พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
จุลจิตรกรรมของพระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก ราวปี ค.ศ. 1282
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ครองราชย์29 พฤษภาคม 1259 – 22 พฤศจิกายน 1286
ราชาภิเษก25 ธันวาคม ค.ศ. 1259
ก่อนหน้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1
ถัดไปอีริคที่ 6
ผู้สำเร็จราชการ
สมเด็จพระพันปีหลวงมาร์เกเรเธ ซัมบีเรีย (1259-1264)
ประสูติค.ศ. 1249
สวรรคต22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1286(1286-11-22) (37 ปี)
ฟินเดอรัป, วีบอร์ก, เดนมาร์ก
ฝังพระศพมหาวิหารวีบอร์ก วีบอร์ก, เดนมาร์ก
คู่อภิเษกอักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
อีริค คริสตอฟเฟอร์เซน แอสตริดเซน
ราชวงศ์แอสตริดเซน
พระราชบิดาพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดามาร์เกเรเธ ซัมบีเรีย
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก หรือ พระเจ้าอีริคที่ 5 "เศษเพนนี" (ค.ศ. 1249 - 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1286) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กระหว่างค.ศ. 1259 ถึง ค.ศ. 1286 หลังจากพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก พระราชบิดาสวรรคต สมเด็จพระราชินีมาร์เกเรเธ ซัมบีเรีย พระราชมารดาของพระองค์ปกครองเดนมาร์ในพระนามของพระองค์จนถึงค.ศ. 1266 และได้รับการพิสูจน์ว่าพระนางทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่มีความสามารถ ในระหว่างปีค.ศ. 1261 ถึงค.ศ. 1262 กษัตริย์หนุ่มและพระราชมารดาทรงกลายเป็นนักโทษในฮ็อลชไตน์ จากความพ่ายแพ้ในสงคราม หลังจากนั้นพระองค์ประทับในบรันเดินบวร์ค ซึ่งพระองค์ถูกจับกุมโดยโยฮันน์ที่ 1 มาร์เกรฟแห่งบรันเดินบวร์ค (ราวค.ศ. 1213-1266)[1]

พระสมัญญานาม[แก้]

พระเจ้าอีริคที่ 5 ทรงมีพระสมัญญานามว่า "คลิปปิง" (Klipping) หรือ "กลิปปิง" (Glipping) เป็นการกล่าวถึงเหรียญเงินเพนนีในยุคสมัยกลางที่ใช้หมดไป ("เศษเพนนี"; a "clipped penny") หรือเป็นการกล่าวถึงการลดค่าเงิน พระสมัญญานามนี้เป็นการบรรยายถึงการขาดความเชื่อถืออย่างไร้ปราณีของพระองค์ ด้วยพระองค์ทรง "โกงเงิน" ประชาชนและสถาบันกษัตริย์ของพระองค์เอง[2]

สมัยผู้สำเร็จราชการ[แก้]

กางเขนรำลึกกษัตริย์อีริคที่ 5 ณ หมู่บ้านฟินเดอรัป

เมื่อกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 1 พระราชบิดาของพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ในปี 1259 เจ้าชายอีริคยังทรงพระเยาว์เกินกว่าที่จะทรงปกครองด้วยสิทธิ์ของพระองค์เอง ราชสำนักเดนมาร์กจึงแต่งตั้งสมเด็จพระราชินีมาร์เกเรเธ ซัมบีเรีย พระราชมารดาของพระองค์เป็นผูสำเร็จราชการแทนพระองค์ พระนางมาร์เกเรเธเป็นธิดาในซัมบอร์ที่ 2 ดยุกแห่งพอเมอเรเนียกับเม็ชทิลท์แห่งเมคเลินบวร์ค พระนางมาร์เกเรเธเป็นสตรีผู้ชาญฉลาดและทรงปัญญา พระนางทรงพยายามอย่างยิ่งในการต่อสู้เพื่อให้พระราชโอรสได้นั่งราชบัลลังก์จากการท้าทายของศัตรูผู้ทรงอำนาจอย่างอาร์กบิชอปแห่งลุนด์ คือ จาค็อบ เออลันด์เซน (ราวค.ศ. 1220-1274) และเจ้าชายอีริค พระโอรสในกษัตริย์อเบลซึ่งดำรงตำแหน่งดยุกแห่งชเลสวิกตั้งแต่ปี 1260 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1272 อาร์กบิชอปเออลันด์เซนประกาศขับไล่บิชอปที่ประกอบศีลเจิมให้ยุวกษัตริย์ที่ 5 เป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์กออกจากศาสนา ส่วนดยุกอีริคก็เป็นพระนัดดาของกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 1 เป็นพระโอรสในกษัตริย์รัชกาลก่อน พระองค์จึงเริ่มขัดแย้งต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่[3] [4]

