พระเจ้าคนุตที่ 4 แห่งเดนมาร์ก
พระเจ้าคนุตที่ 4 | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก | |||||
พระบรมรูปกษัตริย์คนุตที่ 4 ณ โบสถ์นักบุญปีเตอร์, เนสวืด | |||||
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก | |||||
ครองราชย์ | 1080 – 1086 | ||||
ก่อนหน้า | ฮารัลด์ที่ 3 | ||||
ถัดไป | โอลาฟที่ 1 | ||||
ประสูติ | ราว ค.ศ. 1042[1] | ||||
สวรรคต | 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1086 โบสถ์นักบุญอัลบัน, โอเดนเซ | (44 ปี)||||
ฝังพระศพ | มหาวิหารนักบุญคนุต, โอเดนเซ | ||||
คู่อภิเษก | อเดลาแห่งแฟลนเดอส์ | ||||
พระราชบุตร | |||||
| |||||
ราชวงศ์ | แอสตริดเซน | ||||
พระราชบิดา | พระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก | ||||
พระราชมารดา | ไม่ปรากฎนาม | ||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
พระเจ้าคนุตที่ 4 แห่งเดนมาร์ก (ราว ค.ศ. 1042 - 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1086) ทรงเป็นที่รู้จักในภายหลังว่า พระเจ้าคนุต ผู้ศักดิ์สิทธิ์ (เดนมาร์ก: Knud IV den Hellige) หรือ นักบุญคนุต (Sankt Knud) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ระหว่างปีค.ศ. 1080 ถึงค.ศ. 1086 กษัตริย์คนุตทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทะเยอทะยาน ผู้ทรงพระยายามสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก พระองค์ทรงอุทิศตนแก่โรมันคาทอลิกและทรงมีความปรารถนาในราชบัลลังก์อังกฤษ สุดท้ายพระองค์ทรงถูกลอบปลงพระชนม์โดยกบฏในปีค.ศ. 1086 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์กพระองค์แรกที่ได้รับการประกาศเป็นนักบุญ ทรงได้รับการรับรองจากคริสตจักรคาทอลิกและทรงได้เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศเดนมาร์ก ในปีค.ศ. 1101
พระชนม์ชีพ
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระเจ้าคนุตที่ 4 | |
---|---|
ตราประจำพระอิสริยยศ | |
การทูล | Hans Majestæt (ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท) |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | Deres Majestæt (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ) |
เจ้าชายคนุตประสูติราว ค.ศ. 1042 เป็นหนึ่งในพระโอรสหลายพระองค์ของพระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก[1] พระองค์เป็นคนแรกทีได้รับการบันทึกว่า ทรงมีส่วนร่วมในการบุกปล้นสะดมอังกฤษในพระนามของกษัตริย์สเวนที่ 2 ในปีค.ศ. 1069[2] และในบันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน ได้บรรยายว่า เจ้าชายคนุตเป็นหนึ่งในผู้นำในการบุกปล้นอังกฤษในปีค.ศ. 1075 เมื่อพระองค์ทรงนำกองทัพหลับมายังอังกฤษในปีค.ศ. 1075 กองเรือเดนมาร์กหยุดพักที่เคาน์ตีฟลานเดอส์[3] แฟลนเดอส์เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ จึงทำให้กลายเป็นพันธมิตรของชาวเดนส์ไปโดยปริยาย ตามบันทึกของสกัลด์ คาล์ฟ มานาซอน ได้บันทึกว่า พระองค์ทรงปฏิบัติการทหารสำเร็จในแซมเบอร์และเอสเธอร์[2]
