfogel, Karl A. (กรกฎาคม 1960). "The Marxist View of Russian Society and Revolution". World Politics. Cambridge: Cambridge University Press. 12 (4): 487–508. doi:10.2307/2009334. JSTOR 2009334. S2CID 155515389. อ้างอิงที่หน้า 493.
  31. Petrovic, Gajo (1967). Marx in the mid-twentieth century. Open Library. Garden City, New York: Anchor Books. p. 12. OL 20663426M. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2020.
  32. Marx, Karl. "Estranged Labour". Economic and Philosophical Manuscripts of 1844 (ภาษาอังกฤษ). pp. 23–24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2023 – โดยทาง Marxists Internet Archive. We have considered the act of estranging practical human activity, labor, in two of its aspects. (1) The relation of the worker to the product of labor as an alien object exercising power over him. [...] (2) The relation of labor to the act of production within the labor process. [...] (3) Man’s species-being, both nature and his spiritual species-property, into a being alien to him, into a means of his individual existence. [...] (4) An immediate consequence of the fact that man is estranged from the product of his labor, from his life activity, from his species-being, is the estrangement of man from man.
  33. 33.0 33.1 Resnick 2014, p. 311-312.
  34. พิสิษฐิกุล แก้วงาม (2009). ทฤษฎีการเมืองกับการศึกษารัฐศาสตร์. มหาสารคาม: หลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม. p. 61.
  35. 35.0 35.1 Lenin 1974, p. 50. II. The Marxist Doctrine. "Marx was the genius who continued and consummated the three main ideological currents of the 19th century, as represented by the three most advanced countries of mankind: classical German philosophy, classical English political economy, and French socialism combined with French revolutionary doctrines in general. ... the principal content of Marxism, namely, Marx’s economic doctrine."
  36. Marx 1849. Relation of wage-labor to capital. " the interests of capital and the interests of the workers are identical"
  37. Marx 1849. The interests of capital and wage-labor are diametrically opposed. "Finally, to say that 'the most favorable condition for wage-labor is the fastest possible growth of productive capital', is the same as to say: the quicker the working class multiplies and augments the power inimical to it ... content thus to forge for itself the golden chains by which the bourgeoisie drags it in its train."
  38. Marx & Engels 1888: "has created more massive and more colossal productive forces than have all preceding generations together"
  39. Marx & Engels 1888: "has put an end to all feudal, patriarchal arrangements."
  40. Castro 2009, p. 100: "Marxism taught me what society was. I was like a blindfolded man in a forest, who doesn't even know where north or south is. If you don't eventually come to truly understand the history of the class struggle, or at least have a clear idea that society is divided between the rich and the poor, and that some people subjugate and exploit other people, you're lost in a forest, not knowing anything."
  41. Marx & Engels 1888. เชิงอรรถข้อที่ 1. "By proletariat, the class of modern wage labourers who, having no means of production of their own, are reduced to selling their labour power in order to live."
  42. Marx & Engels 1888. เชิงอรรถข้อที่ 1. "By bourgeoisie is meant the class of modern capitalists, owners of the means of social production and employers of wage labour."
  43. McCarney, Joseph (2005). "Ideology and False Consciousness". ใน Lucas, R.; Blunden, A. (บ.ก.). Marx Myths and Legends. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 พฤษภาคม 2013.
  44. Engels, Friedrich (1968) [14 กรกฎาคม 1893]. "Letter to Franz Mehring". Marx and Engels Correspondence. แปลโดย Torr, Dona. London: International Publishers. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 ธันวาคม 2012. ideology is a process accomplished by the so-called thinker consciously, it is true, but with a false consciousness. The real motive forces impelling him remain unknown to him; otherwise it simply would not be an ideological process. Hence he imagines false or seeming motive forces.
