ข้ามไปเนื้อหา

ประวัติศาสตร์อัฟกานิสถาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริเวณที่เป็นประเทศอัฟกานิสถานในอดีตในยุคเปอร์เซียเรืองอำนาจ (559–330ก่อน ค.ศ.)
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้เข้ามายึดครองจักรวรรดิเปอร์เซียและนำอิทธิพลของกรีกเข้ามา

ประวัติศาสตร์อัฟกานิสถาน เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณรอยต่อระหว่างเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก และเอเชียใต้ ทำให้ในประวัติศาสตร์ของอัฟกานิสถานเกี่ยวข้องกับการอพยพของผุ้คนกลุ่มต่างๆ เข้ามาในบริเวณนี้ ชนกลุ่มใหญ่ในอัฟกานิสถานเป็นชนเชื้อสายอิหร่านที่พูดภาษากลุ่มอิหร่าน เช่น ภาษาปาทาน ภาษาดารีเปอร์เซีย อิทธิพลของชาวอาหรับที่เข้ามาพร้อมกับศาสนาอิสลามมีผลต่ออัฟกานิสถานยุคใหม่ นอกจากนั้น อัฟกานิสถานในยุคโบราณยังได้รับอิทธิพลจากกรีซ เอเชียกลาง ชาวปะกัน ชาวพุทธในอินเดีย และชาวฮินดู รวมทั้งผู้นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์ที่เข้ามาในบริเวณนี้

หลังจากสิ้นสุดยุคจักรวรรดิ อัฟกานิสถานปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2290 – 2516 ในพุทธศตวรรษที่ 24 อัฟกานิสถานพบกับความยุ่งยากที่เกิดขึ้นจากการแผ่อำนาจของจักรวรรดินิยมอังกฤษและรัสเซีย ในด้านสังคมถือว่าศาสนาอิสลามฝังรากอย่างมั่นคงในอัฟกานิสถาน การรุกรานของมองโกลนำโดยเจงกีสข่านไม่อาจเปลี่ยนแปลงศรัทธาของชาวอัฟกันได้ ในที่สุดชาวมองโกลส่วนใหญ่กลายเป็นมุสลิมไปด้วย

ยุคก่อนศาสนาอิสลาม (ก่อน พ.ศ. 1194)

[แก้]

ประวัติศาสตร์อัฟกานิสถานก่อนศาสนาอิสลามเริ่มด้วยการเข้ามาของชาวอารยันเมื่อ 1,457 ปีก่อนพุทธศักราช ตามมาด้วยชาวเปอร์เซีย ชาวเมเดีย ชาวกรีก ชาวเมารยะและชาวแบกเทรีย ราชวงศ์เมารยะในอินเดียแผ่อำนาจเข้าควบคุมอัฟกานิสถานตอนใต้รวมทั้งกรุงคาบูลและกันดะฮาร์ ราชวงศ์นี้ปกครองอยู่ได้ 100 – 120 ปี มีการเผยแพร่ศาสนาพุทธเข้ามาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

ในสมัยราชวงศ์กุษาณ อัฟกานิสถานเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและการศึกษา หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ยุคที่อยู่ใต้อิทธิพลของเปอร์เซีย จนกระทั่งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชปราบจักรวรรดิเปอร์เซียลงได้เมื่อ พ.ศ. 872 พระองค์ได้ยกทัพมาถึงดินแดนที่เป็นประเทศอัฟกานิสถานปัจจุบันเพื่อเข้าตีแบกเทรีย และยังรวมอยู่กับเปอร์เซียจนถึงช่วงการรุกรานของชาวเติร์กเมื่อพุทธศตวรรษที่ 15

การเผยแพร่และอิทธิพลของศาสนาอิสลาม (พ.ศ. 1185–2290)

[แก้]

