พระยาวาสุเทพ (กุสตาฟ เชา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาวาสุเทพ (กุสตาฟ เชา)
อธิบดีกรมตำรวจภูธร
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2456 – พ.ศ. 2458
ก่อนหน้าอีริกเซ็นต์ เย ลอสัน
ถัดไปพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2402
ประเทศเดนมาร์ก
เสียชีวิตพ.ศ. 2462

พลตรี[1]พระยาวาสุเทพ (กุสตาฟ เชา) (อังกฤษ: Gustave Schau; 28 ตุลาคม พ.ศ. 2402- 31 สิงหาคม พ.ศ. 2462) เป็นอธิบดีกรมตำรวจภูธรคนที่ 5

ประวัติ[แก้]

พลตรี พระยาวาสุเทพ (กุสตาฟ เชา) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2402 เป็นชาวเดนมาร์ก บิดาชื่อพันตรีเอินส์ท เฟรเดอริก เชา บิดาของเขาก็ได้เสียชีวิตในสงครามกับปรัสเซีย กุสตาฟ เชา ลาออกจากโรงเรียนไปเป็นทหาร สังกัดหน่วยทหารราบเมื่ออายุได้ 17 ปี ในขณะที่วัลเดอมาร์ เชา พี่ชายที่แก่กว่าสองปีได้ทำงานเป็นนักกฎหมาย และได้เป็นถึงผู้พิพากษาศาลสูงในโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก

ต่อมาร้อยตรีกุสตาฟ เชาได้เดินทางไปทำงานในสยาม โดยได้ขอเข้าเฝ้าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ[2] (พระยศในขณะนั้น) เพื่อทูลขอให้รับเข้าทำงานในกองทัพ โดยได้แสดงเอกสารรับรองด้านการทหารให้ทอดพระเนตร ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงพอพระทัยและทรงรับไว้ทำงานทันที โดยให้ทำงานในตำแหน่งครูฝึกทหาร ในบรรดาศักดิ์ที่ หลวงศัลวิธานนิเทศ ถือศักดินา 1000 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ร.ศ. 108 (พ.ศ. 2432)[3]และก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ[4] จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สุดท้ายที่ พระยาวาสุเทพ เจ้ากรมมหาดไทยตำรวจภูธรขวา ถือศักดินา 1000 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2449[5]

ผลงานหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้แก่กุสตาฟ เชา คือ การปราบปรามอั้งยี่ในย่านสำเพ็ง โดยบันทึกของเจ้าหน้าที่ทางการของเดนมาร์ก คือ วอลเตอร์ คริสต์มาส เมิลเลอร์กล่าวว่า ผู้บังคับการทหารเรือ คือ อองเดร ริเชอลิเยอ ได้นำกำลังทหารเรือ 400 นาย ร่วมกับทหารใต้บังคับบัญชาของร้อยเอกกุสตาฟ เชาอีก 300 นายร่วมกันปฏิบัติการดังกล่าว โดยมีผู้ถูกจับกุมไปร่วมร้อยคน[6]

รับราชการ[แก้]

หลังรับราชการในกองทัพ กุสตาฟ เชาได้รับการติดต่อให้ทำหน้าที่ก่อตั้งและควบคุมดูแลงานตำรวจนครบาล และงานตำรวจภูธร โดยกุสตาฟ เชา ยินดีรับทำเพียงงานเดียว คือ การก่อตั้งกิจการตำรวจภูธร โดยกรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กราบบังคมทูลและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "กรมตำรวจภูธร" ขึ้น ในปี พ.ศ. 2440[7] แทนกรมกองตระเวนหัวเมือง และได้แต่งตั้งให้ พันเอกกุสตาฟ เชา หรือ หลวงศัลวิธานนิเทศ มาเป็นเจ้ากรม

