อาคม เฉ่งไล่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาคม เฉ่งไล่
สถิติ
ฉายาอิสระ ศักดิ์กรีรินทร์
อิสระ เกียรติอินทรีดำ
รุ่นไลท์เวท
เวลเตอร์เวท
สัญชาติไทย
เกิด11 มิถุนายน พ.ศ. 2513 (53 ปี)
อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ประเทศไทย
ผู้จัดการพ.ต.ท.กรีรินทร์ อินทร์แก้ว
(มวยไทย)
รายการเหรียญรางวัล

อาคม เฉ่งไล่ นักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยที่ได้เหรียญทองแดงโอลิมปิก พ.ศ. 2535 เกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2513 ที่ ตำบลนาท่ามใต้ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เป็นบุตรของนายแวก และนางชีพ เฉ่งไล่ การศึกษา เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดศรีสุวรรณาราม ก่อนมาศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่สถาบันราชภัฏจันทรเกษม

ประวัติ[แก้]

อาคมเป็นคนที่ชอบเล่นฟุตบอลมากกว่าชกมวย แต่เริ่มต้นการชกมวยจากการที่ได้ดูพี่ชายซ้อมมวย ขณะฝนตก ไม่สามารถเตะฟุตบอลได้ เมื่อหัวหน้าค่ายเห็นจึงจับมาลองชก และหลังจากฝึกได้ไม่นาน จึงขึ้นชื่อในชื่อ "อิสระ เกียรติอินทรีดำ" และเอาชนะได้ พร้อมรับค่าตัวครั้งแรก 50 บาท เมื่ออายุได้ 12 ขวบ จากนั้นจึงตระเวนชกไปทั่วภาคใต้ ก่อนที่จะเข้าสู่กรุงเทพ โดยได้อยู่กับค่ายศักดิ์กรีรินทร์ ของ พ.ต.ท.กรีรินทร์ อินทร์แก้ว (ยศในขณะนั้น) และเปลี่ยนชื่อมาเป็น "อิสระ ศักดิ์กรีรินทร์" จนได้เป็นแชมป์ไลท์เวท ของสนามมวยเวทีลุมพินี โดยได้รับค่าตัวสูงสุด 1.2 แสนบาท ในการชกกับ ราม่อน แด็กเกอร์ นักมวยหมัดหนักชาวเนเธอร์แลนด์ เจ้าของฉายา "ไอ้กังหันลมนรก" และเป็นฝ่ายเอาชนะคะแนนราม่อน แด็กเกอร์ ไปได้ขาดลอย หลังจากนั้นจึงได้เปลี่ยนมาชกมวยสากลสมัครเล่นเมื่อไม่มีคู่ชกในแบบมวยไทยแล้ว สามารถคว้าเหรียญทองมาได้จากการแข่งขันกีฬาแห่งชาติที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2534

จนกระทั่งได้ติดทีมชาติได้เป็นตัวแทนในรุ่นเวลเตอร์เวท แข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยในรอบแรก ชนะ ยูเซฟ คาเตรี จากอิหร่าน เมื่อ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 รอบสอง ชนะ นิก โอโดเร จากเคนยา เมื่อ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2535 รอบ 8 คนสุดท้าย ชนะ วิทาลิยัส การ์ปาเซียสกัส จากลิทัวเนีย เมื่อ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2535 รอบรองชนะเลิศ แพ้ ไมเคิล คาร์รูท จากไอร์แลนด์ 11-4 หมัด เมื่อ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ได้เหรียญทองแดง[1] (ก่อนการชกอาคมได้โกนศีรษะเพื่อแก้บน) ได้ครองเหรียญทองแดง และคาร์รูทก็ได้เหรียญทองในที่สุด ซึ่งอาคมเป็นนักกีฬาไทยเพียงคนเดียวที่ได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้

หลังจากนั้น อาคมก็ยังมิได้แขวนนวม ยังคงชกมวยสากลสมัครเล่นในนามทีมชาติต่อไป โดยได้ร่วมแข่งในรายการมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์โลก ที่กรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2537 แต่แพ้ RSC. (Referee Stop Contest) ไปอย่างหมดรูป แต่ก่อนแขวนนวมก็ยังได้ติดทีมชาติไปชกในเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 12 ที่ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ได้เหรียญเงินมาเป็นรายการสุดท้าย เมื่อติดทีมชาติเข้าแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ พ.ศ. 2538 ได้เพียงเหรียญทองแดง จึงได้แขวนนวมไปในที่สุด

ปัจจุบัน อาคมมีกิจการส่วนตัว คือ เปิดร้านอาหารที่จังหวัดตรังบ้านเกิด ร่วมกับพี่ชายและภรรยา โดยอาคมจะทำหน้าที่จ่ายตลาดเอง และบางครั้งจะขึ้นเวทีร้องเพลงลูกทุ่งให้แก่ลูกค้าฟังด้วยตนเองอีกด้วย[2][3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-07. สืบค้นเมื่อ 2018-03-29.
  2. รายการเช้านี้ที่หมอชิด : 3 กันยายน พ.ศ. 2553 ทางช่อง 7
  3. ชีวิตใหม่ อาคม เฉ่งไล่ เปิดร้านอาหาร-เล่นหนังตะลุง จากเว็บไซต์จังหวัดตรัง