ข้ามไปเนื้อหา

ตำรวจตระเวนชายแดน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ตชด.)
ตำรวจตระเวนชายแดน
Border Patrol Police
อาร์มตำรวจตระเวนชายแดน
เครื่องหมายราชการ
ชื่อทางการกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
อักษรย่อบช.ตชด. / ตชด.
คำขวัญเสียสละ อดทน ดำรงตนอย่างมีเกียรติ[1]
ข้อมูลองค์กร
ก่อตั้ง6 พฤษภาคม พ.ศ. 2496[2]
โครงสร้างเขตอำนาจ
เขตอำนาจในการปฏิบัติการประเทศไทย
แผนที่เขตอำนาจของ ตำรวจตระเวนชายแดน
ลักษณะทั่วไป
เขตอำนาจเฉพาะทาง
  • ตระเวนชายแดน รักษาความปลอดภัย และความมั่นคง
  • กองกำลังกึ่งทหาร การปราบปรามความไม่สงบ และการควบคุมจลาจล
สำนักงานใหญ่1279 ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400

ผู้บริหารหน่วยงาน
  • พล.ต.ท.ยงเกียรติ มนปราณีต, ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
หน่วยงานปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ปฏิบัติการสำคัญ
เว็บไซต์
www.bpp.go.th/index.php

ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) (Border Patrol Police) เป็น ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อเป็นกำลังเสริม แทนการใช้กำลังทหาร ในรักษาความสงบตามแนวตะเข็บชายแดน อันเนื่องจากสนธิสัญญากรุงเจนีวาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสกำหนดห้ามไม่ให้มีกำลังทหารในระยะ 25 กิโลเมตรจากแนวชายแดน จุดประสงค์หลักในการจัดตั้ง ตชด.ในช่วงแรกคือป้องกันกองกำลังคอมมิวนิสต์ที่เข้ามารุกรานในประเทศ ในปัจจุบัน ตชด. มีหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดที่เข้ามาในประเทศไทยโดยเฉพาะยาบ้า

ประวัติ

[แก้]

ช่วงที่ 1

[แก้]

หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้ยุติลงในปี พ.ศ. 2488 ประเทศอาณานิคมที่เคยเป็นเมืองขึ้นมาเป็นเวลานานหลายประเทศ ก็ได้รับเอกราชคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบก็ได้รับเอกราชใหม่ทุกประเทศได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย แม้ประเทศเหล่านี้จะได้รับเอกราชสมบูรณ์ แล้วก็ตาม แต่ความสงบสุขของบ้านเมืองในแถบนี้ยังห่างไกลจากความเป็นจริง ทั้งนี้เกิดจากความยุ่งยากทางการเมืองภายในจาก การชิงอำนาจของนักการเมืองที่มีความคิดเห็นยุ่งยากทางการเมืองภายใน จากการชิงอำนาจของนักการเมืองที่มีความคิดเห็นในนโยบายการปกครองแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยุ่งยากอันเกิดจากการเมืองภายนอกที่ประเทศคอมมิวนิสต์ และบริวารพยายามแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาสู่ภูมิภาคของโลกส่วนนี้ให้อยู่ในอุ้งมือให้จึงได้ ทั้งได้พยายามดำเนินการทั้งมวลที่จะให้ประชาชนของประเทศเหล่านั้นจับอาวุธเข้าต่อสู้รัฐบาลของตนและประชาชนที่เป็นชาติเดียวกันเองหนักมือยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นชนวนแห่งความยุ่งยาก และก่อให้เกิดเหตุร้ายในส่วนนี้ของโลกตราบเท่าทุกวันนี้

ช่วงที่ 2

[แก้]