เมื่อกษัตริย์สเวนสวรรคต พระเชษฐาของเจ้าชายคนุตได้ขึ้นเป็นกษัตริย์คือ พระเจ้าฮารัลด์ที่ 3 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายคนุตต้องลี้ภัยไปยังสวีเดน[2] เนื่องจากพระองค์อาจมีส่วนในการต่อต้านการปกครองของกษัตริย์ฮารัลด์[3] ในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1080 กษัตริย์ฮารัลด์สวรรคต[4] และคนุตได้สืบราชบัลลังก์เดนมาร์ก ในช่วงครองราชย์ พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับอเดลาแห่งแฟลนเดอส์ ธิดาในโรแบร์ที่ 1 เคานท์แห่งแฟลนเดอส์ พระราชินีอเดลามีพระสูติกาลพระราชโอรสหนึ่งพระองค์คือ เจ้าชายคาร์ล ในปีค.ศ. 1084 และพระราชธิดาฝาแฝดคือ เจ้าหญิงเซซีเลีย (เสกสมรสกับยาร์ล อีริค) และเจ้าหญิงอิงเงอเกิร์ด (เสกสมรสกับ โฟลเก ผู้อ้วนท้วม) ซึ่งประสูติก่อนที่กษัตริย์คนุตจะสวรรคตไม่นาน (ราวค.ศ. 1085/1086)[2][5] เชื้อสายของเจ้าหญิงอิงเงอเกิร์ดคือ ราชวงศ์ยาลโบ ซึ่งสืบราชบัลลังก์สวีเดนและนอร์เวย์ และเชื้อสายของกษัตริย์คนุตได้ครองราชย์ในเดนมาร์กครั้งแรก คือ พระเจ้าโอลาฟที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
พระมหากษัตริย์เดนมาร์ก
[แก้]กษัตริย์คนุตที่ 4 ทรงได้รับการบรรยายว่า เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความทะเยอทะยานอย่างสูงส่ง เช่นเดียวกับการศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า พระองค์ได้เพิ่มอำนาจของคริสตจักร และเรียกร้องให้มีการกวดขันทางศาสนาในวันหยุดของคริสตจักร[2] พระองค์ทรงพระราชทานของกำนัลขนานใหญ่แก่โบสถ์ในดาลบี โอเดนเซ รอสกิลด์ และวีบอร์ก และโดยเฉพาะในลุนด์[2] ด้วยความที่ทรงสนับสนุนโบสถ์อย่างยิ่ง พระองค์ทรงกระตุ้นให้มีการเก็บทศางค์[1] การเพิ่มพูนอำนาจของคริสตจักร ทำให้พระองค์ได้พันธมิตรที่ทรงอำนาจ เพื่อสนับสนุนสถานะของกษัตริย์คนุต[2]
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1085 กษัตริย์คนุตทรงเขียนจดหมายบริจาคแก่มหาวิหารลุนด์ที่กำลังก่อสร้าง พระองค์พระราชทานที่ดินผืนใหญ่ในสคาเนีย, เกาะเชลลันด์และอาแมเยอร์[6] พระองค์ทรงก่อตั้งโรงเรียนมหาวิหารลุนด์ในเวลาเดียวกัน[2] กษัตริย์คนุตทรงรวบรวมที่ดินส่วนใหญ่จากให้ศาสนาเพื่อให้อภัยโทษแก่ข้าราชบริพารผู้ทำผิดกฎหมายของพระองค์ เหล่าบาทหลวงแห่งลุนด์ได้ขยายอำนาจอภิสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้น สามารถเก็บภาษีและปรับชาวนาบริเวณนั้นได้ แต่กษัตริย์คนุตยังคงรักษาสิทธิในการอภัยโทษคนนอกกฎหมายของพระองค์ไว้ เมื่อยามที่ทรงล้มเหลวในการระดมข้าราชบริพารผู้ประพฤติดีในการจัดตั้ง เลดัง ระดมพลสู่สงคราม และจึงทรงใช้คนกลุ่มนี้แทนโดยให้เดินทางมาเป็นบริวารของพระองค์[6]
รัชกาลของพระองค์มีความพยายามอย่างแข็งขันในการเพิ่มอำนาจของราชวงศ์ในเดนมาร์ก ด้วยการยับยั้งขุนนางและให้พวกเขาเคารพกฏหมาย[2] กษัตริย์คนุตทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้พระองค์สามารถอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินสาธารณะ และสิทธิ์ในสินค้าของเรืออับปาง อีกทั้งสิทธิ์ในการสืบทอดทรัพย์สินของชาวต่างชาติและชาวเดนมาร์กที่ไร้ญาติสืบมรดก พระองค์ยังทรงตรากฎหมายเพื่อปกป้องเสรีภาพของนักบวชและพ่อค้าต่างชาติ[1] พระราโชบายเหล่านี้นำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่ราษฎรของพระองค์ ซึ่งไม่คุ้นเคยกับการที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงอ้างสิทธิในพระราชอำนาจดังกล่าว และมองว่าเป็นสิ่งที่คุกคามชีวิตประจำวันของพวกเขา[2]
