พระพิจารณ์พลกิจ (ยู่เซ็ก ดุละลัมพะ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพิจารณ์พลกิจ
(พิจารณ์ ดุละลัมพะ)
อธิบดีกรมตำรวจ
ดำรงตำแหน่ง
1 ธันวาคม 2489 – 8 สิงหาคม 2490
ก่อนหน้าพลตำรวจโท พระรามอินทรา
ถัดไปพลตำรวจเอก หลวงชาติตระการโกศล
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด9 มกราคม พ.ศ. 2436
เมืองตราด ประเทศสยาม
เสียชีวิต17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 (66 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
คู่สมรสคุณนายกิมบ๊วย
นางผาด พิจารณ์พลกิจ
พระพิจารณ์พลกิจ
ชั้นยศ พลตำรวจตรี
บังคับบัญชากรมตำรวจ

พลตำรวจตรี พระพิจารณ์พลกิจ นามเดิม พิจารณ์ ดุละลัมพะ (9 มกราคม พ.ศ. 2436 – 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2489-2490

วัยเด็กและการศึกษา[แก้]

พลตำรวจตรี พระพิจารณ์พลกิจ มีนามเดิมว่า ยู่เซ็ก ดุละลัมพะ เกิดเมื่อวันจันทร์ ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2435 ปีมะโรง จ.ศ. 1254 (นับแบบปัจจุบันคือปี พ.ศ. 2436) ณ บ้านตลาดขวาง ตำบลบางพระ อำเภอเมือง จังหวัดตราดเป็นบุตรคนที่ 7 ของ ขุนนราพานิช ( บ๊วย ) และ นางหยาม ดุละลัมพะ ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 12 คน ดังนี้

  1. นางกิมไส ดุละลัมพะ
  2. นางกิมสี คำจิ่ม
  3. นางสาวกิมสอง ดุละลัมพะ
  4. รองอำมาตย์เอก หลวงรจิตจักรภัณฑ์ ( เซ็ก ดุละลัมพะ )
  5. นายสุชาติ ดุละลัมพะ
  6. นางสาวกิมค๊อก ดุละลัมพะ
  7. พลตำรวจตรี พระพิจารณ์พลกิจ
  8. นางแส ดุละลัมพะ
  9. นางสาวสวิง ดุละลัมพะ
  10. นางสาวแสวง ดุละลัมพะ
  11. นางสาวกิมเง๊ก ดุละลัมพะ
  12. พลตำรวจตรีโมรา ดุละลัมพะ

เมื่อเยาว์วัย ได้เข้าศึกษาที่วัดไผ่ล้อม (จังหวัดตราด) ในสำนักของพระวิมลเมธาจารย์ วรญาณคณานุรักษ์ (เจ้ง จนฺทสโร) เจ้าคณะจังหวัดตราด (ปัจจุบันคือโรงเรียนตราษตระการคุณ) จนสอบไล่ได้ประกาศนียบัตร ประถมชั้น 3 เมื่ออายุได้ 11 ปี ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2446 รัฐบาลไทยได้ยกจังหวัดตราดให้กับฝรั่งเศส โดยได้แลกกับจังหวัดจันทบุรีที่ยึดไว้เป็นประกันนั้น จึงได้อพยพติดตามมารดากับพี่น้องมาอยู่ที่จันทบุรีชั่วระยะหนึ่ง แล้วย้ายเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยมาเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนปทุมคงคา แล้วลาออก ต่อมามารดาพาเข้าไปฝากตัวต่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ซึ่งขณะนั้นยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณวราภรณ์

รับราชการ[แก้]

เริ่มเข้ารับราชการครั้งแรก เป็นเสมียนโรงกลึง ในกรมทาง กระทรวงคมนาคม เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2453 แล้วจึงโอนมารับราชการในกระทรวงนครบาล เมื่อ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2455 ได้ศึกษาวิชาการตำรวจ สำเร็จการศึกษาในปีถัดมา

ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระพิจารณ์พลกิจ เมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 [1]

