สุสานฮกเกี้ยน

พิกัด: 13°43′30″N 100°31′40″E / 13.724937528305087°N 100.52773169408265°E / 13.724937528305087; 100.52773169408265
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุสานฮกเกี้ยน
亭山閩
สุสานฮกเกี้ยนในปี พ.ศ. 2564
แผนที่
ชื่ออื่นสุสานจีนฮกเกี้ยน ซอยสีลม 9, ป่าช้าจีนฮกเกี้ยน
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทสุสาน
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมจีน สถาปัตยกรรมไทย
ที่ตั้งเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
พิธีเปิดพ.ศ. 2437
เจ้าของสมาคมฮกเกี้ยนแห่งประเทศไทย
ข้อมูลทางเทคนิค
พื้นที่6,956 ตร.ม. (4.34 ไร่)[1]
เปิดทุกวัน เวลา 04.30 - 22.00 น.

สุสานฮกเกี้ยน หรือที่รู้จักกันในชื่อ สุสานจีนฮกเกี้ยน ซอยสีลม 9 (ตัวเต็ม: 亭山閩 อ่านในภาษาฮกเกี้ยนว่า "บั่นซั่นเต๋ง") เป็นสุสานสาธารณะของชาวฮกเกี้ยน และถือเป็น 1 ใน 3 สุสานสาธารณะจีนในกลุ่มย่านแยกเดโช ถนนสีลมที่ยังหลงเหลืออยู่ ประกอบด้วย สุสานฮกเกี้ยน สุสานจีนบาบ๋า และสุสานและฌาปนสถานสมาคมจีนแคะ ตั้งอยู่บนถนนซอยสีลม 9 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 4.34 ไร่ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2437[2] หรือประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันสุสานแห่งนี้อยู่ในการดูแลรักษาของสมาคมฮกเกี้ยนแห่งประเทศไทย

เดิมที่ตั้งสุสานแห่งนี้อยู่นอกเขตศูนย์กลางชุมชนของแรงงานชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร โดยย่านที่ประกอบด้วยแหล่งโกดังและขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือบริเวณเขตบางรักในปัจจุบัน ทางตอนใต้ของเขตพระนครตลอดช่วงแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุนี้ชาวจีนส่วนใหญ่จึงมาตั้งถิ่นอยู่อาศัยทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจำนวนมากโดยเฉพาะตลอดเส้นถนนเจริญกรุง[3] ในอดีตบริเวณสามแยกเดโชที่มีถนนเดโชตัดเชื่อมกับถนนสีลมประกอบด้วยสุสานถึง 13 แห่งทั้งสุสานเอกชนและสุสานสาธารณะ[4] ประกอบด้วยสุสานคริสต์นิกายคาทอลิก คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ สุสานแขก และสุสานจีนในหลายกลุ่มเชื้อสาย แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 6 แห่ง จึงถือเป็นกลุ่มย่านสุสานที่มีความหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

ปัจจุบันสุสานฮกเกี้ยนมีสภาพค่อนข้างรกร้าง ทางสมาคมฮกเกี้ยนแห่งประเทศไทยได้มีการปรับพื้นที่ส่วนกลางบริเวณทางเข้าให้เป็นที่จอดรถยนต์ โดยพบว่าในช่วงวันธรรมดามีรถยนต์เข้ามาจอดเป็นจำนวนมาก[4] นอกจากนี้ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 ทางสมาคมฮกเกี้ยนแห่งประเทศไทยมีแนวคิดที่จะย้ายสุสานไปยังจังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างอาคารสมาคมแห่งใหม่ในพื้นที่สุสานปัจจุบัน โดยจะมีการชดเชยเงินตอบแทนให้แก่ลูกหลานที่ยินยอม แต่เจ้าของหลุมศพภายในสุสานบางส่วนไม่เห็นด้วย[5][6] และยังคงสถานะของการเป็นสุสานจีนในปัจจุบัน

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. จิตติวสุรัตน์กหก, พรชัย. "แนวทางการออกแบบเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของชุมชนเมืองในเขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร". คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 5 August 2021.
  2. โรงเรียนประสาทวุฒิ. ประวัติโดยย่อของสมาคมฮกเกี้ยนแห่งประเทศไทย. เก็บถาวร 2022-07-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564
  3. นิตยสารผู้จัดการ. (2533). ฮวงจุ้ยของสุสานจีนที่ถนนสีลม. เก็บถาวร 2021-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564
  4. 4.0 4.1 อรุโณประโยชน์, ศุภณัฐ (2021). แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์สุสานจีนในเขตชั้นในกรุงเทพมหานคร. ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 125. สืบค้นเมื่อ 8 August 2022.
  5. Post Today (2560). ทายาทโวยขายสุสานหาเงิน-'สมาคมฮกเกี้ยน' ปัดแผนสร้างคอนโด. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564
  6. เข้มข่าวค่ำ. (2560)หลายตระกูลยังข้องใจย้ายสุสานชาวจีนฮกเกี้ยน : เขย่าข่าวเข้ม 08-09-60. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°43′30″N 100°31′40″E / 13.724937528305087°N 100.52773169408265°E / 13.724937528305087; 100.52773169408265