ประเทศไทยได้เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2484 และ สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2488 ซึ่งได้รับความบอบซ้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เศรษฐกิจและการทหารก็นับว่าอยู่ในระยะที่จะต้องปรับปรุงทั้งสิ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 ปรากฏว่าสถานการณ์รอบ ๆ ประเทศไทยและในภาคพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เริ่มตั้งเค้าแห่งความไม่สงบขึ้น เพราะการใช้สงครามบ่อนทำลายของฝ่ายคอมมิวนิสต์มีสิ่งบอกเหตุว่าภยันตรายอาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยสู้รบระหว่างฝ่ายเวียตมินต์หรือฝ่ายเวียดนามคอมมิวนิสต์กับฝรั่งเศสมีการแทรกซึมของฝ่ายเวียตมินห์เข้าสู่ประเทศลาวและประเทศเขมร ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่ถูกคุกคามได้ตลอดเวลา ทางด้านภาคเหนือของประเทศไทยได้มีการสู้รบกับระหว่างกองทัพของประเทศพม่ากับกองทหารจีนชาติ (ก๊กมินตั๋ง) ที่ถูกคอมมิวนิสต์ตีถอยร่นลงมาทางใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 และได้เข้าอยู่ในพื้นที่ของบ้านตูมและบ้านญวนในเขตแดนพม่าตรงข้ามกับอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่อื่น ๆ ตรงข้ามกับจังหวัดเชียงรายและแม่ฮ่องสอน นอกจากนั้นกองทัพพม่ายังต่อสู้กับกะเหรี่ยงและไทใหญ่ ที่เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง ซึ่งอยู่ติดกับทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของไทยอีกด้วยทางด้านภาคใต้โจรจีนคอมมิวนิสต์ได้ใช้พื้นที่บริเวณชายแดนไทย - มาเลเซีย เป็นฐานทำการต่อสู้กับรัฐบาลของอังกฤษและรัฐบาลมาเลเซีย ประเทศไทยจึงอยู่ในภาวะที่จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเพราะภัยที่ยังมองไม่เห็นกำลังคุกคามประเทศรอบด้านในขณะที่เหตุการณ์ภายนอกประเทศมีแนวโน้มซึ่งแสดงการคุกคามต่อประเทศไทยขณะเดียวกันเหตุการณ์ภายในประเทศก็เกิดขึ้นอีกโดยปฏิกิริยาของชาวญวนอพยพในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่น จังหวัดหนองคาย และจังหวัดอุบลราชธานี

ช่วงที่ 3

[แก้]

รัฐบาลและกรมตำรวจ ได้ร่วมกันพิจารณาภาวะการทางการเมืองดังกล่าวข้างต้น และพิจารณาหาหนทางในการป้องกันที่จะมิให้เกิดความเสียหายต่อความสงบสุขและความมั่นคงปลอดภัยของชาติและได้พิจารณาว่าหากจะใช้ตำรวจภูธรซึ่งงานในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมก็ล้นมืออยู่แล้วเพราะในขณะที่ศีลธรรมและขวัญของประชาชนเสื่อมและตกต่ำอย่างมากในระยะสงครามและ ยิ่งต่ำลงเมื่อสงครามเลิกแล้วส่วนการพิจารณาที่จะใช้กำลังทางทหารป้องกันและต่อสู้กับการคุกคามของคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ในขณะนั้นจะมีผลกระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศ เพราะประเทศรอบประเทศไทยต่างก็มีประวัติศาสตร์ที่เคยสู้รบแย่งชิงอำนาจกันมาก โดยตลอดและการใช้กำลังทหารในขณะนั้นจะได้ผลคุ้มค่าทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและเป็นการประหยัดหรือไม่ประหยัดอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะเป็นการใช้ภารกิจด้านเดียวเพราะไม่สามารถเข้าทำการปราบอาชญากรรมหรือให้การบริการแก่ประชาชนได้เหมือนข้าราชการตำรวจและพลเรือน ปัญหาก็คือจะใช้หน่วยงานอะไรจึงจะใช้ทำงานได้ผล รัฐบาลและกรมตำรวจจึงได้พิจารณาตกลงใจว่าจะต้องจัดตั้งหน่วยงานขึ้น และต้องเป็นหน่วยงานที่มีลักษณะเป็นทั้ง ทหาร ตำรวจ และพลเรือน เมื่อไม่รบก็ต้องปราบปรามอาชญากรรม และในขณะเดียวกันก็ต้องบริการประชาชนได้หน่วยงานนั้นนอกจากจะเป็นผลต่อความมั่นคงปลอดภัย และรักษาความสงบตามชายแดน แล้วยังควรที่จะสามารถดำเนินการตามนโยบายของทุกกระทรวง ทบวง กรม อีกด้วย หรืออาจกล่าวโดยสรุป ก็คือว่าหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นนั้นจะต้องมีคุณลักษณะ 3 ประการ