  45. Marx & Engels 1932. I. Feuerbach: Opposition of the Materialist and Idealist Outlook. B. The Illusion of the Epoch. "The ideas of the ruling class are in every epoch the ruling ideas, i.e. the class which is the ruling material force of society, is at the same time its ruling intellectual force."
  46. Engels 1972, pp. 86-. Barbarism and Civilization.
  47. Zhao, Jianmin; Dickson, Bruce J. (2001). Remaking the Chinese State: Strategies, Society, and Security. Taylor & Francis Group. p. 2. ISBN 978-0415255837. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2012.
  48. Kurian, George Thomas (2011). "Withering Away of the State". The Encyclopedia of Political Science. Washington, DC: CQ Press. p. 1776. doi:10.4135/9781608712434.n1646.
  49. Hudis, Peter (10 กันยายน 2018). "Marx's Concept of Socialism". ใน Vidal, Matt; Smith, Tony; Rotta, Tomás; Prew, Paul (บ.ก.). The Oxford Handbook of Karl Marx. Oxford Handbooks. Oxford University Press. pp. 757–772. doi:10.1093/oxfordhb/9780190695545.013.50. ISBN 9780190843120. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 เมษายน 2022. Marx used many terms to refer to a post-capitalist society—positive humanism, socialism, Communism, realm of free individuality, free association of producers, etc. He used these terms completely interchangeably. The notion that 'socialism' and 'Communism' are distinct historical stages is alien to his work and only entered the lexicon of Marxism after his death.
  50. Lenin 1974, p. 71: "The socialization of production is bound to lead to the conversion of the means of production into the property of society. ... This conversion will directly result in an immense increase in productivity of labour, a reduction of working hours, and the replacement of the remnants, the ruins of small-scale, primitive, disunited production by collective and improved labour."
  51. Kuruma, Samezo (1929). แปลโดย Schauerte, M. "An Introduction to the Theory of Crisis". Journal of the Ohara Institute for Social Research. 4 (1). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 มีนาคม 2020.
  52. Schecter, Darrow. "Marx". The History of the Left from Marx to the Present. Bloomsbury Academic. doi:10.5040/9781501300776.ch-001. ISBN 978-1-5013-0077-6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มิถุนายน 2018. In terms of Marx’s prodigious output as a whole, it is often remarked that the system he develops is derived from three principal sources. These sources are German idealist philosophy (Kant, Hegel), French utopian socialism (Fourier, St Simon), and English and Scottish British political economy (Adam Smith, Adam Ferguson, Dugald Stewart and David Ricardo).
  53. Ormerod, R. J. (ธันวาคม 2008). "The History and Ideas of Marxism: The Relevance for OR". The Journal of the Operational Research Society. Palgrave Macmillan Journals. 59 (12): 1576. JSTOR 20202244. The major intellectual influences on Marx were Enlightenment ideas, German philosophy, the French socialists, and the English and Scottish political economists. Marx synthesized these to develop a new system of thought.
  54. 54.0 54.1 Calhoun 2002, p. 22.
  55. Mészáros, István (2006). Marx's Theory of Alienation. Merlin Press. p. 96. ISBN 978-0-85036-554-2. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2011.
  56. Hunt 2009, p. 65.
  57. Hunt 2009, pp. 119–124.
  58. Wheen 2001, pp. 85–86.
  59. Wheen 2001, p. 90.
  60. Beamish 1998, p. 226.
  61. Marx, Karl; Engels, Friedrich (1999). Toews, John E. (บ.ก.). The Communist Manifesto, with Related Documents. The Bedford Series in History and Culture. Bedford/St. Martin's. pp. 6–12. ISBN 9780312157111.
  62. Beamish 1998, p. 238.
  63. Draper, Hal (1986). "Neue Rheinische Zeitung: Organ der Demokratie". The Marx-Engels Glossary: Glossary to the Chronicle and Register, and Index to the Glossary. the Marx-Engels Cyclopedia. Vol. 3. New York: Schocken Books. pp. 150–151. ISBN 9780805240023.