ยาโรมาร์ที่ 2 เจ้าชายแห่งรือเกิน (ราวค.ศ. 1218-1260) อาศัยโอกาสในช่วงวุ่นวายนี้ระดมพลชาวเวนด์บุกเกาะเชลลันด์ สมเด็จพระพันปีหลวงมาร์เกเรเธทรงระดมกองทัพต่อต้านแต่ก็พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในปีค.ศ. 1259 ใกล้ริงสเต็ด ยาโรมาร์เข้าโจมตีและปล้นสะดมโคเปนเฮเกนในปลายปีนั้น จากนั้นเขาวางแผนบุกสคาเนียเป็นลำดับต่อไป แต่โชคร้ายเขาต้องพบเจอกับความโกรธเกรี้ยวของภรรยาชาวนาที่เสียชีวิต นางชาวนาพุ่งเอามีดแทงยาโรมาร์สิ้นชีวิตทันที ชาวเวนด์เสียขวัญจึงหนีกลับไปยังรือเกิน[5]

ดยุกอีริคเห็นว่าสมเด็จพระพันปีหลวงผู้เป็นอาสะใภ้พ่ายแพ้ชาวเวนด์จึงคิดว่าพระนางอ่อนแอ ดยุคอีริคจึงทรงก่อกบฏ สมเด็จพระพันปีหลวงมาร์เกเรเธจึงระดมพลยกทัพบุกจัตแลนด์ก่อนที่ดยุกจะเคลื่อนพล พระนางทรงบดขยี้กองทัพของดยุก และดยุกจึงทรงพยายามเจรจาไกล่เกลี่ยกับพระนาง แต่พระองค์ก็ลอบติดต่อให้พันธมิตรทางเยอรมนีตอนเหนือเข้าช่วยกำจัดกองทัพหลวงเดนมาร์ก กองกำลังผสมสามารถกำจัดกองทัพของพระนางมาร์เกเรเธได้ในปีค.ศ. 1261 ณ สมรภูมิลอเฮเดอ ทางตอนใต้ของเดเนอไวค์ในชเลสวิก-ฮ็อลชไตน์ พระนางและกษัตริย์อีริค พระโอรสถูกจับคุมขังและทรงถูกบังคับให้มอบดินแดนของราชวงศ์ทางตอนใต้ของจัตแลนด์ให้ดยุกเพื่อแลกกับการปล่อยตัว[6]

ในปีค.ศ. 1260 สมเด็จพระพันปีหลวงทรงปล่อยตัวอาร์กบิชอปเออลันด์เซนออกจากคุก โดยทรงคาดว่าเขาจะซาบซึ้งในพระกรุณา แต่เขากลับไปออกประกาศโทษต้องห้ามไปทั่วเดนมาร์กบีบบังคับให้สมเด็จพระพันปีหลวงและกษัตริย์อีริค พระราชโอรสต้องสละราชบัลลังก์ ในปีค.ศ. 1263 สมเด็จพระพันปีหลวงมาร์เกเรเธทรงมีพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 4 เพื่อทูลขอให้พระองค์แทรกแซงการกระทำของอาร์กบิชอปเออลันด์เซน หลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงตอบเป็นนัยอย่างคลุมเครือ ในที่สุดพระองค์ก็ตกลงที่จะทำตามพระประสงค์ของสมเด็จพระพันปีหลวงหลายประการ พระองค์ทรงออกประกาศเปลี่ยนแปลงการสืบราชสันตติวงศ์ของเดนมาร์กซึ่งอนุญาตให้สตรีสามารถครองบัลลังก์ได้ เป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของพระนางที่จะกีดกันพวกราชตระกูลอเบลและพวกของเม็ชทิลท์แห่งฮ็อลชไตน์ อดีตพระราชินีขึ้นสู่ราชบัลลังก์เดนมาร์ก และความพยายามครั้งนี้เปิดโอกาสให้พระขนิษฐาของกษัตริย์อีริคที่ 5 สามารถครองราชบัลลังก์เดนมาร์กได้หากกษัตริย์อีริคที่ 5 สวรรคตก่อนที่จะมีทายาท[7] แม้ว่าพระองค์ทรงมีพระราชสาสน์ตกลงตามพระพันปีหลวงนี้ แต่พระองค์ก็ไม่ได้ออกประกาศมาอย่างเป็นทางการ แต่สุดท้ายแล้วเจ้าชายอีริค พระราชโอรสในกษัตริย์อีริคที่ 5 ก็ได้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาต่ออยู่ดี