ชาวอาหรับแผ่อิทธิพลมาถึงประเทศอัฟกานิสถานพร้อมกับนำศาสนาอิสลามเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 1185 ก่อนหน้านั้นดินแดนอัฟกานิสถานอยู่ภายใต้อิทธิพลของราชวงศ์ถัง อิทธิพลอาหรับ-เปอร์เซียครอบงำอัฟกานิสถานจนถึงยุคจักรวรรดิคาซนาซิดเมื่อ พ.ศ. 1541 มุดแห่งกาซนีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในยุคนี้และย้ายศูนย์กลางมาอยู่ที่กัซนี ราชวงศ์คาซนาวิดสิ้นอำนาจเมื่อ พ.ศ. 1689 โดยพ่ายแพ้ต่อคูริดส์ คาซนาวิดข่านยังคงมีอำนาจในกัซนีจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 เจ้าชายหลายองค์และเซลจุกเติร์กเข้ามามีอำนาจในส่วนต่างๆของประเทศ จนกระทั่ง ชาห์มูฮัมหมัดที่ 2 แห่งจักรวรรดิควาเรสมิดแห่งเปอร์เซียขยายอำนาจเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 1748 ต่อมา พ.ศ. 1762 อัฟกานิสถานถูกมองโกลยึดครอง

การรุกรานของเจงกีสข่านทำให้พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายมาก เมื่อเจงกีสข่านถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 1767 ดินแดนนี้จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของติมูรลัง ทายาทของเจงกีสข่าน ซึ่งรวมอัฟกานิสถานเข้าในจักรวรรดิเอเชียของเขา บาบุร ทายาทของติมูรซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งจักรวรรดิโมกุลได้สถาปนากรุงคาบูลเป็นเมืองหลวงของอัฟกานิสถาน

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 – 23 อัฟกานิสถานถูกแบ่งแยกเป็นหลายส่วน ทางเหนืออยู่ภายใต้การควบคุมของอุซเบก ทางตะวันตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซาฟาวิด ทางตะวันออกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโมกุลและชาวปาทานท้องถิ่น เมื่อ พ.ศ. 2252 ชาวปาทานเข้ายึดดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซาฟาวิดและได้ครอบครองดินแดนอิสฟาฮานของอิหร่านในช่วง พ.ศ. 2262 – 2272

นาดิร ชาห์แห่งเปอร์เซีย ยึดดินแดนคืนได้เมื่อ พ.ศ. 2272 ต่อมาใน พ.ศ. 2281 นาดิร ชาห์ เข้ายึดครอง กันดะฮาร์ กัซนี คาบูลและลาฮอร์ ได้ภายในปีเดียวกัน หลังจากนาดิร ชาห์สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2290 ดุรรานี ชาวปาทาน เข้ายึดครองดินแดนเหล่านี้กลับมาเป็นของอัฟกานิสถานได้อีก

จักรวรรดิดุรรานี (พ.ศ. 2290–2361)

[แก้]

อาห์เหม็ด ชาห์ ดุรรานี ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิดุรรานีขึ้นครองอำนาจเมื่อพ.ศ. 2290 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กันดาฮาร์ อาเหม็ด ชาห์ ซึ่งเป็นชาวปาทานจากเผ่าอับดาลีได้รับเลือกเป็นกษัตริย์โดยสภาชนเผ่า (โลยา จิรกา) หลังจากนาดิรชาห์เสียชีวิต อาเหม็ด ชาห์ได้รวบรวมประเทศอัฟกานิสถานที่แยกเป็นส่วนๆรวมเข้าด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง โดยเขตการปกครองเริ่มจากมัสอัดทางตะวันตกไปถึงแคชเมียร์และเดลฮีทางตะวันออก และจากแม่น้ำอมูทางเหนือไปจนถึงทะเลอาระเบียทางใต้ ถือว่าวงศ์ดุรรานีมีอำนาจในอัฟกานิสถานตั้งแต่ครั้งนั้นจนถึงพ.ศ. 2521 ยกเว้นช่วงสั้นๆ 9เดือน เมื่อ พ.ศ. 2472 โดยผู้มีอำนาจหลัง พ.ศ. 2321 มาจากเผ่าโมฮัมเหม็ด ไซ.[1][2][3][4][5][6][7]

อิทธิพลของชาติตะวันตก (พ.ศ. 2369–2462)

[แก้]

ในสมัยที่สหราชอาณาจักร และ จักรรวรรดิรัสเซีย ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในอัฟกานิสถานนั้น โคสต์ โมฮัมเหม็ด ข่าน ครองอำนาจอยู่ที่กรุงคาบูล การแย่งชิงอำนาจระหว่างของทั้งสองชาติอังกฤษรัสเซีย หรือ"เกมที่ยิ่งใหญ่" ส่งผลให้กองทัพบริเตนทำสงครามกับอัฟกานิสถาน 2 ครั้ง เพื่อลดทอนอิทธิพลของกองทัพจักรวรรดิรัสเซียไม่ให้ยึดครองอัฟกานิสถานไปเสียก่อน

