ข้ามไปเนื้อหา

เหม เวชกร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหม เวชกร
เกิดเหม
17 มกราคม พ.ศ. 2446
จังหวัดพระนคร มณฑลกรุงเทพ ประเทศสยาม
เสียชีวิต16 เมษายน พ.ศ. 2512 (66 ปี)
อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี ประเทศไทย
การศึกษาโรงเรียนเทพศิรินทร์
โรงเรียนอัสสัมชัญ
มีชื่อเสียงจากภาพประกอบนิยายผี
ผลงานเด่นภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ศึกมังกรกรรฐ์ (พ.ศ. 2473)
คู่สมรสแช่มชื่น คมขำ
บิดามารดา
  • หม่อมราชวงศ์ปฐม ทินกร (บิดา)
  • หม่อมหลวงสำริด พึ่งบุญ (มารดา)
ลายมือชื่อ
ส่วนหนึ่งของจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ศึกมังกรกรรฐ์ ที่ระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ห้องที่ 69 ผลงานของ เหม เวชกร วาดเมื่อ พ.ศ. 2473 (ซ่อมโดย พ.ต.ท อำพัน ศิรสงเคราะห์ เมื่อ พ.ศ. 2515)

เหม เวชกร (17 มกราคม พ.ศ. 2446 – 16 เมษายน พ.ศ. 2512) เป็นศิลปินและนักเขียนชาวไทย เขาเป็นที่รู้จักจากภาพประกอบของเขาจากปกนิยายขนาด 10 สตางค์ที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปินและนักวาดภาพประกอบชาวไทยรุ่นต่อมา และรวมถึงเรื่องผีของเขาด้วย[1] คาดว่าเขาผลิตงานศิลปะมากกว่า 50,000 ชิ้น เช่น ภาพวาดด้วยปากกาและดินสอ สีน้ำ สีโปสเตอร์ และ สีน้ำมัน เขาพรรณาถึงชีวิตในชนบทประวัติศาสตร์ไทยและตัวละครจากวรรณคดีไทย ผลงานของเขาได้รับการทำซ้ำบนแสตมป์ไทย[2] และนำเสนอในหอศิลป์

ประวัติ

[แก้]

เหม เวชกร เกิดที่กรุงเทพมหานคร เมื่ออายุได้ 11 ปี เขาได้ไปอาศัยอยู่กับหม่อมราชวงศ์แดง ทินกร ลุงของเขาซึ่งเป็นสถาปนิกที่ดูแลศิลปินและสถาปนิกชาวอิตาลีที่ทำงานในการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม เหมจึงได้รู้จักกับศิลปิน คาร์โล รีโกลี สถาปนิก มารีโอ ตามัญโญ และวิศวกร เอมิลิโอ จีโอวานนี โกลโล เหมพบว่าตนเองสนใจงานในพระที่นั่ง และรีโกลีซึ่งเป็นผู้ออกแบบตกแต่งภายในจึงอนุญาตให้เขาลงสี

ชีวิตในวัยรุ่นของเขา นับเป็นช่วงเวลาที่ตกยากที่สุด ทั้งพ่อและแม่ที่ต่างผลัดกันแย่งยื้อตัวเขาไว้ก็ไม่มีใครได้เลี้ยงดูจริงจัง ตามประวัติกล่าวว่าเขาเคยเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และอัสสัมชัญ แต่ก็คงได้เพียงชั่วเวลาสั้นๆ จากนั้นเหมต้องกลายเป็นคนซัดเซพเนจรไปหลายที่ แม้แต่นามสกุล "เวชกร" ที่ใช้มาตลอดชีวิตก็เป็นนามสกุลของครอบครัวขุนประสิทธิ์เวชการ (แหยม เวชกร) อดีตนายแพทย์สาธารณสุขประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเคยให้การอุปถัมภ์เขาไว้ครั้งหนึ่ง[3]

ช่วงที่ชีวิตผกผัน เหมต้องเร่ร่อนไปทำงานหลายอย่าง นับแต่เป็นนายท้ายเรือโยงขึ้นล่องแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นช่างเครื่องจักรไอน้ำ แล้วผันตัวไปเป็นช่างเครื่องในงานสร้างเขื่อนพระรามหก เมื่อเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นช่างเขียนในกรมตำราทหารบก กระทรวงกลาโหม และพร้อมกับมีอาชีพเสริมด้วยการเล่นดนตรีไทย งานเล่นดนตรีคลอประกอบการฉายหนังเงียบในโรงภาพยนตร์ แต่ต่อมาอาชีพนักดนตรีเริ่มฝืดเคือง เริ่มงานเขียนปกนวนิยาย เป็นงานหลักหาเลี้ยงชีพ

ปลายปี พ.ศ. 2478 เหม เวชกรและเพื่อนได้ร่วมกันเปิดสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ พิมพ์นิยายราคาถูก ปกเป็นภาพเขียนฝีมือของเหม พิมพ์สอดสีสวยงาม ราคา 10 สตางค์ นอกจากนี้ เหมยังมีผลงานวรรณกรรมเกี่ยวกับเรื่องผีด้วย[4]

ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ แช่มชื่น คมขำ แห่งสำนักวังหลานหลวงของกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ โดยไม่มีทายาท แต่ได้รับบุตรบุญธรรมไว้คนหนึ่งชื่อดาบตำรวจสุชาติ สมรูป

เหมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2512[5] ณ บ้านพักแหล่งสุดท้ายของเขาที่ซอยตากสิน 1 เขตธนบุรี ขณะอายุได้ 66 ปี

ผลงาน

[แก้]
  • เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ศึกมังกรกรรฐ์ ที่ระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ห้องที่ 69 เมื่อ พ.ศ. 2473 (ภาพนี้ได้รับการเขียนซ่อมโดย พ.ต.ท อำพัน ศิรสงเคราะห์ เมื่อ พ.ศ. 2515)
  • เขียนภาพปกภาพประกอบนวนิยายที่สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ต้นกำเนิดนิยาย 10 สตางค์ เมื่อประมาณปี 2474
  • เขียนภาพปกภาพประกอบ แผลเก่า ของ ไม้ เมืองเดิม
  • งานชุดประวัติศาสตร์ไทย ชีวประวัติสุนทรภู่ ชุดนางในวรรณคดีชุดกากี
  • ผลงานจิตรกรรมพุทธประวัติที่สร้างอุทิศแก่พุทธศาสนา คือภาพปฐมสมโพธิ 80 ภาพ และชุดเวสสันดร 40 ภาพ
  • วรรณกรรมแนวสยองขวัญ หรือเรื่องผี ถึง 101 เรื่อง
  • ภาพประกอบให้ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ลงในคอลัมน์ “จากย่ามความทรงจำ ของ เหม เวชกร” หนังสือฟ้าเมืองไทย

ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Pichayapat Naisupap. "Hem Vejakorn's Ghost Stories: A Social and Cultural History of Thailand, 1932-1970." MA Thesis, Chulalongkorn University, 2018.
  2. Hem Vejakorn's painting postage stamps, SiamStamp.com.
  3. ศรัณย์ ทองปาน. (2543, ต.ค.). เหม เวชกร จิตรกรไร้สำนักเรียน ช่างเขียนนอกสถาบัน. สารคดี [ออนไลน์].
  4. พิชยะพัฒน์ นัยสุภาพ. (2561). เรื่องผีของเหม เวชกร: ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมไทย (พ.ศ. 2475-2513). วิทยานิพนธ์ อ.ม. (ประวัติศาสตร์). กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  5. "นิทรรศการภาพวาดวิจิตรครูเหม เวชกร (2539)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2021-10-09.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]