กิมก๋งจู๋

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เฉวียนกงจู่)
ซุน หลู่ปาน
孫魯班
กิมก๋งจู๋ (全公主 เฉฺวียนกงจู่)
ประสูติไม่ทราบ[a]
สวรรคตไม่ทราบ
คู่อภิเษก
พระราชบุตร
  • จวนต๊ก
  • เฉฺวียน อู๋
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: ซุน (孫)
ชื่อตัว: หลู่ปาน (魯班)
ชื่อรอง: ต้าหู่ (大虎)
ราชวงศ์ราชวงศ์ซุน
พระราชบิดาซุนกวน
พระราชมารดาปู้ เลี่ยนชือ

กิมก๋งจู๋[1] (มีบทบาทในช่วงปี ค.ศ. 229–258) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฉฺวียนกงจู่ (จีน: 全公主; พินอิน: Quán Gōngzhǔ) ชื่อจริงว่า ซุน หลู่ปาน (จีน: 孫魯班; พินอิน: Sūn Lǔbān) ชื่อรอง ต้าหู่ (จีน: 大虎; พินอิน: Dàhǔ​) เป็๋นเจ้าหญิงแห่งรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นบุตรสาวคนโตของซุนกวน จักรพรรดิผู้ก่อตั้งง่อก๊กและปู้ เลี่ยนชือภรรยา กิมก๋งจู๋เป็นเจ้าหญิงใหญ่ (長公主 ฉางกงจู่)[2] ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มอบให้พระธิดา (หรือพระขนิษฐา) คนโปรดของจักรพรรดิ[3] และยังมีฐานะเป็น กิมก๋งจู๋ หรือ เฉฺวียนกงจู่ (全公主) / เฉฺวียนจู่ (全主) แปลว่า "เจ้าหญิงเฉฺวียน" เพราะสมรสกับจวนจ๋อง (全琮 เฉฺวียน ฉง)

ประวัติช่วงต้นและอภิเษกสมรส[แก้]

กิมก๋งจู๋หรือซุน หลู่ปานเป็นพระธิดาองค์โตของซุนกวน จักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊กกับพระสนมปู้ เลี่ยนชือ ซุน หลู่ปานมีพระขนิษฐาคือซุน หลู่-ยฺวี่ (孫魯育) ชื่อรองของซุน หลู่ปานและซุน หลู่-ยฺวี่คือต้าหู่ (大虎) และเสียวหู่ (小虎) มีความหมาย "เสือใหญ่" และ "เสือเล็ก" ตามลำดับ ซุน หลู่ปานเดิมสมรสกับจิวซุน (周循 โจว สฺวิน) บุตรชายของจิวยี่ แต่จิวซุนเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร[4] ในปี ค.ศ. 229 ซุน หลู่ปานสมรสอีกครั้งกับจวนจ๋องขุนพลของซุนกวน[5][6][7] กิมก๋งจู๋ (ซุน หลู่ปาน) มีบุตรชาย 2 คนกับจวนจ๋องคือจวนต๊ก (全懌 เฉฺวียน อี้)[b][8] และเฉฺวียน อู๋ (全吳)[9]

ประวัติในรัชสมัยของซุนกวน[แก้]

กิมก๋งจู๋ไม่ถูกกันกับฮองฮูหยินพระสนมคนหนึ่งของซุนกวนพระบิดา กิมก๋งจู๋จึงทรงไม่ชอบซุนโฮที่เป็นพระอนุชาต่างมารดาซึ่งเกิดกับฮองฮูหยินด้วย ในปี ค.ศ. 242 หลังซุนกวนทรงแต่งตั้งซุนโฮเป็นรัชทายาท พระองค์มีพระประสงค์จะตั้งฮองฮูหยินเป็นจักรพรรดินี แต่กิมก๋งจู๋ทูลคัดค้านอย่างหนักแน่นและตรัสเกี่ยวกับฮองฮูหยินอย่างเสีย ๆ หาย ๆ ต่อพระพักตร์พระบิดาหลายครั้ง และพยายามทูลโน้มน้าวพระบิดาให้ล้มเลิกพระดำริที่จะตั้งฮองฮูหยินเป็นจักรพรรดินี[10]