รัชกาล[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าอีริคที่ 5
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHans Majestæt
(ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับDeres Majestæt
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะกษัตริย์อีริคที่ 5 ทรงพยายามใช้พระราชอำนาจเหนือคริสตจักรและขุนนาง ในทศวรรษที่ 1270 กษัตริย์อีริคทรงยกทัพโจมตีสมาลันด์ ความขัดแย้งของพระองค์กับศาสนจักรได้ทุเลาลงจากการช่วยเหลือของสมเด็จพระสันตะปาปา ในปีค.ศ. 1282 พระองค์ทำให้ขุนนางทั่วเดนมาร์กขุ่นเคืองจนต้องทรงถูกบังคับลงพระปรมาภิไธยในกฎบัตร "ฮานด์เฟสเนง" ถือเป็นมหากฎบัตรในแบบฉบับของเดนมาร์ก ซึ่งจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์และรับรองสิทธิและประเพณีโบราณที่รักษาอำนาจไว้ในมือของขุนนาง พระมหากษัตริย์ทรงลงพระมรมาภิไธยในกฎบัตรที่ปราสาทนูบอร์ก และได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญแรกของเดนมาร์กเท่าที่มีการค้นพบ แต่เมื่อกษัตริย์อีริคที่ 5 เสด็จสวรรคต สิทธิ์และการรับรองในกฎบัตรปีค.ศ. 1282 ก็ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากกษัตริย์พระองค์ต่อไปไม่ได้ทรงต้องผูกมัดด้วยข้อตกลงเดียวกันนี้[8] [9]

การเสด็จสวรรคตอย่างปริศนา[แก้]

ภาพ"ผู้ก่อการรวมตัวกันหลังออกมาจากฟินเดอรัปหลังจากปลงพระชนม์กษัตริย์อีริค เศษเพนนี ในคืนวันนักบุญเซซิเลีย ค.ศ. 1286" วาดโดยอ็อตโต บาร์ช ในปีค.ศ. 1882

ตามตำนานเล่าว่าขุนนางหลายคนให้สัตย์สาบานว่าจะลอบปลงพระชนม์กษัตริย์อีริคที่ 5 เพื่อแก้แค้นที่พระองค์ดูถูกดูแคลนและพระราโชบายของกษัตริย์ก็ไม่เป็นที่พอใจของพวกเขา บรรดาหัวหน้ากลุ่มก่อการมีทั้งแม่ทัพ สติก อันเดอร์เซน ไวด์และจาค็อบ นีลส์เซน เคานท์แห่งฮัลลันด์ พวกเขาจ่ายเงินให้แก่ราเนอ จอนเซน (1254-1294) หนึ่งในข้าราชบริพารของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้รายงานกิจวัตรของพระมหากษัตริย์แก่พวกเขา เพื่อที่พวกเขาจะได้บรรลุความปรารถนาตามคำสัตย์สาบาน[10] [11] [12]