  64. Wheen 2001, pp. 130–132.
  65. Wheen 2001, pp. 136–137.
  66. Lorimer, Doug. "Introduction". The Class Struggles in France: From the February Revolution to the Paris Commune. Resistance Books. p. 6. ISBN 978-1-876646-19-6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2011.
  67. Wheen 2001, pp. 137–146.
  68. Wheen 2001, pp. 147–148.
  69. Watson, Peter (2010). The German Genius: Europe's Third Renaissance, the Second Scientific Revolution, and the Twentieth Century. HarperCollins. pp. 250–. ISBN 978-0-06-076022-9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2011.
  70. Engels 1972, p. 35. The Family. "The first class opposition that appears in history coincides with the development of the antagonism between man and woman in monogamous marriage, and the first class oppression coincides with that of the female sex by the male."
  71. Carver, Terrell (1985). "Engel's feminism". History of Political Thought. 6 (3): 479. JSTOR 26212414.
  72. Aveling, Edward; Aveling, Eleanor Marx (1886). "The Woman Question". Westminster Review. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มกราคม 2023 – โดยทาง Marxists Internet Archive. The truth, not fully recognised even by those anxious to do good to woman, is that she, like the labour-classes, is in an oppressed condition; that her position, like theirs, is one of merciless degradation. Women are the creatures of an organised tyranny of men, as the workers are the creatures of an organised tyranny of idlers.
  73. "Russian Revolution". History.com. A&E Television Networks. 2020 [2009]. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020.
  74. Bullock, David (2008). The Russian Civil War 1918–22. Oxford: Osprey Publishing. p. 7. ISBN 978-1-84603-271-4. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2017.
  75. McMeekin, Sean (2017). The Russian Revolution: A New History. Basic Books. ISBN 978-0465039906.
  76. "Quotes from Mao Tse Tung". Marxists Internet Archive. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2022. The theory of Marx, Engels, Lenin and Stalin is universally applicable. We should regard it not as a dogma, but as a guide to action. Studying it is not merely a matter of learning terms and phrases but of learning Marxism-Leninism as the science of revolution. It is not just a matter of understanding the general laws derived by Marx, Engels, Lenin and Stalin from their extensive study of real life and revolutionary experience, but of studying their standpoint and method in examining and solving problems.
  77. Franke, Wolfgang (1970). A Century of Chinese Revolution, 1851–1949. Oxford: Basil Blackwell. ISBN 9780631119708.
  78. Ellison, Herbert J., บ.ก. (1982). The Sino-Soviet Conflict: A Global Perspective. University of Washington Press. ISBN 9780295958545. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 สิงหาคม 2020.
  79. Mao, Zedong (กรกฎาคม 1964). "1964: On Khrushchov's Phoney Communism and Its Historical Lessons for the World". Marxists Internet Archive. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 พฤษภาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2022.
  80. Schram, Stuart (1989). The Thought of Mao Tse-Tung. Cambridge University Press. ISBN 978-0521310628.
  81. Deng, Xiaoping (30 มีนาคม 1979). "Uphold the Four Cardinal Principles". Marxists Internet Archive. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2023. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2023.
  82. "Collection: Cuban revolution collection | Archives at Yale". Archives.yale.edu. hdl:10079/fa/mssa.ms.0650. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2022.
  83. Bourne 1986.
  84. Coltman 2003.
  85. Grant, Will (8 ตุลาคม 2007). "CIA man recounts Che Guevara's death". BBC news. ไมแอมี. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2022.
  86. Dorfman, Ariel (14 มิถุนายน 1999). "Che Guevara". ไทม์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-25. สืบค้นเมื่อ 2023-02-10.
  87. "Che Guevara photographer dies". BBC News. 26 พฤษภาคม 2001. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 ตุลาคม 2022.