การล้มเลิกความพยายามในอังกฤษ
[แก้]แต่ความทะเยอทะยานของกษัตริย์คนุตที่ 4 ไม่ทรงมีเพียงแค่เรื่องภายในประเทศ ด้วยทรงเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าคนุตมหาราช ผู้ปกครองอังกฤษ เดนมาร์กและนอร์เวย์ จนถึงปีค.ศ. 1035 กษัตริย์คนุตทรงปรารถนาในราชบัลลังก์อังกฤษ โดยทรงมองว่าพระองค์มีสิทธิอันชอบธรรม ส่วนกษัตริย์วิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษนั้นเป็นเพียงผู้ช่วงชิงราชบัลลังก์ พระองค์ทรงระดมกองเรือเพื่อ เลดัง ณ ลิมฟยอร์ด[2] แต่กองเรือไม่เคยได้ออกเดินทาง เนื่องจากกษัตริย์คนุตที่ 4 ทรงจดจ่ออยู่กับการยึดครองชเลสวิช โดยมองภัยคุกคามจากจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทรงมองเดนมาร์กและแฟลนเดอส์ด้วยท่าทีที่ไม่เป็นมิตร กษัตริย์คนุตทรงหวาดหวั่นต่อการรุกรานของจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 4 ซึ่งศัตรูของจักรพรรดิคือ รูดอล์ฟแห่งเรนเฟลเดินกำลังลี้ภัยอยู่ในเดนมาร์ก[2]
นักรบในกองเรือส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ต้องการเดินทางกลับบ้านในฤดูเก็บเกี่ยว เบื่อการรอคอยนี้และได้เลือกเจ้าชายโอลาฟ (ต่อมาคือ พระเจ้าโอลาฟที่ 1 แห่งเดนมาร์ก) พระอนุชาของกษัตริย์ให้เป็นผู้นำของพวกเขาและเป็นปากเป็นเสียงให้ในการปรึกษากับกษัตริย์คนุต สิ่งนี้ทำให้กษัตริย์เกิดความระแวง จึงทรงมีพระราชโองการให้จับกุมเจ้าชายโอลาฟ และทรงไปคุมขังในแฟลนเดอส์ ในที่สุดเลดังก็ยุบแยกย้ายกันไป ด้วยชาวนาต้องการที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต[2] แต่กษัตริย์คนุตก็ทรงต้องการที่จะระดมพลอีกครั้งภายในหนึ่งปี
สวรรคต
[แก้]ก่อนที่จะมีการระดมพลกองเรือ ชาวนาผู้ไม่พอใจได้ก่อกบฏในเวนซิสเซล[1] อันเป็นสถานที่ที่กษัตริย์คนุตทรงประทับอยู่ในต้นปีค.ศ. 1086 กษัตริย์คนุตทรงหลบหนีไปยังชเลสวิชและสุดท้ายไปอยู่ที่โอเดนเซ ในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1086 กษัตริย์คนุตและราชองครักษ์ได้ขอลี้ภัยในโบสถ์นักบุญอัลบันในโอเดนเซ ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน แต่ฝ่ายกบฏได้บุกเข้าโบสถ์และปลงพระชนม์กษัตริย์คนุต พร้อมพระอนุชาคือ เจ้าชายเบเนดิกต์ และเหล่าราชองครักษ์ 17 นาย ต่อหน้าแท่นบูชา[1] ตามบันทึกของอาลินอธแห่งแคนเทอร์เบอรี ได้บรรยายว่า กษัตริย์คนุตสวรรคตจากการถูกหอกแทงเข้าที่สีข้าง[7] ผู้สืบบัลลังก์คือ เจ้าชายโอลาฟ ที่ครองราชย์เป็น พระเจ้าโอลาฟที่ 1 แห่งเดนมาร์ก
การประกาศเป็นนักบุญ
[แก้]นักบุญคนุตผู้ศักดิ์สิทธิ์ | |
---|---|
มรณสักขี | |
เกิด | ราว ค.ศ. 1042 |
เสียชีวิต | 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1086 โบสถ์นักบุญอัลบัน, โอเดนเซ |
นิกาย | โรมันคาทอลิก |
เป็นนักบุญ | 19 เมษายน ค.ศ. 1101 โดย สมเด็จพระสันตะปาปาปาสคาลที่ 2 |
วันฉลอง | 10 กรกฎาคม |
สัญลักษณ์ | คนสวมมงกุฏและเสื้อคลุมอย่างกษัตริย์ |
องค์อุปถัมภ์ | ประเทศเดนมาร์ก |