อิทธิพลที่เพิ่มสูงขึ้นของเปอร์เซียในอัฟกานิสถานนำไปสู่การโจมตีที่เฮรัตเมื่อ พ.ศ. 2380 - 2381 ซึ่งเป็นการสู้รบระหว่างกองทัพบริเตนกับชาวอัฟกันและมีการปิดล้อมเฮรัตโดยฝ่ายบริเตน อันเป็นชนวนเหตุของสงครามอังกฤษ-อัฟกานิสถานอีก 2 ครั้ง สงครามครั้งแรก (พ.ศ. 2382 - 2385) กองทัพบริเตนเป็นฝ่ายแพ้ สูญเสียทหารมาก แต่เข้ายึดครองอัฟกานิสถานไม่ได้ สงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2421 - 2423) เกิดขึ้นเมื่ออามีร ชีร อาลี ปฏิเสธการยอมรับอำนาจของสหราชอาณาจักรเหนือกรุงคาบูล ผลของความขัดแย้งนี้ทำให้ อามีร อับดุรเราะห์มาน ขึ้นเป็นกษัตริย์ของอัฟกานิสถาน ระหว่าง พ.ศ. 2423 - 2454 ในยุคนี้เป็นยุคที่ทั้งสองชาติทำความตกลงเรื่องพรมแดนกับอัฟกานิสถาน จนกลายเป็นพรมแดนในปัจจุบัน นอกจากนั้น หลังจากสงครามครั้งที่ 2 อังกฤษยังเข้ามาควบคุมกิจการต่างประเทศของอัฟกานิสถาน

อัฟกานิสถานเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ว่ากลุ่มต่อต้านบริเตนในประเทศจะสนับสนุนจักรวรรดิเยอรมันและมีการก่อการกบฏตามแนวพรมแดนกับบริติชราช การวางตัวเป็นกลางของกษัตริย์ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนเท่าที่ควร ฮาบิบุลลอห์ บุตรของอับดุรเราะห์มานถูกลอบสังหารเมื่อ พ.ศ. 2462 ซึ่งอาจเป็นฝีมือของกลุ่มต่อต้านบริเตน บุตรคนที่ 3 คือ อมานุลเลาะห์เข้าควบคุมกิจการต่างประเทศของอัฟกานิสถานและประกาศสงครามครั้งที่ 3 ด้วยการโจมตีกองทัพบริเตนในปีเดียวกัน ผลของสงครามทำให้สหราชอาณาจักรยอมยกเลิกการควบคุมกิจการต่างประเทศของอัฟกานิสถานเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2462 ชาวอัฟกันจึงเฉลิมฉลองวันที่ 19 สิงหาคมเป็นวันชาติ

การปฏิรูปของอามานุลลอห์ ข่าน และสงครามประชาชน (พ.ศ. 2462–2472)

[แก้]

กษัตริย์อามานุลลอห์มีความประสงค์จะปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย พระองค์ได้ไปเยือนยุโรปและตุรกีเมื่อ พ.ศ. 2470 ทรงสนับสนุนการศึกษาของสตรี และจัดให้มีโรงเรียนสหศึกษา การปฏิรูปของอามานุลลอห์ไม่สำเร็จ และไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายผู้นำศาสนาในประเทศ ในที่สุดพระองค์ต้องสละราชสมบัติเมื่อกรุงคาบูลตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฮาบิบุลลอห์ กาลากานี

สมัยนาดีร ชาห์ และ ซาอีร ชาห์ (พ.ศ. 2472–2516)

[แก้]

เจ้าชายโมฮัมหมัด นาดีร ข่าน ญาติของพระเจ้าอมานุลเลาะห์เข้ายึดอำนาจและฆ่าฮาบิบุลลอห์ กาลากานี ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน ชนเผ่าปาทานเสนอให้นาดีรข่านขึ้นเป็นกษัตริย์ เขาพยายามปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย แต่ในที่สุดก็ถูกลอบสังหารโดยนักศึกษาในกรุงคาบูลเมื่อ พ.ศ. 2476

