เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่ง รามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ | |
---|---|
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ | |
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย | |
ประเภท | คล้องคอไม่มีดารา |
วันสถาปนา | 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 |
ประเทศ | ราชอาณาจักรไทย |
ภาษิต | เราจะทำนุบำรุงกิจการลูกเสือสืบไป |
จำนวนสำรับ | ไม่จำกัดจำนวน |
แพรแถบ | |
ผู้สมควรได้รับ | ผู้อุทิศตนให้กิจการลูกเสืออย่างแท้จริง |
มอบเพื่อ | ส่งเสริมกำลังใจแก่ผู้อุทิศตนให้กิจการลูกเสืออย่างแท้จริง |
สถานะ | ยังพระราชทานอยู่ |
ผู้สถาปนา | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร |
ประธาน | พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว |
สถิติการมอบ | |
รายแรก | พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 10 มิถุนายน พ.ศ. 2531 |
รายล่าสุด | สมจิตร ศิริเสนา 26 มิถุนายน พ.ศ. 2566 |
ทั้งหมด | 266 ราย |
ลำดับเกียรติ | |
สูงกว่า | เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นตติยดิเรกคุณาภรณ์ |
รองมา | เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้า |
หมายเหตุ | พระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์ |
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ (อังกฤษ: The boy scout citation medal (Special class)) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอนุญาตให้จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 เพื่อส่งเสริมกำลังใจแก่ผู้อุทิศตนให้กิจการลูกเสืออย่างแท้จริง โดยมีลำดับเกียรติของเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นลำดับที่ 26[1]
ประวัติ
[แก้]เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาฯ พระราชทานกำเนิดกิจการลูกเสือไทยในปี พ.ศ. 2529 และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้าง "เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ" ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมกำลังใจแก่ผู้อุทิศตนให้กิจการลูกเสืออย่างแท้จริง[2]
ลักษณะของเครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ เป็นดวงตรา มีลักษณะ ดังนี้[2]
- ด้านหน้า มีลักษณะรูปไข่ พื้นลงยาสีน้ำเงิน ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 3.3 เซนติเมตร กลางดวงตรามีตราหน้าเสือประกอบวชิระเงินล้อมด้วยเม็ดไข่ปลาสีทองและมีรัศมีเงินโดยรอบแปดแฉกคั่นด้วยกระจังสีทอง เบื้องบนมีพระมหามงกุฏรัศมีโปร่งและเลข "๙" สีทอง
- ด้านหลัง บริเวณกลางดวงตราเป็นดุม พื้นลงยาสีม่วง มีรูปตราของคณะลูกเสือโลก เบื้องล่างมีอักษรสีเงินว่า "เราจะทำนุบำรุงกิจการลูกเสือสืบไป"
ที่ขอบด้านบนของดวงตรามีห่วงห้อยแพรแถบสำหรับคล้องคอ ขนาดกว้าง 4 เซนติเมตร มีริ้วสีเหลืองกว้าง 2.2 เซนติเมตร อยู่กลาง ริมทั้งสองข้างมีริ้วสีขาวกว้าง 3 มิลลิเมตร และริ้วสีดำกว้าง 6 มิลลิเมตร
การพระราชทาน
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 และได้มีอุปการคุณช่วยเหลือกิจการลูกเสืออย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 เพื่อส่งเสริมกำลังใจแก่ผู้อุทิศตนให้กิจการลูกเสืออย่างแท้จริง โดยคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติจะพิจารณาผู้เหมาะสมสำหรับรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นนี้ แล้วนำความกราบทูลเพื่อขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่อไป
ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นนี้เสียชีวิตลงสามารถมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ทายาทไว้เพื่อเป็นที่ระลึกได้ โดยไม่ต้องส่งคืนในภายหลัง[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๐ กำหนดให้มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ไว้สำหรับพระราชทานแก่ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ ๑ และผู้มีอุปการคุณช่วยเหลือกิจการลูกเสือ, เล่ม ๑๐๔, ตอน ๒๔๕ ก ฉบับพิเศษ, ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐, หน้า ๑