  88. D'Encausse, Helene Carrere (1993). The End of the Soviet Empire: The Triumph of the Nations. แปลโดย Philip, F. New York: The New Republic. p. 16. ISBN 978-0465098125.
  89. "List Of Communist Countries Today". WorldAtlas (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 30 พฤศจิกายน 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2021.
  90. "New Maoist-led government installed in Nepal". World Socialist Web Site. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2021.
  91. Malinarich, Nathalie. "Chavez accelerates on path to socialism". BBC News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 กันยายน 2017. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2007.
  92. "Declaración Polãtica de la JIR, como Fracción Pública del PRS, por una real independencia de clase (Extractos) – Juventud de Izquierda Revolucionaria" [ถ้อยแถลงทางการเมืองของ JIR ในฐานะสัดส่วนสาธารณะของ PRS เพื่ออิสรภาพที่แท้จริงของชนชั้น (ตัดตอน) - ยุวชนซ้ายปฏิวัติ]. Juventud de Izquierda Revolucionaria (ภาษาสเปน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 ตุลาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2013.
  93. Sanabria, William. "La Enmienda Constitucional, Orlando Chirino y la C-CURA" [การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, Orlando Chirino และ C-CURA] (ภาษาสเปน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 ธันวาคม 2009.
  94. Vattimo, Gianni; Zabala, Santiago (ตุลาคม 2011). Hermeneutic Communism: From Heidegger to Marx. Columbia University Press. p. 122. ISBN 9780231158022. this new weak communism differs substantially from its previous Soviet (and current Chinese) realization, because the South American countries follow democratic electoral procedures and also manage to decentralize the state bureaucratic system through the Bolivarian missions. In sum, if weakened communism is felt as a specter in the West, it is not only because of media distortions but also for the alternative it represents through the same democratic procedures that the West constantly professes to cherish but is hesitant to apply.
  95. "Xi praises Marxism as a tool for China to 'win the future'". แอสโซซิเอเต็ดเพรส. ปักกิ่ง. 4 พฤษภาคม 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 ตุลาคม 2022. We must win the advantages, win the initiative, and win the future. We must continuously improve the ability to use Marxism to analyze and solve practical problems
  96. "China's huge celebrations of Karl Marx are not really about Marxism". Quartz. 4 พฤษภาคม 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2022. powerful ideological weapon for us to understand the world, grasp the law, seek the truth, and change the world
  97. Shepherd, Christian (4 พฤษภาคม 2018). "No regrets: Xi says Marxism still 'totally correct' for China". รอยเตอร์ส. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2022.
  98. Jiang, Steven (18 พฤษภาคม 2018). "At the height of his power, China's Xi Jinping moves to embrace Marxism". ซีเอ็นเอ็น. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2022.
  99. Phillips, Ben (1981). "USSR: Capitalist or Socialist?". The Call. 10 (8). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2015. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020 – โดยทาง Marxists Internet Archive.
  100. Garner, Dwight (18 สิงหาคม 2009). "Fox Hunter, Party Animal, Leftist Warrior". เดอะนิวยอร์กไทมส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2020.
  101. Volkogonov, Dimitri (1991). Stalin: Triumph and Tragedy. แปลโดย Shukman, Harold. London: Weidenfeld & Nicolson. p. 173. ISBN 978-0297810803.
  102. Kirby, Mark (2000). Sociology in Perspective. Heinemann. p. 273. ISBN 978-0435331603.
  103. Ollman, Bertell (1957). Criticisms of Marxism 1880–1930. University of Wisconsin–Madison. pp. 1, 6.
  104. Howard & King 1992
  105. Popper 2002, p. 49
  106. Keynes, John Maynard (1991). Essays in Persuasion. W. W. Norton & Company. p. 300. ISBN 978-0393001907.
  107. Callinicos, Alex (2010) [1983]. The Revolutionary Ideas of Karl Marx. Bloomsbury, London: Bookmarks. p. 12. ISBN 978-1905192687. Its practitioners remind one of Narcissus, who in the Greek legend fell in love with his own reflection. ... Sometimes it is necessary to devote time to clarifying and developing the concepts that we use, but indeed for Western Marxists this has become an end in itself. The result is a body of writings incomprehensible to all but a tiny minority of highly qualified scholars.
