สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี | |
---|---|
สมเด็จพระนางนาฏบรมอัครราชเทวี[1] | |
พระอัครมเหสี | |
ดำรงพระยศ | 2 มกราคม พ.ศ. 2395 – 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395 (0 ปี 281 วัน) |
ถัดไป | พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ |
พระราชสมภพ | 21 ธันวาคม พ.ศ. 2377 |
สวรรคต | 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395 (17 ปี) |
พระราชสวามี | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระราชบุตร | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าโสมนัส |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระราชบิดา | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ |
พระราชมารดา | เจ้าจอมมารดางิ้ว |
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (21 ธันวาคม พ.ศ. 2377 — 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395) เป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับเจ้าจอมมารดางิ้ว[2] และเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียงพระองค์เดียวที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า
พระองค์ได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยยศขึ้นเป็นพระอัครมเหสีเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2395 และสวรรคตเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดโสมนัสราชวรวิหาร เพื่อพระราชอุทิศให้แก่พระอัครมเหสี
พระราชประวัติ
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ แรม 6 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย ฉศก จ.ศ. 1196 ตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2377[3] เมื่อแรกพระราชสมภพมีพระยศที่ หม่อมเจ้าโสมนัส เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับหม่อมงิ้ว จากตระกูลสุวรรณทัต[2] โดยพระบิดาเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบาง ส่วนหม่อมมารดาเป็นบุตรีของทองสุข กับทองจันทร์ ต่อมาพระชนนีได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าจอมมารดางิ้ว ด้วยเป็นขรัวยายของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์แรกในรัชกาลที่ 4[2]
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ สิ้นพระชนม์ด้วยด้วยพระโรคไข้ป่วง[4] เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2378 ขณะนั้นหม่อมเจ้าโสมนัสมีชันษาเพียงหกเดือน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาพระราชนัดดากำพร้าองค์นี้ยิ่งนัก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเสด็จจากวังพระบิดามาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ในพระบรมมหาราชวัง อย่างพระราชธิดาของพระองค์เอง หม่อมเจ้าโสมนัสทรงเจริญชันษาโดยพระอาทรทะนุถนอมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระโสทรเชษฐภคินีพระองค์เดียวของพระบิดา) ซึ่งต่อมาได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการตรีสัณทฆาฏ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2388 ขณะที่หม่อมเจ้าโสมนัสมีชันษาได้ 10 ปีเศษเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งทรงพระเมตตากรุณามากขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้หม่อมเจ้าหญิงโสมนัสเป็นผู้รับทรัพย์มรดกทั้งสิ้น ทั้งของพระบิดา และปิตุจฉาแต่เพียงองค์เดียว ทั้งทรงสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี นับเป็นพระราชนัดดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 3 ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า