โมฮัมหมัด ซาฮีร ชาห์ บุตรชายวัย 19 ปีของนาดีร ชาห์ ขึ้นเป็นกษัตริย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2476 – 2516 โดยในช่วงแรกจนถึง พ.ศ. 2489 ลุงของพระองค์คือ โมฮัมหมัด ฮาซัม ข่านเป็นผู้สำเร็จราชการและนายกรัฐมนตรี ต่อมา พ.ศ. 2489 ลุงของซาฮีร ชาห์อีกคนคือ ซารดาร ชาห์ มาห์มุด ข่าน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งเขาได้เริ่มให้เสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น พ.ศ. 2496 โมฮัมเหม็ด ดาวูด ข่าน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เขามีความใกล้ชิดกับโซเวียตและปากีสถาน ความขัดแย้งกับปากีสถานใน พ.ศ. 2506 ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศจนต้องลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้น ซาฮีร ชาห์เข้ามามีบทบาทในการบริหารมากขึ้น

พ.ศ. 2507 ซาฮีร ชาห์ สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในบางส่วนของประเทศซึ่งเป็นการเตรียมการสำหรับประชาธิปไตย ในช่วงนี้เกิดพรรคการเมืองมากมายรวมทั้งพรรคประชาธิปไตยประชาชนอัฟกานิสถาน (PDPA) ซึ่งมีความใกล้ชิดกับโซเวียต

เมื่อ พ.ศ. 2510 พรรคคอมมิวนิสต์อัฟกานิสถานแบ่งออกเป็นสองส่วนคือพรรคคัลก์ นำโดยนูร์ มูฮัมหมัด ตะรากี และฮะฟีซอลลาห์ อะมีน ที่สนับสนุนโดยหน่วยทหารกับส่วนปาโรฮัม ที่นำโดยบาบรัค คาร์มาล ทั้งสองส่วนพยายามแย่งชิงอำนาจจากราชวงศ์ดุรรานี

สาธารณรัฐอัฟกานิสถานของดาวูด (พ.ศ. 2516–2521)

[แก้]

อดีตนายกรัฐมนตรี โมฮัมเหม็ด ดาวูด ข่าน ปฏิวัติด้วยกำลังทหารเมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 ซาฮีร ชาห์ลี้ภัยไปยังประเทศอิตาลี ดาอูดประกาศล้มเลิกราชวงศ์และตั้งสาธารณรัฐอัฟกานิสถาน โดยตัวเขาเองเป็นประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีคนแรก

ต่อมา 21 เมษายน พ.ศ. 2521 พรรคคอมมิวนิสต์อัฟกานิสถานทำการปฏิวัตินองเลือดล้มล้างรัฐบาลของดาอูด ดาอูดและครอบครัวถูกฆ่า นูร์ มูฮัมหมัด ตะรากี เลขาธิการทั่วไปของพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นเป็นประธานของสภาปฏิวัติและนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยอัฟกานิสถานที่ได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต

การรุกรานของโซเวียต (พ.ศ. 2521–2535)

[แก้]

พรรคคอมมิวนิสต์พยายามปฏิรูปประเทศตามแบบลัทธิคอมมิวนิสต์ การปฏิบัติตนตามหลักศาสนาถูกสั่งห้าม พรรคคอมมิวนิสต์เชิญโซเวียตเข้ามีส่วนร่วมในการปรับปรุงประเทศ เช่นสร้างถนน โรงเรียน โรงพยาบาล และเหมืองแร่ ภายใต้อิทธิพลของโซเวียต มีการตัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อต่อต้านโซเวียตโดยใช้ความรุนแรง รัฐบาลพยายามปราบด้วยความรุนแรงแต่ไม่สำเร็จ

กลุ่มเหล่านี้เป็นที่รู้จักในชื่อมุญาฮิดีนหรือนักรบมุสลิมผู้ศักดิ์สิทธิ์ พ.ศ. 2522 เกิดการโจมตีจากกลุ่มต่อต้านไปทั่วอัฟกานิสถาน โซเวียตส่งกองทหารเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลคอมมิวนิสต์ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2522 กองทัพโซเวียตบุกถึงกรุงคาบูล ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการยึดครองอัฟกานิสถานและทำให้เกิดสงครามต่อต้านโซเวียตตามมา สงครามนี้ยุติลงในพ.ศ. 2532 หลังจากโซเวียตถอนทหารออกไปเมื่อ พ.ศ. 2531