ช่วงที่ 4

[แก้]

แนวความคิดของรัฐบาลและกรมตำรวจในการจัดตั้ง ตชด. ก็เพื่อเสริมกำลังตำรวจภูธรในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนและป้องกันการรุกรานของคอมมิวนิสต์ ประหยัดการใช้กำลังทางทหารในยามปกติรักษาสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านฝึกกำลังตำรวจเพื่อทำหน้าที่คล้ายทหาร และกำลังแบบทหารฝึกกำลังให้กับประเทศใกล้เคียง ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งตำรวจตระเวนชายแดนเป็นการเตรียมกำลังตำรวจให้พร้อม เพื่อจะปฏิบัติการต่อต้านการรบนอกแบบโดยเฉพาะการรบแบบกองโจรเป็นการเตรียมกำลังตำรวจ ให้พร้อมที่จะสนับสนุนการปฏิบัติการของกองทัพอื่น ๆ ได้ทันที ถ้าสงครามเกิดขึ้นทำการคุ้มครองพื้นที่ของประเทศที่เป็นป่าเขาทั่วไปที่การคมนาคมทุกชนิดเข้าไปไม่ถึงด้วยการเดินเท้า หรือโดยการส่งลงทางอากาศทำการปราบปรามโจรผู้ร้ายที่ใช้รอยต่อของจังหวัดและของประเทศเป็นที่ซุกซ่อนกับการสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงของหนีภาษี และยาเสพติดเมื่อไม่มีเหตุการณ์ สามารถพัฒนาสร้างสรรค์ให้เกิดการกินดีอยู่ดีแก่ประชาชน

การที่จะมอบหมายให้หน่วยทหารที่มีอยู่ในขณะนั้น ปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณแนวชายแดนก็ขัดต่อสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ระบุห้ามมิให้นำกำลังทหารไปวางไว้ ในระยะ 25 กิโลเมตร จากแนวแบ่งเขตชายแดน ไทย - ลาว และกัมพูชา และหากจะพิจารณาใช้กำลังตำรวจภูธรเข้าปฏิบัติภารกิจดังกล่าวตำรวจภูธรก็มีภารกิจหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและการรักษาความสงบเรียบร้อย และการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจนไม่มีกำลังเพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณแนวชายแดนได้ ในที่สุด รัฐบาลก็ได้พิจารณาจัดตั้งหน่วยกำลัง "ตำรวจตระเวนชายแดน" ขึ้นในปี พ.ศ. 2494 โดยกำหนดให้หน่วยจะต้องมีคุณลักษณะ 3 ประการ ดังนี้

  1. สามารถทำการรบได้อย่างทหาร
  2. สามารถป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างตำรวจ
  3. สามารถดำเนินการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนได้เช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน

ธงชัยประจำหน่วย

[แก้]
ธงชัยประจำกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมกับหน่วยตำรวจอื่นรวม 6 หน่วย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2495
ธงชัยประจำกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนและธงชัยหน่วยตำรวจอื่น ๆ ในพิธีถวายคำสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามเนื่องในวันตำรวจเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ตำรวจตระเวนชายแดนได้รับพระราชทานธงชัยประจำหน่วยตำรวจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับหน่วยอื่นของตำรวจอีก 5 หน่วย เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพลประจำกองตำรวจด้วยพระองค์เอง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ผืนธงมีลักษณะเช่นเดียวกับธงชาติ ภายในยอดธงบรรจุเส้นพระเจ้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และบรรจุพระพุทธรูปองค์เล็กเรียกว่า "พระยอดธง" เอาไว้ ธงชัยจึงถือเป็นตัวแทนของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเหล่าข้าราชการตำรวจทั้งหลาย และปวงชนชาวไทยให้ความเคารพ

ธงชัยประจำกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนนี้ มีลักษณะและการได้มาเช่นเดียวกันกับธงชัยเฉลิมพลของทหารทุกประการ โดยสำนักราชเลขาธิการได้บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับ "ธงชัยเฉลิมพลประจำกองตำรวจ" นี้ไว้ ตามหลักฐานต่าง ๆ ปรากฏชื่อธงดังกล่าว ได้แก่ "ธงชัยเฉลิมพลประจำกองตำรวจ" "ธงชัยประจำกอง" "ธงชัย" "ธงประจำกอง" ซึ่งล้วนก็คือธงเดียวกัน

รายพระนามและรายชื่อผู้บัญชาการ

[แก้]

การจัดโครงสร้างหน่วย

[แก้]
กองบังคับการอำนวยการ
  • ฝ่ายอำนวยการ 1 (กำลังพล)
  • ฝ่ายอำนวยการ 2 (การข่าว)
  • ฝ่ายอำนวยการ 3 (แผนและยุทธศาสตร์)
  • ฝ่ายอำนวยการ 4
  • ฝ่ายอำนวยการ 5
  • ฝ่ายอำนวยการ 6 (นิติกร)
  • ฝ่ายอำนวยการ 7 (โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน)
  • ฝ่ายอำนวยการ 8 (เทคโนโลยีสารสนเทศ)
กองบังคับการสนับสนุน
  • ฝ่ายสนับสนุน 1 (ฝสสน.1 บก.สสน.บช.ตชด.)
  • ฝ่ายสนับสนุน 2 (ฝสสน.2 บก.สสน.บช.ตชด.)
  • ฝ่ายสนับสนุน 3 (ฝสสน.3 บก.สสน.บช.ตชด.)
  • ฝ่ายสนับสนุน 4 (ฝสสน.4 บก.สสน.บช.ตชด.)
  • ฝ่ายสนับสนุน 5 (ฝสสน.5 บก.สสน.บช.ตชด.)
กองบังคับการฝึกพิเศษ (ค่ายพระรามหก อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี)
กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ (ค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี)
กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี)
กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 (อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น)
กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 (อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่)
กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 (อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา)

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี)[3]

การแข่งขันกีฬาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

[แก้]

ประวัติ

[แก้]
ครั้งที่ ระยะเวลา เจ้าภาพ ชนะเลิศ หมายเหตุ
1 20-22 เมษายน พ.ศ. 2554   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4
2 20-22 เมษายน พ.ศ. 2555   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1
3 24-26 เมษายน พ.ศ. 2556   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3
4 21-23 เมษายน พ.ศ. 2557   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4
5 21-25 เมษายน พ.ศ. 2558   กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3
6 25-29 ธันวาคม พ.ศ. 2559   กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1
7 2-5 เมษายน พ.ศ. 2561   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1
8 27-30 เมษายน พ.ศ. 2562   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2   กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-26. สืบค้นเมื่อ 2022-03-20.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-28. สืบค้นเมื่อ 2022-03-20.
  3. "หน้าหลัก". ศูนย์ห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).

 บทความนี้รวมเอางานสาธารณสมบัติจากเว็บไซต์หรือเอกสารของ เดอะเวิลด์แฟกต์บุ๊ก "2004 edition"

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]