พเยาว์ พูลธรัตน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พเยาว์ พูนธรัตน์)
พเยาว์ พูลธรัตน์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ดำรงตำแหน่ง
6 มกราคม พ.ศ. 2544 – 5 มกราคม พ.ศ. 2548
เขตเลือกตั้งเขต 3
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด15 ตุลาคม พ.ศ. 2499
อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทย
เสียชีวิต13 สิงหาคม พ.ศ. 2549 (49 ปี)
เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สัญชาติไทย
ศาสนาเถรวาท
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2538–2548)
ไทยรักไทย (พ.ศ. 2548–2549)
คู่สมรสอดาวัลย์ พูลธรัตน์
บุตร2 คน
การศึกษาโรงเรียนราชสิทธาราม
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
อาชีพ
ชื่อเล่นจ้อน
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
สังกัดกรมตำรวจ
ประจำการพ.ศ. 2530–2538
หน่วยกองโยธาธิการ
อาชีพนักมวย
ฉายาเพชรพเยาว์ ศิษย์ครูทัศน์
รุ่นไลท์ฟลายเวท (สมัครเล่น)
ซูเปอร์ฟลายเวท
ชกทั้งหมด14
ชนะ10
ชนะน็อก7
แพ้4 ( แพ้น็อก 1 )
รายการเหรียญรางวัล

ร้อยตำรวจเอก พเยาว์ พูลธรัตน์ ชื่อเล่น จ้อน เป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก อดีตแชมเปียนมวยโลกชาวไทยคนที่ 7 และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ของพรรคประชาธิปัตย์

พเยาว์เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ที่ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สมัยวัยรุ่นเคยชกมวยไทยมาก่อนอย่างโชกโชน ในชื่อ "เพชรพเยาว์ ศิษย์ครูทัศน์" โดยชกประจำในรายการศึกจ้าวตะวันออก ของโปรโมเตอร์ นภา นาคปฐม ที่เวทีราชดำเนิน

วีรบุรุษโอลิมปิกคนแรก[แก้]

หลังจากชกมวยไทยอย่างมาโชกโชนแล้ว จึงเบนเข็มหันไปชกมวยสากลสมัครเล่น ติดทีมชาติ ได้ชกและได้รางวัลในหลายรายการ เช่น แชมป์มวยคิงส์คัพ, แชมป์โกลเด้นคัพ ที่ประเทศเคนยา, เหรียญเงินมวยสมัครเล่นชิงแชมป์โลก ที่สหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงติดทีมชาติไปชกในโอลิมปิกครั้งที่ 21 พ.ศ. 2519 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา รอบแรก ชนะเรมุส กอสมา จากโรมาเนียเมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 รอบสอง ชนะ โอเลกซันด์ คาเชนโก จากสหภาพโซเวียต เมื่อ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 รอบ 8 คนสุดท้าย ชนะ เกิร์ด แกโด จากฮังการี เมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 รอบรองชนะเลิศ แพ้ รี พยองอุก จากเกาหลีเหนือในรอบตัดเชือก[1] ได้เหรียญทองแดงในรุ่นไลท์ฟลายเวท (48.9 กิโลกรัม) นับเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยขณะนั้น พเยาว์มีอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น

การชกมวยสากลอาชีพ[แก้]

จากนั้นอีก 6 ปี ต่อมา จึงได้หันมาชกมวยสากลอาชีพ โดยแรกเริ่มอยู่ในสังกัดของ ธรรมนูญ วรสิงห์ ผู้จัดการของ เนตรน้อย ศ.วรสิงห์ แต่ต่อมา พเยาว์ได้ย้ายไปอยู่ในสังกัดของจูน ซาเรียล โปรโมเตอร์ชาวฟิลิปปินส์ และได้รับการบรรจุชื่อในอันดับของสถาบันมวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF) จนกระทั่งได้รับการติดต่อให้ไปชิงแชมป์ภาค ฯ กับ ซุน ซุน กวอน นักมวยชาวเกาหลีใต้ ที่โซล ถิ่นของแชมป์ พเยาว์ที่ซึ่งการฟิตซ้อมไม่พร้อม เนื่องจากรู้กำหนดการชกไม่นาน ก็ยังสามารถชกแชมเปี้ยนลงไปนับ 8 กับพื้นเวที ได้ครั้งหนึ่ง ก่อนจะครบ 12 ยก กรรมการจึงรวมคะแนนให้แชมป์ชาวเกาหลีใต้ชนะไปอย่างค้านสายตา

