ข้ามไปเนื้อหา

แฮมิด คาร์ไซ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แฮมิด คาร์ไซ
حامد کرزی
การ์ไซในปี ค.ศ. 2009
ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน
ดำรงตำแหน่ง
22 ธันวาคม ค.ศ. 2001 – 29 กันยายน ค.ศ. 2014
รักษาการ: 22 ธันวาคม ค.ศ. 2001 – 7 ธันวาคม ค.ศ. 2004
รองประธานาธิบดีคาริม คาลิลี
โมฮัมเหม็ด ฟาฮิม
ยุนูส ควานูนี
ก่อนหน้าบูร์ฮานุดดีน รับบานี
ถัดไปอัชราฟ ฆานี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด (1957-12-24) 24 ธันวาคม ค.ศ. 1957 (66 ปี)
การ์ซ จังหวัดกันดะฮาร์ ราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน
เชื้อชาติอัฟกานิสถาน
ศาสนาอิสลาม
พรรคการเมืองอิสระ
คู่สมรสซีนัต การ์ไซ (ค.ศ. 1999–ปัจจุบัน)
บุตรมีร์ไวซ์
มาลาไล
เฮาซี
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยหิมาจัลประเทศ

แฮมิด คาร์ไซ (อังกฤษ: Hamid Karzai, ปาทาน: حامد کرزی; เกิด 24 ธันวาคม ค.ศ. 1957) เป็นอดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน เกิดที่จังหวัดกันดะฮาร์ ราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน[1] การ์ไซมีพี่น้อง 6 คน ครอบครัวของเขาอยู่ในแวดวงการเมือง โดยบิดา อับดุล อะฮัด การ์ไซ เคยเป็นรองโฆษกประจำรัฐสภาอัฟกานิสถานช่วงทศวรรษที่ 1960 ลุง ฮาบิบุลเลาะห์ การ์ไซ เป็นผู้แทนอัฟกานิสถานในการประชุมสหประชาชาติ[2] ส่วนปู่ ไคร์ โมฮัมหมัด ข่าน เคยรับราชการในช่วงสงครามอังกฤษ–อัฟกานิสถานครั้งที่สามและเป็นรองโฆษกประจำวุฒิสภาอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ครอบครัวของการ์ไซยังเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าโมฮัมเหม็ด ซาฮีร์ ชาห์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน

การ์ไซเรียนที่โรงเรียนในเมืองกันดะฮาร์และคาบูล และเรียนจบจากโรงเรียนมัธยมฮาบิเบียในปี ค.ศ. 1976[3] ก่อนจะเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปเรียนต่อที่อินเดีย เขาเรียนต่อปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยหิมาจัลประเทศ การ์ไซเรียนจบปริญญาโทในปี ค.ศ. 1983 หลังเกิดสงครามโซเวียต–อัฟกานิสถานไม่นาน[4] เขาย้ายไปอยู่ที่ปากีสถานเพื่อสนับสนุนฝ่ายมุญาฮิดีนในสงคราม[5] ในปี ค.ศ. 1988 หลังโซเวียตถอนทหารออกไป การ์ไซเดินทางกลับอัฟกานิสถานและสนับสนุนฝ่ายมุญาฮิดีนต่อไป เมื่อรัฐบาลฝ่ายนิยมโซเวียตล่มสลายในปี ค.ศ. 1992 มีการลงนามในข้อตกลงเปศวาร์เพื่อจัดตั้งรัฐอิสลามอัฟกานิสถานและให้มีรัฐบาลเฉพาะกาล การ์ไซดำรงตำแหน่งรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ถูกโมฮัมเหม็ด ฟาฮิมจับตัวในข้อหาจารกรรม การ์ไซจึงหนีออกจากกรุงคาบูลด้วยความช่วยเหลือจากกัลบุดดีน เฮกมัตยาร์ หนึ่งในนักการเมืองและผู้นำทหารชาวอัฟกานิสถาน