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1286 กษัตริย์อีริคที่ 5 ทรงประทับอยู่ที่วีบอร์ก ทางตอนกลางของคาบสมุทรจัตแลนด์ พระองค์เสด็จไปล่าสัตว์ในพื้นที่ชนบทร่วมกับราเนอ จอนเซนและผู้ติดตามเพียงไม่กี่คนเป็นเวลาทั้งวัน แต่พระองค์และคณะหาเส้นทางกลับที่ประทับไม่เจอ ราเนอกราบทูลให้พระองค์พักค้างคืนในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1286 ที่โรงนาของโบสถ์ในหมู่บ้านฟินเดอรัป เหล่ามือสังหารได้รับแจ้งข่าว พวกเขาสวมชุดนักบวชคณะฟรันซิสกันและรอคณะของกษัตริย์มาประทับที่โรงนาของโบสถ์ในตอนกลางคืน เมื่อกษัตริย์ทรงบรรทมหลับ พวกเขาก็รีบออกจากที่ซ่อนและรุมแทง รุมสับกษัตริย์จนสวรรคต[13]

ตามตำนานเล่าว่าพระองค์ถูกแทง 56 แผล ด้วยนิทานพื้นบ้านนี้ทำให้สติก อันเดอร์เซนได้รับความนิยมเพราะตามนิทานอ้างว่า เขาแก้แค้นเพราะกษัตริย์อีริคทรงโอ้โลมภรรยาของเขา ในช่วงที่เขาไปประจำการในกองทัพ พระวรกายโชคโลหิตของกษัตริย์อีริคที่ 5 ถูกพบในวันรุ่งขึ้น[14]

ราชสำนักกล่าวโทษสติก อันเดอร์เซนและเคานท์แห่งฮัลลันด์ ขุนนางผู้ทรงอิทธิพลในอาณาจักรแทบจะในทันที พวกเขาถูกประกาศเป็นอาชญากรพร้อมพวกอีกเจ็ดคน มีเพียงคนเดียวที่ถูกกล่าวหาว่าปลงพระชนม์กษัตริย์ ส่วนคนอื่นๆ ถูกกล่าวหาว่าให้ความร่วมมือ แต่ไม่ว่าพวกเขาจะเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมจริงหรือไม่แต่สุดท้ายก็ยังคงเป็นปริศนา สติก ไวด์หลบหนีออกจากประเทศไปเป็นโจรสลัด แน่นอนว่าสติก ไวด์ไม่ใช่บุคคลเพียงคนเดียวที่อยากสังหารกษัตริย์อีริค วัลเดมาร์ที่ 4 ดยุกแห่งชเลสวิก ผู้เป็นโอรสในอดีตดยุกอีริค ผู้ก่อกบฏ ซึ่งถูกบังคับให้รับตำแหน่งดยุกแห่งชเลสวิกในปีค.ศ. 1283 ก็อยากสังหารกษัตริย์ และแม้กระทั่งบาทหลวงหลายคนที่ได้รับการแต่งตั้งจากอาร์กบิชอปจาค็อบ เออลันด์เซนซึ่งยังคงเป็นศัตรูที่ขมขื่นกับราชบัลลังก์ ก็อยากที่จะสังหารกษัตริย์อีริคที่ 5 เช่นกัน[15]

พระโอรสธิดา[แก้]

กษัตริย์อีริคที่ 5 อภิเษกสมรสกับอักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค (ราวค.ศ. 1257-1304) ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1273 ณ ดัชชีชเลสวิช พระนางเป็นธิดาในโยฮันน์ที่ 1 มาร์เกรฟแห่งบรันเดินบวร์คกับบริจิตต์แห่งแซกโซนี การอภิเษกสมรสครั้งนี้เป็นข้อตกลงในช่วงที่กษัตริย์อีริคที่ 5 ทรงถูกคุมขังในบรันเดินบวร์คโดยบิดาของอักเนสในช่วงปีค.ศ. 1262 ถึง 1264 ตามพงศาวดารอ้างว่ากษัตริย์ได้รับการปล่อยตัวจากที่คุมขังเนื่องจากพระองค์สัญญาว่าจะอภิเษกสมรสกับอักเนสให้เป็นพระราชินีแห่นเดนมาร์ก โดยไม่มีสินสอดของทางฝ่ายเจ้าสาวให้แก่ฝ่ายเจ้าบ่าว[16] [17] ทั้งสองมีพระโอรสธิดา 7 พระองค์ ดังนี้

  พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา
- เจ้าหญิงรีเชซาแห่งเดนมาร์ก ราว ค.ศ. 1272 27 ตุลาคม ค.ศ. 1308 อภิเษกสมรสในปีค.ศ. 1292 กับ
ลอร์ดนิโคลัสที่ 2 แห่งแวร์เลอ
มีพระโอรสธิดา 2 พระองค์ ได้แก่
โยฮันน์ที่ 3 แห่งแวร์เลอ
โซเฟีย เคานท์เตสแห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บูร์ก
พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก ค.ศ. 1274 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1319 อภิเษกสมรสเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1296 กับ
เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์ก มักนุสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน
มีพระโอรส 4 พระองค์ ทั้งหมดสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ ได้แก่
เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก
เจ้าชายอีริคแห่งเดนมาร์ก
เจ้าชายมักนุสแห่งเดนมาร์ก
เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม

พระราชินีทรงแท้งพระบุตรอีกถึง 8 - 14 ครั้ง
พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1276 2 สิงหาคม ค.ศ. 1332 อภิเษกสมรสในปี ค.ศ. 1300 กับ
ยูเฟเมียแห่งพอเมอเรเนีย
มีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ ได้แก่
เจ้าหญิงมาร์เกรเธอ มาร์เกรฟวีนแห่งบรันเดินบวร์ค
อีริค คริสตอฟเฟอร์เซนแห่งเดนมาร์ก
เจ้าชายอ็อตโต ดยุกแห่งลอลันด์และเอสโตเนีย
เจ้าหญิงอักเนสแห่งเดนมาร์ก
เจ้าหญิงเฮลวิกแห่งเดนมาร์ก
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก
- เจ้าหญิงมาร์เกรเธอ สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน ค.ศ. 1277 2 มีนาคม หรือ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1341 อภิเษกสมรสในปี ค.ศ. 1298 กับ
พระเจ้าบีร์เยอแห่งสวีเดน
มีพระโอรสธิดา 4 พระองค์ ได้แก่
เจ้าชายมักนุสแห่งสวีเดน
เจ้าชายอีริค อัครพันธบริกร ณ อุปซอลา
เจ้าหญิงอักเนสแห่งสวีเดน
เจ้าหญิงคาทารีนาแห่งสวีเดน
- เจ้าหญิงคาทารีนแห่งเดนมาร์ก ราวค.ศ. 1281 ค.ศ. 1283 สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
- เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏ สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
- เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งเดนมาร์ก ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏ สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์

อ้างอิง[แก้]

  1. Artikel: Erik 5 Klipping 1249-1286 (Om danmarkshistorien.dk)
  2. "klipping". Danish-English Dictionary online. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  3. "Erlandsen, Jacob, –1274, Ærkebisp". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  4. "Erik (I), Hertug af Sønderjylland, –1272". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  5. "Jaromar II". Allgemeine Deutsche Biographie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  6. "Lohede, Slaget ved". Historisk Samfund for Sønderjylland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-26. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  7. Dansk Kvindebiografisk Leksikon
  8. Kilde: Mordet på Erik Klipping 22. november 1286 (Om danmarkshistorien.dk)
  9. Porter, Darwin; Prince, Danforth; Norum, Roger (15 June 2011). Frommer's Scandinavia. John Wiley & Sons. p. 137. ISBN 978-1-118-09023-7.
  10. "Stig Andersen Hvide". Dansk Biografisk Leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  11. "Grev Jakob af Hallands". Gyldendals og Politikens Danmarkshistorie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  12. "Rane Jonsen". roskildehistorie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  13. "Mordet i Finderup Lade - Erik Klipping". gedevasen. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-12. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  14. Huitfeldt, Arild. Danmarks Riges Krønike
  15. "Valdemar 4. Eriksen, d. 1312, hertug af Sønderjylland". Dansk Biografisk Leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  16. Alf Henrikson: Dansk historia (Danish history) (1989) (Swedish)
  17. "Agnes, 1258-1304, Dronning". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
ก่อนหน้า พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก ถัดไป
พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ดยุกแห่งเอสโตเนีย

(ค.ศ. 1259 - ค.ศ. 1286)
พระเจ้าอีริคที่ 6