แต่เมื่อกลับมา พเยาว์ได้รับการปลุกปั้นอย่างจริงจัง จากกลุ่มผู้สนับสนุนกลุ่มใหม่ คือ สหสมภพ ศรีสมวงศ์ พเยาว์สร้างผลงานดีขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ชนะน็อก แดน พิศาลชัย อดีตนักมวยสร้างชาวไทยด้วยกัน ชนะน็อก ฮวาง ช็อค ลี นักมวยชาวเกาหลีใต้ ชนะคะแนน อลองโซ่ สตรองโบ นักมวยชาวอเมริกัน ชนะคะแนน ฮวน ไดแอซ นักมวยชาวเม็กซิโกนอย่างสวยสดงดงาม

พเยาว์ ขึ้นชิงแชมป์โลกในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท (115 ปอนด์) ของสภามวยโลก (WBC) กับราฟาเอล โอโรโน แชมป์โลกชาวเวเนซุเอลา ที่ โรงแรมแกรนด์ พาเลซ พัทยา ในคืนวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 โดยที่ขณะนั้น โอโรโน่ ป้องกันตำแหน่งมาได้ 3 ครั้งแล้ว และก่อนที่จะมาเดินทางมาเมืองไทย โอโรโน่เพิ่งป้องกันตำแหน่งไว้ได้หมาด ๆ ในเดือนตุลาคม เดือนเดียวก่อนหน้านี้เอง ที่กรุงการากัส ประเทศบ้านเกิด

ผลการชก พเยาว์ เอาชนะคะแนนไปได้อย่างหวุดหวิด ท่ามกลางความตื่นเต้น ดีใจของคนทั่วประเทศ เนื่องจากเวลานั้น เมืองไทยอยู่ในสภาพปลอดแชมป์โลกมานานเกือบ 6 ปี แล้ว (โดยแชมป์คนสุดท้ายคือ แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ เสียแชมป์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2521) ต้นปี พ.ศ. 2527 พเยาว์ ป้องกันตำแหน่งครั้งแรกโดยชนะทีเคโอยก 10 กูดี เอสปาดาส อดีตแชมป์โลกชาวเม็กซิโก ที่เวทีราชดำเนิน อย่างงดงาม แต่ก็เกือบแพ้ไปเหมือนกัน เพราะพเยาว์ถูกชกลงไปให้กรรมการนับ 8 ก่อนในยกแรก ๆ ภายหลังการชกเสร็จ​สิ้น พเยาว์ให้สัมภาษณ์กับบรรดานักข่าวว่า ที่ชนะได้ยากลำบากหน่อย​ เพราะทุกครั้งเวลาตนโดนหมัดของคู่ชกอัดเข้าที่ท้องทีไรรู้สึกจุกเสียดไปหมด​ หายใจได้ไม่ทั่วท้อง​ จุกจนฟุตเวิร์คเต้นหนีไม่ค่อยออก​ แขนขาอ่อนแรงระทวยเลยทีเดียว​ แม้ตนจะพยายามเกร็งกล้ามท้องรับหมัดแล้วก็ตาม​ จนบางสื่อวิจารณ์ว่าพเยาว์นั้นท้องเปราะ

บนรถเบนซ์เปิดประทุนของ นายกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่นำไปรับเฉลิมฉลอง หลังจากได้เหรียญทองแดงโอลิมปิก

จากนั้น จิโร วาตานาเบ้ แชมป์โลกรุ่นเดียวกันของสมาคมมวยโลก (WBA) ติดต่อให้พเยาว์เดินทางไปเดิมพันตำแหน่งล้มแชมป์ด้วยที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อถึงวันชก สมาคมมวยโลกได้ปลดวาตานาเบ้ออกจากตำแหน่งแชมป์ เนื่องจากไม่เห็นชอบด้วยกับการชก (ซึ่งตำแหน่งแชมป์ของสมาคมมวยโลกที่ว่างลงนี้ ต่อมาผู้ที่ชนะในการชิงแชมป์ว่างคือ เขาทราย แกแล็คซี่) ทำให้การชกในวันนั้นจึงกลายเป็น พเยาว์ ป้องกันตำแหน่งกับ จิโร วาตานาเบ้ แทน ซึ่งผลการชก พเยาว์ทำได้ดี ดูแล้วน่าจะเป็นผู้ชนะ แต่เมื่อครบ 12 ยกแล้ว กรรมการรวมคะแนนให้ จิโร วาตานาเบ้ ชนะ ได้แชมป์ไปครองแทน ท่ามกลางความเห็นแย้งของชาวไทย[2]

ไฟล์:แพ้วาตานาเบ้.jpg
พเยาว์ (กางเกงน้ำเงิน) ในการชกที่แพ้ จิโร วาตานาเบ้ เสียแชมป์โลก
ไฟล์:Payao v.s. watanabe vol.2.jpg
พเยาว์ (ซ้าย) ถูกหมัดของวาตานาเบ้ในไฟท์แก้มือ ซึ่งพเยาว์เป็นฝ่ายแพ้น็อกไปในยกที่ 11