พระองค์ได้เข้าพิธีโสกันต์เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2389 ขณะพระชันษาได้ 11 ปีเศษ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ แห่ใหญ่อย่างพระยศเจ้าฟ้า ทั้งทรงพระสิเนหา ยกย่อง เฉลิมพระเกียรติศักดิ์นานัปการให้ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแห่และการละเล่นต่าง ๆ เหมือนอย่างงานโสกันต์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เพียงแต่ไม่มีเขาไกรลาสและมยุรฉัตร[5]
เข้ารับราชการฝ่ายใน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ขณะนั้นพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีมีพระชันษา 16 ปี ไม่มีผู้อุปถัมภ์บำรุง พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางต่างสงสารและเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระผนวชมา 27 พรรษา ยังไม่มีพระอัครมเหสีผู้เป็นพระขัตติยนารี ซึ่งจะได้มีพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์ จึงพร้อมพระทัยและพร้อมใจกันให้มีความสัมพันธ์ระหว่างสองพระองค์ กระทั่งมีการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2394 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2395) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ในที่สมเด็จพระนางนาฏบรมอัครราชเทวี[1] ซึ่งถือเป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[6] ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษา 47 พรรษา ส่วนสมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี มีพระชนมายุ 17 พรรษา ต่อมามีพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี
ทรงพระครรภ์และทรงพระประชวร
ตั้งแต่ราชาภิเษกสมรส สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีเป็นพระอัครมเหสีร่วมพระราชหฤทัยของพระราชสวามีโดยสนิทสนมกลมเกลียว ทั้งในส่วนพระองค์และทางราชการแผ่นดิน พระองค์เสวยสุขสำราญพระหฤทัยมาตลอดเวลา 6 เดือน ซึ่งทรงพระครรภ์
ครั้นเดือนถัดมา พระองค์ทรงพระอาเจียนเนือง ๆ และทรงเบื่อพระกระยาหาร ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2395 พระอาการรุนแรงขึ้น ทรงปวดพระอุทร ทรงคลื่นเหียน ทรงพระอาเจียน และทรงปวดพระอุทรอยู่ 4-5 วัน ซึ่งแพทย์หลวงได้ถวายการรักษา
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พระองค์ทรงหายประชวร ทรงพระสำราญเป็นปกติได้ราว 40 วัน ครั้นพระครรภ์ล่วงเข้า 7 เดือน พระอาการปวดพระอุทรก็กลับมาเป็นอีก และทรงพระอาเจียนอยู่เรื่อย ๆ ในคืนวันที่ 9 สิงหาคม ครั้นรุ่งขึ้นก็มีพระอาการไข้ พระองค์ร้อนยิ่งขึ้น จนวันที่ 14 สิงหาคม พระอาการก็ทุเลาลงแต่ยังทรงอ่อนเพลียอยู่ เสวยพระกระยาหารไม่ค่อยได้ ครั้นคืนวันที่ 17 สิงหาคม พระองค์กลับล้มประชวรพระโรคอย่างเดิมอีกแต่ร้ายแรงกว่า ทรงคลื่นเหียนและทรงพระอาเจียนกำเริบตลอดทั้งวัน ซ้ำพระอุทรปั่นป่วนรวดร้าวจนคาดกันว่าน่าจะมีพระประสูติการแน่ ๆ แล้วก็เป็นจริงดังคาด
ประสูติการพระราชโอรส
วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม เวลา 13.00 น. สมเด็จพระนางเธอประสูติพระราชกุมารโดยเรียบร้อยและมีพระชนม์แต่พระกำลังอ่อน แต่พระกุมารทรงพระกันแสงโดยปกติ ในไม่ช้าพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ก็เสด็จมาและมาชื่นชมพระบารมี ถวายพระพรพระรัชทายาท ชาวประโคมก็ประโคมดุริยดนตรี เป่าสังข์กระทั่งแตร ย่ำฆ้องชัยนฤนาถ เพื่อสำแดงโสมนัสประโมทย์ในมหามงคลฤกษ์ เชิญพระราชโอรสบรรทม ณ พระแท่นแว่นฟ้าทองหุ้มด้วยพระกระโจมเศวตวัตถาสองพระแสงราชาวุธ พระสุด ดินสอ ฯลฯ ไว้ล้อมรอบตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ระแวดระวังพิทักษ์พระราชกุมารอย่างกวดขัน แต่หลังจากประสูติได้เพียงสามชั่วโมงเท่านั้น พระอัสสาสะปัสสาสะของพระราชกุมารก็หยุดลงเสียเฉย ๆ ในเวลา 16.00 น.