ก่อนการมรณสักขี พระองค์เป็นผู้สนับสนุนคริสตจักร กษัตริย์คนุตทรงถูกยกยอเป็นนักบุญอย่างรวดเร็ว ในรัชกาลของกษัตริย์โอลาฟที่ 1 เดนมาร์กประสบปัญหาการเพาะปลูกล้มเหลว จึงถูกมองว่าเป็นการลงโทษของพระเจ้าสำหรับการมรณสักขีการล่วงเกินทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างกษัตริย์คนุตที่ 4 มีการรายงานปาฏิหาริย์ปรากฎขึ้นเหนือหลุมพระศพของพระองค์[8] และกระบวนการประกาศเป็นนักบุญริเริ่มในสมัยกษัตริย์โอลาฟที่ 1[1]
ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1101 ด้วยการเกลี้ยกล่อมของราชทูตจากพระเจ้าอีริคที่ 1 แห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระสันตะปาปาปาสคาลที่ 2 จึงทรงยืนยันการเกิดขึ้นของ "ลัทธิคนุต" และกษัตริย์คนุตที่ 4 ทรงได้รับการประกาศให้เป็นนักบุญ[6] พระองค์เป็นชาวเดนมาร์กคนแรกที่ได้เป็นนักบุญ[1] วันที่ 10 กรกฎาคม เป็นวันเฉลิมฉลองพระองค์ตามคติคาทอลิก ในสวีเดนและฟินแลนด์มีประวัติถึงวันนักบุญคนุตบางส่วน แต่แท้จริงแล้วเป็นการระลึกถึงมรณสักขีของ เจ้าชายคนุต ลาวาร์ด พระนัดดาของพระองค์มากกว่า[9][10]
ในปีค.ศ. 1300 พระบรมศพของพระองค์และเจ้าชายเบเนดิกต์ พระอนุชา ได้รับการฝังใหม่ที่มหาวิหารนักบุญคนุตในโอเดนเซ ซึ่งถูกสร้างเพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์ และพระบรรมศพของพระองค์ยังคงอยู่ที่นั่น[1]
พระราชมรดก
[แก้]รัชกาลของกษัตริย์คนุตได้ถูกตีความแตกต่างกันไปตามกาลเวลา จากกษัตริย์หัวรุนแรงที่กดขี่ข่มเหงประชาชน มาเป็นกษัตริย์ผู้เข้มงวดแต่ยุติธรรม ซึ่งอุทิศพระองค์แก่คริสตจักรโรมันคาทอลิกอย่างทุ่มเท ทรงต่อสู้เพื่อความยุติธรรมโดยไม่คำนึงถึงตัวพระองค์เอง[3] พระองค์ไม่ทรงเคยเป็นนักบุญซึ่งเป็นที่นิยมในเดนมาร์ก แต่ความเป็นนักบุญของเขาทำให้สถาบันกษัตริย์เดนมาร์กได้รับรัศมีของเทวสิทธิราชย์[1] สาเหตุของการกบฏที่ได้สังหารกษัตริย์คนุตที่ 4 นั้นไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ก็สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะค่าปรับที่ทรงเรียกเก็บจากชาวนาที่ไม่ได้มาเข้าร่วม "เลดัง" ในปีค.ศ. 1085 ตามที่ระบุไว้ในพงศาวดารรอสกิลด์ หรืออาจเป็นเพราะผลที่รุนแรงที่เกิดมาจากนโยบายทศางค์ของพระองค์
เอกสารการบริจาคให้มหาวิหารลุนด์ของพระองค์ เป็นเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดในเดนมาร์ก ซึ่งให้ข้อมูลเชิงลึกอย่างกว้างๆ เกี่ยวกับสังคมหลังยุคไวกิงของเดนมาร์ก[6] การบริจาคอาจเป็นจุดประสงค์ในการจัดตั้งสังฆมณฑลลุนด์ของเดนมาร์ก ตามพระราชประสงค์ของกษัตริย์สเวนที่ 2[2] ซึ่งมาสำเร็จในปีค.ศ. 1104 เมื่อพระราชโอรสของกษัตริย์คนุตคือ เจ้าชายคาร์ล ได้เป็นเคานท์แห่งแฟลนเดอส์ระหว่างปีค.ศ. 1119 ถึงค.ศ. 1127 พระองค์ได้รับพระสมัญญานามว่า ชาร์ล คนดี เคานท์คาร์ล หรือ ชาร์ล ก็ทรงพบจุดจบเหมือนพระราชบิดาคือ ทรงถูกปลงพระชนม์โดยกบฏ (ในบรูช ค.ศ. 1127) ต่อมาทรงได้รับการประกาศเป็นบุญราศี[2] ตามบันทึกของนีลส์ ลุนด์ ผู้สอนประวัติศาสตร์ยุคกลางของมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ระบุว่า การที่กษัตริย์คนุตละทิ้งการบุกอังกฤษ "ถือเป็นจุดจบของยุคสมัยไวกิง"
