พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) (30 เมษายน พ.ศ. 2424 - 30 มกราคม พ.ศ. 2509) อธิบดีกรมตำรวจคนที่ 3 ของประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) เกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2424 ที่ตำบลตลาดสมเด็จ อำเภอบางใหญ่ กรุงเทพ เป็นบุตรของ นายขำ และนางบุญรอด มีพี่น้องทั้งหมด 5 ท่าน คือ

  • นางปลั่ง สมรสกับ หลวงราชเดชา (ชม บุนนาค)
  • นางผ่อง สมรสกับ พันตำรวจเอก พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เชย ไชยคุปต์)
  • นางแปลก สมรสกับ นายกราย บุนนาค
  • นางสาวสาย พรหโมบล
  • คุณหญิงน้อมพิชัยภูเบนทร์ สมรสกับ พระยาพิชัยภูเบนทร์ (ผ่าน อินทรทัต)

ท่านสืบเชื้อสายโดยตรงจากราชตระกูลแห่งราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ โดยนายขำ บิดาของท่าน เป็นหลานตาของพระเจ้าอนุรุทราช มีมารดาชื่อ เจ้าหนูจีน เป็นธิดาลำดับที่ 18 ในจำนวน 23 คน ของพระเจ้าอนุรุทราช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทร์ ประเทศลาว เมื่อพระเจ้าอนุรุทราชถึงแก่พิราลัยเมือ พ.ศ. 2371 ครอบครัวของพระยาบุเรศผดุงกิจ ยังได้ติดต่อใกล้ชิดกับญาติสมัยเมื่อท่านยังมีชิวิตอยู่ มีอยู่ 2 ท่าน คือ เจ้าคลี่ และ เจ้าเสือ

ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงญาติทางพระมารดาด้วยพระเมตตา พี่น้องฝ่ายหญิงของพระยาบุเรศผดุงกิจ โดยเฉพาะน้องสาวคนเล็กคือ คุณหญิงน้อม พิชัยภูเบนทร์ นั้น ก็ถวายตัวเป็นข้าหลวงในเสด็จทั้งสองพระองค์ และรับใช้จนพระองค์เจ้าประดิษฐาสารีสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2505 ดังนั้น บุตรและธิดาของพระยาบุเรศผดุงกิจ จึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเสด็จพระองค์หญิงโดยสม่ำเสมอ

  • เจ้าเสือ เป็นบุตรคนที่ 9 ของพระเจ้าอนุรุทราช มีบุตรคือเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ เจ้าผู้ครองเมือง"อุบลราชธานี" ท่านนี้มีศักดิ์เป็นท่านลุงของพระยาบุเรศผดุงกิจ ซึ่งพระยาบุเรศผดุงกิจได้รับพระราชทานนามสกุลจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ตามชื่อและบรรดาศักดิ์ของท่านลุงว่า "พรหโมบล"

ตอนที่พระยาบุเรศผดุงกิจท่านเกิดมานั้น ครอบครัวมีฐานะร่ำรวย บิดาจึงได้ตั้งชื่อท่านว่า "รวย" แต่ต่อมาบิดาก็ถึงแก่กรรมลง ตั้งแต่ท่านเยาว์วัย จึงเป็นเหตุให้พระยาบุเรศผดุงกิจ ต้องอยู่ในอุปการะของพี่สาวคนโตทั้งสองคนคือ นางปลั่ง และนางผ่อง ซึ่งเป็นภริยาตำรวจ แต่หลังจากนั้นท่านเองก็ได้ไปสมัครเป็นตำรวจ เพราะพี่เขยเป็นตำรวจ ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้สนใจอาชีพนี้เลย เนื่องจากกลัวและไม่ชอบตำรวจเป็นทุนเดิม แต่ภายหลังพระยาบุเรศผดุงกิจได้เจริญก้าวหน้าในกรมตำรวจ จนได้รับตำแหน่งสูงสุดในกรม และบุตรหลานของพระยาบุเรศผดุงกิจ หลายคน ก็เป็นข้าราชการตำรวจเป็นส่วนใหญ่

ความเจริญก้าวหน้าในราชการของท่าน ตั้งแต่เข้ารับราชการเป็นตำรวจตั้งแต่ปี 2441 คือ

  • ปี 2441 เริ่มรับราชการในตำแหน่งพลตำรวจเสมียน พลตระเวนประจำสถานีตำรวจนครบาลสามยอด
  • ปี 2444 ได้เลื่อนยศเป็นนายหมวด สารวัตรแขวง สารวัตรใหญ่
  • 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2453 หลวงบุเรศผดุงกิจ ถือศักดินา ๖๐๐[1]
  • พ.ศ. 2453 ปลัดกรมกองตระเวน
  • 3 มิถุนายน พ.ศ. 2458 - อำมาตย์ตรี[2]
  • 17 มกราคม พ.ศ. 2458 - เปลี่ยนยศเป็น พันตำรวจตรี[3]
  • 23 มิถุนายน พ.ศ. 2459 - ได้เลื่อนยศ เป็น พันตำรวจโท [4]
  • 13 ธันวาคม พ.ศ. 2459 - พระบุเรศผดุงกิจ ถือศักดินา ๘๐๐[5]
  • 26 พฤศจิกายน 2460 – ได้เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์[6]
  • 26 เมษายน พ.ศ. 2461 - ได้เลื่อนยศ เป็น พันตำรวจเอก [7]
  • 26 เมษายน 2463 – โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงนครบาลส่งสัญญาบัตรยศไปพระราชทาน[8]
  • 20 ธันวาคม พ.ศ. 2463 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบุเรศผดุงกิจ ศักดินา ๑๐๐๐ [9]
  • 1 มกราคม 2463 – เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์[10]
  • 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 - พ้นจากตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจและโรงเรียนพลตำรวจและรั้งตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาลสายบางรักแทน พันตำรวจเอก พระยาพลพรรคภิบาล ที่ย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจนครบาลสายพระนคร[11]
  • 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสายดุสิต[12]
  • 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ได้รับแต่งตั้งเป็น อธิบดีกรมตำรวจ สืบต่อจาก พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) [13]