ในการเริ่มต้นก่อตั้งสถานีตำรวจภูธร กุสตาฟ เชาได้จัดวางอัตรากำลังสำหรับสถานีตำรวจแต่ละแห่งไว้ 250 นาย มีนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาทั้งชาวสยามและเดนมาร์ก โดยกระจายสถานีตำรวจออกไปในแต่ละท้องที่ประมาณ 400 สถานี ซึ่งต้องใช้กำลังตำรวจร่วมหมื่นนาย เนื่องจากต้องการกำลังพลจำนวนมาก เจ้ากรมตำรวจภูธรจึงรายงานความเห็นและขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยเพื่อจัด ตั้งโรงเรียนสำหรับผลิตนายตำรวจขึ้นเอง ในปี พ.ศ. 2444 จึงได้มีการจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา[8] ในบริเวณที่ราชการให้ชื่อว่า"ประตูชัยณรงค์" ซึ่งเดิมชาวเมืองเรียกกันว่า "ประตูผี" (ปัจจุบันคือที่ตั้งกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3) ไปก่อน แล้วจึงค่อยย้ายไปในที่ที่เหมาะสมต่อไป

ในฐานะของเจ้ากรมตำรวจภูธร กุสตาฟ เชาถือได้ว่าเป็นเจ้านายที่ลูกน้องรัก ได้รับความเคารพนับถือในความสามารถด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการบริหารจัดการองค์กร ความมองการณ์ไกล ความยุติธรรม เหนือสิ่งอื่นใด คือ พลังงานในการทำงานที่ล้นเหลือ ความทุ่มเทของพระยาวาสุเทพ เจ้ากรมตำรวจภูธรนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานตำรวจภูธรถือเป็นหน่วยงานที่มีผลงานดีเยี่ยมที่สุดหน่วยงานหนึ่งในยุคนั้น

ลาออกจากราชการ[แก้]

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เจ้านายพระองค์ต่าง ๆ ที่เสด็จไปศึกษายังต่างประเทศได้เสด็จกลับมา ก็ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ แทนชาวต่างชาติ ในช่วงเวลานั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทย และตัวของพระยาวาสุเทพ หรือกุสตาฟ เชาก็ขอลาออกไปเพื่อขอรับพระราชทานเงินบำนาญด้วยเช่นกันเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2457 โดยมี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมารับตำแหน่งแทน [9] โดย พลตรี พระยาวาสุเทพ ได้เข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ สถานีรถไฟบางกอกน้อย เพื่อกราบถวายบังคมลากลับประเทศเดนมาร์กซึ่งเป็นบ้านเกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2457[10]

พระยาวาสุเทพ (กุสตาฟ เชา) ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2462 อายุได้ 60 ปี

ยศบรรดาศักดิ์และตำแหน่ง[แก้]

  • ร้อยเอก
  • 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 หลวงศัลวิธานนิเทศ
  • 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2435 พันตรี[11]
  • เมษายน พ.ศ. 2440 เจ้ากรมกองตระเวน[12]
  • 5 มีนาคม พ.ศ. 2440 เจ้ากรมตำรวจภูธร[13]
  • 27 กันยายน พ.ศ. 2442 พันโท[14]
  • 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 พระวาสุเทพ ถือศักดินา 1000[15]
  • 13 มิถุนายน พ.ศ. 2446 พันเอก[16]
  • 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 พระยาวาสุเทพ[17]
  • 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 พลตรี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก
  2. ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน จากเรือนไทย.com
  3. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
  4. กบฏเงี้ยว พ.ศ. 2445 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน รวมพลคนฮักเจียงคำ
  5. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
  6. ข้าราชการต่างประเทศแผ่นดินร.5 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. จากข่าวสดรายวัน. วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554.
  7. การต่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์[ลิงก์เสีย]
  8. ประวัติโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เก็บถาวร 2015-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, โรงเรียนนายร้อยตำรวจ.
  9. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พระยาวาสุเทพลาออกจากหน้าที่อธิบดีกรมตำรวจภูธร
  10. กราบถวายบังคมลา
  11. พระราชทานสัญญาบัตรทหาร
  12. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  13. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  14. พระราชทานสัญญาบัตรทหาร
  15. พระราชทานสัญญาบัตร์เลื่อนยศ
  16. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก
  17. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
  18. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  19. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (หน้า 2627)
  20. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (หน้า 1967)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2020-07-04.
  21. "พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-02-10. สืบค้นเมื่อ 2020-07-05.
  22. "พระราชทานเหรียญจักรมาลา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-01-26. สืบค้นเมื่อ 2020-01-26.
  23. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ก่อนหน้า พระยาวาสุเทพ (กุสตาฟ เชา) ถัดไป
อีริกเซ็นต์ เย ลอสัน อธิบดีกรมกองตระเวน คนที่ 5
(2456 – 2458)
พลตำรวจเอก
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