กิมก๋งจู๋ทรงกังวลว่าซุนโฮจะแก้แค้นพระองค์หลังซุนโฮขึ้นเป็นจักรพรรดิ กิมก๋งจู๋จึงมักตรัสเสีย ๆ หาย ๆ เกี่ยวกับซุนโฮต่อพระพักตร์พระบิดาอยู่บ่อยครั้ง[11] หวังจะให้ซุนโฮถูกปลดจากการเป็นรัชทายาท ครั้งหนึ่งซุนกวนไม่สามารถไปร่วมพระราชพิธีที่ศาลบูรพกษัตริย์เพราะพระองค์ทรงพระประชวร จึงทรงมีรับสั่งให้ซุนโฮเสด็จไปพระราชพิธีแทนพระองค์ เตียวหิว (張休 จาง ซิว) อาของจางเฟย์ (張妃) พระชายาของซุนโฮอาศัยอยู่ใกล้ศาลบูรพกษัตริย์ เตียวหิวจึงทูลเชิญซุนโฮมาประทับในบ้านของตนในช่วงเวลานั้น กิมก๋งจู๋ส่งคนรับใช้ไปสอดแนมซุนโฮและไปทูลรายงานซุนกวนพระบิดาว่าซุนโฮไม่ได้อยู่ในศาลบูรพกษัตริย์ แต่ไปอยู่บ้านเตียวหิวที่เป็นพระญาติฝ่ายพระชายาแทนและวางแผนบางอย่าง กิมก๋งจู๋ยังใช้โอกาสนี้ใส่ร้ายฮองฮูหยินที่เป็นพระมารดาของซุนโฮ โดยทูลซุนกวนว่าฮองฮูหยินแสดงความรู้สึกยินดีเมื่อได้ยินว่าซุนกวนทรงพระประชวร ซุนกวนทรงเชื่อพระธิดาของตนและกริ้วฮองฮูหยิน ภายหลังฮองฮูหยินเสียชีวิตด้วยความทุกข์ใจ ส่วนซุนโฮก็เสียความโปรดปรานจากพระบิดา[12]

ในช่วงทศวรรษ 240 เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างซุนโฮและซุน ป้าที่เป็นพระอนุชาองค์ที่ 4 ผู้ต้องการจะชิงตำแหน่งรัชทายาทจากซุนโฮ การต่อสู้แย่งชิงอำนาจส่งให้เกิดการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายในหมู่ข้าราชบริพารของซุนกวน สองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนซุนโฮ อีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนซุน ป้า ในช่วงเวลานี้จวนจ๋องที่เป็นพระสวามีของกิมก๋งจู๋สนับสนุนซุน ป้า[13] แต่จวนจ๋องเสียชีวิตในปี ค.ศ. 249[14] ก่อนที่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจจะสิ้นสุด ในปี ค.ศ. 250 การต่อสู้แย่งชิงอำนาจยุติลงเมื่อซุนกวนทรงบังคับซุน ป้าให้กระทำอัตวินิบาตกรรมและปลดซุนโฮจากตำแหน่งรัชทายาท ขุนนางหลายคนที่มีส่วนเกี่ยวกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจถูกประหารชีวิต ถูกเนรเทศ หรือถูกปลดจากราชการ[15]

ก่อนหน้านี้กิมก๋งจู๋ทรงเห็นว่าซุนกวนพระบิดาโปรดซุนเหลียงที่เป็นพระโอรสองค์สุดท้องมากขึ้นเรื่อย ๆ และต้องการจะตั้งซุนเหลียงเป็นรัชทายาทแทนที่ซุนโฮ กิมก๋งจู๋ต้องการจะได้ซุนเหลียงเป็นพันธมิตรทางการเมือง จึงทูลแนะนำพระบิดาให้จัดงานแต่งงานระหว่างซุนเหลียงและเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ย (全惠解) บุตรสาวของจวนเสียง (全尚 เฉวียน ช่าง) ญาติผู้น้องของจวนจ๋องพระสวามีของกิมก๋งจู๋ ซุนกวนทรงฟังคำแนะนำของพระธิดาและจัดให้ซุนเหลียงได้สมรสกับเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ย ในปี ค.ศ. 250 หลังซุนกวนทรงปลดซุนโฮจากการเป็นรัชทายาท ซุนกวนตั้งให้ซุยเหลียงเป็นรัชทายาทคนใหม่ ส่วนเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยได้ขึ้นเป็นพระชายาของรัชทายาท[16]

ประวัติในสมัยที่ซุนจุ๋นเป็นผู้สำเร็จราชการ[แก้]

ในปี ค.ศ. 252 ซุนเหลียงขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กลำดับที่ 2 ภายหลังการสวรรคตของซุนกวนพระบิดา เวลานั้นซุนเหลียงมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา จูกัดเก๊กจึงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และปกครองในพระนามของซุนเหลียง ในปี ค.ศ. 253 ซุนจุ๋นก่อการรัฐประหารและสังหารจูกัดเก๊ก จากนั้นจึงขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใหม่ ซุนจุ๋นลอบมีความสัมพันธ์กับกิมก๋งจู๋[17] ความสัมพันธ์นี้อาจเริ่มหลังจวนจ๋องพระสวามีของกิมก๋งจู๋เสียชีวิตในปี ค.ศ. 249[14] กิมก๋งจู๋ใช้ความสัมพันธ์พิเศษกับซุนจุ๋นในการยุยงซุนจุ๋นให้กำจัดซุนโฮที่เป็นพระอนุชาต่างมารดาของพระองค์เองและเป็นอดีตรัชทายาท ในปี ค.ศ. 253 ซุนจุ๋นย้ายซุนโฮให้ไปอยู่ที่เมืองซินตู (新都郡 ; อยู่บริเวณอำเภออี มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) จากนั้นจึงสั่งผู้แทนพระองค์ไปบังคับให้ซุนโฮกระทำอัตวินิบาตกรรม[18]

ก่อนหน้านี้ในรัชสมัยของซุนกวนพระบิดาของกิมก๋งจู่ ขณะเมื่อกิมก๋งจู๋เข้าข้างซุน ป้าในการการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับซุนโฮ กิมก๋งจู๋ได้รับการสนับสนุนจากซุน หลู่-ยฺวี่พระขนิษฐา กิมก๋งจู๋เริ่มเหินห่างจากซุน หลู่-ยฺวี่หลังซุน หลู่-ยฺวี่ปฏิเสธที่จะสนับสนุนกิมก๋งจู๋ต่อไป ในปี ค.ศ. 255 ซุน อี๋ (孫儀) และคนอื่น ๆ วางแผนโค่นล้มซุนจุ๋นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่แผนการถูกเปิดเผย ซุน อี๋และคนอื่น ๆ จึงถูกประหารชีวิตก่อนที่จะดำเนินแผนการ กิมก๋งจู๋ฉวยโอกาสนี้กล่าวหาเท็จว่าซุน หลู่-ยฺวี่เข้าร่วมสมคบคิดในแผนการ และยุยังซุนจุ๋นให้ประหารชีวิตซุน หลู่-ยฺวี่เช่นกัน[19][20]

ประวัติในสมัยที่ซุนหลิมเป็นผู้สำเร็จราชการ[แก้]

