บุตรี เผือดผ่อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผู้ได้รับเหรียญรางวัล
Center
บุตรี เผือดผ่อง
รายการเหรียญรางวัล
ตัวแทนของ  ไทย
เทควันโด หญิง
โอลิมปิกฤดูร้อน
เหรียญเงิน - รองชนะเลิศ ปักกิ่ง 2008 49 กก.
ซีเกมส์
เหรียญทอง - ชนะเลิศ ซีเกมส์ 2009 46 กก.
เหรียญทอง - ชนะเลิศ ซีเกมส์ 2007 47 กก.

บุตรี เผือดผ่อง ชื่อเล่น สอง เกิดวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2533 เป็นนักกีฬาเทควันโดชาวไทย ได้รับเหรียญเงินในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 29 รุ่น 49 กิโลกรัม มีภาพยนตร์สั้นที่กล่าวถึงบุตรี เผือดผ่อง ในปี 2552 ไม่ทราบแน่ชัด​ว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่คาดว่าสร้างโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ บุตรี เผือดผ่อง เคยถ่ายโฆษณาของการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งออกอากาศทางช่อง T-Sports

ประวัติ[แก้]

บุตรี เผือดผ่อง ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสำเร็จการศึกษาดับระปริญญาตรีที่ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[1] เริ่มฝึกเตะเทควันโดตั้งแต่อายุได้ 11 ขวบ แล้วจึงเริ่มเล่นกีฬาเทควันโด ตามพี่สาว ภัสสร เผือดผ่อง

จากนั้นลงแข่งขันรายการเยาวชนชิงชนะเลิศภาคตะวันออก ซึ่งก็ได้รับเหรียญทอง และตระเวนแข่งขันก็ได้รับเหรียญทองมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็น กีฬาเยาวชนแห่งชาติ 3 สมัยซ้อน ในปี 2548, 2549 และ 2550, เยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยในปี 2549 และ 2550, เยาวชนชิงชนะเลิศแห่งเอเชียปี 2550 และเหรียญทองเยาวชนชิงแชมป์โลกในปี 2549

หลังจากแข่งขันในระดับเยาวชน ได้เลื่อนมาแข่งรุ่นประชาชน และคว้าแชมป์ประเทศไทยได้สำเร็จ จากนั้นได้ออกในรายการ เบสต์ ออฟ เดอะ เบสต์ สามารถเตะชนะนักกีฬารุ่นพี่อย่าง เยาวภา บุรพลชัย และ แม่น้ำ เชิดเกียรติศักดิ์ ทำให้มีชื่อเสียงขึ้นมา

โค้ชเช ยอง ซุก เรียกตัวบุตรีเข้าแคมป์ทีมชาติ จากนั้นเข้าแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 24 ที่จังหวัดนครราชสีมา ก็สามารถคว้าเหรียญทองมาได้ และในเวลาต่อมายังได้รับเหรียญทองจากรายการยูเอส โอเพ่น[2]

หลังจากนั้นในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 29 ที่ประเทศจีน ปี 2008 รุ่น 49 กิโลกรัม บุตรี เผือดผ่อง สามารถคว้าเหรียญเงินมาได้สำเร็จ ก่อนที่จะมาคว้าเหรียญทองในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ที่ประเทศลาว ในปี 2009[3]

ในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ปี 2011 บุตรี เผือดผ่อง เข้าร่วมการแข่งขันในขณะที่มีอาการบาดเจ็บหัวเข่าทั้งสองข้าง ซึ่งเรื้อรังมานาน ทำให้พลาดไม่ได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันครั้งนี้ โดยหลังจากกลับมาถึงเมืองไทยเจ้าตัวจึงได้ประกาศเลิกเล่นอย่างเป็นทางการ

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

หลังจาก บุตรี เผือดผ่อง เลิกเล่นเทควันโดทีมชาติ เจ้าตัวได้เข้าทำงานที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ [4] และกำลังคบหากับเป็นเอก การะเกตุ

ผลงาน[แก้]

  • เหรียญทองกีฬาเยาวชนชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 6 เวียดนาม
  • เหรียญทองกีฬาเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 4 จอร์แดน
  • เหรียญทอง กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 นครราชสีมา
  • เหรียญทองยูเอส โอเพน สหรัฐอเมริกา
  • เหรียญเงิน กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 29 ประเทศจีน
  • เหรียญทอง กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ประเทศลาว

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ข่าวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  2. "สถิติน่าตะลึง! บุตรี เผือดผ่อง จอมเตะไร้พ่าย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-16. สืบค้นเมื่อ 2008-08-20.
  3. “น้องสอง” เผยจะซื้อบ้านใหม่ให้พ่อกับแม่[ลิงก์เสีย] ผู้จัดการออนไลน์ 20 สิงหาคม 2551 21:47 น.
  4. บุตรี เผือดผ่อง เตรียมรับราชการตำรวจ
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2022-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๒๗, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