ข้ามไปเนื้อหา

ตำรวจภูธรภาค 7

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำรวจภูธรภาค 7
Provincial Police Region 7
อักษรย่อภ.7
ข้อมูลองค์กร
ก่อตั้ง11 ตุลาคม, พ.ศ. 2536
โครงสร้างเขตอำนาจ
เขตอำนาจในการปฏิบัติการประเทศไทย
เขตอำนาจตามกฎหมายตำรวจภูธรภาค 7, ประเทศไทย
ลักษณะทั่วไป
สำนักงานใหญ่109 ถนนข้างวัง ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 10900

ผู้บริหารหน่วยงาน
  • พล.ต.ท. นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต, ผู้บัญชาการ
หน่วยงานปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กองบังคับการ • 3 กองบังคับการ
 • 1 ศูนย์ฝึก
 • 1 กองกำกับการ
เว็บไซต์
police7.go.th
ตำแหน่งผู้บัญชาการ
รับใช้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ชั้นยศ พลตำรวจโท
หน่วยตำรวจภูธรภาค 7
บังคับบัญชาผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7

ตำรวจภูธรภาค 7 เป็นส่วนราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระดับกองบัญชาการ ส่วนป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม มีหน้าที่ดูแล 8 จังหวัดในภาคกลางประเทศไทย

ประวัติ

[แก้]

ก่อนปี พ.ศ. 2483 พื้นที่ตำรวจภูธรภาค 7 อยู่ในความรับผิดชอบของกองบังคับการตำรวจภูธรเขต 6 ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ กระทรวงมหาดไทย มี พ.ต.อ.พระรามอินทรา เป็นผู้บังคับการ และ พ.ต.ท.หลวงอารักประชากร เป็นรองผู้บังคับการ

ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2483 ได้ตั้งเป็น กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 7 ขึ้น พ.ต.ท.หลวงอารักประชากร ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 7 เป็นคนแรก ขณะนั้นตัวอาคารกองบังคับการตำรวจภูธรเขต 7 ยังไม่มี ได้มาอาศัยกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม เป็นที่ทำงาน อาคารเป็นบ้านไม้อยู่ทางทิศตะวันออก ของ ตัวอาคาร สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม และอยู่แถวเดียวกันหันหน้ามาทางขวาขององค์พระปฐมเจดีย์ โดยได้อาศัยสถานที่ดังกล่าวได้ประมาณ 4 เดือน พ.ต.ท.หลวงอารักประชากร จึงได้ไปติดต่อ พระประชากรบริรักษ์ (แอร่ม สุนทรศารทูล) ข้าหลวงประจำจังหวัดนครปฐม เพื่อขอยืมสโมสรเสือป่าเป็นที่ตั้ง กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 7 (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งร้านขายอาหารนิวนามทอง) ตัวอาคารเป็นไม้ 2 ชั้น ชั้นบนเป็นที่ตั้ง กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 7 ชั้นล่างเป็นที่ตั้ง กองกำกับการตำรวจภูธรเขต 7 และ กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 7 ก็ใช้ที่ตั้งนั้นตลอดมา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ (ฉบับที่ 5) ลง 11 มกราคม 2519 จึงเปลี่ยนชื่อจาก กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 7 เป็น กองบังคับการตำรวจภูธร 3 มี พล.ต.ต.บัญชา อุณหะนันท์ เป็นผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจภูธร 3 เป็นคนแรก จนกระทั่งในปี 2536 ได้มีพระราชกฤษฎีกาปรับโครงสร้างกรมตำรวจ (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2536 ได้ยกฐานะกองบังคับการตำรวจภูธร 3 เป็นหน่วยงานระดับกองบัญชาการ เรียกว่า ตำรวจภูธรภาค 7 มี พล.ต.ท.ประชา พรหมนอก ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ เป็นหัวหน้าตำรวจภูธรภาค 7 และในปี พ.ศ. 2539 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ จึงได้เปลี่ยนจากตำแหน่ง หัวหน้าตำรวจภูธรภาค 7 เป็น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 มี พล.ต.ท.สมบัติ อมรวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 เป็นคนแรก และได้มีการแบ่งส่วนราชการของกรมตำรวจใหม่ กำหนดให้กองบัญชาการตำรวจภูธรมี 4 กองบัญชาการ และแบ่งส่วนราชการภายในใหม่ทั้งหมด โดยกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 มีเขตอำนาจในการรับผิดชอบเพิ่มขึ้นเป็น 24 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสระบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม โดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 45 ได้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาในปี พ.ศ. 2519 และแบ่งส่วนราชการภายในใหม่ ประกอบไปด้วย กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธร กองบังคับการตำรวจภูธร 3 กองบังคับการ และกองกำกับการสืบสวนสอบสวน ซึ่งกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 1 ได้แบ่งส่วนการรับผิดชอบ 3 กองบังคับการ ประกอบไปด้วย

  • กองบังคับการตำรวจภูธร 1 รับผิดชอบในพื้นที่รวม 9 จังหวัด ประกอบไปด้วยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ
  • กองบังคับการตำรวจภูธร 2 รับผิดชอบในพื้นที่รวม 7 จังหวัด ประกอบไปด้วยจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  • กองบังคับการตำรวจภูธร 3 รับผิดชอบในพื้นที่รวม 8 จังหวัด ประกอบไปด้วยจังหวัดนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม

ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ตำรวจภูธรภาค 7 ได้ย้ายอาคารที่ทำการมาที่ เลขที่ 109 ตำรวจภูธรภาค 7 ถนนข้างวัง ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จว.นครปฐม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเดียวกับ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 7 โดยมี พล.ต.ท.พงษ์สันต์ เจียมอ่อน เป็น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7

พื้นที่รับผิดชอบ

[แก้]

ตำรวจภูธรภาค 7 มีหน้าที่ดูแล 8 จังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย ประกอบไปด้วย

  1. จังหวัดกาญจนบุรี
  2. จังหวัดนครปฐม
  3. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  4. จังหวัดเพชรบุรี
  5. จังหวัดราชบุรี
  6. จังหวัดสมุทรสงคราม
  7. จังหวัดสมุทรสาคร
  8. จังหวัดสุพรรณบุรี

กองบังคับการในสังกัด

[แก้]
ตำแหน่งผู้บังคับการ
รับใช้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ชั้นยศ พลตำรวจตรี
หน่วยกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7
บังคับบัญชากองบังคับการ

ตำรวจภูธรภาค 7 ประกอบไปด้วย 3 กองบังคับการ 8 ตำรวจภูธรจังหวัด[1] (สถานะเทียบเท่ากองบังคับการ แต่ไม่ต้องเรียกขึ้นต้นด้วยคำว่ากองบังคับการ) 1 ศูนย์ฝึก และ 1 กองกำกับการ ประกอบด้วย

  • กองบังคับการอำนวยการ (บก.อก.)
  • กองบังคับการกฎหมายและคดี (บก.กค.)
  • กองบังคับการสืบสวนสอบสวน (บก.สส.)
  • กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ (กก.ปพ.)
  • ตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี (ภ.จว.กาญจนบุรี)
  • ตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม (ภ.จว.นครปฐม)
  • ตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์)
  • ตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี (ภ.จว.เพชรบุรี)
  • ตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี (ภ.จว.ราชบุรี)
  • ตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสงคราม (ภ.จว.สมุทรสงคราม)
  • ตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร (ภ.จว.สมุทรสาคร)
  • ตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี (ภ.จว.สุพรรณบุรี)

ศูนย์ฝึก

[แก้]
  • ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 7 (ศฝร.)

อ้างอิง

[แก้]