เจ้าพนักงานเชิญพระสรีระพระราชกุมารลงกุมภ์ขนันไปเสียเป็นการลับ มิให้สมเด็จพระนางเธอทรงทราบ ประหนึ่งว่าเชิญไปพิทักษ์ไว้ในห้องอื่น ด้วยแม้ประสูติพระราชกุมารแล้ว พระอาการของพระองค์ก็ยังคงเป็นอยู่อย่างเดิม ในคืนแรกพระอาการยิ่งกลับทรุดลง ในคืนถัดมาพระองค์ทรงพระอาเจียนจวนจะสวรรคต แพทย์หลวงได้ประชุมปรึกษากันเพื่อพยายามแก้ไขให้ทรงฟื้น แต่ไม่มีแพทย์ไหนสามารถแก้ไขให้ทรงหยุดพระอาเจียนได้แม้เพียงครึ่งชั่วโมง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงพยายามถวายยาฝรั่งเพียง 1 หรือ 2 หยด ฤทธิ์ยานั้นได้ระงับพระอาเจียนซึ่งสมเด็จพระนางเธอต้องทรงทรมานมาเกือบตลอดคืนนั้นและบรรทมหลับได้เมื่อราว 4.00 - 5.00 น. รุ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ พระญาติ และนางข้าหลวงได้ประชุมปรึกษากับแพทย์หลวงหลายคนเพื่อจะให้นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ แพทย์ชาวอเมริกันซึ่งอยู่ในกรุงสยามและทรงเชิญมาปรึกษาหารือด้วยนั้นเป็นผู้ถวายพระอภิบาล หมอบรัดเลย์ก็เริ่มถวายการรักษาตามวิธีหมอฝรั่งอย่างใหม่ ซึ่งหมอบรัดเลย์เพิ่งนำมาใช้ในกรุงสยาม ชาวสยามไม่ค่อยเชื่อนักแต่เห็นจำเป็นสมควรจะปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเธอเอง ตามคำแนะนำของหมอฝรั่งได้ให้นางข้าหลวงซึ่งรายล้อมพระองค์ขณะบรรทมเพลิงให้ออกเสีย เหลือไว้น้อยคนเฉพาะที่นิยมนับถือหมอฝรั่ง ตั้งแต่หมอฝรั่งถวายพระอภิบาลอย่างฝรั่งมา ดูเหมือนพระอาการไม่ทรงดีขึ้นเลย ยังคลื่นเหียน ทรงพระอาเจียน และทรงสะท้านไข้เป็นครั้งคราวอยู่ตลอด ไม่ระงับได้ขาดตลอดช่วงเวลา 7 - 8 วัน
กระทั่งวันที่ 28 สิงหาคม ซึ่งครบ 7 วันที่พระราชกุมารสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระราชกุมาร พระองค์และพระราชสวามีจึงพร้อมกันทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายมหัคฆภัณฑ์แด่พระสงฆ์พุทธชิโนรสที่มาชุมนุมและทรงโปรยทานบรรจุเงินตราสยามในผลมะนาวพระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในที่มาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในการบำเพ็ญทักษิณาทานุทิศนี้เป็นประเพณีการพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชกุมาร (ต่อมาออกพระนามว่าสมเด็จเจ้าฟ้าโสมนัส) แม้มีพระชนม์อยู่เพียงสามชั่วโมงก็ยังทรงได้รับพระเกียรติยศสมพระอิสริยศักดิ์
ตั้งแต่วันที่ 24 - 30 สิงหาคม พระอาการก็ทรุดลง ทรงพระอาเจียนเป็นสีดำ สีเขียว และสีเหลือง ซึ่งแพทย์หลวงระบุว่าเพราะพระปิตตะผสมกับสิ่งอื่นในพระอันตะอันพิการนั้นหลั่งไหล ไข้ซึ่งเคยทรงจับนั้นก็สะท้านรุนแรงมากขึ้นจนพระชีพจรเต้นถี่มาก หมอบรัดเลย์จึงกราบทูลอุทรณ์ต่อพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ขอให้เชิญเสด็จพระองค์ออกจากการบรรทมเพลิงอย่างธรรมเนียมไทย ให้หมอได้ถวายพระอภิบาลอย่างฝรั่งเต็มที่ตามพอใจทุกประการ ก็ได้พระราชทานพระราชานุญาตตามปรารถนา เมื่อถวายพระอภิบาลอย่างฝรั่งเต็มที่ ในชั้นแรกพระอาการดูเหมือนจะค่อยทุเลาลง หยุดคลื่นเหียน ไม่ทรงพระอาเจียน และไข้ก็ไม่ทรงจับ แต่ยังเสวยมิไม่ค่อยได้ ยังทรงอ่อนเพลียเป็นกำลัง ต่อมาพระอาการดีขึ้นเป็นลำดับ จนถึงวันที่ 11 กันยายน มีพระโศผะขึ้นที่พระบาท มีพระอติสารอาการปรากฏแก่แพทย์หลวง พระญาติ พระสหาย ข้าหลวงพากันตระหนกตกใจ ต่างปรึกษากันให้แพทย์หลวงลองถวายพระอภิบาลอย่างไทยอีก ความจริงพระองค์เองก็ไม่พอพระทัยที่เป็นหมอฝรั่ง ทรงเห็นว่าเป็นแขกบ้านค้านเมือง