ภายในช่วง 9 ปีที่โซเวียตเข้ายึดครองอัฟกานิสถาน กลุ่มมุญาฮิดีนก่อกบฏต่อต้านโซเวียต โดยกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบียและปากีสถาน และมีนักรบมุสลิมจากต่างชาติเข้าร่วม

ในกลุ่มคนต่างชาติเหล่านี้ หนึ่งในนั้นคืออุซามะฮ์ บิน ลาดิน ผู้ซึ่งเข้าไปฝึกฝนมุญาฮิดีนและส่งมอบอาวุธให้ ในพ.ศ. 2531 บิน ลาดิน แตกออกจากกลุ่ม Maktab al-khidamat เดิม ไปตั้งกลุ่มใหม่ของตนคืออัลกออิดะฮ์ เพื่อต่อต้านโซเวียตและร่วมมือกับกองกำลังมุสลิมทั่วโลก โซเวียตถอนทหารออกหมดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 แต่ยังคงช่วยเหลือรัฐบาลของโมฮัมหมัด นาญิบุลลอฮ์ต่อไป ความช่วยเหลือจากสหรัฐและซาอุฯ ให้กับมุญาฮิดีนยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสหภาพโซเวียตล่มสลาย รัฐบาลของนาญิบุลลอฮ์จึงล้มลงเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2535 อับดุลซาอิด ดอสตุม และอาหมัด ชาห์ มาซูด เข้าครอบครองกรุงคาบูลและจัดตั้งรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน

อัฟกานิสถาน (พ.ศ. 2535–ปัจจุบัน)

[แก้]
ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช และประธานาธิบดี ฮามิด การ์ไซ แห่งอัฟกานิสถานปรากฏตัวร่วมกันเมื่อ พ.ศ. 2549

เมื่อมุญาฮิดีนเข้ายึดกรุงคาบูลได้ ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆทำให้สงครามกลางเมืองยังคงดำเนินต่อไป มีการจัดตั้งสภาอิสลามญิฮาดเฉพาะกาล เริ่มแรกนำโดยซิบฆัตตุลลอฮ์ โมญัดเดดี เป็นเวลา 2 เดือน จากนั้นจึงนำโดย บูร์ฮานุดดีน รับบานี ผลจากการสู้รบในสงครามกลางเมืองและการที่เผ่าปาทานไม่มีอำนาจในคาบูล กลุ่มตาลีบันซึ่งเป็นขบวนการของนักศึกษาศาสนาและเคยเป็นมุญาฮิดีนมาก่อน จึงปรากฏตัวทางตอนใต้ของจังหวัดกันดะฮาร์ กลุ่มนี้ได้ขยายตัวจนครอบครองดินแดนได้ 95% ของประเทศในปี พ.ศ. 2543 ยกเว้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพียงเล็กน้อยที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของพันธมิตรฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สหประชาชาติให้การรับรอง

ผลจากเหตุการณ์ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 สหรัฐและพันธมิตรเข้ารุกรานอัฟกานิสถานและล้มล้างรัฐบาลตาลีบัน สหประชาชาติได้เชิญตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ ในอัฟกานิสถานไปประชุมร่วมกันที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี และคัดเลือกตัวแทนตั้งรัฐบาลชั่วคราว ภายใต้การนำของฮาร์มิด การ์ไซ ชาวปาทาน หลังจากนั้นอีก 6 เดือน กษัตริย์ ซาฮิร ชาห์ เรียกประชุมสภาชนเผ่าและรับรองให้การ์ไซเป็นประธานาธิบดีของอัฟกานิสถาน จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2557 อัชราฟ ฆานี ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป

อ้างอิง

[แก้]
  1. CIA World Factbook - Afghanistan...Link เก็บถาวร 2016-07-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. Encyclopaedia Britannica - Ahmad Shah Durrani...Link
  3. Nancy Hatch Dupree - An Historical Guide To Afghanistan - The South (Chapter 16)...Link
  4. Columbia Encyclopedia - Afghanistan: History...Link
  5. History Of Nations - History of Afghanistan...Link
  6. Afghanistan Online - Biography (Ahmad Shah Abdali)...Link เก็บถาวร 2010-08-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  7. Britannica Student Encyclopedia - Government and History (from Afghanistan)...Link