เมื่อรัฐบาลตอลิบานขึ้นสู่อำนาจช่วงทศวรรษที่ 1990 การ์ไซเชื่อว่ารัฐบาลนี้จะสามารถหยุดความรุนแรงและปัญหาต่าง ๆ ภายในประเทศได้[6] แต่หลังจากบิดาของเขาถูกลอบยิงโดยฝีมือของตอลิบาน การ์ไซก็ทำงานกับแนวร่วมอิสลามเพื่อการปลดปล่อยอัฟกานิสถาน ที่นำโดยอาหมัด ชาห์ มาซูด[7] ช่วงปี ค.ศ. 2000-2001 การ์ไซเดินทางไปยังทวีปยุโรปและอเมริกาเพื่อรณรงค์ต่อต้านกลุ่มตอลิบาน การ์ไซและมาซูดเคยเตือนว่ากลุ่มตอลิบานเกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ จนเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2001 มาซูดถูกระเบิดฆ่าตัวตายโดยฝีมือของอัลกออิดะฮ์[8] ต่อมาเมื่อกองทัพสหรัฐวางแผนบุกอัฟกานิสถานหลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน การ์ไซเป็นผู้หนึ่งที่แนะนำให้กำจัดกลุ่มอัลกออิดะฮ์ให้หมดสิ้น[7]

หลังรัฐบาลตอลิบานถูกโค่นล้มในปี ค.ศ. 2001 มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล โดยการ์ไซได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการปกครอง ปีต่อมาการ์ไซได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน[9] ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอัฟกานิสถานในปี ค.ศ. 2004 การ์ไซชนะการเลือกตั้งและเข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 2004 โดยมีพระเจ้าโมฮัมเหม็ด ซาฮีร์ ชาห์เข้าร่วมพิธีด้วย การ์ไซเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอัฟกานิสถานที่ได้รับเลือกตามระบอบประชาธิปไตย[10] เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองหลังชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2009 และสิ้นสุดวาระในปี ค.ศ. 2014[11] อัชราฟ ฆานีดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากเขา

ด้านชีวิตส่วนตัว การ์ไซแต่งงานกับซีนัต การ์ไซในปี ค.ศ. 1999[12] ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 4 คน[13]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Burke, Jason (7 March 2008). "Hard man in a hard country". The Guardian. UK. สืบค้นเมื่อ 14 March 2009.
  2. Dyck, Jere Van; Afghanistan., Special To The New York Times; The Following Dispatch Was Written By A Freelance Journalist Who Recently Spent Six Weeks In (21 December 1981). "The Afghan Rulers: Fiercely Traditional Tribes". The New York Times. United States. p. 2. สืบค้นเมื่อ 3 October 2010.
  3. "Office of the President". Afghanistan: Islamic Republic of Afghanistan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-27. สืบค้นเมื่อ 3 October 2010.
  4. "Biography - Office of the President". President.gov.af. สืบค้นเมื่อ 2014-03-22.
  5. Stockman, Farah (22 May 2005). "Afghan president's brother looks back". Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 14 April 2009.
  6. Marlowe, Ann (11 February 2008). "Two Myths About Afghanistan". The Washington Post. United States. p. A13. สืบค้นเมื่อ 11 February 2008.
  7. 7.0 7.1 "Profile:Hamid Karzai". United States: Public Broadcasting Service (PBS). December 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 January 2010. สืบค้นเมื่อ 3 October 2010.
  8. "Biography of Hamid Karzai: 9/11 and US Invasion". The Biography Channel. p. 2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-27. สืบค้นเมื่อ 2013-09-07.
  9. Gall, Carlotta (20 June 2002). "A Buoyant Karzai is Sworn In as Afghanistan's Leader". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 31 January 2010.
  10. "Former President Of Afghanistan On The State Of His Country". Forces TV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-22. สืบค้นเมื่อ 11 November 2016.
  11. "Karzai declared elected president". BBC News. 2 November 2009. สืบค้นเมื่อ 31 January 2010.
  12. "Afghan First Lady's quiet public debut". The Daily Telegraph. 10 Apr 2004. สืบค้นเมื่อ 29 January 2011.
  13. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-05. สืบค้นเมื่อ 2016-11-11.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]