อูโก ชาเบซ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อูโก ชาเบซ
ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาคนที่ 45
ดำรงตำแหน่ง
2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 – 5 มีนาคม พ.ศ. 2556
รองประธานาธิบดีอิซาอิอัส โรดริเกซ (2543)
อาดินา บัสติดัส (2543–2545)
ดิโอสดาโด กาเบโย (2545)
โฮเซ รังเฮล (2545–2550)
ฮอร์เฮ โรดริเกซ (2550–2551)
รามอน การ์ริซาเลส (2550–2556)
ก่อนหน้าราฟาเอล กัลเดรา
ถัดไปนิโกลัส มาดูโร (รักษาการ)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด28 กรกฎาคม พ.ศ. 2497
ซาบาเนตา รัฐบารีนัส  เวเนซุเอลา
เสียชีวิต5 มีนาคม พ.ศ. 2556 (58 ปี)
การากัส  เวเนซุเอลา
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
พรรคการเมืองขบวนการสาธารณรัฐที่ 5 (2540–2551)
สหพรรคสังคมนิยมเวเนซุเอลา (2551–2556)
คู่สมรสนันซิ โกลเมนาเรส (หย่า)
มาริซาเบล โรดริเกซ (หย่า)

พันโท อูโก ราฟาเอล ชาเบซ ฟริอัส (สเปน: Hugo Rafael Chávez Frías; 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2497 – 5 มีนาคม พ.ศ. 2556) นักการเมืองและทหารบกชาวเวเนซุเอลา เป็นผู้เผด็จการที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาตั้งแต่ปี 2542 กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี 2556 เขาเป็นอดีตผู้นำพรรคการเมืองขบวนการสาธารณรัฐที่ 5 นับแต่ก่อตั้งในปี 2540 ถึงปี 2550 เมื่อเขากลายเป็นผู้นำสหพรรคสังคมนิยมเวเนซุเอลา (เปซุบ) ตามข้อมูลของรัฐบาล เขามุ่งนำการปฏิรูปสังคมนิยมไปปฏิบัติในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสังคมชื่อการปฏิวัติโบลิบาร์ที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สภาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การโอนอุตสาหกรรมหลักหลายประเภทเป็นของรัฐ การเพิ่มเงินทุนด้านสาธารณสุขและการศึกษาของรัฐ และการลดความยากจนลงอย่างสำคัญ ตามอุดมการณ์คตินิยมแบบโบลิบาร์และ "สังคมนิยมแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21" ของเขาเอง[1]

เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นกรรมกรในซาบาเนตา รัฐบารีนัส ต่อมาเป็นนายทหารอาชีพ ยศพันโท[2] หลังไม่พอใจกับระบบการเมืองเวเนซุเอลา เขาได้ก่อตั้งขบวนการปฏิวัติโบลิบาร์-200 (MBR-200) ขึ้นในต้นทศวรรษ 2520 เพื่อดำเนินการโค่นล้มรัฐบาล ชาเบซนำ MBR-200 ในรัฐประหารที่ล้มเหลวต่อรัฐบาลพรรคกิจประชาธิปไตยของรัฐบาลการ์โลส อันเดรส เปเรซในปี 2535 ซึ่งเขาถูกจำคุก เมื่อได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในอีกสองปีให้หลัง เขาก่อตั้งพรรคการเมืองขบวนการสาธารณรัฐที่ห้าซึ่งมีอุดมการณ์สังคมประชาธิปไตย และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเวเนซุเอลาในปี 2541 ภายหลัง เขาริเริ่มรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเพิ่มสิทธิแก่กลุ่มที่ถูกเบียดขับ และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐบาลเวเนซุเอลา และได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในปี 2543 ระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง เขาริเริ่มระบบภารกิจโบลิบาร์ (Bolivarian Mission) สภาชุมชน (Communal Council) และสหกรณ์ที่มีกรรมกรเป็นผู้จัดการ เช่นเดียวกับโครงการปฏิรูปที่ดิน ขณะที่ยังโอนอุตสาหกรรมสำคัญหลายประเภทเป็นของรัฐ วันที่ 7 ตุลาคม 2555 ชาเบซชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สี่ และได้ดำรงตำแหน่งอีกสมัยเป็นเวลาหกปี[3]

ชาเบซอธิบายนโยบายของตนว่า ต่อต้านจักรวรรดินิยม และเขาเป็นนักวิจารณ์เสรีนิยมใหม่และทุนนิยมปล่อยให้ทำไป โดยทั่วไป ชาเบซเป็นปรปักษ์สำคัญของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เขาวางตนเป็นพันธมิตรอย่างเข้มแข็งกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของฟิเดลและราอุล กัสโตรในคิวบา และรัฐบาลสังคมนิยมของเอโบ โมราเลสในโบลิเวีย ราฟาเอล กอร์เรอาในเอกวาดอร์ และดานิเอล ออร์เตกาในนิการากัว การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "กระแสชมพู" สังคมนิยมที่กวาดไปทั่วลาตินอเมริกา เขาสันบสนุนความร่วมมือละตินอเมริกาและแคริบเบียน และเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้งสหภาพประชาชาติอเมริกาใต้ พันธมิตรโบลิบาร์เพื่อทวีปอเมริกา ธนาคารใต้ (Bank of the South) ที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค และเครือข่ายโทรทัศน์ภูมิภาคเตเลซูร์ (TeleSur) ชาเบซเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่ถกเถียงและมีความเห็นแตกแยกมากทั้งในและต่างประเทศ

วันที่ 30 มิถุนายน 2554 ชาเบซแถลงว่าเขากำลังฟื้นตัวจากการผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกฝีที่มีเซลล์มะเร็งออก[4] เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดครั้งที่สองในเดือนธันวาคม 2555[5] เขามีกำหนดสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 แต่รัฐสภาเวเนซุเอลาตกลงเลื่อนพิธีเข้ารับตำแหน่งเพื่อให้เขามีเวลาฟื้นตัวและกลับจากการเดินทางเพื่อไปรักษาพยาบาลเป็นครั้งที่สามที่คิวบา[6] ชาเบซถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 ด้วยวัย 58 ปี[7][8]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Ian James (4 October 2012). "Venezuela vote puts 'Chavismo' to critical test". Yahoo. สืบค้นเมื่อ 2 February 2013.
  2. https://www.pbs.org/frontlineworld/fellows/venezuela0803/2.html
  3. "Venezuela's Chávez re-elected to extend socialist rule". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-16. สืบค้นเมื่อ 8 October 2012.
  4. "President Chávez's address to the Nation".
  5. Virginia Lopez in Caracas. "Hugo Chávez names successor after confirming need for cancer surgery". Guardian. สืบค้นเมื่อ 2013-02-02.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-19. สืบค้นเมื่อ 2013-03-06.
  7. Castillo, Mariano (5 March 2013). "Venezuelan leader Hugo Chávez dies". CNN. สืบค้นเมื่อ 5 March 2013.
  8. Cawthorne, Andrew (5 March 2013). "Venezuela's Hugo Chávez dies from cancer: VP". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ 5 March 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

แม่แบบ:ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา