ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
พระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก บนโลงพระศพ
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ครองราชย์1286 – 13 พฤศจิกายน 1319
ราชาภิเษก25 ธันวาคม ค.ศ. 1287
ก่อนหน้าอีริคที่ 5
ถัดไปคริสตอฟเฟอร์ที่ 2
ผู้สำเร็จราชการ
สมเด็จพระพันปีหลวงอักเนส (1286-1293)
ประสูติราว ค.ศ. 1274
สวรรคต13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1319(1319-11-13) (45 ปี)
รอสกิลด์, เดนมาร์ก
ฝังพระศพโบสถ์นักบุญเบ็นท์, ริงสเต็ด, เดนมาร์ก
คู่อภิเษกเจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์ก มักนุสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน
พระราชบุตร
  • เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก
  • เจ้าชายอีริคแห่งเดนมาร์ก
  • เจ้าชายมักนุสแห่งเดนมาร์ก
  • เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม
พระนามเต็ม
อีริค อีริคเซน แอสตริดเซน
ราชวงศ์แอสตริดเซน
พระราชบิดาพระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดาอักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก หรือ อีริคที่ 6 เม็นเว็ด (Eric VI Menved; ค.ศ. 1274 - 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1319) พระราชโอรสในพระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์กกับอักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ตั้งแต่ค.ศ. 1286 ขณะมีพระชนมายุ 12 พรรษา หลังจากพระราชบิดาถูกลอบปลงพระชนม์ในวันที่ 22 พฤศจิกายน โดนมือสังหารที่ตามจับไม่ได้ ดังนั้นในช่วงทรงพระเยาว์ พระราชมารดาจึงขึ้นสำเร็จราชการแผ่นดินเดนมาร์กแทนพระองค์ขนถึงปีค.ศ. 1294[1]

สมัยผู้สำเร็จราชการ

[แก้]

รัชกาลของพระเจ้าอีริค เม็นเว็ดอยู่ในช่วงกลางสมัยตกต่ำของเดนมาร์กในปีค.ศ. 1241 - 1340 ช่วงต้นรัชกาลของพระองค์ปกครองโดยพระราชมารดาและพระญาติวงศ์ฝ่ายเยอรมันของพระนาง นำมาซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบและสงครามที่เป็นผลมาจากการลองปลงพระชนม์พระราชบิดาของพระองค์[2]

การดำเนินการครั้งแรกของรัชสมัยนี้คือ การดำเนินการยุติคดีการปลงพระชนม์อดีตกษัตริย์โดยศาลที่นีบอร์กในวันวิทซันของปีค.ศ. 1287 มีการแต่งตั้งบุรุษผู้ทรงเกียรติ 27 คนเพื่อพิจารณาคดีนี้ และมีการกล่าวหาแม่ทัพ สติก อันเดอร์เซน ไวด์ หรือมาร์ค สติกและจาค็อบ นีลส์เซน เคานท์แห่งฮัลลันด์ รวมถึงคนอีกเจ็ดคนในข้อหานี้ หลังจากพิจารณาคดีทั้งวัน คณะลูกขุนตัดสินว่าผู้ต้องหาทั้งหมดมีความผิด ทรัพย์สินของนักโทษทั้งหมดถูกริบและพวกเขาถูกเนรเทศออกจากเดนมาร์กด้วยความกลัวตาย แม้แต่สมเด็จพระสันตะปาปายังประกาศขับผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ออกจากศาสนา[3] [4]

คำตัดสินนั้นเป็นที่น่าสงสัยหลายจุด ไม่มีการพิสูจน์ว่าผู้ถูกกล่าวหาคนหนึ่งคนใดอยู่บริเวณใกล้กับที่กษัตริย์สวรรคต ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับอนุญาตให้กล่าวคำสาบานความบริสุทธิ์ต่อหน้าศาลหรือบุรุษผู้ทรงเกียรติ ซึ่งเป็นสิทธิที่พวกเขาควรได้รับตามกฎหมาย แม้ว่าจะมีความไม่ชัดเจนในการสวรรคตของกษัตริย์อีริคที่ 5 แต่คณะลูกขุนใช้เวลาวันเดียวตัดสินว่ามีความผิด ผู้ต้องหาทั้งหมดล้วนเป็นข้าราชบริพารวงในของกษัตริย์อีริคที่ 5 ซึ่งพวกเขาไม่ได้อะไรจากการสวรรคตของกษัตริย์

นักประวัติศาสตร์อย่างอีริค อารัป (ค.ศ. 1876-1951) และฮูโก เยอร์วิง (ค.ศ. 1908 - 2002) ได้ระบุว่าการตัดสินครั้งนี้เป็นความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม และได้มองว่าการปลงพระชนม์กษัตริย์เกิดจากความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจระหว่างขุนนางสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งนำโดยมาร์ค สติก กับอีกกลุ่มหนึ่งนำโดย วัลเดมาร์ที่ 4 ดยุกแห่งชเลสวิก กลุ่มตระกูลอเบล ดยุกวัลเดมาร์หมดอิทธิพลในปีค.ศ. 1283 แต่ก็ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลอย่างรวดเร็วในปีค.ศ. 1288 เหล่านักประวัติศาสตร์มองว่า วัลเดมาร์กับพันธมิตรของเขาอาจวางแผนลอบปลงพระชนม์กษัตริย์และใส่ความแก่ศัตรูในศาล นักประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่งคือ คาอี ออร์บี (ค.ศ. 1935-1993) ชี้ให้เห็นว่าการปลงพระชนม์เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในราชวงศ์ที่ต้องการครองราชบัลลังก์เดนมาร์ก มีผู้อ้างสิทธิคนอื่นๆ ที่อ้างว่ามีสิทธิในบัลลังก์เดนมาร์กมากกว่าหรือทัดเทียมกษัตริย์อีริคที่ 5 ได้แก่ กษัตริย์นอร์เวย์ พระเจ้าอีริคที่ 2 แห่งนอร์เวย์และ พระเจ้าโฮกุนที่ 5 แห่งนอร์เวย์ พระอนุชา ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก[5] [6]

อันเดอร์เซนและพรรคพวกหลบหนีไปยังนอร์เวย์และได้รับการต้อนรับจากกษัตริย์อีริคแห่งนอร์เวย์ ผู้ทรงยินดีต้อนรับศัตรูของกษัตริย์เดนมาร์ก พระองค์ได้พระราชทานป้อมคองเชลเลอใกล้ชายแดนเดนมาร์กให้แก่อันเดอร์เซน อันเดอร์เซนกลายเป็นโจรสลัดและยึดครองพื้นที่บริเวณชายฝั่งเดนมาร์กเป็นเวลาหลายปี กลุ่มผู้ถูกเนรเทศได้สร้างท่าเรือที่แซมเซอ เฮล์ม สโปรเกอและเฮลเกอเนส ไม่มีเรือใดๆ ปลอดภัย ไม่มีเมืองริมชายฝั่งใดๆ ปลอดภัยจากสติก อันเดอร์เซน ไวด์ การปล้นสะดมครั้งร้ายแรงที่สุดของเขาเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1289 เมื่อเขาขึ้นฝั่งพร้อมกับกองทัพนอร์เวย์ขนาดเล็กที่เมืองสตับเบอเคอบิง เกาะฟาลสเตอร์ วิสเลาที่ 2 แห่งรือเงิน ผู้สำเร็จราชการเดนมาร์กได้ใช้กองเรือชาวเวนด์ขับไล่อันเดอร์เซนกลับไปยังนอร์เวย์ การกระทำของอันเดอร์เซนได้จุดประกายสงครามและความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรนอร์ดิกที่ยืดเยื้อกว่าสี่ทศวรรษ

รัชกาล

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าอีริคที่ 6
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHans Majestæt
(ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับDeres Majestæt
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)
ตราพระราชลัญจกรพระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก รูปนกอินทรีข้างตราอาร์มเป็นการแสดงถึงพระราชมารดาของพระองค์ อักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค

ในเวลาเดียวกันความขัดแย้งทางศาสนาได้เกิดขึ้นเนื่องจากเจนส์ กรันด์ อาร์กบิชอปแห่งลุนด์คนใหม่ผู้ทะเยอทะยาน ได้สนับสนุนพวกนอกกฎหมาย รวมถึงญาติพี่น้องของเขาแทนที่จะแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ เมื่อเขาได้รับเลือกสู่ตำแหน่งโดยสมเด็จพระสันตะปาปา เขาก็รับปากต่อพระองค์ว่าจะสาบานตนจงรักภักดีต่อกษัตริย์ เขากล่าวว่า "มันไม่สำคัญหรอกว่ากษัตริย์เดนมาร์กจะเป็นดยุกวัลเดมาร์ ชาวยิว ชาวเติร์ก พวกนอกศาสนาหรือเป็นปีศาจ แต่ต้องไม่ใช่อีริคหรือคริสตอฟเฟอร์"[7] บิชอปเจนส์ดำเนินแผนการไปไกลกว่านั้น เขามอบที่ดินของคริสตจักรที่ฮุนเดอฮัลด์แก่พวกกบฏที่ถูกเนรเทศเพื่อสร้างป้อมปราการและยังให้ความบันเทิงแก่พวกเขาด้วย กษัตริย์ทรงทนไม่ไหวทรงมีพระราชโองการให้จับกุมบิชอปเจนส์ในปีค.ศ. 1294 อาร์กบิชอปถูกส่งไปคุมขังล่ามโซ่โดยดยุกคริสตอฟเฟอร์ที่ "หอคอยมืด" ในซอบอร์ก หลังจากต้องทนกับสภาพเลวร้ายหลายเดือน กษัตริย์ทรงส่งคนไปตรวจสอบบิชอปเจนส์เพื่อดูว่าเขาจะสาบานจงรักภักดีอีกครั้งหรือไม่และต้องสัญญาว่าจะไม่แก้แค้นจากการถูกจองจำครั้งนี้ บิชอปตอบว่า "แทนที่ข้าจะยอมก้มหัวตามพระราชประสงค์ ข้ายอมให้กษัตริย์สับร่างข้าเป็นชิ้นๆ เสียยังดีกว่าที่จะยอมทำตามคำสั่งของพระองค์" หลังจากเขาถูกกักขังด้วยสภาพที่เลวร้ายเป็นเวลาสองปี บิชอปเจนส์สามารถหลบหนีได้ด้วยความช่วยเหลือของคนรับใช้ในครัว บิชอปเจนส์หลบหนีไปยังกรุงโรมเพื่อให้สันตะสำนักพิจารณาคดีของเขา สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกาศขับไล่กษัตริย์อีริคออกจากศาสนา ชาวเดนมาร์กทั้งหมดถูกคว่ำบาตรจนกว่าอาณาจักรจะจ่ายเงินชดเชยให้บิชอปเจนส์ กรันด์ 49,000 เหรียญ เดนมาร์กไม่สามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวได้จึงต้องอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรเป็นเวลาสี่ปี ในปีค.ศ. 1302 กษัตริย์อีริคทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อขอความเมตตาแก่พระองค์เองและราชอาณาจักรที่ปราศจากการรับศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นเวลาหลายปี พระองค์สัญญาว่าจะทำทุกสิ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปาดำรัสสั่ง กษัตริย์อีริคทรงถ่อมตนต่อหน้าสาธารณชน สมเด็จพระสันตะปาปาโบนิฟาซที่ 8 ทรงได้รับการเจรจาจากตัวแทนเดนมาร์กอย่างมาร์ตินแห่งดาเซีย พระองค์ยินดีที่จะลดค่าปรับลงถึง 80% จะมีการยกเลิกการคว่ำบาตรและการขับออกจากศาสนา และอาร์กบิชอปเจนส์ได้รับตำแหน่งจากสมเด็จพระสันตะปาปาอีกครั้ง โดยเขาไม่ต้องขึ้นตรงต่อกษัตริย์อีริค[8]

กษัตริย์อีริคทรงรักในการประลองอย่างมาก และพระราชทรัพย์ก็หลั่งไหลออกจากท้องพระคลังเพราะการจัดงานบันเทิงของพระองค์ การประลองอัศวินครั้งหนึ่งที่ร็อสท็อค ไวน์ เหล้าน้ำผึ้งและเบียร์ มีให้เติมตลอดทั้งเดือนสำหรับทุกคนที่ต้องการดื่ม กษัตริย์ทรงจ่ายค่าบำรุงม้าและปศุสัตว์ทั้งหมดตลอดทั้งงานประลอง รวมถึงข้าวโอ๊ตกองเท่าภูเขาสำหรับแขกในงานทุกคน พระองค์ทรงสร้างระบบภาษีแบบใหม่และไม่ธรรมดาที่ขูดรีดทั้งชาวนาและขุนนางไปพร้อมๆ กัน เมื่อภาษีไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของกษัตริย์ พระองค์ได้ยืมเงินจำนวนมากจากเหล่าขุนนางเยอรมัน รวมถึงการจำนองที่ดินของเดนมาร์กให้แก่พวกเขา กษัตริย์อีริคทรงยกทัพไปแสวงหาที่ดินใหม่ๆ ในเยอรมนีเพื่อจะกู้คืนความเป็นมหาอำนาจแห่งสแกนดิเนเวียของเดนมาร์กโดยผ่านการเป็นพันธมิตรกับเจ้านครเยอรมัน ได้แก่ ดยุกแห่งเมคเลนบูร์ก พระองค์พยายามเป็นเจ้าเหนือหัวของเมืองสันนิบาตฮันเซอหลายเมืองเพื่อต่อสู้กับบรันเดินบวร์คและรัฐอื่นๆ พระองค์ยังทรงแทรกแซงสวีเดนเพื่อสนับสนุนพระอนุชาของพระมเหสีในการสู้รบกับฝ่ายต่อต้านในปีค.ศ. 1305 และอีกครั้งในปีค.ศ. 1307 - 1309 ในขณะเดียวกันทรงสู้รบอยู่ในเยอรมนี พระองค์ทรงว่าจ้างทหารเยอรมันเพื่อพลิกสถานการณ์ด้วยเงิน

ในปีค.ศ. 1312 เกิดทุพภิกขภัยในเดนมาร์ก เมื่อกษัตริย์ทรงเรียกเก็บภาษีเช่นเดิม ชาวนาในเชลลันด์จึงก่อกบฏ กษัตริย์อีริคทรงปราบปรามกบฏอย่างโหดร้าย มีการแขวนคอชาวนาหลายร้อยคนรอบกรุงโคเปนเฮเกน ปีถัดมามีการประชุมสภาที่วีบอร์ก ชาวนาและขุนนางประกาศก่อบกบฏต่อกษัตริย์อย่างเปิดเผย ใครที่ไม่ยอมช่วยเหลือกบฏและยังสนับสนุนกษัตริย์ จะถูกจับแขวนคอที่คานบ้านของคนนั้นเอง กษัตริย์อีริคทรงปราบปรามกบฏด้วยกองกำลังทหารรับจ้างเยอรมัน ซึ่งกวาดล้างพวกกบฏไปไกลถึงราเนอส์ กษัตริย์ทรงสร้างป้อมปราการด้วยการใช้แรงงานทาสชาวนา ซึ่งเป็นบทลงโทษสำหรับพวกกบฏ ขุนนางที่เกี่ยวข้องต่างถูกเนรเทศหรือประหารชีวิต ทรัพย์สินถูกริบเข้าท้องพระคลัง มีการก่อสร้างฐานที่มั่นทั้งสี่ ได้แก่ ปราสาทบิกโฮล์มในฮอร์เซนส์ ปราสาทคาเลอในทางตอนเหนือของออร์ฮูส ปราสาทบอร์กโวลด์ในวีบอร์ก และปราสาทอูลสตรัปทางตะวันออกของสเตอร์ นีลส์ บร็อคถูกประหารด้วยโทษฐานที่ให้ที่ซ่อนแก่ราเนอ จ็อนเซน (ค.ศ. 1254-1294) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สมคบคิดลอบปลงพระชนม์พระราชบิดาของกษัตริย์อีริคที่ 6 ที่ฟินเดอรัป[9]

ในปีค.ศ. 1313 กษัตริย์อีริคทรงยอมมอบทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ทั้งหมดในจัตแลนด์ตอนใต้แก่ดยุกเพื่อแลกกับเงินสด ในช่วงปีค.ศ. 1315 ถึง 1317 พืชผลไม่เจริญเติบโตอีกครั้ง ทำให้ไม่มีอะไรเหลือในการเก็บภาษี ท้องพระคลังว่างเปล่า ในปีค.ศ. 1317 กษัตริย์อีริคทรงจำนองเกาะฟึนทั้งหมดแก่เกอร์ฮาร์ดที่ 3 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บูร์กและโยฮันน์ที่ 2 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-คีล เพื่อแลกกับอัศวิน 200 นาย ก่อนพระองค์จะสวรรคตพระองค์ยังจำนองสคาเนียแก่ขุนนางเยอรมันเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่อไป ความยิ่งใหญ่ของเดนมาร์กถูกทำลายลงครั้งสุดท้ายด้วยไฮน์ริชที่ 2 ลอร์ดแห่งเมคเลนบูร์กทำการยึดป้อมปราการเดนมาร์กที่ร็อสท็อค[10] [11]

เมื่อกษัตริย์อีริคสวรรคตในปีค.ศ. 1319 พระองค์ทรงสวรรคตหลังพระราชบุตร 14 พระองค์ เดนมาร์กกำลังล้มละลาย ผู้สืบบัลลังก์ต่อคือ พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 พระอนุชา ซึ่งปกครองเดนมาร์กในช่วงปีค.ศ. 1320 - 1326[12]

การตัดสินกษัตริย์อีริคที่ 6

[แก้]

ตามลักษณะแล้วกษัตริย์อีริคที่ 6 ทรงถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคลเพียงไม่กี่คนที่โดดเด่นในยุคนั้น เนื่องจากทรงพยายามกอบกู้ดินแดนที่ห่างไกลของอาณาจักรเดนมาร์ก พระองค์ได้รับการยกย่องในวรรณกรรมสมัยโรแมนติกของเดนมาร์ก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการมองว่านโยบายของพระองค์เป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของจักรวรรดิเดนมาร์กในบอลติกและยุโรปเหนือที่จะเกิดขึ้นในยุคต่อไป

พระสมัญญาของกษัตริย์อีริคที่ 6 ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก คำอธิบายที่เป็นที่นิยมคือเป็นคำย่อของคติพจน์ของรัชกาลของพระองค์ (“ved alle hellige mænd” แปลว่า all holy men หรือ เหล่าบุรุษผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งมวล) และมีการอธิบายสมัญญาภาษาเดนมาร์กโบราณว่า "เม็นเว็ด" (“menvett” แปลว่า bird of ill omen หรือ นกแห่งลางร้าย)

พระโอรสธิดา

[แก้]

พระองค์อภิเษกสมรสในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1296 กับเจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์ก มักนุสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน พระราชธิดาในพระเจ้ามักนุสที่ 3 แห่งสวีเดน และเป็นพระเชษฐภคินีในพระเจ้าบีร์เยอแห่งสวีเดน ทั้งสองพระองค์มีพระราชโอรส 8 พระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระราชินีทรงแท้งพระบุตร 6 ครั้ง แม้ว่าบางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าทรงแท้งพระบุตรในช่วงระหว่าง 8 - 14 ครั้ง การทรงพระครรภ์หลายครั้งนำมาซึ่งการแท้ง หรือมีพระประสูติกาลแต่พระบุตรสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์[13] พระโอรสที่มีบันทึกไว้ได้แก่

  • เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1302)
  • เจ้าชายอีริคแห่งเดนมาร์ก
  • เจ้าชายมักนุสแห่งเดนมาร์ก
  • เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม (ประสูติและสิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1318) ตามพงศาวดารระบุว่า สมเด็จพระราชินีอิงเงอร์บอร์กทรงยินดียิ่งนักที่พระโอรสประสูติมาแล้วมีพระชนม์ชีพ พระนางทรงนำพระโอรสออกนั่งรถเกวียนม้าเพื่อแสดงต่อหน้าสาธารณชน แต่พระนางทรงทำพระโอรสลื่นหลุดพระหัตถ์ พระโอรสจึงตกกระแทกพื้น พระศอหักสิ้นพระชนม์ ต่อมาสมเด็จพระราชินีอิงเงอร์บอร์กเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในคอนแวนต์นักบุญแคลร์ในรอสคิลด์ พระนางสิ้นพระชนม์ในปีต่อมา

มีบางหลักฐานระบุว่ากษัตริย์อีริคที่ 6 ทรงมีพระโอรสนอกสมรส คือ อีริค สจาลันด์สฟาร์ (ราวค.ศ. 1300 - 1364) ที่โอเรบีการ์ดในเกาะเชลลันด์ ซึ่งศพของเขาถูกฝังที่มหาวิหารรอสคิลด์พร้อมมงกุฎ แต่บางหลักฐานอ้างว่านั้นเป็นพระโอรสของพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก[14]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Kong Erik VI Menved". Danmarks Konger. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-06. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  2. "Erik Menved, 1274-1319". Danmarks Historien. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  3. "Stig Andersen Hvide d.æ". Den Store Danske, Gyldendal. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  4. "Grev Jakob af Hallands arv". Den Store Danske, Gyldendal. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  5. "Erik Arup". Den Store Danske, Gyldendal. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  6. "Kai Hørby". Den Store Danske, Gyldendal. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  7. Huitfeldt, Arild. Danmarks Riges Krønike
  8. "Jens Grand". roskildehistorie.dk. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  9. "Rane Jonsen". Dansk Biografisk Leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  10. "Gerhard III. (Graf von Holstein)". Allgemeine Deutsche Biographie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  11. "Heinrich II. (Fürst von Mecklenburg)". Allgemeine Deutsche Biographie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  12. "Christoffer 2. 1276-1332". Danmarks Historien (Aarhus University). สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  13. "Ingeborg, –1319, Dronning". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  14. http://www.roskildehistorie.dk/stamtavler/konger/4_Middelalder/Klipping.htm
  • Arup, Erik (1951) Danmarks historie (Copenhagen: Hagerup)
  • Fagerland, Tor Einar (2006) Krigføring og politisk kultur i nordisk middelalder, (NTNU)
  • Hørby, Kai (1989) Gyldendals og Politikens -danmarkshistorie. 1250-1400 (Copenhagen: Gyldendal)

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Eric VI of Denmark

ก่อนหน้า พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก ถัดไป
พระเจ้าอีริคที่ 5
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ดยุกแห่งเอสโตเนีย

(ค.ศ. 1286 - ค.ศ. 1319)
พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2