ทั้งวิธีถวายพระอภิบาลอย่างฝรั่ง ซึ่งถวายพระโอสถ มีหยดสุราลงในน้ำใสราว 1 - 2 ฉลองพระหัตถ์ช้อนให้เสวยบ่อย ๆ ทั้งถ้อยคำของหมอฝรั่งหรือคนไทยที่นับถือหมอก็ไม่น่าเชื่อถือ ด้วยหมอยอมรับว่ายังไม่เคยมีตัวอย่างคนไข้ที่เคยรักษามีอาการเหมือนพระองค์เลยสักคนเดียว เมื่อให้แพทย์ไทยถวายพระอภิบาลอย่างไทยได้สามวัน พระอาการได้ทรุดหนักลง ไม่มีแพทย์หลวงผู้ใดกล้ากราบบังคมทูลรับแก้ไขให้ทรงพระสำราญขึ้นได้ จึงรับสั่งให้หาหมอบรัดเลย์กลับมาถวายพระอภิบาลอีกดังเดิม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้วิธีรักษาสุดแต่ใจ เมื่อเวลาแพทย์สยามถวายพระอภิบาลนั้น พระอาเจียนเป็นสีดำ สีเหลือง และสีเขียวก็ยังมีอยู่เรื่อยไป ทั้งยอกเสียดในพระอุระประเทศก็ซ้ำแทรกมา วันหนึ่ง ๆ เป็นตั้ง 7 - 8 ครั้ง
ตั้งแต่ให้หมอบรัดเลย์กลับมาถวายอภิบาลอย่างลัทธิฝรั่งอย่างใหม่ ถึงวันที่ 16 กันยายน ดูเหมือนพระอาการทุเลาลงเล็กน้อย ด้วยไม่ค่อยทรงพระอาเจียนเป็นสีดำ สีเหลือง และสีเขียว ซึ่งคาดกันว่าพระปิตตะไหลลงในพระทรวงก็ห่างและน้อยกว่าวันก่อน ๆ ไข้ก็สงบ ต่างจากตอนที่แพทย์หลวงรักษา แต่ยังทรงอ่อนเพลีย ทรงปฏิเสธเสวยพระกระยาหารเพราะยังทรงพระอาเจียนอยู่เหมือนทุก ๆ วัน ไม่มีวันไหนที่ไม่ทรงพระอาเจียน แม้จะถวายพระโอสถไทย ฝรั่งขนานไหน ๆ ก็ระงับขาดไม่ได้ทั้งนั้น เวลาผ่านไปหลายคืนหมอบรัดเลย์ก็ไม่สามารถบรรเทาพระอาเจียนให้น้อยลงได้ กลับทรงพระอาเจียนบ่อยขึ้น พระอาการโดยรวมน่าวิตกเพราะพระฉวีที่พระพักตร์และพระองค์ก็เหลืองเห็นได้ชัด จึงต้องปล่อยให้แพทย์หลวงฝ่ายไทยถวายพระอภิบาลต่อไปดังเดิม แต่แพทย์หลวงทั้งสิ้นไม่มีใครกล้ารับฉลองพระเดชพระคุณแก้ไขให้ทรงหายหรือแม้จะให้บรรเทาได้ไหว โดยหมดวิชาและสติปัญญาจะประกอบพระโอสถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ป่าวประกาศจะพระราชทานบำเหน็จเงินตรา 2 หาบ หากผู้ใดสามารถรักษาให้พระอัครมเหสีที่ทรงพิศวาสให้ทรงพ้นจากพระอาการจวนสิ้นพระชนม์กลับทรงพระสบายปกติได้ดังเดิม
สวรรคต
ตั้งแต่พระอาการทรุดหนักลงในมือหมอบรัดเลย์ พระชีพจรก็เต้นเร็วมากขึ้น ถึงวันที่ 27 กันยายน จับเฟือนพระสติ มีหมอชาวบ้านชราผู้หนึ่งรับอาสาฉลองพระเดชพระคุณด้วยยาศักดิ์สิทธิ์จนสุดกำลังแต่ขอตรวจพระอาการก่อน ก็ได้พระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าและตรวจตรา แต่หมอชราเข้าใจพระโรคผิด อ้างว่าพระโรคอันบานปลายนั้นเป็นเพราะรักษาผิดคัมภีร์ครรภ์ทรักษา โดยพระองค์บรรทมเพลิงน้อยไป หมอชราสมัครจะรักษาด้วยยาศักดิ์สิทธิ์ให้ทรงหายเป็นปลิดทิ้ง หลังการยืนยันคำพูดอย่างมั่นคงของหมอชรานี้ สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีสวรรคตในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395 ราว 18.00 น. สิริพระชนมายุ 17 พรรษา ยังความโศกเศร้าเสียใจแก่เหล่าข้าราชบริพารยิ่งนัก
มีการถวายน้ำสรงพระศพและทรงเครื่องขัตติยวราภรณ์ศุกลัมตามพระราชประเพณี สมพระเกียรติยศพระอัครมเหสีอันสูงศักดิ์อย่างเต็มที่ ห่อด้วยกัปปาสิกะเศวตพัสตร์หลายชั้น แล้วเชิญลงพระลองทองและสวมพระชฎากษัตริย์เหนือพระศิโรเพฐน์ประกอบพระโกศทองแห่จากพระตำหนักพระอัครมเหสีในคืนนั้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานไว้เหนือพระแท่นแว่นฟ้าตรงที่ตั้งพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานอยู่ไตรรัตน์มาส คือ ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2394 จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2395 พระศพสมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีก็ประดิษฐานไว้โดยมหศักดิ์สมพระเกียรติยศอย่างสูงประดับล้อมรอบไปด้วยสรรพสิ่งอลงกตทั้งปวงที่เฉลิมพระอิสริยยศ กระทั่งพระราชทานเพลิง ซึ่งกินเวลาราว 4 - 5 เดือน เนื่องจากมีการสร้างพระเมรุมาศและประกอบการพระราชพิธีสมพระอิสริยศักดิ์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2395 (แบบปัจจุบันคือ พ.ศ. 2396)