ตำแหน่งในราชการในเจริญมาโดยลำดับ คือ

  • วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2455 เป็นนักเรียนนายหมวด กระทรวงนครบาล เงินเดือน 20 บาท
  • วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2458 เป็นรองสารวัตรตำรวจสามแยก เงินเดือน 60 บาท
  • วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2463 เป็นสารวัตรตำรวจกองพิเศษ
  • วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2471 เป็นสารวัตรใหญ่กองพิเศษ และช่วยราชการแผนกทะเบียนปืน ทะเบียนรถ เงินเดือน 260 บาท
  • - ผู้กำกับการตำรวจนครบาลกองพิเศษ
  • 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 - รั้งตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาลกองพิเศษ[2]
  • 4 ธันวาคม พ.ศ. 2473 ผู้บังคับการตำรวจนครบาลกองพิเศษ[3]
  • 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 เป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ [4]
  • 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 เป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล [5]
  • 12 เมษายน พ.ศ. 2480 เป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ [6]
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2482 เป็นรองอธิบดี และรักษาการแทนผู้กำกับการ 2 สันติบาล เงินเดือน 900 บาท

ราชการพิเศษ[แก้]

  • วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 เป็นผู้จับกุมชนชาติศัตรูผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมืองขณะนั้น
  • วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2469 เป็นเลขานุการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไปประชุมที่ปีนัง และสังคโปร์ เป็นเวลา 12 วัน
  • วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 และเป็นผู้แทนรัฐบาล ไปประชุมสมัชชาสันนิบาตชาติ ที่บันดุง ชวา
  • พ.ศ. 2482 เป็นกรรมการพิจารณาตอบกระทู้ และร่าง พ.ร.บ.สภาผู้แทนราษฎร
  • พ.ศ. 2483 เป็นกรรมการพิจารณาป้องกัน และปราบปรามโจรผู้ร้าย
  • พ.ศ. 2483 เป็นกรรมการอำนวยการจัดงานวันชาติ

ได้รับตำแหน่งสูงสุดในราชการคืออธิบดีกรมตำรวจ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2489[7] ในสมัยรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้ลาออกจากราชการ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ .2490 โดยให้เหตุผลว่าสุขภาพไม่สมบูรณ์[8] และไม่กลับเข้ารับราชการอีกเลย แม้ภายหลังจะมีผู้มาขอร้องให้ไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ท่านก็ไม่รับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดที่ได้คือ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 2

เมื่อลาออกจากราชการแล้ว ในปี พ.ศ. 2490 ได้อุปสมบท ณ วัดเบญจมบพิตร โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "วิจารโณ" และภายหลังเมื่อลาสิกขาแล้ว ก็ได้ใช้ชีวิตไปกับการอุทิศตนให้กับศาสนา ด้วยการถือศีล ฟังธรรมเทศนา ในวันธรรมสวนะตามวัดต่าง ๆ เช่น วัดบุปผาราม วัดราชาธิวาศ วัดมหาธาตุ และสุดท้ายคือวัดราชผาติการาม โดยมีความเคารพนับถือ และเป็นที่คุ้นเคยของพระเถระผู้ใหญ่หลายรูป อาทิ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) วัดราชผาติการาม พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) วัดมกุฎกษัตริยาราม พระธรรมวราลังการ (กล่อม อนุภาโส) วัดบุปผาราม เป็นต้น ได้บวชกุลบุตรให้อุปสมบทในวัดต่าง ๆ รวมถึง 44 รูป

ยศและบรรดาศักดิ์[แก้]

  • ร้อยตำรวจตรี
  • 27 พฤศจิกายน 2463 – ร้อยตำรวจโท[9]
  • 30 ธันวาคม พ.ศ. 2464 - ขุนพิจารณ์พลกิจ ถือศักดินา ๔๐๐[10]
  • 1 มกราคม พ.ศ. 2466 - ร้อยตำรวจเอก[11]
  • 1 มกราคม พ.ศ. 2466 - หลวงพิจารณ์พลกิจ ถือศักดินา ๖๐๐[12]
  • 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 - พันตำรวจตรี[13]
  • 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 - พันตำรวจโท[14]
  • 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 - พระพิจารณ์พลกิจ
  • 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 - พันตำรวจเอก[15]
  • 1 ธันวาคม พ.ศ. 2489 - พลตำรวจตรี