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนชื่อ กรมตำรวจภูธร เป็น กรมตำรวจ [14] พระยาบุเรศผดุงกิจ สามารถปราบปรามอาชญากรรมต่างๆ จนได้รับสมญานามว่า “มือปราบของกรมตำรวจ” ในยุคนั้น

นอกจากนี้ ยังนับได้ว่า ท่านเป็นต้นสกุล "พรหโมบล" (เขียนเป็นตัวอักษรโรมันว่า Brahmopala) เนื่องจากท่านได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2457 เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ ๑๔๐๔ ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงบุเรศผดุงกิจ ปลัดกรมกองตระเวน ผู้บังคับการโรงเรียนนายหมวด [15]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ด้านครอบครัว พระยาบุเรศผดุงกิจท่านมีภรรยาทั้งหมด 6 ท่านคือ

  • คุณหญิงทองคำ บุเรศผดุงกิจ
  • คุณพร้อม
  • คุณเยื้อง
  • คุณเปรื่อง
  • คุณชวน
  • คุณสุดใจ

พระยาบุเรศผดุงกิจท่านมีบุตร และบุตรี ตามลำดับทั้งหมด 19 ท่าน ดังรายนามดังนี้

  1. พลตำรวจตรี หลวงพรหโมปกรณ์กิจ (รื่น พรหโมบล)
  2. คุณ เริญ พรหโมบล
  3. คุณ เลื่อน พรหโมบล
  4. คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ (เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทย)(มารดาของคุณอรนุช โอสถานนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์)
  5. คุณ ริ้ม พรหโมบล
  6. คุณ ร้อม พรหโมบล
  7. พันตำรวจเอก รัตน์ พรหโมบล
  8. คุณ เรียมหรือบุญช่วย พรหโมบล
  9. คุณ เรียบหรือผดุง พรหโมบล
  10. คุณ รุจีหรือไข่ขวัญ พรหโมบล
  11. คุณ รัมภา พรหโมบล (มารดาของ คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง)
  12. คุณ คลอใจ พรหโมบล
  13. คุณ รุ่งเรือง พรหโมบล
  14. คุณ เคลือวัลย์ พรหโมบล
  15. คุณ สุรศักดิ์ พรหโมบล
  16. คุณ จิระ พรหโมบล
  17. คุณ อมรา พรหโมบล
  18. พันตำรวจเอก คีรี พรหโมบล
  19. คุณ ดำรงศักดิ์ พรหโมบล

พระยาบุเรศผดุงกิจ พรหโมบล ท่านถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2509

ยศ[แก้]

  • 3 มกราคม พ.ศ. 2456 - นายหมู่ตรี[16]
  • - นายหมู่เอก
  • 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 - นายหมวดตรี[17]
  • 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 - นายหมวดโท[18]
  • - นายหมวดเอก
  • 30 มิถุนายน พ.ศ. 2465 นายกองตรี[19]
  • 8 กุมภาพันธ์ 2467 – นายกองโท[20]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง (หน้า ๗๙๗)
  2. พระราชทานยศ (หน้า ๖๑๘)
  3. พระบรมราชโองการ ประกาศเปลี่ยนนามกรมพลตระเวน และเปลี่ยนยศข้าราชการกรมพลตระเวน
  4. พระราชทานยศนายตำรวจภูธรแลนายตำรวจพระนครบาล
  5. ตั้งและเลื่อนบรรดาศักดิ์ (หน้า ๒๕๕๙)
  6. รายวันพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
  7. พระราชทานยศ (หน้า ๒๔๗๓)
  8. ส่งสัญญาบัตรยศตำรวจภูธรและตำรวจพระนครบาลไปพระราชทาน
  9. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๓๒๔๖)
  10. รายวันพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
  11. เรื่อง ย้ายและบรรจุตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจ
  12. เรื่อง ปลด ย้าย และตั้งนายตำรวจชั้นผู้บังคับการ (หน้า ๒๒๙)
  13. แจ้งความประธานคณะกรรมการราษฎร (หน้า ๑๒๘๔)
  14. พระบรมราชโองการ ประกาศ จัดวางโครงการกรมตำรวจ
  15. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๑๗ (หน้า ๕๙๘)
  16. เลื่อนและตั้งตำแหน่งยศนายกองนายหมู่เสือป่า (หน้า ๒๖๘๙)
  17. พระราชทานยศเสือป่า
  18. พระราชทานยศเสือป่า
  19. พระราชทานยศเสือป่า
  20. พระราชทานยศเสือป่า
  21. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า (หน้า ๒๖๒๙)
  22. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์
  23. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  24. พระราชทานเข็มข้าหลวงเดิม
  25. พระราชทานเหรียญจักรมาลา
ก่อนหน้า พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) ถัดไป
พลตำรวจโท
พระยาอธิกรณ์ประกาศ
(หลุย จาติกวณิช)
อธิบดีกรมตำรวจ คนที่ 8
(2475 – 2476)
พันตำรวจเอก
พระยาอนุสสรธุระการ
(จ่าง วัจนะพุกกะ)