  108. Baudrillard, Jean (1975) [1973]. The Mirror of Production. แปลโดย Poster, Mark. New York: Telos Press. ISBN 978-0914386063.
  109. Held, David (ตุลาคม 1980). Introduction to Critical Theory: Horkheimer to Habermas. University of California Press. p. 16. ISBN 9780520041752.
  110. Jameson, Fredric (2002). "The Theoretical Hesitation: Benjamin's Sociological Predecessor". ใน Nealon, Jeffrey T.; Irr, Caren (บ.ก.). Rethinking the Frankfurt School: Alternative Legacies of Cultural Critique. SUNY Press. pp. 11–30. ISBN 978-0791454923. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2022.
  111. Kołakowski, Leszek (2005). Main Currents of Marxism. New York: W. W. Norton and Company. pp. 662, 909. ISBN 978-0393329438.
  112. Howard & King 1992. The Falling Rate of Profit. §§II-IV.
  113. Howard & King 1992. The Falling Rate of Profit.
  114. Kliman 2007, p. 3: "Marx's value theory would be necessarily wrong if it were internally inconsistent. Internally inconsistent theories may be appealing, intuitively plausible and even obvious, and consistent with all available empirical evidence—but they cannot be right. It is necessary to reject them or correct them. Thus the alleged proofs of inconsistency trump all other considerations, disqualifying Marx's theory at the starting gate. By doing so, they provide the principal justification for the suppression of this theory as well as the suppression of, and the denial of resources needed to carry out, present-day research based upon it. This greatly inhibits its further development. So does the very charge of inconsistency. What person of intellectual integrity would want to join a research program founded on (what he believes to be) a theory that is internally inconsistent and therefore false?"
  115. Cassidy, John (12 ตุลาคม 1997). "The Return of Karl Marx". The Next Thinker. The New Yorker (October 20 & 27, 1997): 252. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2023. His mathematical model of the economy, which depended on the idea that labor is the source of all value, was riven with internal inconsistencies and is rarely studied these days.
  116. Kliman 2007, p. 208
  117. "GDP per capita growth (annual %)". ธนาคารโลก. 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 พฤษภาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2016.
  118. Cereseto, S.; Waitzkin, H. (June 1986). "Economic development, political-economic system, and the physical quality of life". American Journal of Public Health. 76 (6): 661–666. doi:10.2105/ajph.76.6.661. PMC 1646771. PMID 3706593.
  119. Popper, Karl (1963). "Science as Falsification" (PDF). staff.washington.edu. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2023. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2023.
  120. Popper 2002, p. 449. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-07. สืบค้นเมื่อ 2023-03-04.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  121. Bakunin, Mikhail (5 ตุลาคม 1872). "Letter to La Liberté". ใน Dolgoff, Sam (บ.ก.). Bakunin on Anarchy. Marxists Internet Archive. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2022.
  122. Marx, Karl; Engels, Friedrich (2001). "From The Alliance of Socialist Democracy & the International Working Men's Association". Marxism Versus Anarchism (PDF). Resistance Books. pp. 86–87. ISBN 1876646039. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2023.
  123. Sperber, Jonathan (2013). Karl Marx: A Nineteenth-Century Life. W. W. Norton & Company. ISBN 978-0871403544. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 ตุลาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2022.
  124. Dmitriev, V. K. (1974) [1898]. Economic Essays on Value, Competition and Utility. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 9780521202534.
  125. von Bortkiewicz, Ladislaus (1952) [1906–1907]. "Value and Price in the Marxian System". International Economic Papers (2): 5–60.