ครอบครัว[แก้]

ด้านชีวิตครอบครัว ในปี พ.ศ. 2457 ได้สมรสครั้งแรกกับคุณนายกิมบ๊วย มีบุตร-ธิดา 3 ท่าน คือ

  • นายสังข์เวียน ดุละลัมพะ
  • นางสายสวาท ยอดมณี
  • นายเฉลิม ดุละลัมพะ

เมื่อคุณนายกิมบ๊วย ถึงแก่กรรมแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 จึงได้สมรสอีกครั้ง กับ คุณผาด สินธุสาร ภายหลังคือ นางพิจารณ์พลกิจ (ผาด ดุละลัมพะ) โดยมีเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 เป็นเจ้าภาพสมรสให้ ณ วังสวนสุพรรณ สามเสน กรุงเทพฯ และได้ร่วมทุกข์สุขกันจนสิ้นชีวิต แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน แต่ได้อนุเคราะห์หลานมาเป็นบุตรบุญธรรม 4 คน คือ

  • นางผาสุข สุนทรขจิต
  • นายรุ่งเรือง ดุละลัมพะ
  • นายดุละดิลก ดุละลัมพะ
  • เด็กหญิงวราทร ดุละลัมพะ

พลตำรวจตรี พระพิจารณ์พลกิจ ป่วยด้วยโรคปอด และเบาหวาน มาตั้งแต่รับราชการ ได้พยายามเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชียวชาญหลายท่าน เช่น ศ.นพ.ประเสริฐ กังสดาลย์ และ พ.ต.หลวงนิตย์เวชช์วิศิษฐ์ ฯลฯ แต่ก็ทรุดลงเรื่อยมา จนถึงแก่กรรม ณ บ้านพึ่งประยูร เลขที่ 950 ถนนนครไชยศรี ดุสิต กรุงเทพ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 รวมอายุ 67 ปี 10 เดือน 8 วัน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๒๙๗๔)
  2. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งผู้รั้งตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาลกองพิเศษ
  3. เรื่อง ตั้งผู้บังคับการตำรวจนครบาลกองพิเศษ
  4. ประกาศ ปลดและย้ายนายตำรวจ (หน้า ๔๙๖)
  5. บรรจุนายตำรวจ (หน้า ๓๓๓๓)
  6. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งรองอธิบดีกรมตำรวจ
  7. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศและแต่งตั้งข้าราชการ
  8. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อนุญาตให้ข้าราชการลาออกจากราชการ
  9. พระราชทานยศ
  10. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๒๙๓๖)
  11. พระราชทานยศ (หน้า ๓๒๐๔)
  12. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๓๒๗๘)
  13. พระราชทานยศพลเรือน (หน้า ๒๔๕๒)
  14. พระราชทานยศพลเรือน (หน้า ๒๗๘๒)
  15. ประกาศ เรื่อง พระราชทานยศตำรวจ
  16. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๐๐, ๑๖ ตุลาคม ๒๔๘๒
  17. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๘๐๓, ๒๕ กันยายน ๒๔๘๒
  18. ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีรายนาม ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เก็บถาวร 2022-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๕, ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๗๘
  19. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๕๔, ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๔
  20. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ เก็บถาวร 2022-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๖๐๓, ๑๒ มกราคม ๒๔๗๒
  21. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๖๐๘, ๒๓ มกราคม ๒๔๘๑

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • พิจารณ์อนุสรณ์ : ( เพื่อเป็นที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพลตำรวจตรี พระพิจารณ์พลกิจ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 )
ก่อนหน้า พระพิจารณ์พลกิจ (ยู่เซ็ก ดุละลัมพะ) ถัดไป
พลตำรวจโท
พระรามอินทรา
(ดวง จุลัยยานนท์)
อธิบดีกรมตำรวจ คนที่ 12
(2489 – 2490)
พลตำรวจเอก
หลวงชาติตระการโกศล
(เจียม ลิมปิชาติ)