เมื่อสมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีสวรรคตแล้ว บรรดาแพทย์ไทย จีน และอเมริกา ลงความเห็นกันว่ามูลเหตุพระโรคซึ่งยากที่จะบำบัดอย่างยิ่งและถึงทำลายพระชนม์ชีพในที่สุดนั้นได้ปรากฏขึ้นโดยลับ ๆ มาแต่ก่อนราชาภิเษกสมรส ด้วยทรงอวบพระองค์ผิดธรรมดาสตรีในวัยเดียวกัน และกลับซูบพระวรกายลงทันที ทั้งทรงพระกาสะตั้งแต่แรกเริ่มประชวร ภายหลังมาปรากฏขึ้น แต่วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2395 ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงกำพร้าพระบิดาและได้มาเป็นพระราชธิดาบุญธรรมของพระมหากษัตริย์โดยเดชะพระมหากรุณาธิคุณ พระองค์จึงเป็นผู้รับพระมรดก ทั้งสวิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์ที่เป็นของพระชนกและพระปิตุจฉา พระองค์ไม่มีพระภาดาหรือพระภคินีร่วมหรือต่างพระชนนีแม้แต่พระองค์เดียว จึงไม่มีทายาทผู้รับพระมรดก พระมรดกจำต้องตกเข้าพระคลังหลวง เมื่อเสร็จพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตกลงพระราชหฤทัยว่าพระราชสมบัติของพระอัครมเหสีส่วนหนึ่งเป็นเงินจำนวนมากจะจ่ายเพื่อเพิ่มพูนทักษิณกุศล บูรณะสังฆาวาสของพระชนก และพระปิตุจฉาของพระอัครมเหสี (วัดเทพธิดารามวรวิหาร) แต่อีกส่วนหนึ่งจะจ่ายสร้างพระอารามใหม่ที่เขตกำแพงเมืองใหม่ ในพระนามาภิไธยของพระอัครมเหสีว่า “วัดโสมนัสวิหาร” (วัดโสมนัสราชวรวิหาร) และที่เหลือนอกจากนั้นจะจ่ายบุรณะปฏิสังขรณ์พระอาราม อันจำเป็นต้องช่วยเหลือเพื่อสาธารณประโยชน์
หลังการสวรรคตของสมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี เจ้าจอมมารดางิ้ว พระชนนีได้ออกจากพระบรมมหาราชวังไปพำนักอยู่กับพระยาราชภักดีศรีรัตนสมบัติบวรพิริยพาหะ (ทองคำ) ผู้เป็นพี่ชาย[2]
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการให้ออกพระนามาภิไธยของพระองค์ว่า "สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี" ตามที่เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 4 หากแต่มิได้เป็นพระราชชนนีในพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อ ๆ มา อนึ่งสมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี มีศักดิ์เป็นญาติกับเจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 4[7] พระมารดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
พระราชกรณียกิจ
ในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่แรกยังไม่มีละครหลวง สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีทรงฝึกหัดคณะละครส่วนพระองค์ และทรงฟื้นฟูละครหลวงขึ้น[8] เนื่องจากละครหลวงเลิกเสียเมื่อรัชกาลที่ 3 เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดละคร แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรังเกียจการเล่นละคร สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีจึงทรงหัดละครเด็กผู้หญิง ในพระบรมมหาราชวังขึ้นชุดหนึ่ง แต่ยังไม่ทันจะได้ออกโรง พระองค์ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อนเมื่อปี พ.