หลังซุนจุ๋นเสียชีวิตในปี ค.ศ. 256 ซุนหลิมลูกพี่ลูกน้องสืบทอดตำแหน่งในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของซุนเหลียงจักรพรรดิง่อก๊ก ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 256 และ ค.ศ. 258 ซุนเหลียงทรงสงสัยว่ากิมก๋งจู๋มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสิ้นพระชนม์ของซุน หลู่-ยฺวี่ ซุนเหลียงจึงทรงเรียกกิมก๋งจู๋ที่เป็นพระเชษฐภคินีต่างมารดามาตรัสถาม กิมก๋งจู๋ทรงรู้สึกหวาดหลัวจึงทูลปดไปว่า "หม่อมฉันไม่ทราบจริง ๆ หม่อมฉันได้ยินจากบุตรชายของจู จฺวี้ (朱據) คือจู สฺยง (朱熊) และจู สุ่น (朱損)" ซุนเหลียงทรงเห็นว่าจู สฺยงและจู สุ่นทรยศซุน หลู่-ยฺวี่ไปเข้าด้วยซุนจุ๋น โดยเฉพาะจู สุ่นได้สมรสกับน้องสาวของซุนจุ๋น ซุนเหลียงจึงทรงมีรับสั่งถึงเตงฮองให้ประหารชีวิตจู สฺยงและจู สุ่น[21][22]

ซุนเหลียงทรงเริ่มระแวงซุนหลิมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะซุนหลิมมีท่าทีว่าคิดการจะแย่งชิงบัลลังก์จากพระองค์ ดังนั้นในปี ค.ศ. 258 ซุนเหลียงจึงทรงวางแผนร่วมกับกิมก๋งจู๋, จวนเสียง (全尚 เฉฺวียน ช่าง) และเล่าเสง (劉承 หลิว เฉิง) คิดการจะกำจัดซุนหลิม พระสนมคนหนึ่งของซุนเหลียงเป็นลูกพี่ลูกน้องของซุนหลิมได้ยินแผนการจึงเตือนซุนหลิมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซุนหลิมจึงชิงจัดการก่อนโดยส่งคนไปจับตัวจวนเสียง ส่งซุน เอิน (孫恩) น้องชายไปสังหารเล่าเสง และนำทหารเข้าล้อมพระราชวัง ภายหลังซุนหลิมปลดซุนเหลียงจากราชบัลลังก์และตั้งซุนฮิวพระโอรสองค์ที่ 6 ของซุนกวนขึ้นครองราชย์แทน ซุนหลิมยังมีคำสั่งให้เนรเทศกิมก๋งจู๋ไปอยู่เมืองอิเจี๋ยง (豫章郡; อยู่บริเวณนครหนานชาง มณฑลเจียงซีในปัจจุบัน)[23] ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับกิมก๋งจู๋ภายหลังจากนั้น

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ปีที่กิมก๋งจู๋เกิดไม่มีการบันทึกไว้ ส่วนมารดาของกิมก๋งจู๋มาเป็นอนุภรรยาของซุนกวนหลังปี ค.ศ. 199 (การบุกโลกั๋งของซุนเซ็ก) นอกจากนั้นการแต่งงานกับจวนจ๋องของกิมก๋งจู๋นั้นเป็นการแต่งครั้งที่สอง ปีเกิดของกิมก๋งจู๋จึงควรอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 199 และ ค.ศ. 220
  2. ระวังสับสนกับชื่อของญาติที่มีชื่อในภาษาจีนกลางที่คล้ายกัน ได้แก่ เฉฺวียน อี (全禕) และเฉฺวียน อี๋ (全儀)

อ้างอิง[แก้]

  1. ("อยู่นานมาซุนโฮวิวาทกับนางกิมก๋งจู๋ผู้เปนพี่สาว นางกิมก๋งจู๋จึงเข้าไปทูลยุยงบิดาให้โกรธถอดซุนโฮเสียจากที ซุนโฮได้ความแค้นเคืองเจ็บอายก็ตรอมใจเปนไข้ตาย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ October 25, 2023.
  2. (時長公主壻衞將軍全琮子寄為霸賔客,寄素傾邪,譚所不納。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 52.
  3. Lee, Lily; Wiles, Sue, บ.ก. (2015). Biographical Dictionary of Chinese Women. Vol. II. Routledge. p. 609. ISBN 978-1-317-51562-3. An emperor's [...] sister or a favorite daughter was called a grand princess (zhang gongzhu); and his aunt or grand-aunt was called a princess supreme (dazhang gongzhu).
  4. (男循尚公主,拜騎都尉,有瑜風,早卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54. ไม่ทราบแน่ชัดว่าการสมรสนี้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังการสมรสของซุนเต๋งพระเชษฐาต่างมารดากับน้องสาวของจิวซุนซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 225
  5. (黃龍元年,遷衞將軍、左護軍、徐州牧,尚公主。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  6. (吳主權步夫人, ... 生二女,長曰魯班,字大虎,前配周瑜子循,後配全琮;少曰魯育,字小虎,前配朱據,後配劉纂。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
  7. (男循尚公主,拜騎都尉,有瑜風,早卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
  8. (全懌母,孫權女也, ...) จิ้นชู เล่มที่ 2.
  9. (小子吳,孫權外孫,封都鄉侯。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  10. (步氏薨後,和立為太子,權將立夫人為后,而全公主素憎夫人,稍稍譖毀。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
  11. (吳主長女魯班適左護軍全琮, ... 全公主與太子母王夫人有隙,吳主欲立王夫人為后,公主阻之;恐太子立怨己,心不自安,數譖毀太子。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 74.
  12. (是後王夫人與全公主有隙。權嘗寢疾,和祠祭於廟,和妃叔父張休居近廟,邀和過所居。全公主使人覘視,因言太子不在廟中,專就妃家計議;又言王夫人見上寢疾,有喜色。權由是發怒,夫人憂死,而和寵稍損,懼於廢黜。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  13. (殷基通語曰:初權旣立和為太子,而封霸為魯王,初拜猶同宮室,禮秩未分。 ... 自侍御賔客造為二端,仇黨疑貳,滋延大臣。丞相陸遜、大將軍諸葛恪、太常顧譚、驃騎將軍朱據、會稽太守滕胤、大都督施績、尚書丁密等奉禮而行,宗事太子,驃騎將軍步隲、鎮南將軍呂岱、大司馬全琮、左將軍呂據、中書令孫弘等附魯王,中外官僚將軍大臣舉國中分。) อรรถาธิบายขากทง-ยฺหวี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  14. 14.0 14.1 ([赤烏]十二年卒, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  15. (時全寄、吳安、孫奇、楊笁等陰共附霸,圖危太子。譖毀旣行,太子以敗,霸亦賜死。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  16. (姊全公主嘗譖太子和子母,心不自安,因倚權意,欲豫自結,數稱述全尚女,勸為亮納。赤烏十三年,和廢,權遂立亮為太子,以全氏為妃。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 48.
  17. (峻素無重名,驕矜險害,多所刑殺,百姓囂然。又姦亂宮人,與公主魯班私通。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  18. (孫亮即位,孫峻輔政。峻素媚事全主,全主與和母有隙,遂勸峻徙和居新都,遣使賜死,嫡妃張氏亦自殺。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
  19. (初,孫和為太子時,全主譖害王夫人,欲廢太子,立魯王,朱主不聽,由是有隙。五鳳中,孫儀謀殺峻,事覺被誅。全主因言朱主與儀同謀,峻枉殺朱主。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
  20. ([高貴鄉公正元二年(乙亥、二五五年)]秋,七月,吳將軍孫儀、張怡、林恂謀殺孫峻,不克,死者數十人。全公主譖朱公主於峻,曰「與儀同謀」。峻遂殺朱公主。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  21. (太平中,孫亮知朱主為全主所害,問朱主死意?全主懼曰:「我實不知,皆據二子熊、損所白。」亮殺熊、損。損妻是峻妹也,) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
  22. (亮內嫌綝,乃推魯育見殺本末,責怒虎林督朱熊、熊弟外部督朱損不匡正孫峻,乃令丁奉殺熊於虎林,殺損於建業。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  23. (綝入諫不從,亮遂與公主魯班、太常全尚、將軍劉承議誅綝。亮妃,綝從姊女也,以其謀告綝。綝率衆夜襲全尚,遣弟恩殺劉承於蒼龍門外,遂圍宮。使光祿勳孟宗告廟廢亮, ... 典軍施正勸綝徵立琅邪王休,綝從之, ... 綝遣將軍孫耽送亮之國,徙尚於零陵,遷公主於豫章。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.

บรรณานุกรม[แก้]