เจ้าจอมมารดาพึ่ง ในรัชกาลที่ 4
เจ้าจอมมารดาพึ่ง ในรัชกาลที่ 4 | |
---|---|
เกิด | เต่า พ.ศ. 2375 |
เสียชีวิต | 9 มีนาคม พ.ศ. 2433 (58 ปี) |
คู่สมรส | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394–2411) |
บุตร | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณาวัฏ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ |
บิดามารดา |
|
ญาติ | เจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 4 (น้องสาว) เจ้าจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 4 (ญาติ) ท้าวสมศักดิ์ (อึ่ง) (ญาติ) |
เจ้าจอมมารดาพึ่ง (หรือ ผึ้ง) ในรัชกาลที่ 4 (นามเดิม เต่า,[1]: 51 [2]: 293 [3]: 1 ถึงแก่อนิจกรรม 9 มีนาคม พ.ศ. 2433)[1]: 51 [2]: 294 เป็นธิดาของพระยาราชสงคราม (อินทร์) ต้นสกุลอินทรวิมล[4]: 2 และเป็นบาทบริจาริกาตำแหน่งพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]: 51 [3]: 1 ประสูติการพระราชโอรสสามพระองค์ ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณาวัฏ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ตามลำดับ
ประวัติ
[แก้]ชีวิตตอนต้นและครอบครัว
[แก้]เจ้าจอมมารดาพึ่ง มีนามเดิมว่า เต่า[1]: 51 [2]: 293 [3]: 1 เกิดเมื่อราว พ.ศ. 2375 โดยประมาณ เกิดแต่สกุลขุนนางมาแต่กรุงเก่า เธอเป็นบุตรคนที่หนึ่งจากทั้งหมดเจ็ดคนของพระยาราชสงคราม (อินทร์)[4]: 4–5 ต้นสกุลอินทรวิมล[4]: 2 เจ้าจอมมารดาพึ่งมีน้องอีกหกคน คือ ตาด (เป็นที่คุณหญิงสิริรัตนมนตรี), กรุด (เป็นที่พระยาราชสงคราม), โหมด (เป็นบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 4), หุ่น, แย้ม และเผื่อน ตามลำดับ[4]: 4–5 มีลูกผู้พี่คนหนึ่งคือ แพ รับราชการเป็นบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 4 เช่นกัน[4]: 3
หนังสือ ลำดับเชื้อสาย ของคุณหญิงตาด สิริรัตน์มนตรี (หงษ์ สุจริตกุล) กับสกุลธรรมสโรช สกุลอินทรวิมล และสกุลอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน (2489) ระบุว่าพระยาราชสงครามบิดาของเจ้าจอมมารดาพึ่งเป็นหลานตาของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ทองดี) ต้นสกุลธรรมสโรช ซึ่งเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีเป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยราชา ขุนนางมาแต่กรุงเก่า[4]: 1 แม้จะแยกสายสกุลออกมาใหม่แต่ก็ถือว่าเป็นเทือกเถาของสกุลธรรมสโรช หากแยกไปตามสาขาก็ถือว่าเจ้าจอมมารดาพึ่งอยู่ในสายของสกุลอินทรวิมล[4]: 3–4 ในเอกสารฉบับเดียวกันระบุว่าปู่ของเจ้าจอมมารดาพึ่ง คือ หม่อมก้อนแก้ว เป็นพระโอรสของพระองค์เจ้าโกเมศ ซึ่งระบุแต่เพียงว่าเป็นเจ้านายจากราชวงศ์บ้านพลูหลวง[4]: 3 ใน บัญชีรายพระนามพระราชวงศ์และข้าราชการสยามที่พม่าว่าจับไปได้จากกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงเสียในปี พ.ศ. 2310 ระบุรายพระนามเจ้านายที่ถูกกวาดไปเมืองพม่า มีพระองค์หนึ่งมีชื่อใกล้เคียงกับพระองค์เจ้าโกเมศ คือ พระองค์เจ้าก้อนเมฆ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[5]: 1135 ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นพระองค์เดียวกันหรือไม่
ขณะที่เครือญาติฝ่ายมารดาไม่ปรากฏข้อมูลพื้นเพของครอบครัวหรือชื่อเสียงเรียงนาม ทราบแต่เพียงว่า เจ้าจอมมารดาพึ่งมีป้าคนหนึ่งชื่อ น้อย[6] เข้าใจว่าเป็นญาติฝั่งมารดา เพราะไม่ปรากฏนามของคนชื่อน้อยในลำดับเครือญาติของสกุลธรรมสโรช[4]: 3
รับราชการฝ่ายใน
[แก้]ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาราชสงครามได้ถวายตัวเจ้าจอมมารดาพึ่งเข้าราชสำนักตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ได้รับเบี้ยหวัดปีละ 5 ตำลึง ครั้นเมื่ออายุได้ 15 ปี เป็นเกณฑ์เรียนเลข พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เติมเบี้ยหวัดเป็นปีละ 15 ตำลึง ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้จารหนังสือพระไตรปิฎก จึงเติมเบี้ยหวัดให้อีกเป็นปีละ 1 ชั่ง 10 ตำลึง[2]: 293
หลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติและทรงรับเจ้าจอมมารดาพึ่งเป็นบาทบริจาริกา ตำแหน่งพระสนมเอก[1]: 51 [3]: 1 พระราชทานเครื่องยศ ได้แก่ พานทองคำ หีบทองลงยา กระโถนทองคำ กาทองคำ และพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 12 ชั่ง[2]: 293 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัยในตัวเจ้าจอมมารดาพึ่งเป็นอันมาก โปรดเรียกด้วยความเสน่หาว่า "เต่าเอ๋ย" หรือ "เต่าของข้า" ปรากฏความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่ง ความว่า "เมียรักรักก็มาด้วยข้าหมด มีแต่เต่าข้าก็ไว้ใจว่าไม่มีชู้แล้ว ข้าเชื่อว่ารักข้าจริง ๆ"[2]: 293–294 และเตือนมิให้เจ้าจอมมารดาพึ่งไปข้องเกี่ยวกับกลุ่มคนที่พระองค์มิต้องพระราชอัธยาศัย ความว่า "ข้าได้ยินว่าคนพวกเจ้าตลับ เจ้าครอกหอไปด้วย พวกนั้นเป็นพวกใกล้เคียงกับยายน้อยป้าของเต่า เต่าอย่าไปไถ่ถามว่ากล่าวอะไรวุ่นวาย มันจะด่าให้อายเขา มันไม่เจียมตัวว่าชั่ว มันยังถือตัวเป็นเมียข้า มันจึงตามมาล้อต่อหน้าเมียใหม่ ๆ สาว ๆ เป็นเจ้าเป็นนาย เมื่อจับมันร้องว่าจะไปตามเสด็จกรุงเก่าด้วย"[6]
เจ้าจอมมารดาพึ่งมีพระองค์เจ้าสามพระองค์ คือ[2]: 294
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณาวัฏ วรขัติยราชกุมาร (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2395 – พ.ศ. 2396)[1]: 51 [ก] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของโอรสพระองค์นี้ไว้ว่า "อาการของลูกเต่านั้น ข้าได้ไปหาฤๅกับหมออเมริกันเขา จะให้เขารักษา เขาว่าโรคนั้นเกิดมาแก่ลูกนั้นโดยธรรมดา ช่องลมหายใจของเด็กนั้นห่างทั้งสองข้าง หัวใจจึงชักเลือดร้ายให้ปะปนกับดำแลเขียวไป รักษายากเขาไม่รับรักษา ข้าก็เสียดายด้วยเปนลูกผู้ชาย แล้วสงสารเต่าหนักหนา กลัวจะเสียใจนัก อย่าเสียใจเลย เปนธรรมดาของเด็กนั้นเอง ลางคนเขาว่ามันสำลักน้ำค่ำ เปนลมอัคมูขี เปนลมตัดฯ หนังสืออังกฤษน่าหลังนั้นเขาเขียนบอกมา."[3]: 1
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระนามเดิม พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล สกลศุภลักษณ[3]: 7 (29 ตุลาคม พ.ศ. 2398 – 11 มีนาคม พ.ศ. 2452) เป็นต้นราชสกุลคัคณางค์ ณ อยุธยา
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระนามเดิม พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช (29 ธันวาคม พ.ศ. 2400 – 3 เมษายน พ.ศ. 2465) เป็นต้นราชสกุลชุมพล ณ อยุธยา
ปัจฉิมวัยและถึงแก่อนิจกรรม
[แก้]หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าจอมมารดาพึ่งยังรับราชการอยู่ในราชสำนักดังเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศใหม่แก่เจ้าจอมมารดาพึ่ง คือ หีบทองคำใหญ่ประดับพลอย ทองคำมีฝาประดับตราจุลจอมเกล้า กระโถนทองคำ และพระราชทานเบี้ยหวัดให้ปีละ 3 ชั่ง[2]: 293
เจ้าจอมมารดาพึ่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2433 สิริอายุ 58 ปี[1]: 51 [2]: 294
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของเจ้าจอมมารดาพึ่ง ในรัชกาลที่ 4 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
เชิงอรรถ
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]ก พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2473) ระบุว่า พระองค์เจ้าทักษิณาวัฏสิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษา 1 เดือน[3]: 1
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2025-02-22.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 ส.พลายน้อย (2554). พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. กรุงเทพฯ: ฐานบุ๊คส์.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ (2473). พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 4.8 ลำดับเชื้อสาย ของคุณหญิงตาด สิริรัตน์มนตรี (หงษ์ สุจริตกุล) กับสกุลธรรมสโรช สกุลอินทรวิมล และสกุลอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน. พระนคร: พระจันทร์. 2489.
- ↑ นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ (2550). พระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- ↑ 6.0 6.1 "เจ้าจอมมารดาน้อย ในรัชกาลที่ 4 เชื้อสายพระเจ้าตาก ห้าวจนรัชกาลที่ 4 ทรงเกือบสั่งยิง-ตัดหัวตามพ่อ". ศิลปวัฒนธรรม. 20 ตุลาคม 2567. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2568.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)