ปลายปี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 พเยาว์จึงได้โอกาสล้างตาอีกครั้งกับ จิโร วาตานาเบ้ แต่ผลการชกในครั้งนี้ พเยาว์แพ้น็อกยก 11[3] ไปอย่างสิ้นสภาพ ไม่มีข้อสงสัย พเยาว์ขึ้นชกมวยครั้งสุดท้ายในชีวิต โดยการเป็นบันไดให้กับ ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ นักมวยสร้างรายใหม่ในขณะนั้น ด้วยการแพ้คะแนน

การศึกษา[แก้]

พเยาว์เรียนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนในอำเภอบางสะพาน ก่อนตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ เรียนต่อทางด้านช่างที่โรงเรียนราชสิทธาราม แผนกช่างก่อสร้าง ระหว่างเรียนเป็นคนขยันและเรียนเก่งจนได้รับทุนการศึกษา ม.ล.ปิ่น มาลากุล จนจบชั้น ปวช.3 และเรียนต่อที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ ในระดับ ปวส. ขณะเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 จึงได้ติดทีมชาติมวยสากลสมัครเล่น การศึกษาของพเยาว์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณทิต สาขาวิศวกรรมโยธา รอบค่ำ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทเวศร์ เมื่อปี พ.ศ. 2531

ชีวิตหลังการชกมวยและบั้นปลาย[แก้]

หลังจากแพ้คะแนนก้องธรณีแล้ว พเยาว์ได้แขวนนวมและไม่ยุ่งเกี่ยวกับวงการมวยอีกเลย โดยได้เข้าทำงานในธนาคารกรุงเทพ สาขาสำนักงานใหญ่ สีลม ในแผนกสินเชื่อก่อสร้าง อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะลาออกมารับราชการตำรวจ ประจำกองโยธาธิการกรมตำรวจ โดยได้ยศสูงสุดคือ ร้อยตำรวจเอก (ร.ต.อ.)

ชีวิตครอบครัว[แก้]

ด้านชีวิตครอบครัว พเยาว์สมรสกับนางอดาวัลย์ พูลธรัตน์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ หทัยภัสสร์ พูลธรัตน์ (บุตรสาว) และ บัณณพัฒน์ พูลธรัตน์ (บุตรชาย)[4]

ด้านการเมือง[แก้]

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2538 พเยาว์ลาออกจากราชการตำรวจ โดยลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ้านเกิด แต่ไม่ได้รับการเลือก แต่พเยาว์ก็ยังพยายามลงต่อมาในอีกหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2539 ก็ไม่ได้ จนกระทั่งมาประสบความสำเร็จ ใน ปี พ.ศ. 2544 โดยได้เป็นผู้แทนในเขต 3 และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย เมื่อปี พ.ศ. 2539[4]

ถึงแก่กรรม[แก้]

ในปี พ.ศ. 2545 พเยาว์เริ่มป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ และ ALS (กล้ามเนื้ออ่อนแรง) ซึ่งเป็นโรคที่น้อยรายจะเป็น แม้จะเข้ารับการรักษาแล้ว แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น กลับทรุดหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเป็นอัมพาต พูดไม่ได้ ต้องนั่งอยู่บนรถเข็น แต่กระนั้นสถานะความเป็น ส.ส. ของพเยาว์ ก็ยังไม่หมดไป และพเยาว์ก็ได้รับการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วนของสังคม เช่น การกีฬาแห่งประเทศไทย, รัฐสภา จนกระทั่งเมื่ออาการทรุดหนักจึงต้องยุติบทบาทด้านการเมืองไปโดยปริยาย โดยที่ภรรยา คือ นางอดาวัลย์เป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งแทน ในปี พ.ศ. 2548 แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งเพราะได้ย้ายพรรคไปอยู่กับพรรคไทยรักไทย[5] จนกระทั่งเมื่อบ่ายของวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2549 พเยาว์ ก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบที่โรงพยาบาลศิริราช

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Payao Poontarat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-19. สืบค้นเมื่อ 2015-12-14.
  2. เทปการชกระหว่างจิโร วาตานาเบ้ vs พเยาว์ พูลธรัตน์ ชิงแชมป์ครั้งที่1.
  3. เทปการชกระหว่างจิโร วาตานาเบ้ vs พเยาว์ พูลธรัตน์ ชิงแชมป์ครั้งที่2 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2527.
  4. 4.0 4.1 ""พเยาว์ พูลธรัตน์" ตายสงบ สิ้น "ฮีโร่'โอลิมปิก"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2021-09-26.
  5. จ้อน-พเยาว์ พูลธรัตน์สิ้นแล้วเส้นเลือดในสมองตีบคร่าชีวิต
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม ๑๒๑ ตอน ๒๓ ข หน้า ๓๗, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม ๑๑๙ ตอน ๒๑ ข หน้า ๖๕, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]