  126. von Bortkiewicz, Ladislaus (1984) [1907]. "On the Correction of Marx's Fundamental Theoretical Construction in the Third Volume of Capital". ใน von Böhm-Bawerk, Eugen (บ.ก.). Karl Marx and the Close of his System (PDF). Philadelphia: Orion Editions. p. 199-221. ISBN 978-1466347687. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 24 มิถุนายน 2022.
  127. Howard & King 1992. Value Theory Before Sraffa. §III.
  128. Sennholz, Hans F. (1 ธันวาคม 2009). "What We Can Know About the World". Mises.org. Ludwig von Mises Institute. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2020. สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2019.
  129. von Mises, Ludwig (2008). Omnipotent Government (PDF). Read Books. ISBN 978-1443726467. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 19 ตุลาคม 2022.[ต้องการเลขหน้า]
  130. Haberler, Gottfried (1966). Drachkovitch, Milorad M. (บ.ก.). Marxist Ideology in the Contemporary World: Its Appeals and Paradoxes. Books for Libraries Press. p. 124. ISBN 978-0836981544.
  131. von Mises, Ludwig (2014). Economic Calculation in the Socialist Commonwealth (PDF). แปลโดย Adler, S. Ludwig von Mises Institute. p. 48. ISBN 978-1610164542. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 9 มกราคม 2023. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2023. [...] rational economic activity is impossible in a socialist commonwealth [...]
  132. Acemoglu, Daron; Robinson, James A. (1 กุมภาพันธ์ 2015). "The Rise and Decline of General Laws of Capitalism". Journal of Economic Perspectives. 29 (1): 3–28. doi:10.1257/jep.29.1.3. hdl:1721.1/113636. S2CID 14001669. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2022.
  133. มากซ์ไม่เคยเรียกตัวเองว่าลัทธิมากซ์ แต่เรียกตัวเองว่านักสังคมนิยม ทว่านักวิชาการรุ่นหลังกลับยกให้มากซ์เป็นลัทธิมากซ์ ดู วีระ สมบูรณ์, "คำนำ," ใน สุรพงษ์ ชัยนาม. มาคซ์และสังคมนิยม. (กรุงเทพฯ : ศยาม, 2553) น. 4.
  134. สาคร สมเสริฐ, "นีโอมาคซิสต์ : สำหรับผู้เริ่มต้น," (3 ธันวาคม 2548) http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document95223.html/
  135. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, "อุดมการณ์กับการเมือง: องค์ประกอบและการทำงาน (ตอนที่สอง) ," (เอกสารประกอบการเรียนการสอนวิชา อุดมการณ์การเมืองประเทศกำลังพัฒนา ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคปลาย ปีการศึกษา 2547).
  136. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, "อุดมการณ์ การเมือง และวัฒนธรรม (3): สำนักวัฒนธรรมร่วมสมัย," (เอกสารประกอบการเรียนการสอนวิชา อุดมการณ์การเมืองประเทศกำลังพัฒนา ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคปลาย ปีการศึกษา 2547).
  137. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, "อุดมการณ์ การเมือง และวัฒนธรรม (1): จากมาค สู่ ลัทธิมากซ์ และ สำนักวัฒนธรรมศึกษา," (เอกสารประกอบการเรียนการสอนวิชา อุดมการณ์การเมืองประเทศกำลังพัฒนา ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคปลาย ปีการศึกษา 2547).
  138. Douglas Kellner. Media Culture: Cultural Studies, Identity and Politics Between the Modern and the Postmodern. (London and New York : Routledge, 2003),pp. 36 – 43
  139. Kellner. Ibid., pp. 28 – 31
  140. Philip Goldstein. Post-Marxist Theory : An Introduction. (New York: SUNY Press, 2005)
  141. ๋Jacques Derrida. Specters of Marx: The State of the Debt, the Work of Mourning and the New International (Routledge: London, 1994)

บรรณานุกรม[แก้]