ศ. 2395 ครั้นถึงปี พ.ศ. 2396 มีช้างเผือกแรกมาคู่พระบารมี คือพระวิมลรัตนกิริณี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงปรารภถึงการที่เคยมีละครหลวงสมโภชช้างเผือก เมื่อในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงโปรดให้รวมละครของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ฝึกหัดเป็นละครหลวง จึงทันออกโรงเล่นสมโภชช้างเผือกที่ 2 คือพระวิสุทธรัตนกิริณี เมื่อปี พ.ศ. 2397[9] จึงได้มีละครหลวงขึ้นในรัชกาลที่ 4 แต่นั้นมา โดยคณะละครของพระองค์มีละครหญิงที่สำคัญเช่นเจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 4[10] ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ 4)[11] ซึ่งได้กลายมาเป็นครูละครที่สำคัญในเวลาต่อมา
พระอิสริยยศและพระเกียรติยศ
ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี | |
---|---|
การทูล | ใต้ฝ่าละอองพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ |
พระอิสริยยศ
- หม่อมเจ้าโสมนัส ใน พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ (21 ธันวาคม พ.ศ. 2377 - พ.ศ. 2388[12])
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (พ.ศ. 2388 - 2 มกราคม พ.ศ. 2395)
- สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (2 มกราคม พ.ศ. 2395 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395)
- สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (สมัยรัชกาลที่ 6)
พงศาวลี
พงศาวลีของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี[2][13] | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ และสายไหม จบกลศึก (บรรณาธิการ) (2555). ราชาศัพท์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. p. 272.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 สมบัติ พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 76
- ↑ กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, พ.ศ. 2547. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-9527-87-9
- ↑ ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:บำรุงสาสน์. 2530, หน้า 41
- ↑ สมบัติ พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บำรุงสาสน์. 2530, หน้า 41
- ↑ วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2542. 359 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7377-29-2
- ↑ ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 313
- ↑ คนไกล วงนอก. วัดโสมนัสฯ “ทัชมาฮาล” เมืองไทย ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้าง.ศิลปวัฒนธรรม. 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
- ↑ ตำนานละครอิเหนา ภาคที่-๓-ว่าด้วยตำนานละคร ตำนานละครครั้งรัชกาลที่-๔. หอสมุดวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
- ↑ มณิศา วศินารมณ์. นาฏยประดิษฐ์ของเจ้าจอมมารดาเขียน. กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549. หน้า 31
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. สี่แผ่นดินกับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 5:2559. 254 หน้า. หน้า 108. ISBN 9789740204367
- ↑ พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี. โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556
- ↑ ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 274