ในปีค.ศ. 2008 มีการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์พระบรมศพของกษัตริย์คนุต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นคนถนัดมือขวา และมีพระวรกายผอมเพรียว นอกจากนี้มีการระบุสาเหตุการสวรรคตว่ามีการแทงจากกระดูกใต้กระเบนเหน็บไปยังส่วนท้อง ซึ่งลบล้างบันทึกของอาลินอธแห่งแคนเทอร์เบอรี พระองค์ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ ที่มีการต่อสู้กับศัตรูหลายคน ซึ่งเป็นการสนับสนุนหลักฐานที่ว่าพระองค์ทรงยอมรับความตายโดยที่ไม่ทรงต่อสู้ใดๆ เลย[7]
ในสเปน วันเฉลิมฉลองนักบุญคนุต กลายเป็น "วันหยุด" เล่นๆ สนุกๆ ไม่จริงจัง สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อให้มารีฮวนนาถูกกฎหมาย ตามภาษาสเปนชื่อพระองค์คือ คานูโต ซึ่งบังเอิญตรงกับคำเรียก บุหรี่จากกัญชา[11]
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 Stefan Pajung, Knud den Hellige ca. 1042–1086, danmarkshistorien.dk, Aarhus University, 22 January 2010
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 Bricka, Carl Frederik, Dansk Biografisk Lexikon, vol. IX [Jyde – Køtschau], 1895, pp.260–263.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Knud 4. den Hellige at Gyldendals Åbne Encyklopædi
- ↑ Bricka, Carl Frederik, Dansk Biografisk Lexikon, vol. VII [I. Hansen – Holmsted], 1893, p.74.
- ↑ Line, Philip (2007). Kingship and State Formation in Sweden: 1130–1290. Brill. pp. 499–500.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 Knud den Helliges gavebrev 1085 เก็บถาวร 23 กรกฎาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, danmarkshistorien.dk, Aarhus University, 6 June 2010
- ↑ 7.0 7.1 CT-scanning af Knud den Hellige afslører nyt om kongemord เก็บถาวร 2008-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Ingeniøren, 8 March 2008
- ↑ Farmer, David Hugh (1997). The Oxford dictionary of saints (4. ed.). Oxford [u.a.]: Oxford Univ. Press. pp. 87. ISBN 9780192800589.
- ↑ Axelsson, M: Tjugo dagar efter jul, published 13 January 2007 (in Swedish)
- ↑ The Scandinavian Remedy: The murder at Haraldsted (3 January 2009) เก็บถาวร 16 มีนาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, retrieved 8 January 2012.
- ↑ "En honor a San Canuto". El País (ภาษาสเปน). 20 January 2003.
อ้างอิง
[แก้]- The Oxford Illustrated History of the Vikings. Ed., Peter Sawyer. Oxford University Press, New York, 1997. Chapter Seven: "The Danish Empire and the End of the Viking Age" by Niels Lund. The quote is from page 181.
- The Oxford Dictionary of Saints. Ed David High Farmer. Oxford University Press, 2004. See the entry on St Canute.
ก่อนหน้า | พระเจ้าคนุตที่ 4 แห่งเดนมาร์ก | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าฮารัลด์ที่ 3 | พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก (ค.ศ. 1080 - ค.ศ. 1086) |
พระเจ้าโอลาฟที่ 1 |